“TAFA” ดันไทยเป็นเกตเวย์ของโลก

CEO Vision

TAFA wants Thailand to be the world’s gateway for storing and distributing goods by air

TAFA” ดันไทยเป็นเกตเวย์ของโลก

ศูนย์จัดเก็บ-กระจายสินค้าทางอากาศ

สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) เดินหน้าผลักดันไทยเป็นศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้าทางอากาศของเอเชีย คาดในเร็ววันนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจน เผยหน่วยงานภาครัฐของไทยเริ่มเอาจริง พร้อมเดินหน้าสานฝันสนามบินไทยเกตเวย์โลก

การขนส่งทางอากาศนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลก เพราะเป็นบริการขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น โดย International Air Transport Association (IATA) ระบุว่าสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกพึ่งพาการขนส่งทางอากาศ. สำหรับประเทศไทยนั้นสินค้าที่นิยมใช้บริการขนส่งทางอากาศส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าประเภทอุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและของมีค่าต่างๆ รวมทั้งสินค้าประเภทผัก ผลไม้

ในเรื่องนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการขนส่งสินค้าทางอากาศ และในฐานะนายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) คุณอมฤทธิ์ ปั้นศิริ ได้แสดงทรรศนะในเรื่องนี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศของไทยไม่โตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการขนส่งอยู่ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสำคัญที่สุดคือจากการควบคุมคุณภาพสินค้าของอียู ที่ส่งผลให้สินค้าประเภทผักผลไม้ส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปได้น้อยลง นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยการลงทุนระหว่างประเทศที่จะมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจหดตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้การขนส่งทางอากาศ รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจากต่างประเทศย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตัวเลขการขนส่งทางอากาศน้อยลง

“เพื่อเป็นการกระตุ้นให้การขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ไทยมีศักยภาพ-ขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น ประเทศไทยควรพลิกบทบาทเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของเอเชีย และเป็นเกตเวย์ของโลก เนื่องจากสนามบินของไทยมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ มีความเป็นศูนย์กลางเหนือกว่าทุกประเทศในแถบอาเซียน”

ดันไทยเป็นฮับขนส่งสินค้าทางอากาศ

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินับเป็นสนามบินที่มีความทันสมัยระดับโลก มีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเหนือกว่าประเทศในแถบอาเซียน มีขีดความสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ถึง 1.7 ล้านตันต่อปี ขณะนี้มีปริมาณการขนส่งสินค้า 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันไทยมีปริมาณสินค้าส่งออกทางอากาศมากกว่าปริมาณสินค้านำเข้า หากสามารถทำให้สินค้าส่งออกและนำเข้าของประเทศเพื่อนบ้านผ่านไทย ก็จะทำให้ไทยเป็นฮับการขนส่งสินค้าได้

คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอดคือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของไทยและของโลก ด้วยการสร้างโมเดลทางการตลาด โดยโจทย์ง่ายๆ คือ สินค้าดีๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยา สินค้าไฮเทค อุปกรณ์รถยนต์ต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์นั้น ให้มาจัดเก็บและกระจายที่สนามบินของเรา โดยให้สนามบินของไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดเก็บและกระจาย โดยสำคัญที่สุดที่ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุน คือ เรื่องภาษีคือควรงดเว้นภาษี ทำให้เป็นเขตปลอดอากร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาใช้บริการ จะเป็นการส่งเสริมให้สนามบินเป็นศูนย์การกระจายสินค้า เป็นเขตปลอดอากรได้อย่างแท้จริง

คุณอมฤทธิ์ บอกว่า ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของโลก และเป็นเกตเวย์ของโลกแต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิของไทยมีลักษณะทำเลที่ตั้งที่มีความเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว และมีศักยภาพ-ขีดความสามารถเหนือกว่าทุกประเทศ ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลบอกว่าสามารถทำได้ เชื่อว่าภายในปีหน้าจะเห็นภาพชัดเจนเรื่องศูนย์กระจายสินค้า มั่นใจว่าทางกรมสรรพากรจะแก้ปัญหาได้ และช่วยผู้ประกอบการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะหากเวียดนามสร้างสนามบินแล้วเสร็จก็น่ากลัวสำหรับประเทศไทย เพราะสินค้าหลั่งไหลไปสู่เวียดนาม นักลงทุนต่างย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามมากขึ้น

แนะทำการตลาดเชิงโลจิสติกส์

คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า.ในการทำการค้าควรทำเรื่องการตลาดเป็นตัวนำ รวมทั้งทำการตลาดเชิงโลจิสติกส์มาใช้ควบคู่กัน ซึ่งการทำการตลาดคือการทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าและเข้าถึงข้อมูลของสินค้า หรือเอาสินค้าส่งถึงมือลูกค้าถึงบ้าน หากข้อมูลไม่ไปก็ให้ไปหาข้อมูลได้สะดวก แต่ขณะนี้การทำตลาดเชิงโลจิสติกส์บอกว่า ถ้าแผนการเอาสินค้าไปถึงผู้บริโภคเร็ว และมีช่องทางโลจิสติกส์ตรงเวลา และสามารถเติมสินค้าได้ทันเวลา โดยที่ไม่มีต้นทุนการจัดเก็บสูง ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของการทำการตลาด คือการทำการตลาดไปด้วย เป็นการตลาดของโลจิสติกส์

ในการทำการตลาดเชิงโลจิสติกส์นั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาด หากสามารถทำได้ จะเป็นการเปลี่ยนมุมประเทศไทยให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และหากมีศูนย์กระจายสินค้าที่มีความสะดวกสูงสุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะว่ามีโลจิสติกส์เซ็นเตอร์ที่ดี พร้อมทั้งทำการเชื่อมโลจิสติกส์ไปหาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

คุณอมฤทธิ์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเขตพื้นที่นั้นๆ ส่งเสริมอะไร อย่างเช่น ถ้าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และขนส่งจะได้ออกแบบการขนส่งไปเชื่อมกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่เขาผลิตในซัพพลายเชน ซึ่งเรามีความชำนาญเรื่องการขนส่งทางอากาศก็จะได้ทำการออกแบบซัพพลายเชนของโลกที่จะนำวัตถุดิบจากประเทศนั้นประเทศนี้มาซัพพลายให้เขา และและเมื่อผลิตเสร็จแล้วก็จะทำการกระจายให้ผู้บริโภคต่อ ซึ่งเรามีความชำนาญในการวางแผนการทำงานในลักษณะนี้ แต่ว่าต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน หากสามารถทำได้ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจากทั่วโลกจะมาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าอย่างแน่นอน

แนะภาครัฐชัดเจนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อประเทศไทย เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

วัตถุประสงค์หลักของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ 1. การส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. การส่งเสริมการส่งออก เพราะช่วยลดต้นทุนในการประกอบการต่างๆ เช่น ค่าแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน 3. การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าจากต่างประเทศเข้าดำเนินการในประเทศ 4. เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากประเทศไทย และประเทศต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ และ 5. ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

อย่างไรก็ดี ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมใดบ้างในพื้นที่เขตเศรษฐกิจนั้น และควรเป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญเรื่องเรื่องสิทธิประโยชน์ เรื่องแรงงานให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว จะทำให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศสามารถวางแผนธุรกิจทางด้านโลจิสติกส์เข้าไปหาอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้

คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า ในอนาคตทุกจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรจำเป็นต้องมีศูนย์โลจิสติกส์ด้านการเกษตรประจำจังหวัด ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสินค้าจนนำไปสู่การพัฒนาด้านตลาด อีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาเกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถทำให้ไทยสามารถขนส่งสินค้าไปสู่ผู้ซื้อที่อยู่ต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าการตั้งศูนย์โลจิสติกส์ด้านการเกษตรประจำจังหวัดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศประมาณ 14,000 ล้าน ต่อสินค้า 200 ตัน ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ประจำจังหวัดได้จนมีความเชี่ยวชาญแล้ว ก็สามารถนำรูปแบบระบบโลจิสติกส์ดังกล่าวไปขยายต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรในกลุ่มประเทศ CMLV ได้ ซึ่งหากทำได้จริงก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก

ในภาวะการแข่งขันทางการค้าที่นับวันรุนแรง การจับมือร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply