ยา กับการทำลายสินค้า

TLAP’s Talk p.53-56

Drugs and goods destruction

ยา กับการทำลายสินค้า

“ยาเสียก็ต้องเอาไปทำลายซิค่ะ”

“ถูกต้องแล้ว ค ร๊ า บ บ บ บ บ บ”   เสียงพิธีกร ตะโกนพร้อมๆ กับฟันนิ้วชี้ ไปที่คุณเรณู ดัง ฉับ ก่อนที่ผู้ชมในห้องส่งจะตบมือ ส่งเสียงเชียร์ แบบสุดใจขาดดิ้น

คุณเรณู แกเป็นเจ้าของร้านขายยา ช่วงที่ขายยาไม่ค่อยได้เลยไปออกรายการแฟนพันธ์แท้ร้านขายยา เผื่อจับพลัดจับพลูได้รางวัลมา จะได้เซ้งร้านข้างๆ อีกสักคูหา ติดแอร์ให้เย็นฉ่ำ ลูกค้าเข้าร้านจะได้รู้สึกเหมือนเข้าห้าง ยังไง ยังงั้น

ครับ ยาเสียก็ต้องเอาไปทำลาย ยังไงก็ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ จะขายให้คนไข้เอาไปกินได้ยังไง แม้เราเป็นร้านขายยาเล็กๆ แต่เราก็มีจรรยาบรรณ และก็ไม่เคยเอาเปรียบคนไทยด้วยกัน  พี่วิชัย ที่เปิดร้านขายยาเหมือนกับคุณเรณู คิดในใจ ขณะดูคุณเรณูออกรายการโทรทัศน์อยู่ พร้อมๆ กับลุ้นไปด้วย

“แต่ เอ ทำลายยา  ฟังดูแปลกๆ”   พี่วิชัย คิด

อาทิตย์ที่แล้วยาหมดอายุเราเอาใส่ถุงดำไปทิ้งในถังขยะหน้าร้าน ยังไม่เห็นรถเทศบาลมาเก็บเลย หลังร้านก็ยังมีอีกอยู่หน่อยนึง เผื่อไงวันนี้จะใส่ถุงดำเอาไปทิ้งให้หมดๆ จะได้ทำ 5 ส. แบบที่พวกทำงานในโรงงานมันคุยอวดกันสักหน่อย เราก็อินเทรนด์เหมือนกัน

แต่คิดอีกที ถุงดำพวกนั้นหากเขาไปแกะเอาฟอยล์ขาย หรือเอายาไปให้ลูกหลานเขากิน หรือกินเอง คงได้บุญพิลึก

มาตรา 4             ในพระราชบัญญัตินี้

“ความเสียหาย” หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น

มาตรา 5             ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย ในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย  และสินค้านั้นได้มีการขายให้ผู้บริโภคไปแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้น จะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม

อ้าว แล้วกัน หากเขาเป็นอะไรไป ซวยแน่เลยตู

มาตรา 11           นอกจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ความเสียหายต่อจิตใจ……..

ความทั้งหมดมาจากบางส่วนของ “พระราชบัญญัติ ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551” ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552

สรุปก็คือหากใส่ถุงดำไปทิ้งถังขยะให้รถเทศบาลมาเก็บ มีโอกาสขึ้นศาลเสียเงินแน่นอน แล้วจะทำอย่างไงดีละครับท่าน

บทความวันนี้ จะว่ากันในเรื่อง ยาที่เสื่อมสภาพ หรือหมดอายุ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ควรขายอีกแล้วต่อไป และไม่สามารถส่งคืนบริษัทฯยาได้ จะทำอย่างไรให้ดีที่สุดเพื่อไม่ต้องเป็นภาระแก่สังคม แก่ตนเอง และผองเพื่อนร้านขายยาด้วยกัน (รวมไปถึงไม่ต้องเสียเงินขึ้นศาล)

ก่อนอื่นมาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันดูก่อน ว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง จะได้ปรับเทคนิคและกลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน

ข้อแรก

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ กรณีการทำลายของเสีย สินค้าเสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุและเศษซาก

เฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญ ๆ ก็จะมีความว่า

(3.1.) การทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซาก ที่โดยสภาพไม่สามารถเก็บไว้ได้ เช่นผลิตภัณฑ์อาหาร เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ต้องปฏิบัติ ดังนี้

(ก) ต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่า เสียหายตามเงื่อนไขที่แต่ละกิจการได้กำหนดไว้หรือไม่ ฯลฯ

(ข) ต้องมีพยานในการทำลาย ในการนี้ไม่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรร่วมเป็นพยาน

ข้อสอง

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.84/2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ กรณีการทำลายของเสีย สินค้าเสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุและเศษซาก

(3.2) การทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซาก ที่โดยสภาพสามารถเก็บรักษาและรอการทำลายพร้อมกันได้เมื่อมีปริมาณที่เหมาะสม จะต้องแจ้งการทำลายต่อสรรพากรพื้นที่ล่วงหน้า 30 วัน เว้นแต่การทำลายของเสีย อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานราชการอื่นอยู่แล้ว ไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรก็ได้

สรุปก็คือ ร้านขายยาเล็กๆ อย่างเราต้องแจ้งหรือไม่ต้องแจ้งกันแน่

หากฟันธงกันอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายแล้ว พี่วิชัยจะยัดยาใส่ถุงดำเอาไปทิ้งเป็นการประจำทุกเดือน ไม่ต้องแจ้ง (ก็ได้) ครับ ย้ำครับต้องมีการทิ้งหรือทำลายเป็นการประจำทุกเดือน หากทำบ้างไม่ทำบ้างต้องแจ้งเขาครับ

เราจะหวังว่าร้านขายยาอย่างเรา มี อ.ย. คอยดูแลอยู่แล้วก็จริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ตอนทำลายของนี่เขาไม่ได้มาร่วมดูแลกับเรานะครับ ประเด็นถัดมาก็คือ หากทิ้งไปแล้ว รถเทศบาลเขาเอาไปแกะฟอยล์ขาย หรือ เอายาไปใช้เอง หรืออะไรก็แล้วแต่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้ขึ้นศาลตามกฎหมาย”ตวามรับผิดต่อความเสียหายฯ ” กฎหมายที่ว่านี้ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ด้วยการพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสียหายเท่านั้น โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหาย เกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการผู้ใด (มาตรา 5)

เอากันง่ายๆ ก็คือ ใครก็ตามที่กินยาจากถุงดำแล้วเป็นอะไรไป สามารถฟ้องพี่วิชัยได้ก่อนเป็นอันดับแรก ครับ แล้วค่อยไล่เบี้ยไปยังผู้ประกอบการถัดไป จริงๆ แล้วเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างดีและคุ้มครองคนที่ไม่ชุ่ย เพราะหากพวกเรามีความระมัดระวังแล้วปัญหาเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามร้านขายยาเล็กๆ จะมีวิธีการจัดการกับยาหมดอายุอย่างไรดี ที่จะไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้

การมีกระบวนการแจ้งเจ้าหน้าที่อะไรต่อมิอะไรให้มันถูกต้องตามกฎหมาย มันเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรปฏิบัติ แต่ มันค่อนข้างยุ่งยากเหลือเกิน

อย่างนี้ดีไหมครับ ไปดูวิธีการทำลายของบริษัทฯ ยา ว่าเขาทำกันอย่างไร

กฎหมายที่เขาประกาศมา ก็ใช้เป็นการทั่วไปไม่ว่าเป็นร้านขายยา หรือบริษัทฯ ยา ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ด้วยความพร้อมของบริษัทฯ ยา เขาจึงมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนี้

  1. สรุปรายชื่อยาและจำนวนยาที่จะต้องทำลายเป็นการประจำทุกเดือน
  2. ขออนุมัติทำลายจากผู้บังคับบัญชา
  3. ตรวจนับร่วมระหว่างหน่วยงานบัญชี,หน่วยงานตรวจสอบ,หน่วยงานคลังสินค้า และตัวแทนฝ่ายขาย
  4. ดำเนินการทำลาย ในขั้นตอนนี้ก็จะมีหลากหลายวิธีเช่น เผา ฝังกลบ การใช้สารเคมีทำลายแล้วฝังกลบ เป็นต้น ซึ่งจะว่าจ้างให้ผู้มีอาชีพทางด้านการทำลายสารเคมีโดยตรงเป็นผู้จัดการให้ (เรียกว่า “วินาศกร” ว่างั้นเถอะ)

ในเมืองไทยจะมีบริษัทฯ ลักษณะนี้มากเหมือนกัน แต่ที่เป็นหลักและมาตรฐานอยู่ จะมีอยู่ สองราย อยู่ที่ระยองรายหนึ่ง และที่อยุธยา รายหนึ่ง ทั้งสองรายเป็นบริษัทจำกัด สังกัดกระทรวง   อุตสาหกรรม จึงเชื่อถือได้ (ที่มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ค่อนข้างบ่อยเหมือนกันนั่นแหละ) และ  แน่นอนที่สุดเขาไม่ได้ทำฟรี บริษัทฯ เจ้าของยาต้องจ่ายค่าทำลายตามประเภทของยา นั่นแหละ         ครับ

ทีนี้ร้านขายยาอย่างเรา จะทำอย่างเขาได้หรือไม่ ตอบครับ ได้แน่นอน

แต่อย่าไปทำเลยครับ เจ๊งไปเปล่าๆ  เพราะค่าทำลายนี่แพงเหมือนกันนะครับ อยากทำแต่จะทำอย่างไรดี ก็ทำหน้าตาให้ใสๆ ยิ้มแบบเศร้าๆ แล้วลองทำตามขั้นตอนที่จะบอกต่อไปนี้ ประหยัดถุงดำพร้อม ๆ กับลดความเสียงขึ้นศาลไปเยอะเลย

  1. คัดแยกยาเสียออกเป็นกลุ่ม เช่นยาน้ำพวกหนึ่ง ยาเม็ดพวกหนึ่ง เป็นต้น ใส่ถุงพลาสติคเป็นพวกๆ ไป
  2. จดชื่อยา และจำนวนไว้
  3. เอาถุงพลาสติคที่ใส่ยา บรรจุลงกล่องกระดาษรวมกันเลยครับ
  4. ปิดกล่องกระดาษด้วยเทปกาวให้สนิท (แสดงความบริสุทธิ์ใจ)
  5. ปิดรายชื่อยา และจำนวนไว้ข้างกล่องที่ปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย
  6. รอ เหยื่อ

ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาสัดนิด แต่รับรองไม่นานเกินรอ และได้ผล ชัวร์

โน่น หนูอิ่ม ผู้แทนบริษัทฯ ยา มาแล้ว (อย่าลืมทำหน้าให้ใส ยิ้มแบบเศร้า) ให้ออเดอร์ยาไปสัก 2-3 รายการ แล้วก็แสดงได้เลยครับ

“หนูอิ่ม จ๋า พี่วิชัย ฝากยาไปทำลายสักกล่อง นะจ๊ะ”

“ได้สิค่ะ พี่วิชัย”

เสร็จ ตู (แค่คิดครับ ไม่ต้องตะโกน)

เห็นไหมครับ ร้านขายยาเล็กๆ อย่างเราก็มีโอกาสทำลายยา ตามมาตรฐานสากล ได้โดยไม่เสียเงิน เสียเวลา และเสียน้ำใจ

และก็อย่าลืม ครับ เมื่อรบกวนเขาแล้ว เราก็ควรจะทำให้เป็นมาตรฐานสักนิด ตามกฎทั้งห้าหก ข้อ ข้างต้น ซึ่งก็ไม่เป็นภาระที่มากเกินไปนัก และถือว่าเป็นการช่วยลดภาระของบริษัทฯ ยา ที่เขาไม่ต้องไปทำใหม่ ถือว่าเป็นการช่วย ๆ กัน ทั้งสองฝ่าย

ส่วนประเด็นที่จะต้องแจ้งหรือไม่แจ้งสรรพากร ก็ ห.ห. หายห่วงครับ เพราะบริษัทฯ ยา ก็จะนำไปรวมกับส่วนที่เขาจะต้องทำลายเป็นการประจำตามขั้นตอนปกติของเขาอยู่แล้ว  และไม่ต้องกังวลว่าวันวาใครจะมาด่าหรือมัดคอเราขึ้นศาล เพราะเราไม่ยัดถุงดำทิ้งหน้าร้าน ให้มันรกหูรกตาอยู่แล้ว

สวัสดีครับ

สมบัติ ศิริรักษ์

อนุกรรมการสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต

1/7/2558

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “ยา กับการทำลายสินค้า”

  1. ยา กับการทำลายสินค้า | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freight Max says:

    Buyproxy…

    I found a great……

Leave a Reply