โลจิสติกส์ 4.0

Need to know 2

Logistics 4.0, a developmental stage in logistics merging production and logistics technology

โลจิสติกส์ 4.0

สุวัฒน์ จรรยาพูน

อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

หลังจากประมูลคลื่น 4G 1800 MHz เสร็จไปไม่นาน ผมถูกรุ่นพี่ลากเข้าห้องประชุมโต๊ะกลมที่คุยกันเรื่องโลจิสติกส์ 4.0 จากที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเลย พอฟังสักพักก็กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุค “Industry 4.0” เรียบร้อยแล้ว และโลจิสติกส์ 4.0 ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน โดยเรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจในโลกธุรกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ส่วนคำว่า “Industry 4.0” มาจากประเทศเยอรมันนีที่ประกาศนโยบายแห่งชาติเมื่อปี 2013 ที่มีแนวคิดว่า โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และเยอรมันต้องอยู่หัวขบวน ซึ่งจะต้องแข่งกับ จีน และสหรัฐอเมริกา

หลังจากค้นที่มาของ “Industry 4.0” แล้วก็เกิดความสงสัยเพิ่มขึ้นมาในใจทันทีว่า แล้วยุค 2.0 กับ 3.0 มันมาตอนไหน จำได้เลาๆ ว่าเคยเรียนแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่ “เจมส์ วัตต์” สร้างเครื่องจักรไอน้ำ ในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดโรงงานสมัยใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรบันทึกเข้าสมองเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกเลย จึงลองถามใน Google ได้ความว่า ยุค 2.0 คือ ยุคที่มีการใช้เครื่องจักรไฟฟ้า เข้ามาทดแทนเครื่องจักรไอน้ำ เกิดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนยุค 3.0 เริ่มในปี 1970 เป็นยุคที่มีการใช้ จักรกลอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ในการผลิตแทนแรงงานคน สามารถผลิตสินค้าจำนวนมากในเวลาไม่นาน ผมดูแล้วก็เดาว่า เขาน่าจะเพิ่งมาแบ่งเอาในช่วงไม่นานมานี้ เพราะยุค 2.0 และ 3.0 ผมไม่เคยพบในแบบเรียนที่เคยรู้จัก (หรือไม่ผมก็อายุมากเกินไป จนไม่ได้ติดตามแบบเรียนสมัยใหม่) ส่วนยุค 4.0 จะเป็นยุคที่โรงงานสามารถผลิตของหลากหลาย ตามความต้องการของลูกค้า ได้เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตา โดยยังคงความมีประสิทธิภาพ และต้นทุนที่ประหยัด

จากแนวคิดของเยอรมันที่บอกว่าจะไม่ยอมตกขบวน จึงถาม Google ต่อ ได้ความว่า ยุค 4.0 ถูกเรียกในสหรัฐอเมริกาว่า “The Internet of Things” เป็นกระบวนการผลิตที่เชื่อมกับเทคโนโลยี เชื่อมกับสินค้า เชื่อมกับเครื่องจักร เป็นการผสานให้เกิดเป็น “Smart” ในทุกๆ ด้าน เช่น “Smart Machine” ที่เครื่องจักรสามารถแจ้งเตือนเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องจักรในแต่ละส่วนได้ ก่อนที่จะเสีย “Smart Product” ที่สินค้าสามารถเชื่อมโยงกับเครื่องจักรให้ผลิตตามความต้องการของลูกค้า เชื่อมโยงกับการขนส่ง ให้ส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงเวลาที่เหมาะสม แม้แต่ทางการแพทย์ที่ผมเคยเห็นงานวิจัย ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนในยาฉีด เพื่อนำพาตัวยาเข้าสู่จุดที่ต้องใช้ในร่างกายมนุษย์โดยตรง ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล

โลจิสติกส์ 4.0 ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Industry 4.0 ก็คือการผนวกเทคโนโลยีการผลิต และเทคโนโลยีของโลจิสติกส์ เข้าด้วยกัน โดยสินค้าจะส่งสัญญาณให้หยิบ ให้เก็บ ให้จัดขึ้นรถ และนำไปส่งมอบให้ลูกค้าตามสถานที่ และเวลาที่กำหนด ดูเหมือน ในที่ประชุมโต๊ะกลมจะกลัวว่า “บทบาทของคนกลางจะหายไป” ซึ่งผมคิดว่ายังไม่หายไปไหนเพียงแต่คนกลางต้องเปลี่ยนบทบาทให้ เป็น “Smart Middleman” แบบบริษัทข้ามชาติ ไม่ใช่แบบลูกทุ่งที่ทำกันอยู่ ส่วนบทบาทของคนกลางน่าจะหายไปหากเทคโนโลยีของ เครื่องพิมพ์ 3D พัฒนาจนกลายเป็นพิมพ์ออกมาเป็น “ของจริง” ไม่ใช่ “เสมือนจริง” ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาอีกนานในการพัฒนา

ด้านเทคโนโลยีผมเห็นว่าในการสัมมนาโต๊ะกลมดูไม่กังวล น่าจะเป็นเพราะเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี พัฒนาเองก็ไม่ไหว ด้วยเราไม่เคยทำพื้นฐานให้เข้มแข็ง การพัฒนาจึงไม่เกิด จำเป็นต้อง “ซื้อ” ใช้ ซึ่งไม่เคยได้ของใหม่ มีแต่ของที่เกือบตกรุ่น จากคนขายเท่านั้น เราจึงค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่การเป็น “ทาส” ทางเทคโนโลยีให้กับต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะไม่รู้ตัว ลองคิดๆ ดูแล้วก็น่าจะคล้ายๆ กับยุคล่าอาณานิคมในอดีต

สิ่งที่เหล่าสมาชิกโต๊ะกลมแสดงความห่วงใยก็คือ ประเทศไทย และบริษัทสัญชาติไทยจะแข่งขันได้หรือไม่ในยุค 4.0 ผมลองดู ธุรกิจในบ้านเรา พบว่า ธนาคารสัญชาติไทยแท้ เหลืออยู่น้อยมาก หลังจากเกิดวิกฤติทางการเงินของไทย แสดงว่าความสามารถ ในการแข่งขันของธุรกิจธนาคารของเราได้หมดไปสักระยะหนึ่งแล้ว ธุรกิจการสื่อสารก็ไม่มีบริษัทไหนไม่ร่วมทุนกับต่างชาติ แสดงว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข่งขันไม่รอดก็ค่อยๆ ล้มหายไป ส่วนที่แข่งขันได้ก็ต้องหาแนวทางปรับตัวกันต่อไป รูปแบบที่เคยใช้ก็อาจจะ ไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ได้ ระยะนี้เริ่มเห็นข้อความส่งต่อๆ กัน ว่าด้วยเรื่องของธุรกิจธนาคาร ที่ไม่ทราบว่ากำลังแข่งอยู่กับใคร และแข่งอะไร แสดงถึงความรวดเร็วของความคิดและเทคโนโลยีที่สามารถรังสรรค์ผลงานได้ โดยธุรกิจปรับตัวตามไม่ทัน

ธุรกิจขนาดกลางที่ขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์ และเทคโนโลยี ก็ยากที่จะแข่งขัน จะทำได้ก็คงเป็นการประคองตัว ให้อยู่ได้ในตลาด รอจังหวะ และโอกาส เผื่อจะมีช่องทางให้สอดแทรก เติมเต็มบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คงจะเป็น “ทาส” โดยสมบูรณ์อยู่ดี ก็คงคล้ายๆ บริษัท “Tire 2, 3, 4” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ไม่ทำธุรกิจด้วยก็ไม่ได้ ทำด้วยก็กำไรบางเต็มที หันมาดูธุรกิจขนาดเล็ก ก็ดูแล้วคิดว่าไม่น่าจะถูกสนใจมากนัก แต่พอสังเกตดีๆ ก็พบว่า ร้านตัดผมที่เป็นอาชีพให้คนไทยตามกฎหมาย ก็ยังมีเป็นแฟรนไชส์ มีบริการตัดผมด่วนตามสถานีถไฟฟ้าที่เป็นแหล่งชุมชน

ส่วนขายของข้างทางที่บางครั้งก็ดูเป็นเสน่ห์ของ กทม. แต่หลายครั้งก็ดูรก และเกะกะไม่สวยงาม เพราะรุกล้ำเข้าที่ส่วนรวมมากเกินพอดี และขยายตัวจนเต็มพื้นที่โดยใช้เวลาไม่นาน ก็ถูกจัดระเบียบจนโล่งเตียน และขาดเสน่ห์

ดังนั้น ถ้าจะอยู่ให้รอดในยุค 4.0 ประเทศไทย และองค์กรสัญชาติไทยต้องเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง? ตอนนี้ผมคิดออกแค่เรื่อง เดียว ก็คือ “คน” ครับ เราต้องเตรียมคนให้เข้ากับยุค 4.0 จริงๆ แล้วก็คือถ้าเตรียมคนได้ดี เราจะเข้ากับยุคไหนก็ได้ ตลอดหลายปี ที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสผมก็จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาคน เพราะองค์กรที่ประสบความสำเร็จระดับโลกทุกองค์กร ถูกขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าทั้งสิ้น

แต่น่าแปลกใจที่สาขาวิชาอย่างการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในบ้านเรา กลับมีผู้สนใจเลือกเรียนน้อยมาก สมัยที่ผมเรียน ปริญญาตรี มีเพื่อนร่วมชั้นประมาณ 600 คน มีคนเลือกเรียนสาขาวิชาการบริหารบุคคล (ชื่อเรียกในสมัยก่อน) เพียง 1 คน เท่านั้น และรุ่นน้องผมตลอด 3 รุ่น ไม่มีใครเลือกเรียนสาขานี้เลย ด้วยเหตุผลเดียวก็คือหางานทำยากมาก

