ดีเอชแอล มุ่งมั่นเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้านงานหัตถกรรมไทยสู่สากล

ดีเอชแอล มุ่งมั่นเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้านงานหัตถกรรมไทยสู่สากล

บันทึกข้อตกลงระหว่างดีเอชแอล ศศป.และคอมเกตเวย์ สร้างช่องทางการค้าใหม่เพื่อดึงดูดผู้ซื้อต่างชาติ


ดีเอชแอล ผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ชั้นนำของโลก ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) และบริษัทคอมเกตเวย์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดและรู้จักแพร่หลายทั่วโลก

ทั้งนี้ ดีเอชแอล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และคอมเกตเวย์จะร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการขยายตลาดการค้าระดับภูมิภาคและสากลในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการแนะนำเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางการขาย พร้อมช่องทางการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่มีความปลอดภัย รวมถึงการบริการด้านลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มความประทับใจในการซื้อสินค้าแนวหัตถกรรมของไทย

เว็บไซต์ที่ทำขึ้นใหม่นี้เปรียบเสมือนตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มาร์เก็ต ที่เป็นตลาดรวมสินค้าออนไลน์สำหรับผู้ขายสินค้าหัตถกรรมเพื่อนำเสนอให้กับผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมไทยนั้น สามารถใช้ตลาดอิเล็กทรอนิกส์นี้ ในการจัดทำระบบธุรกรรมทางธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งรวมถึงการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่มีความปลอดภัยพร้อมระบบป้องกันการทุจริต การบริการลูกค้าสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ดีเอชแอล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และคอมเกตเวย์ยังร่วมกันจัดการฝึกอบรมการทำธุรกรรมออนไลน์ให้กับนักธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญในการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ

คุณชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยกล่าวว่า “เราจะร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในตลาดการค้าระดับโลก รวมถึงการเพิ่มพันธมิตรทางการค้าและการพัฒนาช่องทางการค้ารูปแบบใหม่เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจของไทยสู่ตลาดสากล”

“คุณภาพผลงานที่ยอดเยี่ยม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ในงานฝีมือ ล้วนเป็นคุณสมบัติที่พบเห็นได้ทั่วไปในงานหัตถกรรมของไทย ซึ่งสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีประเภทนี้มาโดยตลอดอย่างไรก็ตาม นักธุรกิจเหล่านี้อาจยังไม่คุ้นเคยกับแนวทางการทำธุรกิจระหว่างประเทศมากนัก เราจึงมีความยินดีที่จะนำเครือข่ายและศักยภาพที่เรามีในระดับสากล มาช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทั้งด้านเอกสารทางการค้า กระบวนการด้านศุลกากร และข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ประสบความสำเร็จในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าที่ใดในโลก”

นับเป็นเวลาหลายปี ที่ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศได้นำเสนอโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสินค้าหัตถกรรมในท้องถิ่นของประเทศไทย และผลักดันให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการส่งออก ด้วยการเน้นย้ำให้ทุกคนสร้างสรรค์สินค้าที่เพิ่มมูลค่าและมีความแตกต่าง เนื่องจากตลาดการค้าของสินค้าที่มีการออกแบบที่ดูเรียบง่ายและได้มาตรฐานทั่วไปนั้น กำลังเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด เพราะจำนวนสินค้าที่ถูกผลิตออกมาลอกเลียนแบบโดยผู้ผลิตรายใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply