Logistics Standardization Roadmap 2013-2017

Need to Know 3

Logistics Standardization Roadmap 2013-2017

3C: Connectivity – Communication & Collaboration

แผนพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ 2556-2560

ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี

ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน

และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

หากกล่าวถึงคำว่า “มาตรฐานโลจิสติกส์” ในประเทศไทย หลายท่านคงยังมีข้อสงสัยว่ามาตรฐาน โลจิสติกส์นั้นคืออะไร? ในมุมมองของใคร? ใครเป็นผู้กำหนด? ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร? ด้วยคำถามเหล่านี้ ทำให้คณะทำงานและทีมที่ปรึกษาด้านการมาตรฐานของสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการโครงการ “พัฒนาการมาตรฐานโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ด้านการมาตรฐานทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันรหัสสากล และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น

ซึ่งเป็นการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปัจจุบัน (2557) เป็นระยะเวลา 3 ปีมาแล้ว ที่ทางสำนักฯ มีนโยบายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเพื่อยกระดับการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ระดับสากล เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้การมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ ส่งเสริมการใช้งานมาตรฐานอุปกรณ์ และกระบวนการโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ด้วยกรอบแนวคิดหลักการ 3C ซึ่งประกอบด้วย

การยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย

ตามกรอบแนวคิด 3C: Connectivity, Communication and Collaboration

Logistics Pipeline: การไหลของวัสดุ ข้อมูล และการเงินอย่างมีประสิทธิภาพด้วยแนวคิด 3 C

C1: Connectivity คือ การเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งหมายถึง ลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ขนถ่าย อุปกรณ์ยกขน และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในมิติเชิงขนาด รูปแบบ และความแข็งแรง เป็นต้น ที่ใช้ในการเชื่อมโยงจากต้นทางไปยังปลายทาง ดังนั้นการสร้างมาตรฐานด้านการเชื่อมโยงทางกายภาพ จะทำให้การไหลของสินค้า และบริการเป็นไปอย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ (Seamless-Connection) นำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านโลจิสติกส์อย่างสมบูรณ์แบบ

C2: Communication คือ การเชื่อมต่อของข้อมูลสารสนเทศ โดยการบันทึกข้อมูลเพื่อชี้บ่งลักษณะของสินค้าที่สอดคล้องกันตั้งแต่ข้อมูลระดับตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ขนถ่ายและขนส่ง หน่วยการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการบันทึกข้อมูลโดยตรงบนตัวสินค้า และ/หรือบรรจุภัณฑ์ การบันทึกข้อมูลในรูปแบบเครื่องหมาย เช่น บาร์โค้ด RFID เป็นต้น

C3: Collaboration คือ การทำงานร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลง กฎระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ปฏิบัติร่วมกัน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโซ่อุปทานได้ปฏิบัติร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมในโซ่อุปทานได้อย่างราบรื่น

แนวทางการพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้มีการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่เป็นมาตรฐาน สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งแนวทางดังกล่าวประกอบด้วยกรอบเวลาในการดำเนินงานพัฒนาการมาตรฐานโลจิสติกส์ด้านต่างๆ รวมไปถึงการจัดลำดับความเร่งด่วนของแต่ละมาตรฐานตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยพิจารณาจากผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

จากผลการศึกษาภายใต้โครงการฯ พบว่า ในทุกประเทศทั่วโลกให้การยอมรับมาตรฐานสากลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) เป็นมาตรฐานอ้างอิง ดังนั้นในการดำเนินงานของประเทศไทยจึงได้ให้ความสำคัญของมาตรฐาน ISO เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางกรอบแผนพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ เนื่องด้วยเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งรวมทั้งประเทศคู่ค้า ประเทศพันธมิตรทางการค้า และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมอาเซียน ที่มีความยินยอมปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์กรดังกล่าวร่วมกัน นำไปสู่ความเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก กอปรกับประเทศไทยได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และร่วมสังเกตการณ์ในการพัฒนามาตรฐาน ISO บางกลุ่ม ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้และปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานได้ ในขณะเดียวกันมาตรฐานที่ไทยนำมาประยุกต์ใช้ยังสามารถอ้างอิง และแนะนำแนวทางความร่วมมือด้านการมาตรฐานให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนำไปปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน สามารถเชื่อมโยงและผนึกกำลังให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดสายโซ่อุปทานการผลิต อันนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ทั่วทั้งอาเซียน

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยความร่วมกับเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรฐานต่างๆ ของประเทศไทย และการศึกษามาตรฐาน ISO ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์ สามารถแบ่งได้ 12 กลุ่มมาตรฐาน ตามคณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committee: TC) ดังต่อไปนี้

  1. ISO/IEC JTC 1: Information Technology
  2. ISO/TC41: Pulleys and Belts (Including Veebelts)
  3. ISO/TC 51: Pallets for Unit Load Method of Material Handling
  4. ISO/TC101: Continuous Mechanical Handling Equipment
  5. ISO/TC 104: Freight Containers
  6. ISO/TC 110: Industrial Trucks
  7. ISO/TC 122: Packaging
  8. ISO/TC 154: Processes, Data Elements and Documents in Commerce, Industry and Administration
  9. ISO/TC 204: Intelligence Transport System
  10. ISO/PC259: Outsourcing
  11. ISO/TC 269: Railway Application
  12. ISO/TC 277: Sustainable Purchasing

ในแต่ละกลุ่มได้แบ่งเป็นมาตรฐานย่อยๆ รวมแล้วประมาณ 3,607 ฉบับ ในขณะที่มาตรฐานซึ่งประกาศโดย สมอ. เฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์มีไม่ถึง 30 ฉบับ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในด้านการพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ของประเทศ ดังนั้นในปี 2556 สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้นำเสนอกรอบการพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2556-2560 (Logistics Standardization Development Model 2013-2017) โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO และมาตรฐานอื่นๆ อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

กรอบการพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2556-2560

ประเทศไทยในยุคแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ไม่เพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงถึงกันได้ แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ คือ การปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน

ดังนั้น คณะทำงานโครงการฯ จึงได้จัดทำการสำรวจข้อมูลความต้องการด้านการมาตรฐาน และร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการปรับปรุงแนวทางการพัฒนามาตรฐานโลจิสติกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลความต้องการเร่งด่วนของผู้ประกอบการ หรือผู้ใช้งานมาตรฐาน ดังแผนพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2556-2560 (Logistics Standardization Roadmap 2013-2017)

Logistics Standardization Roadmap 2013-2017

แผนพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2556-2560

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักโลจิสติกส์ กพร. ยังคงให้ความสำคัญด้านมาตรฐานโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการไทยให้ใช้มาตรฐานด้านโลจิสติกส์กันอย่างจริงจัง อันจะนำมาซึ่งการลดเวลา ลดต้นทุน และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ซึ่งสอดคล้องตามดัชนีชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์ โดยการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการมาตรฐานฯ ผ่านการอบรมสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 20 ราย โดยในแต่ละบริษัทมีความรู้ความเข้าใจด้านการมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จภายใต้การให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ อาทิเช่น บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2556 และได้รับการรับรองมาตรฐาน AEO ในปี 2557 จากกรมศุลกากร และบริษัท ข้าวแสนดี จำกัด เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2556 และมีการพัฒนาด้านมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ จนนำไปสู่ความพยายามผลักดันให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เป็นต้น

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply