แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4

Logistics Focus

Economic stimulus package for Thai operators

แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4

เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนผู้ประกอบการไทย

จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจในปี 2559 พบว่า เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของสหรัฐฯ ยูโรโซนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สภาพเศรษฐกิจ-ทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว แต่สำหรับเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่อยู่ในช่วงชะลอตัว

เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้วิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มการขนส่งสินค้าทางเรือในปี 2559 ว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย คือ 1. การเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 2. แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ระยะที่ 3) 3. เศรษฐกิจโลกและราคาส่งออกฟื้นตัวอย่างช้าๆ สนับสนุนส่งออก 4. การอ่อนค่าของเงินบาทสนับสนุนสภาพคล่องผู้ประกอบการ 5. การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าเกษตร 6. ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำแม้จะเพิ่มขึ้นช้าๆ จากปี 58 และ 7. การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและสนับสนุนเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2559 ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงจากประเทศที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ 2. การอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และ 3. ปัญหาภัยแล้งยังมีแนวโน้มรุนแรงและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว

เรือเอก สุทธินันท์ กล่าวว่า แนวโน้มการค้าทางทะเลของโลกมีการนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือ Outsourcing การลดอุปสรรคทางการค้าและการเปิดการค้าเสรี อาทิ การเปิดเสรีในอาเซียน เปิดโอกาสให้มีการค้าขายภายในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงสุด ได้แก่ การขนส่งภายในภูมิภาค (Intraregional) โดยเฉพาะเอเชีย (Intra-Asian trade) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของโลก และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เส้นทางหลักในอดีตอย่าง East-West ที่มีสัดส่วนลดลงเท่ากับร้อยละ 30 เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปที่ยังคงทรงตัว

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการต่อเรือนั้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพและมีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้สามารถตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนของสายเรือ รวมทั้งการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามอนุสัญญาระหว่างประเทศฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ IMO ทำให้สายเรือมีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ LNG เพื่อลดการปล่อยมลพิษในอากาศ

ในด้านขนาดเรือนั้น การประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของสายเดินเรือ โดยให้เรือสินค้าต่อลำสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้เรือสินค้ามีแนวโน้มขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเรือที่ขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ เรือ MSC ที่มีขนาดใหญ่ถึง 19,924 TEUs. นอกจากนี้ Lloyd คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีเรือขนาดใหญ่ถึง 24,000 TEUs. เมื่อเรือมีขนาดใหญ่ขึ้นส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าต่อลำเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนเที่ยวเรือเข้าท่าเรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด

การรวมตัวของสายเรือ (Alliances) การรวมตัวกันของบริษัทสายเรือหลักของโลก ได้แก่ Maersk (Denmark), Mediterranean Shg Co (MSC) (Switzerland) และ CMA CGM Group (France) หรือ P3 ได้ดำเนินความร่วมมือในลักษณะการทำ Slot Sharing หรือ Marketing รวมกัน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาด แต่อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มนี้ถูกต่อต้านจากรัฐบาลและกลุ่มสายเรือของจีน อีกทั้งกฎหมาย European competition ของยุโรป ซึ่งเป็น การป้องกันการผูกขาดการทำธุรกิจในยุโรปที่ห้ามการรวมกลุ่มที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกินร้อยละ ๔๐ และภายหลังที่ P3 ถูกปฏิเสธและล้มเหลวลงได้มีการรวมกลุ่มพันธมิตรใหม่ 4 กลุ่ม ได้แก่ 2M Ocean three G6 และ CKYHE

เส้นทางการเดินเรือในอนาคต Northern Sea Route (NSR) : ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างตะวันออก-ตะวันตก เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างยุโรปกับเอเชียเส้นใหม่ที่ใช้ทดแทนการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ (Suez) และปานามา ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการเดินเรือ อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัด คือ เส้นทางนี้ใช้ได้เฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคมเท่านั้น ปัจจุบันสายเรือ COSCO ได้ประกาศใช้เส้นทาง NSR อย่างเป็นทางการ และ Lloyd คาดว่าในปี ๒๕๕๙ จะมีจำนวนเรือผ่านเส้นทาง NSR ประมาณ ๕๐ ลำ

เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ จีนมีการผลักดันเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Maritime Silk Road) ที่มุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยความร่วมมือภาคทะเลจะเป็นการสร้างเส้นทางขนส่งที่ปลอดภัยโดยเป็นการเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือที่สำคัญตามเส้นทางดังกล่าว นอกจากนี้ จีนได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) โดยสนับสนุนเงินทุน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนในประเทศที่อยู่บนเส้นทางสายไหม รวมทั้งการก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการระดมทุนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ตลอดจนจีนพร้อมที่จะดำเนินการร่วมหารือ วิจัยศึกษา แลกเปลี่ยนบุคลากร และจัดการประชุมกับทุกประเทศที่อยากจะใช้แนวคิดดังกล่าวในการแสวงหาโอกาสและความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเปิดกว้างและเสรี

เร่งแผนและแนวทางความพร้อมก้าวสู่ AEC

การรวมตัวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ดังนั้น การท่าเรือฯ ในฐานะที่เป็นประตูการค้าทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญในการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ประกอบกับการที่ประเทศไทยไทยต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่9 ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องอนุญาตให้มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนในสาขาบริการที่กำหนดมากขึ้น รวมถึงสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ (เช่น บริการด้านการบรรจุภัณฑ์ บริการสนับสนุนสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล และบริการรับจัดการสินค้าทางทะเล เป็นต้น) ซึ่งจะทำให้เกิด การลงทุนในสาขาการบริการต่างๆ จากนักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งจำนวนผู้รับบริการมีจำนวนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การท่าเรือฯ จึงมีนโยบายและโครงการในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านเทคโนโลยี ด้านการให้บริการ ด้านการปฏิบัติงาน และด้านการอำนวยความสะดวกและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มบทบาทการขนส่งทางน้ำและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ AEC และช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในตลาดโลกประกอบด้วย 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และ 3.การพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรบุคคล

ซึ่งการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรบุคคล ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กรให้สอดรับกับการเป็น AEC อาทิ การจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาและศักยภาพของพนักงานทั้งในด้านทักษะการปฏิบัติงาน ด้านภาษา เช่น การฝึกอบรมภาษาอังกฤษ หลักสูตร English online และด้านอื่นๆ อาทิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการจัดทำระบบฐานความรู้ขององค์กรเพื่อบูรณาการสู่การพัฒนาการท่าเรือฯ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

You can leave a response, or trackback from your own site.

3 Responses to “แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4”

  1. แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4 | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freig says:

    Anonymous Proxies…

    I found a great……

  2. แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4 | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freig says:

    Buy Private Proxy…

    I found a great……

  3. แนวโน้มการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.4 | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freig says:

    Elite Proxy…

    I found a great……

Leave a Reply