ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยกับการเตรียมพร้อม

Logistics Viewpoint

Thai logistics and Its readiness for AEC and AEC’s challenges

ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยกับการเตรียมพร้อม

และการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตอนจบ)

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์

คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

พบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจบริการเก็บรักษาและคลังสินค้า ได้แก่ความพร้อมด้านเงินลงทุน ศักยภาพของบุคลากรของผู้ให้บริการ ความเป็นชาตินิยมและพฤติกรรมผู้ใช้บริการ ขาดพันธมิตรและเครือข่ายระหว่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการจัดการคลังสินค้าที่ทันสมัย ทำเลที่ตั้งของคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ความล่าสมัยของกฎหมายและกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมกิจการคลังสินค้า ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารคลังสินค้าอย่างมืออาชีพ

ขณะที่ผลการศึกษาผู้ให้บริการส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาโลจิสติกส์ที่ประเทศคู่ค้าของไทยให้ความสนใจอย่างมากที่จะเข้ามาลงทุน อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งผู้ให้บริการของประเทศเหล่านี้มีความชำนาญและมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมหลายประเทศ ขณะที่ผู้ให้บริการส่งไปรษณียภัณฑ์และพัสดุภัณฑ์ด่วนของไทย ยกเว้นบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนสำหรับการขนส่งพัสดุและเอกสารมีจำนวน 372 ราย (กรมพัฒนาธุรกิจ 2551) ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 95 เป็นผู้ให้ขนาดกลางขนาดย่อม ซึ่งขาดความรู้ความชำนาญในธุรกิจนี้ ขณะที่ผู้ให้บริการของไทยเป็น Sub-contract ซึ่งก็หมายความว่าผู้ใช้บริการอาจต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 ต่อโดยไม่จำเป็น ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งของการเติบโตของผู้ให้บริการไทยในปัจจุบัน

โดยธุรกิจมีแนวโน้มจะเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบริการส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน (Express Delivery Services :EDS) แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีการเปิดเสรีการให้บริการขนส่งทางไปรษณีย์ในประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ในปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการต่างประเทศ เช่น FedEx, UPS, DHL, TNT ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญในการให้บริการขนส่งระบบโลจิสติกส์ มีเครือข่ายให้บริการที่ครอบคลุมทั่วโลกและมีชื่อเสียงในระดับโลก การเปิดเสรีการค้าบริการด้านไปรษณียภัณฑ์และพัสดุภัณฑ์ด่วนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไปรษณีย์ไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นบริการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและผู้ให้บริการต่างชาติมักจะไม่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรแต่จะใช้สินทรัพย์และเครือข่ายของผู้ให้บริการของไทย โดยผู้ให้บริการต่างชาติจะใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้ต่ำกว่าคู่แข่งจากต่างชาติด้วยกัน ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงควรต้องพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์ในการให้บริการด้านการส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ และการให้บริการอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันที่จะตามมา

บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดได้ถูกจัดให้อยู่ในส่วนของการให้บริการรับส่งไปรษณียภัณฑ์และพัสดุภัณฑ์ด่วน ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทยจะมีบทบาทที่สำคัญของกิจการไปรษณีย์ของไทย และแม้ว่าบริษัทไปรษณีย์ไทยจะมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่กว่า 20,000คน ทั่วประเทศซึ่งมีความรู้ความเข้าใจพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมและสามารถดำเนินการได้สะดวก มีความชำนาญในการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์เป็นอย่างดีและการมีค่าบริการที่ต่ำหรือการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนสาขาให้บริการจำนวนมากถึง 4,219 แห่ง อย่างไรก็ตามจุดแข็งเหล่านี้ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกันเมื่อมีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขานี้ อาทิการมีพนักงานหรือสาขาที่ให้บริการจำนวนมากก็อาจจะกลายเป็นต้นทุนคงที่ที่สูงมาก ขณะที่ผู้ให้บริการต่างชาติกลับมีต้นทุนเหล่านี้น้อยกว่าและอาจจะใช้บริการของบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อต่อยอดการให้บริการของตน 

การที่จะพัฒนาให้การให้บริการส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ มีความเข้มแข็งนั้น ทางรัฐบาลและทางเอกชนควรหันมาให้ความสนใจและร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ เช่นการพัฒนาให้บุคลากร มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงด้านการบริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ให้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการใช้งาน การให้บริการสินเชื่อเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง เร่งเรื่องของการจัดทำร่าง พรบ.ประกอบกิจการไปรษณีย์ เพื่อให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับการดำเนินกิจการของไปรษณีย์ไทย และสามารถที่จะคุ้มครองการประกอบกิจการไม่ให้กิจการของต่างชาติเข้ามาครอบคลุมจนเอารัดเอาเปรียบประเทศไทยจนเกินไป เป็นต้น

เมื่อพิจารณาผู้ให้บริการธุรกิจด้านบรรจุหีบห่อและอุปกรณ์ขนย้ายทั้งไทยและต่างชาติพบว่า ต่างแข่งขันกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มบริการคลังสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีเรื่องอุปกรณ์บรรจุสินค้าและขนย้าย เช่น RFID  บาร์โค้ด การบรรจุหีบห่อแบบสูญญากาศ (Vacumm Technology) พัฒนา In-House Software ผลการศึกษาพบว่าธุรกิจด้านบรรจุหีบห่อและอุปกรณ์ขนย้ายของไทยยังไม่ค่อยชัดเจน เนื่องจากผู้ให้บริการคลังสินค้ามักจะเป็นผู้ให้บริการการบรรจุภัณฑ์และการเคลื่อนย้ายสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าด้วยตนเอง ทำให้บ่อยครั้งไม่สามารถแยกธุรกิจคลังสินค้าและการบรรจุภัณฑ์ออกจากกันได้ ขณะที่ภาพรวมของผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์และขนย้ายครบวงจรของไทย พบว่ามีผู้ให้บริการที่เป็นของคนไทยประมาณ 20-30 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนบริษัทข้ามชาติประมาณ 10-15 ราย (Logistics Digest ปีที่ 2 เล่มที่ 14 พฤษภาคม 2549)

เมื่อประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการบรรจุหีบห่อและอุปกรณ์ขนย้ายของไทยกับผู้ให้บริการจากต่างชาติพบว่าผู้ให้บริการจากต่างชาติมีความได้เปรียบเรื่องเงินทุนสูงกว่า มีเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงค่านิยมของผู้ใช้บริการที่เชื่อว่าบริษัทข้ามชาติมีความน่าเชื่อถือมากกว่าผู้ให้บริการคนไทย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ใช้บริการทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้รับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ต่างนิยมใช้บริการเอาส์ซอร์สด้านบรรจุหีบห่อและขนย้ายกับผู้ให้บริการของต่างชาติมากกว่า ขณะที่ผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยที่ยังมีค่านิยมเชื่อว่าบริษัทข้ามชาติให้บริการได้ดีกว่าบริษัทคนไทย แม้ว่าเบื้องหลังผู้ประกอบการข้ามชาติหลายรายก็ไม่ได้ให้บริการเองทั้งหมด แต่จะให้บริษัทคนไทยเป็น Sub-contract ซึ่งก็หมายความว่าผู้ใช้บริการอาจต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 ต่อโดยไม่จำเป็น

ขณะที่การศึกษากลุ่มผู้ให้บริการพิธีการทางศุลกากรหรือชิ้ปปิ้ง พบว่าผู้ให้บริการพิธีการทางศุลกากรของไทยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ให้บริการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งใช้การดำเนินการโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การศึกษาความพร้อมของธุรกิจตัวแทนพิธีการศุลกากรพบว่าธุรกิจตัวแทนออกของหรือดำเนินพิธีการศุลกากรของไทยยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากแต่เดิมผู้ให้บริการของไทยจะมีความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบและมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการมากกว่าผู้ประกอบการต่างชาติ แต่เมื่อมีการเปิดเสรีด้านพิธีการศุลกากรจะส่งผลให้กฎระเบียบด้านพิธีการผ่อนปรนลงและมีการนำเอาระบบการรับส่งข้อมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการของไทยลดลง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาด้านการแข่งขันด้านราคาที่ไม่สามารถกำหนดราคาต่ำตามผู้ให้บริการต่างชาติได้ ตลอดจนความพร้อมด้านเงินทุน เครือข่ายและเทคโนโลยี เพราะตัวแทนออกของเป็นคนงานที่ทำก่อน แต่ไปเรียกเก็บเงินทีหลัง ทางผู้ให้บริการของไทยจึงต้องออกเงินให้ลูกค้าก่อนในบางขั้นตอน ดังนั้น ถ้าผู้ให้บริการตัวแทนออกของของไทยไม่มีเงินทุน อาจทําให้การดำเนินธุรกิจประสบปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนได้ เมื่อประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการของไทยพบว่าถ้ามีการเปิดเสรีด้านนี้จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงและทำให้ผู้ให้บริการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยบางส่วนต้องออกจากตลาดไป ส่วนผู้ให้บริการขนาดใหญ่ของไทยจะมีการปรับตัวโดยอาจจะมีการรวมตัวหรือการเป็นพันธมิตรกันเพื่อความอยู่รอดมากยิ่งขึ้น

การศึกษากลุ่มบริการระบบสารสนเทศสำหรับโลจิสติกส์พบว่าประเทศไทยยังไม่มีการจัดกลุ่มหรือประเภทของซอร์ฟแวร์ในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์จำนวน 52,763 ล้านบาท ในปี 2549 แยกเป็น 5 ประเภทหลักได้แก่ประเภท Enterprise Software จำนวน 44,122 ล้านบาท (ซึ่งมีซอร์ฟแวร์ที่ใช้ในกิจกรรมโลจิสติกส์อยู่ในหมวดนี้) ประเภท Mobile Application จำนวน 1,652 ล้านบาท ประเภท Embedded Software จำนวน 1,475 ล้านบาท ประเภท Animation จำนวน 2,699 ล้านบาทและประเภทอื่นๆ จำนวน 2,815 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ในไทยปี 2549 โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) พบว่ามูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ทุกประเภทมีสัดส่วนจำนวน 52,763 ล้านบาท เป็นรองจากตลาดฮาร์ทแวร์

เนื่องจากการที่ภาครัฐไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงทำให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาในตลาดโดยง่าย ขณะที่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยแยกตามทุนจดทะเบียน พบว่ากว่าร้อยละ 65 มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 5 ล้านบาท ร้อยละ 16 มี 5-9.99 ล้านบาท ร้อยละ 8 = 10-14.99 ล้านบาท ร้อยละ 6 = 15-49.99 ล้านบาทและน้อยกว่าร้อยละ 5 เกินกว่า 50 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบจำนวนบุคลากรในบริษัทซอฟต์แวร์ปี 2549 พบว่ามีบุคลากรทั้งสิ้น 46,944 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 4,000 คน โดยพบว่าเป็นบุคลากรด้านเทคนิค ร้อยละ 86 และเป็นบุคลากรด้านบริหารร้อยละ 14  สำหรับในปี 2551 มีการคาดการณ์ว่าตลาดโดยรวมจะเติบโตประมาณร้อย 13 โดยตลาดซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม รวมถึงซอฟต์แวร์สำหรับกิจกรรมโลจิสติกส์มีแนวโน้มของการขยายตัวมากที่สุด อยู่ที่ประมาณร้อยละ18 อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยเนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิความไม่แน่นอนทางการเมือง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

สำหรับสถานะและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการซอร์ฟแวร์สำหรับกิจกรรมโลจิสติกส์ของไทยพบว่าจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจำนวนมากจึงทำให้เกิดการผูกขาดทางด้านการตลาดและเทคโนโลยี และแม้ว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนาโปรแกรม แต่ขาดชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจากผู้ซื้อ  เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้เพราะขาดทั้งเงินทุนและ Know How นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการหลังการขายมากกว่าเป็นผู้ผลิตสินค้า และผู้ให้บริการของไทยขาดแรงจูงใจในการคิดค้นและพัฒนาเพื่อการแข่งขันจึงไม่มีสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด มีเพียงผู้ผลิตซอฟต์แวร์ต่างชาติรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ทำให้สามารถผูกขาดตลาดซอฟต์แวร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อพิจารณาปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการของไทยเมื่อมีการเปิดเสรีด้านนี้ ได้แก่ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ขาดความรู้ความชำนาญด้านการตลาด มีปัญหาด้านกฎหมายการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้แนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐได้แก่ ควรจัดความรู้อย่างต่อเนื่องในวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่  กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ควรให้ความสนับสนุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและการจัดซื้อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด การควบคุมการแข่งขันให้เป็นไปอย่างยุติธรรม การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปแข่งขันในตลาดโลกในลักษณะเงินอุดหนุนในการผลิต สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือการยกเว้นภาษี นอกจากนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนควรจะปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดย รวมกลุ่มกันในลักษณะ Cluster เพื่อการพัฒนาในลักษณะเฉพาะกิจ การแบ่งปันความรู้และใช้เทคโนโลยีร่วมกัน การสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการให้เกิดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โลจิสติกส์ของไทย

ผลการศึกษาสถานะภาพการแข่งขันและขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าพบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบการบริการตัวแทนรับขนส่งสินค้าอยู่ราว 300 ราย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกของ TIFFA อยู่ 130 ราย การแข่งขันในตลาดปรากฏว่า ผู้ประกอบการ 5 อันดับแรก เป็นบริษัทต่างชาติร่วมทุนทั้งสิ้นมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราวร้อยละ 44 อีกประมาณ 125 รายมีส่วนแบ่งตลาดร่วมกันประมาณร้อยละ 56 โดยแต่ละรายมีส่วนแบ่งตลาดไม่เกินร้อยละ 2 เท่านั้น

ปัจจัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาตัวแทนบริการรับขนส่งสินค้า ได้แก่ ด้านความรู้ ถึงแม้ภาครัฐและเอกชนจะมีความตื่นตัวถึงความสำคัญของการจัดการระบบ แต่ผู้  ประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าของไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ ด้านกฏหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้อง กฏระเบียบของไทยยังขาดความชัดเจน ยังมีความซ้ำซ้อน และล้าหลัง เช่นไม่มีกฏหมายเฉพาะสำหรับการขนส่ง ภายในประเทศ  โดยทางบกทางน้ำและทางอากาศ ต้องไปพึ่งพากฏหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือพรบ.รถไฟ ที่ไม่ได้มีการปรับปรุง ตั้งแต่ปี 2464 นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบังคับใช้กฏหมาย ด้านเงินลงทุน ผู้ประกอบการบริการรับขนส่งสินค้าไทย ยังขาดปัจจัยด้านเงินลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการต่างชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความเพียงพอในระดับหนึ่ง เนื่องจากภาครัฐมี    การลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่นการวางเครือข่ายถนนทั่วประเทศ การสร้างสนามบินใหม่ที่สุวรรณภูมิ  แต่การขนส่งภายในประเทศของไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่การใช้รถบรรทุก ไม่มีการพัฒนาการขนส่งทางน้ำหรือระบบราง ทำให้ไทยขาดประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่ง (Intermodal  Transportation)  ที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อประเมินความพร้อมในการแข่งขันของบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าของไทยหากมีการเปิดเสรีพบว่า ประเทศคู่ค้าของไทยที่จะขอเปิดเสรีการค้า สาขาบริการรับขนส่งสินค้า มักจะเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบ เช่นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยคือ ผู้ประกอบการไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องเดือดร้อน และลำบากมากขึ้น เพราะเครือข่ายในการแข่งขันเป็นคนละแบบระบบของไทยเป็นแบบท้องถิ่น ในขณะที่ต่างชาติเป็นระบบเครือข่ายโลก (Networking) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการ One Stop Service ที่ลูกค้าต้องการเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังขาดสภาพคล่องทางด้านเงินทุน เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติที่มีเงินทุนสูงกว่ามาก ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังขาดความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพไม่สามารถทัดเทียมต่างชาติได้

เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมในแต่ละสาขาของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยพบว่าผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลายสาขา อาทิตัวแทนออกของหรือบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้า เป็นต้นสามารถตอบสนองได้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ประเด็นที่ควรส่งเสริมให้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยคือการฝึกให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจอย่างมีวิสัยทัศน์และยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์  รวมทั้งการยกระดับความรู้ความเข้าใจและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

ส่วนในกรณีที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระบุว่าผู้ให้บริการของไทยมีขีดความสามารถค่อนข้างต่ำซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในเรื่องเทคนิคการบริหารจัดการ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี เช่นซอร์ฟแวร์ ฮาร์ทแวร์และพีเพิลแวร์ ความพร้อมด้านเครือข่าย (Networking) และด้านพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของกลุ่มผู้ให้บริการขนาดเล็กของไทย ที่ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของต่างชาติได้ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดย่อมของไทยดังกล่าวยังขาดความพร้อมในการเปิดเสรีการค้าฯ สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขนาดกลางมีประเด็นที่เป็นจุดอ่อนหรือมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำคือ ขาดการให้บริการเบ็ดเสร็จ เครือข่ายของการให้บริการ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี เช่น ซอร์ฟแวร์ ฮาร์ทแวร์และพีเพิลแวร์ เป็นต้น

นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ของไทยมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจระดับโลก รวมทั้งขาดเครือข่าย (Networking) การให้บริการและพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก ประเด็นเหล่านี้เองที่ทางผู้ให้บริการเองยังคงเห็นว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือกำกับดูและควรให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนถ้าในกรณีที่มีการเจรจาการเปิดเสรีการค้าสาขาบริการโลจิสติกส์ ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์คือจะทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นและจะมีการตัดราคามากยิ่งขึ้นเนื่องจากในกรณีที่มีผู้ให้บริการมากขึ้นก็จะเข้าสู่ยุคของสงครามราคา (Price War) คือมีการตัดราคาการให้บริการมากขึ้นเนื่องจากผู้ให้บริการของไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมจึงมีขีดความสามารถน้อยมากหรือไม่สามารถแข่งขันในด้านนี้ได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ส่งผลกระทบไม่มากนัก

การศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการวิเคราะห์และคำนวณถึงผลกระทบของการเปิดเสรีด้านบริการสาขาโลจิสติกส์ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของไทย โดยการนำแนวการวิเคราะห์แบบเศรษฐมิติ (Econometrics) ที่มีพื้นฐานบนแนวคิดทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีกรอบหลักๆ ของผลกระทบการเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์ที่จะส่งผ่านทางด้านของการยกเลิกกฎระเบียบและข้อจำกัด โดยเปรียบเทียบให้มีค่าเทียบเท่าอัตราภาษี (Tax Equivalence) และค่าประสิทธิภาพการผลิตที่เทียบเท่า (Productivity Equivalence) ซึ่งการลดอัตราภาษีเทียบเท่าจะสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวนี้จะส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นประมาณ 16,870.50 – 38,375.13 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.22 – 0.49 ในระยะยาว

ภายหลังจากนั้น เราสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เพิ่มขึ้นต่อมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมย่อยต่างๆ ภายในประเทศได้โดยใช้ I -O Table ในปี 2543 ซึ่งผลที่ได้รับสามารถสรุปได้ว่า ผลกระทบของการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์ที่มีต่อมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมย่อย 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจัก บริการและการค้า ตามลำดับ ในขณะที่หากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มจากมากไปน้อย 3 อันดับ ได้แก่ Mining and Quarrying, Agriculture และ Public Utilities ตามลำดับ นอกจากนั้น ผลกระทบด้านการจ้างงานเพิ่มทั้งหมดประมาณ 101,322 – 230,482 คน โดยภาคอุตสาหกรรม, ภาคการเกษตร และภาคบริการไม่รวมการขนส่งเพิ่มขึ้นจากมากไปน้อยตามลำดับ

4. กลยุทธ์เพื่อการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ไทย

การประเมินสภาพแวดล้อมในด้านความพร้อมของคนไทย ความสามารถในการแข่งขัน และกฎระเบียบที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดของคนต่างด้าว พบว่า ผู้ประกอบการไทยยังไม่ต้องการให้ไทยยื่นข้อเสนอเปิดตลาด (Offer) บริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ทั้งที่บริการบางประเภทยังไม่มีประสิทธิภาพแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ เช่น การขนส่งทางน้ำภายในประเทศ และการขนส่งชายฝั่ง และหากมีการเจรจาเปิดตลาดก็ควรใช้การเปิดตลาดแบบระบุเฉพาะสาขาที่ต้องการเปิดเสรี (Positive List Approach) รวมทั้งหากจะมีการเปิดตลาดก็ควรจะมีการพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นการเปิดตลาดแบบมีเงื่อนไข อาทิ การกำหนดให้เปิดตลาดโดยต้องเข้ามาร่วมทุนหรือจับมือทำพันธมิตรทางธุรกิจกับคนไทย การกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยการกำหนดเงื่อนไขให้จ้างแรงงานคนชาติไทย การกำหนดเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

(1) ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่คนไทยมีการแข่งขันมากแต่ไม่พร้อมเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก ควรพิจารณาเปิดตลาดโดยทยอยเปิดตลาดซึ่งค่อยๆ ปรับสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติจากเดิมที่จำกัดไว้ไม่เกิน 50% ในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 51% 60% 75% ภายใน 5 ปี (ขึ้นอยู่กับการต่อรองให้ไทยได้รับประโยชน์ในประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการเจรจาการค้าเสรี)

(2) ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่คนไทยมีการแข่งขันมากแต่ไม่พร้อมเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก

ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองอยู่ ซึ่งหากจะเปิดตลาดจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายและกฎหมายระเบียบก่อน รวมทั้งจะต้องจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการทำงานทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในธุรกิจนั้นๆ อย่างมากเพื่อให้มีระดับมาตรฐานการจัดการและการปฏิบัติงานให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ ดังนั้นในการเจรจาจึงไม่ควรผูกพันการเปิดตลาดบริการดังกล่าวไว้

(3) ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่คนไทยมีการแข่งขันน้อยและไม่พร้อมเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก

ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และเป็นกิจการที่เกี่ยวกับกับการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งหากจะเปิดตลาดจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายและกฎหมายระเบียบก่อน ดังนั้นในการเจรจาจึงไม่ควรผูกพันการเปิดตลาดบริการดังกล่าวไว้

(4) ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่คนไทยมีการแข่งขันน้อยแต่ควรพิจารณาเปิดตลาดให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก

ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อการส่งออกของประเทศและเป็นกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ซึ่งหากเปิดตลาดให้มีการแข่งขันกันอย่างมากจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้น จึงควรมีการพิจารณาเปิดเสรีตามลำดับขั้น อาทิ ปรับเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 51% 60% 75% ภายใน 10 ปี (ขึ้นอยู่กับการต่อรองให้ไทยได้รับประโยชน์ในประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการเจรจาการค้าเสรี และความสามารถในการแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดการถือหุ้นสำหรับกิจการบางประเภท เช่น ขนส่งสินค้าทางน้ำ ขนส่งสินค้าทางอากาศ) ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายได้ทันเวลา คณะผู้เจรจาก็ไม่ควรผูกพันการเปิดตลาดบริการดังกล่าวไว้

สำหรับการเจรจาท่าทีของไทยในการเจรจาเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์ในทุกเวทีควรจะยึดตามแนวทางดังนี้

(1)      การเจรจาต้องมีผลประโยชน์สำหรับไทยที่เห็นได้ชัดเจน โดยเป็นการประเมินผลได้และผลเสียในภาพรวมจากเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อของรัฐ และกติกาการค้าต่าง ๆ

(2)      ในสาขาบริการโลจิสติกส์ที่ไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขัน จะต้องให้เวลาแก่ผู้ประกอบการและแรงงานในสาขาบริการนั้นมีระยะเวลาปรับตัวที่เพียงพอ (Transition Period) และมีกองทุนช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานที่ทำงานในสาขาบริการดังกล่าวมีการปรับตัวได้อย่างเป็นระบบ

(3)      สาขาบริการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง วัฒนธรรมประเพณี บริการสาธารณะไม่ควรจะมีการเปิดตลาด หรือหากจะมีการเปิดตลาดก็จะต้องใช้การร่วมทุนโดยมีคนไทยเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกิจการ

(4)      ไทยต้องมีสิทธิกำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์ใช้ในประเทศได้ในอนาคต ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

(5)      หน่วยงานที่ทำการเจรจาเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์จะต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดทั้งกับหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมบริการโลจิสติกส์แต่ละประเภท และหน่วยงานเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ สนับสนุน และยอมรับผลของการเจรจา รวมทั้งจัดให้มีกลไกและแผนดำเนินงานที่ชัดเจนในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

(6)      สำหรับการเจรจาภายใต้กรอบภูมิภาคและพหุภาคี ไทยจะต้องสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการเจรจาเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองมากขึ้น

สำหรับการเจรจาการเปิดตลาดในทุกเวที ไทยควรพิจารณาเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์ในลักษณะที่เป็น Positive List Approach ตามแนวทางที่ดำเนินมาในอดีต โดยสาขาบริการที่อาจเสนอเปิดจะรวมถึงสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และสาขาที่การแข่งขันในประเทศมีน้อยรายและใช้เทคโนโลยีสูงเพราะการเปิดให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถมาประกอบการได้จะช่วยกระตุ้นให้มีการแข่งขันในตลาดมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการไทยทั้งที่เป็นธุรกิจและบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน ไทยจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Competition Laws) อย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศใช้อำนาจตลาด เครือข่ายธุรกิจ และข้อได้เปรียบด้านเงินทุนและทรัพยากรทางการเงินที่มากกว่าในการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันจากผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ไทยต้องมีกฎกติกาและองค์การดูแลสาขาบริการโลจิสติกส์ที่ดีด้วย

ผลการศึกษานำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ของไทยเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และการดำเนินธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ผู้ให้บริการของไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจและความสนใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าบริการโลจิสติกส์ รวมทั้งไม่มีการประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองถ้ามีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulators) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บางหน่วยงานยังไม่รู้ว่าตนเองมีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในระบบโลจิสติกส์และยังขาดการทำงานเชิงรุกอย่างเป็นระบบและหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ให้บริการโลจิสติกส์เหล่านั้นควรเป็นบทบาทหน้าที่จากผู้ควบคุมมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีการปรับแก้กฎระเบียบและกฎหมายต่างๆควรพิจารณาทั้งระบบและควรปรับแก้เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย ขณะเดียวกันก็ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทยและจัดทำกรอบการเจรจาเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าของไทย  ทั้งนี้ก่อนจะมีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรจะริเริ่มรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยเพื่อให้มีการสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งหาแนวทางในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรี และหาโอกาสจากการขยายตลาดและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ (จบ)

________________________________________

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยกับการเตรียมพร้อม”

  1. ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยกับการเตรียมà says:

    Google Private Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply