“ด่านพรมแดนห้วยโก๋น” ประตูแห่งการค้าสู่ AEC

Customs Update

“Huy Kone Boder”, Gateway to AEC

“ด่านพรมแดนห้วยโก๋น” ประตูแห่งการค้าสู่ AEC

ด่านพรมแดนห้วยโก๋น ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นด่านสาขาของด่านศุลกากรทุ่งช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากด่านศุลกากรทุ่งช้าง ประมาณ ๔๖ กิโลเมตร ด่านพรมแดนห้วยโก๋น เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น.-๒๐.๐๐ น. นอกจากนี้ในทุกวันเสาร์ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ น.- ๑๘.๐๐ น. จะมีการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างประชากรชาวไทยกับสปป.ลาว

ด่านพรมแดนห้วยโก๋น อยู่ตรงข้ามกับด่านสากลเมืองเงิน แขวงไชยบุรี สปป.ลาว สินค้าที่มีการนำเข้า-ส่งออก ผ่านด่านพรมแดนห้วยโก๋น สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตร อาทิเช่น ขิง ลูกต๋าว ลูกเดือย ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง (สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว)

นอกจากนี้ยังมีสินค้าผ่านแดนจากสปป.ลาวไปประเทศจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทไม้ เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อจากด่านพรมแดนห้วยโก๋นไปยังด่านสากลเมืองเงิน เป็นถนนมาตรฐานซึ่งก่อสร้างโดย บริษัทโรงไฟฟ้าหงสา จำกัด เพื่อใช้เป็นเส้นทางไปสู่เหมืองลิกไนท์และโรงไฟฟ้าหงสา จนถึงเมืองเงิน ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร และจากถนนสายเมืองเงิน-ปากห้วยแคน-ปากแบ่ง สามารถเชื่อมต่อไปสู่เมืองไซ แขวงอุดมไชย ซึ่งสามารถเดินทางไปเมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามได้ ซึ่งในขณะนี้ประเทศจีนได้มีโครงการก่อสร้างทางรถไฟจากคุนหมิง ผ่านแขวงอุดมไชย ข้ามแม่น้ำโขงที่ปากแบ่ง สู่เมืองปากห้วยแคน แขวงไชยบุรี ถึงเมืองหงสา เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

แนวทางการจัดการและการพัฒนา

ด่านพรมแดนห้วยโก๋น ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาคารศูนย์ราชการด่านชายแดนห้วยโก๋น ซึ่งอบต.ห้วยโก๋นจัดสรรให้เป็นที่ทำการด่านพรมแดนชั่วคราว ด่านพรมแดนห้วยโก๋นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา (พื้นที่อนุรักษ์) การขอใช้พื้นที่จะต้องขออนุญาตกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ทั้งนี้จังหวัดน่านได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการพัฒนาด่านชายแดนห้วยโก๋น เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สามารถรองรับการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

การควบคุมทางศุลกากร

เนื่องจากสภาพพื้นที่ภูมิประเทศบริเวณชายแดนเป็นที่พื้นที่ป่า มีภูเขาสูงชัน มีพื้นที่ราบน้อย เส้นทางคมนาคมและขนส่งไม่สะดวก ลักษณะค่อนข้างเป็นทางโค้งไปตามภูเขาและสูงชันเป็นบางช่วง ทำให้ปัญหาการลักลอบหนีศุลกากรในพื้นที่ความรับผิดชอบของด่านพรมแดนห้วยโก๋นมีไม่มากนัก

การควบคุมตรวจสอบสินค้าที่มีการนำเข้า-ส่งออก

๑. การควบคุมตรวจสอบ การนำเงินตรา

๒. การควบคุมตรวจสอบ ยานพาหนะ
(รถยนต์ส่วนบุคคล,รถโดยสาร,รถบรรทุก)

๓. การควบคุมตรวจสอบสินค้า

๓.๑) การนำสินค้าเข้า-ออก

๓.๒) การนำสินค้าผ่านแดนเข้า-ออก
สถิติมูลค่านำเข้า – ส่งออกของด่านศุลกากรทุ่งช้าง ปีงบประมาณ 2558
(ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558)

สินค้านำเข้า ปีงบประมาณ 2558 สินค้าส่งออก  ปีงบประมาณ 2558
ลำดับ รายการสินค้า มูลค่า (บาท) ลำดับ รายการสินค้า มูลค่า (บาท)
1 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 89,089,204.14 1 น้ำมันปิโตรเลียม 1,286,469,617.22
2 มันสำปะหลัง 10,129,845.77 2 เหล็กโครงสร้าง 336,753,779.65
3 ลูกเดือย 9,534,348.80 3 โครงสร้างของระบบสายพานทำด้วยเหล็ก 144,931,378.85
4 ไม้แปรรูป 9,364,152.77 4 ปูนซีเมนต์ 117,953,285.61
5 ลูกต๋าว 6,552,262.76 5 รถดั๊มพ์ เพื่อใช้งานนอกทางหลวงพร้อมอุปกรณ์ 101,000,000.00
6 ดอกหญ้าทำไม้กวาด 6,439,625.78 6 โครงสร้างทําด้วยเหล็กใช้กับเครื่องบดถ่านหิน 65,373,878.33
7 ดอกหญ้าทำไม้กวาด 6,439,625.78 7 แผ่นเหล็ก 54,747,196.20
8 เศษเหล็ก 1,903,400.00 8 หม้อแปลงไฟฟ้า 39,282,800.00
9 ถั่วลิสงมีเปลือก 1,891,521.18 9 เหล็กเส้น 38,146,485.14
10 ผ้าทอด้วยฝ้าย 1,638,015.00 10 สายไฟฟ้า 37,941,049.52

สินค้าผ่านแดนส่วนใหญ่จะเป็นโครงเหล็กและส่วนประกอบในการก่อสร้าง ซึ่งใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสา และสินค้าไม้ ตอไม้ รากไม้ จาก สปป.ลาวไปประเทศจีน

มูลค่าสินค้าผ่านแดนสินค้า  จากประเทศลาว
ไปยังประเทศที่สาม
มูลค่าสินค้าผ่านแดนสินค้า  จากประเทศที่สาม
ไปยังประเทศลาว
ปีงบประมาณ 2558 ปีงบประมาณ 2558
ลำดับ สินค้า บาท ลำดับ สินค้า บาท
1 ไม้ลาวแปรรูป 24,794,979.49 1 โครงเหล็กและส่วนประกอบใช้ในการก่อสร้าง 1,691,013,960.85
2 ตอไม้ 8,581,799.91 2 ส่วนประกอบของเครื่องลำเลียงถ่านหิน 764,241,306.00
3 ส่วนประกอบปั๊มพร้อมอุปกรณ์ 1,071,565.58 3 ส่วนประกอบของกังหันผลิตไฟฟ้า 510,795,138.37
4 ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ตัดจ่อแบบสูญญากาศ 664,989.01 4 รถดั๊มที่ออกแบบเพื่อใช้งานนอกทางหลวงพร้อมอุปกรณ์ 399,997,138.77
5 รากไม้ 90,166.48 5 อุปกรณ์ควบคุมตามสถานี 302,289,118.13
6 โต๊ะ เก้าอี้ 18,722.48 6 ส่วนประกอบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 238,984,939.94
รวม* 35,222,222.95 7 อุปกรณ์ใช้ในงานเขื่อน 97,574,522.59
8 ชุดมอเตอร์ใช้ในโรงไฟฟ้าหงสา 93,962,639.72
9 เครื่องจักรสำหรับดันดินย้ายชนิดขับเคลื่อนได้ 63,133,058.30
10 อื่นๆ 334,800,000.72
รวม* 4,496,791,823.39
มูลค่าการนำเข้า-ส่งออก รายปีงบประมาณ
เดือน/ปี ยอดรวมทั้งสิ้น สินค้าผ่านแดน
มูลค่านำเข้า มูลค่าส่งออก มูลค่านำเข้าจากลาว มูลค่าส่งออกไปลาว
ปี2551 145,959,459.18 171,541,802.09 92,400,326.01 -
ปี2552 96,154,827.33 197,511,156.97 5,972,251.24 -
ปี2553 117,377,438.96 204,030,782.22 24,571,625.31 -
ปี2554 219,472,888.02 878,666,595.82 99,317,454.02 31,295,373.02
ปี2555 119,934,604.30 3,548,386,404.86 187,434,792.95 954,404,770.25
ปี2556 93,155,083.16 4,012,341,222.15 243,646,752.71 12,396,299,998.51
ปี2557 41,232,442.95 5,337,368,730.27 512,033,007.71 20,362,515,951.72

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยอดการค้าผ่านด่านห้วยโก๋นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ ในอดีตนั้นการค้าระหว่างด่านห้วยโก๋นกับเมืองเงินไม่มีการพัฒนามากนัก เนื่องจากเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีชุมชนหนาแน่น แต่ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาในพื้นที่ สปป.ลาวหลายด้าน ส่งผลให้การค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจึงมีการยกระดับจากการเป็นจุดผ่อนปรนห้วยโก๋นขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร ส่วนฝั่ง สปป.ลาว มีการยกระดับด่านเมืองเงินเป็นด่านสากลน้ำเงิน

โครงการที่จะสนับสนุนให้ด่านห้วยโก๋นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน เชื่อมเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน-เวียงจันทร์ สปป.ลาว จีนเลือกใช้เส้นทางผ่านแขวงอุดมไชยสู่แม่น้ำโขง ระยะทาง 64 กิโลเมตร และข้ามแม่น้ำโขงไปสร้างสถานีรถไฟไชยะบุรีที่บ้านโคกแอกซึ่งห่างจากเมืองหงสาเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น เส้นทางรถไฟสายนี้จีนจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559 ใช้ระยะเวลา 2 ปี และจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปี ซึ่งจีนจะใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าลงมาและขนส่งทรัพยากรกลับไปยังประเทศจีนอีกด้วย โดยเฉพาะเถ้าจากการเผาไหม้ลิกไนต์จากโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนซ์เมืองหงสา ซึ่งในอนาคตจะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทย 80% ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเมืองหงสาให้เติบโตขึ้น ขณะเดียวกันจีนยังเข้าไปปลูกพืชผลทางการเกษตรใน สปป.ลาวจำนวนมาก เมื่อได้ผลผลิตก็ต้องขนกลับผ่านเส้นทางสายนี้ด้วย และในอนาคตแขวงอุดมไชยจะกลายเป็นทางแยกเชื่อมไทย-จีน และไทย-เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ที่มีระยะทางห่างจากอุดมไชยประมาณ 200 กิโลเมตร

นอกจากโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วนั้น ยังมีโครงการสำคัญที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 คือโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมปากห้วยแคน-ปากแบ่ง โดยทางการจีนก่อสร้างให้เพื่อเชื่อมแขวง 2 แขวง ซึ่งสะพานแห่งนี้จะเชื่อมถนนระหว่างแขวงอุดมไชย แขวงไชยะบุรี แขวงหลวงน้ำทา และห่างจากชายแดน สปป.ลาว-จีน ประมาณ 240 กิโลเมตร

จากการพัฒนาทางด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้า การอำนวยความสะดวกในการลงทุนในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่จำเป็นระหว่างประเทศ รวมทั้งรายได้ที่จะเพิ่มมากขึ้นจากนักท่องเที่ยว และการเปิดประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2559 นี้ ดังนั้นการพัฒนาด่านพรมแดนห้วยโก๋นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อจะเป็นการรองรับปริมาณสินค้าและปริมาณคนเข้า-ออกที่เพิ่มมากขึ้น

——————

CR. ด่านศุลกากรทุ่งช้าง, ด่านพรมแดนห้วยโก๋น, manager.co.th

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to ““ด่านพรมแดนห้วยโก๋น” ประตูแห่งการค้าสู่ AEC”

  1. “ด่านพรมแดนห้วยโก๋น” ประตูแห่งการค้าสู่ AEC | Espe says:

    Buy Fast Private Proxies…

    I found a great……

  2. “ด่านพรมแดนห้วยโก๋น” ประตูแห่งการค้าสู่ AEC | Espe says:

    Instantproxies…

    I found a great……

Leave a Reply