เมื่อผมเข้าสอนที่คณะบริหาร ก็ดีใจที่เห็นสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ มีผู้สนใจเรียนรุ่นละ 50 -100 คนทุกปี แต่พอมองลึกลงไป พบเรื่องน่าเศร้าก็คือ นักศึกษาส่วนมากเลือกเรียนเพราะเป็นเด็กอ่อนที่สุดในคณะ และไม่ชอบวิชาคำนวณ คิดว่าสาขานี้น่าจะสามารถเรียนจบได้ไม่ยาก

ซึ่งแนวคิดแบบนี้ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับยุคที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่คนเรียงเก่งต้องเลือกคณะแพทย์ศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนใครที่แค่อยากสอบเข้าได้ ก็ให้เลือกครู ความผิดเพี้ยนทางความคิดนี้เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ของบ้านเราที่หล่อหลอมมา แบบผิดฝาผิดตัว จนปลุกฝังลงไปในจิตสำนึกจนเราได้คนเรียนอ่อนเป็นครูมาสอนคนรุ่นถัดไป และได้คนเรียนอ่อนเป็นคนทำหน้าที่บริหารจัดการบุคลากรในองค์กร ที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด หรือแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ เองก็ทราบดีว่าเราขาดแคลนแรงงานในระดับวิชาชีพ แต่แก้ปัญหานักเรียนช่างตีกันไม่ได้  รวมถึงค่านิยมคนไทยต้องมีใบปริญญา จะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีเงินเดือนดี ๆ

ดังนั้น แนวทางในการพัฒนาคนอย่างแรกที่ต้องปรับก็คือ “ทัศนคติ” หรือ “Mind Set” แต่ไม่ใช่การเชิญตัวมาเข้าค่าย นะครับ ทัศนคติที่ว่าก็คือ “ทัศนคติของการทำงานร่วมกัน” ด้วยการ “รู้จักเอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ถ้าในทางธุรกิจก็คือ การคิด “ในมุมมองของลูกค้า” โดยต้องตรวจสอบความคิดนี้อยู่เสมอ เพราะเรามักจะถูกครอบงำจากผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยง่าย การทบทวนด้วยมุมมองของลูกค้า จะทำให้ทราบว่าความขัดแย้งกันระหว่างสองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ควรจะเลือกดำเนินไปในทางใด จึงจะถูกต้อง  โดยจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้โดยง่าย เพราะเป็นมาตรฐานเดียว แต่หากเกิดความหลงเลือกทางที่นำประโยชน์ใส่ตัว และพวกพ้อง ความเสื่อมย่อมจะมาเยือนในไม่ช้า

อย่างที่สองที่ ดร.วิทยานำเสนอในที่ประชุม โดยแรกๆ ผมรู้สึกแย้ง แต่พอคิดสักพักก็เห็นด้วยนั่นก็คือ การสร้าง “ผู้นำ” หรือ “Leadership” บ้านเราช่วงนี้ขาดแคลนผู้นำที่มีทัศนคติที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดความคลางแคลงใจในการใช้อำนาจของผู้นำ การรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อผลักดันองค์กรจึงไม่เกิด เรื่องต่อมาที่เป็นผลตามมาอีกก็คือ การสร้าง “ความไว้วางใจ” หรือ “Trust” เป็นเรื่องที่ผู้นำ และทุกคนต้องสร้างให้ได้การทำงานร่วมกันจึงจะมีพลัง

เพราะมีหลายครั้งที่เรารวมตัวกันเป็นทีมได้แต่ไม่นานก็ล่มสลาย เพราะต่างคนต่างมีเป้าหมายของตนเอง และให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตนก่อนเป้าหมายรวม แม้ว่าปากจะพูดว่า ทำเพื่อส่วนรวมก็ตาม การทำเช่นนี้ส่งผลต่อ “ความไว้วางใจ” ทำให้ไม่เชื่อใจกัน ทำงานด้วยความระแวง จึงรวมกันได้ไม่นาน ผมเคยเห็นบริษัทขนส่งหลายเจ้ารวมตัวกัน แล้วก็แยกทางกันไป เพราะรวมตัวกันแบบไม่เชื่อใจกันตั้งแต่แรก คนในทีมมีความเชื่อว่า เขาจะถูกเอาเปรียบเมื่อมีการทำงานร่วมกัน จึงจ้องที่จะเอาเปรียบคืนอยู่เสมอ เพื่อที่จะให้รู้ว่าเราไม่ได้โง่ที่ยอมอยู่ร่ำไป การรวมตัวคราวนั้น ผมเห็นว่าเขาอดทนกันได้ปีเดียวก็ลาจากกัน เพราะเหนื่อยที่จะต้องมารบกันเอง

การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาบุคลากรให้มี แนวคิดของการทำงานร่วมกัน สร้างความไว้วางใจ และสร้างภาวะผู้นำ จึงจะเป็นการเตรียมความพร้อมขององค์กรในยุค 4.0 ให้สามารถเสริมสร้างจุดแข็ง ปรับเปลี่ยนจุดอ่อน ช่วงชิงโอกาส และหลีกเลี่ยงอุปสรรค ในสนามการค้าได้อย่างมีชั้นเชิงและไม่เพลี่ยงพล้ำโดยง่าย

******************************************************

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply