การขับเคลื่อน “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน”

Driving Implementation of National Occupational Skill Standard for Logistics and Supply Chain Industries

การขับเคลื่อน “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน” สู่การปฏิบัติ

เกียรติพงษ์ สันตะบุตร

นายกสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS)

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน … ฉบับนี้ขออัพเดทเรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนกัน ขอย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ว่าจ้างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและองค์กรวิชาชีพให้จัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติถึง 55 สาขาและทางสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) เองก็ได้รับการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโลจิสติกส์ เมื่อเดือนมีนาคม 2555

โดยได้เริ่มต้นจาก 4 สาขาแรก (สาขาผู้ปฎิบัติการคลังสินค้า สาขาผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง สาขาผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน และสาขานักบริหารงานขนส่งสินค้าทางถนน) หลังจากนั้น ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ว่าจ้างสมาคมฯ ในฐานะที่ปรึกษาให้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพิ่มเติมอีก 10 สาขารวมเป็น 14 สาขา ส่วนสาขาพนักงานขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้ดำเนินการเอง

โดยในแต่ละสาขาจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ผมขอยกตัวอย่างสาขาผู้ปฎิบัติการคลังสินค้ามาเป็นตัวอย่าง สาขาผู้ปฎิบัติการคลังสินค้าจะประกอบด้วย ระดับ 1 (ผู้ช่วยพนักงานปฏิบัติการคลังสินค้า) ระดับ 2 (พนักงานปฏิบัติการคลังสินค้า) ระดับ 3 (พนักงานปฏิบัติการคลังสินค้าอาวุโส) และระดับ 4 (หัวหน้างานปฏิบัติการคลังสินค้า) ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบในแต่ละระดับจะแตกต่างกันไป

การที่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้นไม่ได้เป็นการตีธงว่าจะสามารถดำเนินการทดสอบเพื่อให้การรับรองได้ในทันทีเพราะว่าต้องอาศัยองค์ประกอบด้านอื่นๆ เช่น ประกาศคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ ประกาศวิธีการทดสอบ ข้อสอบภาคความรู้และภาคความสามารถ ผู้ทดสอบ (กรรมการคุมสอบ) ศูนย์ทดสอบ เป็นต้น ดังนั้น กระบวนการต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบให้ครบจะต้องผ่านการคัดกรองอย่างเป็นระบบ เช่น ต้องมีคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้การเห็นชอบผลงาน ผู้ทดสอบ (กรรมการคุมสอบ) ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นและต้องผ่านการอบรม 3 วัน ศูนย์ทดสอบต้องมีลักษณะและเครื่องไม้เครื่องมือครบตามที่กำหนด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติไปสู่ทางปฎิบัติอย่างเข้มแข็ง ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงได้ว่าจ้างสมาคมฯให้ดำเนินการจัดการทดสอบเป็นจำนวน 720 คน ในเวลาต่อมา ทางสมาคมฯได้ยื่นเรื่องเพื่อขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบ TLAPS – BSID ขึ้นภายในพื้นที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล้วยน้ำไท เพื่อเป็นการนำร่องให้กับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาได้เห็นต้นแบบว่าหน้าตาของศูนย์ทดสอบต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น มีภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาได้ดำเนินการขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบขึ้นมาอีกหลายแห่ง จนถึง ณ เวลาปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบและผ่านการทดสอบตามตาราง ดังนี้

ระดับ 1

สาขา จำนวนผู้เข้าสอบ สอบผ่าน สอบผ่านร้อยละ
ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง 255 207 81
ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน 74 73 99
ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า 195 169 87
นักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน 163 125 77
รวม 687 574 84

ระดับ 2

สาขา จำนวนผู้เข้าสอบ สอบผ่าน สอบผ่านร้อยละ
ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง 45 42 93
ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน 18 17 94
ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า 40 37 93
นักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน 19 7 37
รวม 122 103 84
สรุปผู้เข้ารับการทดสอบ จำนวนผู้เข้าสอบ สอบผ่าน สอบผ่านร้อยละ
ระดับ 1 687 574 84
ระดับ 2 122 103 84
รวม 809 677 84
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559

ดังนั้น การขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนองคาพยพแบบประสานกันในทุกมิติ เช่น สถาบันการศึกษาต้องนำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติไปตั้งเป็นเค้าโครงการกำหนดรายวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นแกนกลาง ภาคเอกชนต้องสนับสนุนพนักงานในหน่วยงานให้เข้ามาทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางแห่งชาติ (National standard) เพื่อประเมินความรู้และความสามารถของบุคลากรในองค์กร ภาคเอกชนที่มีศักยภาพและสถาบันการศึกษาต้องมายื่นขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบ เพื่อขยายพื้นที่ในการทดสอบออกไปในเขตภูมิภาค เป็นต้น ฉบับถัดไปผมจะขยายความต่อให้ฟังอีก ในระหว่างนี้ ท่านสามารถตามติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.tlaps.or.th นะครับ

————————————————————————————-

รูปประกอบ

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “การขับเคลื่อน “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน””

  1. การขับเคลื่อน “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ says:

    Cheap Proxies…

    I found a great……

  2. การขับเคลื่อน “มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ says:

    Usa Proxy…

    I found a great……

Leave a Reply