ภาพรวม…มาตรฐานโลจิสติกส์แห่งปี

Need to Know  3

Overview Logistics Standards of the Year

Standard Equipments improving Logistics Efficiency

ภาพรวม…มาตรฐานโลจิสติกส์แห่งปี

สำนักโลจิสติกส์  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่


จากแผนพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2556-2560 (Logistics Standardization Roadmap) ของสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแนวทางการพัฒนามาตรฐานอุปกรณ์ ข้อมูล และกระบวนการอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ซึ่งนำไปสู่การยอมรับและความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการของประเทศจากคู่ค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยการอ้างอิงมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโลจิสติกส์ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO)

ในปี 2557 มีการจัดทำร่างมาตรฐานเพื่อการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายทางกายภาพในลำดับชั้นที่ 2 – 4 ของแบบจำลองโซ่อุปทาน (อ้างอิง ISO/TR 17370: Application Guideline on Data Carriers for Supply Chain Management) ซึ่งจะกล่าวไว้เป็นแนวทางเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การประยุกต์ใช้กล่องรองรับสินค้า (Box Pallet)

อ้างอิง ISO 13194:2011 Box Pallets - Principal Requirement and test Methods

กล่องรองรับสินค้าเป็นอุปกรณ์ขนถ่ายชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ในการขนย้ายสินค้าไปยังยานพาหนะขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เรือ หรือเครื่องบินก็ตาม เพื่อให้กิจกรรมการขนย้ายสินค้าเป็นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง และลดความสูญเปล่าทั้งด้านเวลา และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายสินค้า นอกจากกล่องรองรับสินค้าจะช่วยในการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี ยังมีบทบาทด้านการนำเข้าและส่งออกเป็นอย่างมาก

กล่องรองรับสินค้านั้นถูกพัฒนามาจากแท่นรองรับสินค้าทั่วไปที่ใช้ในกระบวนการขนส่งและจัดเก็บ แต่ทำโครงสร้างแบบกล่องเพื่อเน้นการปกป้องสินค้าจากความเสียหายและเพื่อความสะดวกในการรับ จัดเก็บ และกระจายสินค้า สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ลากจูงหรือรถโฟล์คลิฟท์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาระบบการจัดเก็บภายในคลังสินค้าที่เรียกว่า ระบบการจัดเก็บสินค้าแบบแท่นรองรับสินค้า (Pallet Storage System) ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บและการตรวจนับสินค้า รวมไปถึงการใช้งานในส่วนการกระจายสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้การบริหารจัดการการใช้งานระบบแท่นรองรับสินค้าเพื่อการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วัสดุที่นำมาผลิตกล่องรองรับสินค้านั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น ไม้ พลาสติก กระดาษ เหล็กโฟม อะลูมิเนียม สแตนเลส ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดจะมีมาตรฐานต่างๆ เป็นตัวกำหนด เช่น มาตรฐาน GMP  ที่บอกถึงน้ำหนักที่เหมาะสมในการรองรับซึ่งใช้ร่วมกับ EURO Pallet หรือกฎ IPPC กฎบัตรที่ออกมาควบคุมการใช้กล่อง/แท่นรองรับสินค้าชนิดไม้ เพื่อคุ้มครองป่าไม้และพืชพันธุ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการขนส่งระหว่างประเทศ หรือกฎ  ISPM 15  ข้อกำหนดด้านมาตรฐานสุขอนามัยของพืช เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของแมลงไม่พึงประสงค์ที่อาจติดมากับบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

กล่องรองรับสินค้า (Box Pallet)

การพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเข้าสู่ตลาดนั้น ต้องคำนึงถึงการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าร่วมด้วย โดยอาศัยกล่องหรือแท่นรองรับสินค้าที่มีขนาดมาตรฐาน สามารถวางเรียงสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ได้พอดีกับกล่องหรือแท่นรองรับสินค้า น้ำหนักการรองรับ ความปลอดภัยขณะขนส่ง รวมถึงการเลือกใช้กล่องรองรับสินค้าที่สามารถถอดพับหรือลดรูปได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้าและลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ กระแสโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) เข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการค้า การขนส่ง และการส่งมอบสินค้า ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกในการให้ความสำคัญต่อมิติการจัดการโลจิสติกส์ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ ดังจะเห็นได้จาก หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีแนวโน้มที่จะนำอุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือใช้หมุนเวียนได้ อาทิ แท่นรองรับสินค้า กล่องรองรับสินค้า มาใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์มากขึ้น

ในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำหรือใช้หมุนเวียนได้ และยังมีแนวโน้มที่จะนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นกฎระเบียบทางการค้าในอนาคต ดังนั้นการประยุกต์ใช้กล่องรองรับสินค้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมและนำไปสู่การผลักดันให้มีการใช้งานอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป

การประยุกต์ใช้ผนึกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้บรรจุสินค้า (Electronic Seals)

อ้างอิง ISO 18185-5:2007 Freight Containers-Electronic Seals-Part5: Physical Layer

ประเด็นความปลอดภัยการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ประเทศผู้นำทางการค้าให้ความสำคัญอย่างมาก หลังจากเหตุการณ์ 911 สหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัย ครอบคลุมถึงความปลอดภัยในการนำเข้าสินค้า อาทิ มาตรการ 24 Hours Rule, CSI,            C-TPAT, Bioterrorism Act เป็นต้น นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออก Authorized Economic Operator (AEO) ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันการส่งออก-นำเข้าสินค้าตลอดโซ่อุปทาน โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติด้านความปลอดภัยของกระบวนการขนส่งสินค้าจากต้นทางไปจนถึงปลายทาง เพื่อมิให้เกิดปัญหาสินค้าสูญหาย สินค้าถูกขโมย หรือการใช้เป็นช่องทางก่อการร้าย

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในกระบวนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะขนย้ายสินค้าเป็น      ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ดังนั้น ผนึกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้บรรจุสินค้า (Electronic Seal)  จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปิดล็อคตู้สินค้า และยังเชื่อมต่อสัญญาณผ่านคลื่นความถี่เพื่อตรวจสอบสถานะและตำแหน่งของตู้คอนเทนเนอร์แบบทันทีหรือเป็นปัจจุบัน ซึ่งสร้างความมั่นใจให้ทั้งกับผู้รับสินค้าและผู้ส่งสินค้าใช้ในการติดตามการเดินทางของสินค้าในระยะทางไกล รวมถึงความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยตลอดกระบวนการขนส่งระหว่างประเทศ

ที่มา http://www.universealgroup.com, http://design-site.net

ผนึกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้คอนเทนเนอร์

การประยุกต์ใช้ผนึกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้บรรจุสินค้าจึงเกี่ยวข้องกับผนึกอิเล็กทรอนิกส์ การอ่านข้อมูลผนึก และการเชื่อมต่อข้อมูลซึ่งต้องใช้ร่วมกับเทคโนโลยีRFID เพื่อให้เกิดการไหลของข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตลอดกระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน (RFID Technology)

ประเทศไทยเริ่มมีการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้งานในหลายสาขา เช่น ระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ระบบการจัดเก็บในคลังสินค้า งานด้านสาธารณสุข ระบบตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร (Traceability) และระบบติดตามตัวสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในระบบ      โลจิสติกส์มากขึ้น โดยเฉพาะระบบการกระจาย จัดเก็บ รวบรวม และเคลื่อนย้ายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยี RFID เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานที่ต้องอาศัยความรวดเร็วและความถูกต้อง รวมไปถึงความปลอดภัย ในการติดตามสถานะของสินค้า เมื่อสินค้าถูกกระจายไปทั่วโลกจะต้องสามารถตรวจสอบหาแหล่งที่มา รวมถึงรายละเอียดของสินค้า การนำเทคโนโลยี RFID ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ เพื่อช่วยให้การจัดการที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้สามารถส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

เมื่อศึกษามาตรฐานสากลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล พบว่ามาตรฐานที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID มีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกันตามโครงสร้างการบรรจุและการเคลื่อนย้ายใน 5 ลำดับขั้นของแบบจำลองโซ่อุปทาน ได้แก่

1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ (อ้างอิง ISO 17363: 2013, Supply chain applications of RFID – Freight containers) มาตรฐาน ISO 17363: 2013 เป็นข้อกำหนดการใช้งานของการอ่าน / เขียนของเทคโนโลยี RFID เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน กรณีการจัดส่งเฉพาะสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ โดยมาตรฐานฉบับนี้ได้กำหนดย่านการสื่อสาร โครงสร้างข้อมูลที่จำเป็น และการจัดการทั่วไปผ่านไวยากรณ์ และการกำหนดความหมายร่วมกันของชุดข้อมูลที่ต้องการ

2) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID สำหรับอุปกรณ์ขนถ่ายและบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งแบบหมุนเวียน (อ้างอิง ISO 17364: 2013, Supply chain applications of RFID – Returnable transport items (RTIs) and returnable packaging items (RPIs)) หมายถึง การติดป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) หรือฝังไว้ในอุปกรณ์สำหรับการขนถ่าย เก็บรักษา และป้องกันสินค้า ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้อีก เช่น กล่องหรือแท่นรองรับสินค้าแบบหมุนเวียน รถเข็นสินค้า เป็นต้น เพื่อตรวจติดตามและบันทึกข้อมูลใน     ไมโครชิปที่ติดอยู่กับป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมต่อผ่านสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุ ทำให้สามารถบ่งชี้หรือแสดงสถานะการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ขนถ่ายนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา http://www.world-pallet.com/en/markets-pallets/rfid-pool-pallet/

เทคโนโลยี RFID กับแท่นรองรับสินค้า

เทคโนโลยี RFID กับรถเข็นสินค้า

3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID สำหรับหน่วยขนส่ง (อ้างอิง ISO 17365: 2013, Supply chain applications of RFID – Transport units) อยู่ภายใต้แนวคิดการทำงานร่วมกันในระดับปฏิบัติการ การสั่งงาน และการใช้ข้อมูล ซึ่งบรรจุไว้ในหน่วยความจำที่ถูกติดหรือฝังไปกับการขนส่งแบบหน่วยรวม กล่าวคือ การนำบรรจุภัณฑ์แต่ละหีบห่อมารวมเป็นกลุ่มบนกล่องหรือแท่นรองรับสินค้าหรืออุปกรณ์ขนส่งแบบหมุนเวียนอื่นๆ ที่ส่งไปพร้อมกับหน่วยขนส่ง ซึ่งจะจัดกลุ่มการบรรจุภัณฑ์สินค้าให้เหมาะกับการขนส่งและการจัดจำหน่าย หน่วยขนส่งจะทำการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ถูกจำหน่ายไปตามเงื่อนไขของลูกค้า ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีRFIDสำหรับหน่วยขนส่งจะช่วยให้การบริหารจัดการโซ่อุปทานง่ายขึ้น ถูกต้องแม่นยำ  และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID สำหรับหน่วยขนส่งเหมาะกับผู้ประกอบการและผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ใช้หน่วยการขนส่งในการขนย้ายสินค้าครั้งละจำนวนมาก ทำให้การตรวจนับสินค้ามีความถูกต้องแม่นยำและประหยัดเวลาขึ้น โดยเฉพาะกรณีการขนส่งสินค้าระหว่างสถานี การส่งสินค้าข้ามแดน หรือการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยี RFID ที่มีมาตรฐานทำให้หน่วยขนส่งสามารถผ่านกระบวนการต่างๆ ทั่วโลกโดยไม่ติดขัด ลดความสูญเปล่าในกระบวนการตรวจสอบ ลดเวลาการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์

ที่มา http://www.jefflindsay.com/rfid3.shtml

เทคโนโลยี RFID กับหน่วยขนส่ง

ที่มา http://www.bridge-project.eu/index.php/portable-demo/en/

ตัวอย่างการทำงานโดยใช้เทคโนโลยี RFID กับหน่วยขนส่ง

4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีRFIDสำหรับบรรจุภัณฑ์ (อ้างอิง ISO 17366: 2013, Supply chain applications of RFID – Product packaging) มาตรฐาน ISO 17366: 2013 เป็นการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของRFID เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน เมื่อนำไปใช้ในการชี้บ่งบรรจุภัณฑ์สินค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ให้รายละเอียดสำหรับการระบุของบรรจุภัณฑ์สินค้า
  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับป้าย RF
  • ระบุความหมายและไวยากรณ์ข้อมูลที่จะนำมาใช้
  • ระบุโปรโตคอลข้อมูลที่จะใช้ในการเชื่อมต่อกับการใช้งานทางธุรกิจ และระบบ RFID
  • ระบุความต้องการประสิทธิภาพการทำงานขั้นต่ำ
  • ระบุมาตรฐานการเชื่อมต่อระหว่างตัวอ่าน RF และป้าย RF
  • ระบุการนำมาใช้ใหม่และรีไซเคิลของป้าย RF

5) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีRFIDสำหรับผลิตภัณฑ์ (อ้างอิง ISO 17367: 2013, Supply chain applications of RFID – Product tagging) มาตรฐาน ISO 17367: 2013 ได้กำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของRFID เพื่อการจัดการโซ่อุปทานสำหรับการติดป้ายระบุเฉพาะเจาะจงสินค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการระบุการเข้ารหัสของผลิตภัณฑ์
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าป้าย RF
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความหมายและไวยากรณ์ข้อมูลที่จะนำมาใช้
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโปรโตคอลข้อมูลที่จะใช้ในการเชื่อมต่อกับการใช้งานทางธุรกิจและระบบ RFID
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรฐานการเชื่อมต่อระหว่างตัวอ่าน RF และป้าย RF
    มาตรฐาน ISO 17367: 2013 เฉพาะที่อยู่ติดป้ายผลิตภัณฑ์และไม่ได้อยู่ที่บรรจุภัณฑ์สินค้า

การประยุกต์เทคโนโลยี RFID ใช้ในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่ง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีRFIDมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply