ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย

Need to know 1

Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC)

ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว รวมถึงประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ มีการติดต่อระหว่างกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน และมีด่านพรมแดนที่มีการค้ารวมถึงการเคลื่อนย้ายคนในจำนวนที่สูงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นด่านพรมแดนแม่สอด (ไทยและเมียนมาร์) ด่านแม่สาย (ไทยและเมียนมาร์) ด่านหนองคาย (ไทยและลาว) ด่านมุกดาหาร (ไทยและลาว) เป็นต้น ดังแสดงตามตารางที่ 1 ซึ่งด่านพรมแดนแม่สอดเป็นด่านที่มีการส่งออกไปยังประเทศเมียนมาร์สูงที่สุด ในขณะที่ด่านหนองคายเป็นด่านพรมแดนที่มีการส่งออกไปยังประเทศลาวสูงที่สุด ส่วนการนำเข้านั้น ด่านแม่สอดเป็นด่านที่มีการนำเข้าจากประเทศเมียนมาร์มายังประเทศไทยสูงสุด(ไม่รวมการนำเข้าเชื้อเพลิงทางท่อ) และด่านมุกดาหารเป็นด่านพรมแดนที่มีการนำเข้าจากประเทศเมียนมาร์มายังประเทศไทยสูงสุด หากดูการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2556-2556 จะพบว่าด่านพรมแดนท่าลี่ มีการเปลี่ยนแปลงด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุด ส่วนการนำเข้าด่านแม่สอดเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว และเมียนมาร์ เป็นไปด้วยดี มีความร่วมมือระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นทางการค้า อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว วัฒนธรรม เป็นต้น

ตารางที่ 1 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกแยกตามด่าน ระหว่าง ไทย-ลาว และ ไทย-เมียนมาร์

(ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ,2557)

เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือล่างของประเทศไทย (ประกอบด้วย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี) ตามตารางที่ 2 มีสัดส่วนในแต่ละสาขาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก สาขาการเกษตรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 สาขาอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 22 สาขาบริการประมาณร้อยละ 22 ซึ่งจะเห็นว่ามีมูลค่าโดยรวมประมาณ 184,000 ล้านบาท

ตารางที่ 2 มูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเหนือตอนล่างปี พ.ศ. 2553 (หน่วย ล้านบาท)

(ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2554)

นอกจากนั้นปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในภาคเหนือตอนล่าง 1 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าในปี พ.ศ.2553 นั้น มีปริมาณถึง 12 ล้านตัน ดังตารางที่ 3 โดยอ้อยเป็นสินค้าทางเกษตรที่มีปริมาณสูงที่สุด รองลงมาเป็นข้าว มันสำปะหลัง และจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์เป็นสี่จังหวัดที่มีปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสูงสุดสี่ลำดับแรก (ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรเกินล้านตันต่อปี)

ตารางที่ 3 ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ปี พ.ศ. 2553 (หน่วย ตัน)

(ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2554)

สำหรับด่านชายแดนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 เดิมมีเพียงด่านพรมแดนแม่สอดเป็นด่านพรมแดนถาวร แต่ปัจจุบันจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการประกาศจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2556 และตั้งอยู่ตรงข้ามกับด่านท้องถิ่นบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งขณะนี้ได้เปิดเป็นด่านสากลพูดู่ แล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558  ซึ่งด่านแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานด่านพรมแดนพูดู่ และถนนจากชายแดนไปยังทางแยกเมืองปากลาย(ถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตขนาด 2 ช่องจราจร) ทำให้สภาพถนนมีความพร้อมในการใช้งานสำหรับรถขนาดใหญ่ (รถบรรทุกสินค้าซิเมนต์ผงขนาด 18 ล้อจากประเทศไทยใช้เส้นทางนี้ในการขนส่งซิเมนต์ผงไปยังหน่วยงานก่อสร้างเขื่อนไชยะบุลี)

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายกรอบความร่วมมือ แต่กรอบความร่วมมือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มภาคเหนือตอนล่างน่าจะเป็น กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekhong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมืออิรวดีเจ้าพระยาแม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) โดยกรอบความร่วมมือ GMS ประกอบด้วยสมาชิกได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และสองมณฑลของประเทศจีน(มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซี) รวมทั้งมีระเบียงเศรษฐกิจที่น่าสนใจและเส้นทางผ่านประเทศไทย 3 ระเบียง นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ในขณะที่กรอบความร่วมมือ ACMEC ประกอบด้วยประเทศที่มีแม่น้ำอิรวดี (ประเทศเมียนมาร์) แม่น้ำเจ้าพระยา (ประเทศไทย) และแม่น้ำโขง (ประเทศในกลุ่ม GMS แต่ไม่รวมประเทศจีน) ดังนั้น ทั้งกรอบความร่วมมือ GMS และ ACMECS จึงมีความเกี่ยวพันกับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา และความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1

ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้นและกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งสอง รวมทั้งการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มภาคเหนือล่าง 1 ส่งผลให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจขึ้นมาภายในพื้นที่ภาคเหนือล่าง 1 เชื่อมโยงกับประเทศลาว และประเทศเมียนมาร์ นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC) โดยเป็นแนวที่เชื่อมโยงระหว่างแขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุลี ของประเทศลาว ออกจากประเทศลาว ณ ด่านพรมแดนพูดู่ บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุลี (ประเทศลาว) เข้าสู่ประเทศไทยที่ด่านพรมแดนภูดู่ ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ (ประเทศไทย) มายังพื้นที่อินโดจีน (พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1) ออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนแม่สอด จ.ตาก (ประเทศไทย) เข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ที่ด่านเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง (ประเทศเมียนมาร์) ไปยังเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง และเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เมืองเมาะลำไย เป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดกับทะเลฝั่งอันดามัน

LIMEC จะผ่านจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประเทศไทย ขึ้นอยู่กับกลุ่มกิจกรรมที่มีเกิดขึ้น อาทิเช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านค้า ด้านการลงทุน ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ โดยมีโลจิสติกส์เป็นระบบเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า คน ข้อมูลสารสนเทศ เงิน (การลงทุน) เพื่อทำให้เกิดการสะดุดหรืออุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 2 ระบบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาค (Hard Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบและกระบวนการทำงาน (Soft Infrastructure) ที่สำคัญต้องเกิดความสมดุล

แนวระเบียง LIMEC นี้จะให้ความสำคัญกับ 5 ด้านในช่วงแรก นั่นคือ ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยวและจัดประชุม ด้านสุขภาพ และด้านโลจิสติกส์ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ได้ให้การสนับสนุนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มภาคเหนือล่าง 1 ในการจัดประชุมนานาชาติ LIMEC ครั้งแรก ณ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ในหัวข้อ “ภูดู่ ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส (PhuDoo Gate of Companionship and Opportunity)” ระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2558 ในการประชุมครั้งนี้จะมีการประชุมหารือกลุ่มย่อย 5 ด้านดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 แขวง (ประเทศลาว) 5 จังหวัด (ประเทศไทย) และ 2 รัฐ (ประเทศเมียนมาร์) ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ

การประชุมนานาชาติที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญของการเตรียมความพร้อมและการร่วมมือกันของ 3 ประเทศ (2 แขวง 5 จังหวัด 2 รัฐ) เพื่อสร้างทั้งมิตรภาพและโอกาสระหว่างกัน

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย”

  1. ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไà says:

    Reliable Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply