กพร. เสริมความแกร่งโลจิสติกส์ไทย

กพร. เสริมความแกร่งโลจิสติกส์ไทย
เร่งสร้างเครื่องมือเพื่อช่วย…
วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์& ซัพพลายเชน

หลายปีมานี้ ในแวดวงโลจิสติกส์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง คงจะคุ้นเคยกับผลการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรม ของสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอย่างดี ซึ่งในปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการก้าวผ่านการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) กอปรกับนางดวงกมล สุริยฉัตร ได้เข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์
ในโอกาสนี้ วารสาร Logistics Max จึงขอเป็นผู้แทนผู้ประกอบการเข้าพบ ผอ.ดวงกมล สุริยฉัตร เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมในระยะต่อไป โดย ผอ.ดวงกมล สุริยฉัตร ซึ่งไม่ใช่คนใหม่ในสำนักโลจิสติกส์ แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งสำนักโลจิสติกส์มาตั้งแต่ต้น และเป็นกำลังหลักสำคัญในการผลักดันการจัดทำโครงการและหลักสูตรอบรมต่างๆ ได้กล่าวถึงทิศทางและแผนการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชน และกระบวนการวางแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยมีเครื่องมือและกิจกรรมด้านโลจิสติกส์เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน ดังนี้
“เราอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560 – 2564) ซึ่งเป็นการกำหนดบทบาทที่กว้างมากขึ้น เป็นการต่อยอดจากแผนแม่บทฯ ฉบับแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างบุคลากรที่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงโครงข่ายอุปสงค์และอุปทานทั้งในภูมิภาคและเวทีการค้าโลกให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิต การค้า และการบริการแบบไร้รอยต่อ อย่างคล่องแคล่ว และยืดหยุ่น
การที่จะสร้างความแข็งแกร่งด้านองค์ความรู้เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ การนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ทันตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ การอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่การแข่งขันที่เข้มข้นให้สามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ของทางสำนักฯ ต้องทำงานอย่างหนัก แต่เราก็ไม่ได้ย่อท้อและจะคงเดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อที่เราจะทราบถึงศักยภาพหรือระดับความเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรมว่าสูงพอที่เข้าสู่การแข่งขันได้ทั้งระดับประเทศหรือต่างประเทศหรือไม่นั้น สำนักโลจิสติกส์ จึงจัดทำโครงการศูนย์บริการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (Industrial Logistics Performance Index: ILPI) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านโลจิสติกส์มาทำการประเมินประสิทธิภาพในภาพรวมของกิจกรรมโลจิสติกส์ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนา ปรับปรุง สนับสนุนสถานประกอบการในส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ยิ่งไปกว่านี้สถานประกอบการยังจะได้ประโยชน์ในการนำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (ILPI) ไปประเมินตนเองในด้านต่างๆ ทำให้ทราบจุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กรในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมกระบวนงานและกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การวางแผน จัดซื้อจัดหา ผลิต และกระจายสินค้าหรือวัตถุดิบตลอดจนสามารถนำข้อมูลไปใช้สำหรับการวางแผนและพัฒนาธุรกิจขององค์กร ให้มีประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นได้
สำนักโลจิสติก์ ได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยแยกออกเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านต้นทุน มิติด้านเวลา และมิติด้านความน่าเชื่อถือ โดยใช้มิติทั้ง 3 มองลึกเข้าไปในแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 9 กิจกรรมได้แก่ การวางแผนหรือการคาดการความต้องการของลูกค้า (Forecasting and Planning) การให้บริการลูกค้าและกิจกรรมสนับสนุน (Customer Service and Supporting) การสื่อสารด้านโลจิสติกส์และการจัดการคำสั่งซื้อ (Communication and Order Processing) การจัดซื้อจัดหา (Purchasing and Procurement), การขนถ่ายวัสดุและการบรรจุหีบห่อ (Materials Handling and Packaging) การเลือกสถานที่ตั้งของโรงงานและการจัดการคลังสินค้า (Site Selection Facilities and Warehousing) การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) การขนส่ง (Transportation) และโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) รวมจำนวน 27 ตัวชี้วัด
ทั้งนี้ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึง ต้นทุนแฝงซึ่งไม่ได้ถูกจ่ายออกไปเป็นตัวเงินจริง แต่เป็นต้นทุนที่ทำให้เราเสียโอกาสทางการแข่งขันกับตลาด เวลาที่สูญเสียโดยไปในแต่ละกิจกรรม ซึ่งอาจจะมากกว่าเวลาที่ได้ประมาณการไว้ ทำให้สามารถตอบสนองความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าเห็นเป็นรูปธรรม มีหลักเกณฑ์ในการวัดที่สามารถเห็นผลได้ และนำผลที่ได้ไปสู่การปรับปรุงที่ตรงจุด ชี้แจงและแสดงให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการเองเห็นได้ถึงความไม่สมบูรณ์ของงาน อันจะนำไปสู่การบูรณาการและร่วมกันในการหาทางแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป
นอกจากนี้ สำนักโลจิสติกส์ ยังได้เพิ่มในส่วนของการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านซัพพลายเชน (Supply Chain Performance Index : SCPI) เนื่องจากทางสำนักฯ เล็งเห็นว่าในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจโดยเป็นเพียงคู่ค้าอันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการเป็นพันธมิตรการค้า ซึ่งมีการสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อร่วมกันปรับปรุงกระบวนการ การลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน มีฐานข้อมูลและการรับรู้ความต้องการของตลาดที่เท่าเทียมกัน เพื่อการปรับเปลี่ยนการเพิ่ม-ลดผลผลิตไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการสร้างซัพพลายเชนที่เหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมของประเทศเดินหน้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาได้รวดเร็ว และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ในส่วนของตัวชี้วัดประสิทธิภาพซัพพลายเชน (SCPI) ได้คำนึงถึงสมรรถนะด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ซัพพลายเชน โดยได้วิเคราะห์ออกเป็น 5 สมรรถนะ ที่สำคัญได้แก่ด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability) ด้านการตอบสนอง (Responsiveness) ด้านการปรับตัวและความยืดหยุ่น (Agility) ด้านต้นทุน (Cost) และด้านการจัดการสินทรัพย์ (Asset Management Efficiency) เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ภายในซัพพลายเชนขององค์กร อันจะนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาระบบซัพพลายเชนที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน รวมจำนวน 10 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดประสิทธิภาพทั้งด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่ทางสำนักฯ จัดทำขึ้น สามารถนำไปเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการดำเนินงานของสถานประกอบการ โดยอาจจะนำไปปรับเป็น KPI สำหรับแต่ละแผนกในองค์กรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งทุกสถานประกอบการสามารถประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์และซัพพลายเชนได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านระบบ Online ภายใช้ชื่อเว็บไซต์ lpi.dpim.go.th ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่” ผอ.ดวงกมล สุริยฉัตร กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์ lpi.dpim.go.th ระบบประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

การแสดงผลการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในระบบ Online

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “กพร. เสริมความแกร่งโลจิสติกส์ไทย”

  1. กพร. เสริมความแกร่งโลจิสติกส์ไทย | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Frei says:

    Buy Usa Proxies…

    I found a great……

  2. กพร. เสริมความแกร่งโลจิสติกส์ไทย | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Frei says:

    Cheap Private Proxies Cheap…

    I found a great……

Leave a Reply