“ท่าเรือระนอง” เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

Trade Logistics

Ranong Port rushes in developing its infrastructure, prepared for coastal trade along Andaman coast

“ท่าเรือระนอง” เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

เสริมศักยภาพสู่ประตูการค้าฝั่งอันดามัน

ปูพรม ท่าเรือระนอง สู่ประตูการค้าฝั่งอันดามัน เร่งพัฒนาในทุกด้านอย่างต่อเนื่องรับมือปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะโตต่อเนื่อง ด้านผู้ว่าฯ ระนองมั่นใจภายในปี 2560 โครงสร้างพื้นฐานพร้อมแน่นอน

จากนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริการและประกอบการท่าเรือระนองตั้งแต่ที่ 2546 เป็นต้นมา เพื่อให้เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย เชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับประเทศในเอเชียใต้ อาฟริกาและยุโรปนั้น ในวันนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ในทุกรูปแบบเพื่อสนับสนุนให้มีตู้สินค้ารวมทั้งมีสายเรือสิ่งประจำที่ท่าเรือระนอง รวมทั้งมีการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีตู้สินค้าและมีสายเรือมาใช้บริการประจำ คาดในอนาคตปริมาณตู้สินค้าโตต่อเนื่อง

และล่าสุดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้มีการเปิดบริการเส้นทางเดินเรือประจำระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือย่างกุ้ง สำหรับการเชื่อมโยงธุรกิจการค้า การลงทุนระหว่างกันในการใช้ท่าเรือ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ผ่านท่าเรือระนอง เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังท่าเรือ AIPT1 (Ahlone International Port Terminal 1) ประเทศเมียนมาร์ และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของท่าเรือระนอง และเป็นการก้าวสู่การเป็นท่าเรือหลักในการรองรับตู้สินค้าตามนโยบายของรัฐบาล เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางฝั่งทะเลอันดามันอีกด้วย

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือฯ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นเปิดประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์ ด้วยท่าเรือระนอง หวังเป็นเส้นทางขนส่งหลักฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกลุ่ม BIMSTEC พร้อมรองรับการให้บริการขนส่งสินค้าโดยระบบตู้สินค้า (Container) จากท่าเรือระนองไปท่าเรือในย่างกุ้ง ซึ่งย่นระยะเวลาการขนส่งลงกว่า 3 เท่า เพิ่มโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ

“ท่าเรือระนอง” ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย และมีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือตู้สินค้าขนาดไม่เกิน 12,000 เดดเวทตัน ซึ่งจะกลายเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยเป็นฐานการขนส่งหลัก และกระจายตู้สินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันผ่านท่าเรือระนอง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเปิดเส้นทางเดินเรือแบบ Direct Service ไปที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ในระยะแรก และกลุ่มประเทศ BIMSTEC

เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาและมีความพร้อมที่จะให้บริการเรือตู้สินค้าผ่านท่าเรือระนองอย่างสมบูรณ์แบบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เพราะขณะนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาร์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสทางการค้าสูงมาก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

เพราะท่าเรือระนองตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาและระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังสหภาพเมียนมาร์และประเทศในแถบฝั่งอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า เช่น ไปสหภาพเมียนมาร์ ลดระยะเวลาเหลือเพียง 4-7 วัน เท่านั้น เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน ที่ต้องผ่านท่าเรืองกรุงเทพฯ หรือท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนจะอ้อมผ่านสิงคโปร์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ค่าธรรมเนียมไม่สูง และยังมีคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป รวมถึงมีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้คล่องตัว รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้นด้วยการพัฒนาระบบเอกสาร ซึ่งในอนาคตจะขยายเส้นทางให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แอฟริกาใต้ด้วย

การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาหัวข้อ“สร้างความเชื่อมั่นขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางท่าเรือระนอง” โดยผู้เสวนาฯ ประกอบด้วยคุณสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง คุณอดิสรณ์ อโนทัยสินทวี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และคุณกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อผนึกกำลังและขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน

ผู้ว่าระนองเปิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจการค้า

มั่นใจปี 2560 โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งพร้อม!

คุณสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้เปิดแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนจังหวัดระนองสู่ AEC – BIMSTEC ว่า จังหวัดระนองได้ตั้งเป้าเป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการค้าผ่านแดน ระนองเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพ และมีแนวโน้มความเจริญเติบโตหลายๆ ด้าน มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดี ต่อไประนองจะกลายเป็นศูนย์กลางและทางผ่านไปยังต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนโยบายภาครัฐให้การสนับสนุน ที่นับเป็นโอกาส ดังนั้น นโยบายของจังหวัดระนองจึงเน้นเรื่องการค้าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา ทั้งในเรื่องการค้าชายแดน การส่งเสริมพัฒนาเรื่องการขนส่ง ส่งเริมเรื่องการค้าโดยเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านแดนถาวร มีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อกระชับความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน มีการพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดระนองนั้น ได้เร่งส่งเสริมการค้าผ่านแดน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการบริเวรณจุดผ่านแดนถาวร โดยปรับปรุงสถานที่ให้บริการจุดผ่านแดนถาวร การพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการ และการก่อสร้างศูนยืบริการประชาชน แบบ One Stop Service พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-เมียนม่าร์ ผ่านความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (ระนอง-เกาะสอง) รวมทั้งจัดตั้งเขตประกอบอุตสาหกรรม ขนาดพื้นที่ 1,301.32 ไร่

“จังหวัดระนองเดินหน้าผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ถนนหมายเลข 4 ระนอง-ชุมพร โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 4006 ราชกรูด-วังตะกอ และโครงการขยายถนนสาย รน.4010 ท่าเรือระนอง-ทางหลวง เชื่อมั่นว่าภายในปี 2560 จะมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างชัดเจน เราจะได้เส้นทางคมนาคมการขนส่งทางบกที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ระนองเป็นจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่น่าจับตามอง” คุณสุริยันต์ กล่าว

ท่าเรือระนองพัฒนาท่าเทียบเรือต่อเนื่อง

พร้อมสู่ประตูการค้าฝั่งอันดามัน

คุณอดิสรณ์ อโนทัยสินทวี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวถึง ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่ท่าเรือระนอง” ว่าที่ผ่านมาท่าเรือระนองได้มีการพัฒนาท่าเทียบเรืออย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนพัฒนาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ อุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งส่งเสริมนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องที่จะให้มีการส่งเสริมเส้นทางการขนส่งระหว่างระนองกับท่าเรือต่างประเทศ

การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้วางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ดังนี้ 1. โครงการก่อสร้างโรงพักสินค้า ขนาด 1,500 ตร.ม. 2. โครงการติดตั้งระบบควบคุมการเข้า-ออก ของรถบรรทุกตุ้สินค้าด้วยระบบไอที 3. โครงการก่อสร้างลานคอนกรีตวางตู้สินค้า พร้อมติดตั้งเครนล้อยาง (RTG) บริเวณพื้นที่บนน้ำระหว่าง Jetty 1 และ Jetty 2 ขนาดพื้นที่ 28,620 ตร.ม. พร้อมติดตั้งหอไฟฉาย LED และ 4.งานก่อสร้างด่านเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก บริเวณทางเข้า-ออก ลานสินค้า

สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนองนั้น ได้มีแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการซื้อรถปั้นจั่นหน้าท่าล้อยางขับเคลื่อนด้วยตนเอง (Mobile Habour Crane) ขนาดยกน้ำหนักไม่น้อยกว่า 68 เมตริกตัน มีรัศมีการยก 20 ม. จำนวน 1 คัน 2.โครงการจัดซื้อรถยกสินค้า ขนาด .5 ตัน จำนวน 1 คัน และรถยกสินค้า ขนาด 5 ตัน จำนวน 1 คัน และ 3. โครงการศึกษาและก่อสร้างชั้นวางสินค้า 2 ชั้น ภายในโรงพักสินค้าปัจจุบัน

NCL มุ่งมั่นเปิดประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือระนอง-ท่าเรือย่างกุ้ง

ด้านคุณกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมั่นใจในการเปิดบริการเส้นทางเดินเรือประจำระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือย่างกุ้งว่า มั่นใจว่าท่าเรือระนองเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพ ซึ่งการเปิดเส้นทางในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเมียนมาร์ และประเทศในแถบฝั่งอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า โดยเหลือเพียง 3 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน ที่ต้องผ่านท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนจะอ้อมผ่านสิงคโปร์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14-21 วัน ที่จะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการขนส่งอันรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ท่าเรือระนอง ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ ในการเชื่อมโยงทั้งประเทศเมียนมาร์ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งจะช่วยย่นระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังประเทศเมียนมาร์ และทำให้การขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมาร์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยเชื่อมระบบซัพพลายเชนทั้งระบบ ให้การค้าการขนส่งระหว่างประเทศมีความสมบูรณ์และมีศักยภาพ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถือเป็นการเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสทางการค้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ในการขนส่งอันรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ

กทท. ลงนามในหนังสือความร่วมมือกับท่าเรือเมียนมาร์

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำโดย เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือฯ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และคุณอดิสรณ์ อโนทัยสินทวี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือฯ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ ได้เดินทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อลงนามในหนังสือความร่วมมือ (Letter of Cooperation : LOC) ระหว่าง การท่าเรือฯ กับการท่าเรือแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Myanma Port Authority : MPA) ในโอกาสนี้ ท่านพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และท่านบูรณ์  อิทธิรัตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ได้ให้เกียรติมาเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือฯครั้งนี้ด้วย ในการนี้ เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ และ Mr. Kyaw Myint, Managing Director การท่าเรือแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นผู้แทนลงนาม ณ ห้องประชุม การท่าเรือแห่งสหภาพเมียนมาร์

การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในฐานะที่เป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศ ASEAN และ BIMSTEC โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าชายแดน และการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการขนส่งให้กับตัวแทนเรือ และผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขยายความความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือย่างกุ้งอีกด้วย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของการการลงนามฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูล ในด้านการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอนาคต และข้อมูลด้านการตลาดเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกันในอนาคตความร่วมมือด้านส่งเสริมการตลาด และการสร้างตลาดใหม่ร่วมกัน

การจัดฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารท่าเทียบเรือ และโลจิสติกส์ระหว่างกัน

การจัด Working Group ร่วมกัน เพื่อดำเนินการผลักดันให้กรอบความร่วมมือ มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันทุก ๒ ปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ การลงนามครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาความร่วมมือและมิตรภาพที่ดีระหว่างกันทั้งสองประเทศในระยะยาว

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply