มองอุตสาหกรรมเมืองแร่ กับ AEC

TIP’S

Insight into mining industry and AEC

มองอุตสาหกรรมเมืองแร่ กับ AEC

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ อุตสาหกรรมที่น่าจับตาและถือเป็นแหล่งรายได้มหาศาลที่จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากหลายๆ ประเทศในอาเซียนก็คือ “อุตสาหกรรมเหมืองแร่” อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสด้านการลงทุนสูงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของเม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งนอกจากเม็ดเงินลงทุนแล้ว ยังพบว่ารายได้หลักของหลายประเทศยังมาจากการขุดเจาะเหมืองแร่อย่างเช่น ประเทศบรูไน การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งที่มาของรายได้ให้แก่รัฐบาลมากถึงร้อยละ 85 ของงบประมาณประเทศทั้งปี ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 30 ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหลายประเทศในหลุ่มประเทศอาเซียนที่แสวงหารายได้และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยังขาดเทคนิคที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้ได้มากที่สุด นั่นคือ แทนที่จะขุดเหมืองแร่ต่างๆ และส่งออกในรูปของแร่ดิบที่ยังไม่ได้ผ่านการถลุงเท่านั้น แต่ควรที่จะนำสินแร่เหล่านั้นมาผ่านกระบวนการเสียก่อนเพื่อเพิ่มมูลค่า และยังเพิ่มการจ้างงานให้แก่คนในประเทศอีกด้วย

จับตาสถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาเซียน

ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีแร่ธาตุมากมายหลายชนิด มีความสมบูรณ์สูง มีแหล่งขนาดใหญ่มาก โดยภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับรายได้จากแร่ธาตุ และส่งเสริมการทำเหมืองโดยประกาศใช้กฏหมายใหม่ตั้งแต่ปี พศ. 2552 ซึ่งมีสาระให้ผู้ลงทุนต่างชาติต้องกระจายหุ้นสู่ท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 20% ภายใน 5ปี ต้องจ้างผู้รับเหมาช่างอินโดเท่านั้น เหมืองถ่านหินต้องมี Domestic Market Option และล่าสุดรัฐบาลได้สั่งห้ามบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ในการส่งออกแร่ดิบ จะต้องมีการผ่านระบบการเพิ่มมูลค่าด้วยการถลุงเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ยังอนุญาตให้ 66 บริษัท ทำการส่งออกแร่ดิบได้จนถึงปี พ.ศ.2560 เท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างโรงถลุงแร่และปรับปรุงเหมืองแร่ที่ล้าหลังให้ได้มาตรฐาน ทั้งยังต้องมีการจ้างงานคนในท้องถิ่นที่มีการขุดเจาะทรัพยากร เพื่อเพิ่มรายได้และถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะในหลายประเทศ การขุดเจาะสินแร่ การทำเหมืองแร่ หรือการระเบิดภูเขามักถูกต่อต้านจากภาคสังคมของประชาชนในพื้นที่ ถูกเรียกร้องผลประโยชน์พิเศษจากชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศลาว ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินแร่ อาทิ ทอง ทองแดง เป็นต้น โดยในส่วนของเหมืองแร่ทองแดงนั้น รัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานในการขุดเหมืองแร่ไปแล้วกว่า 470 โครงการ รวมทั้งสิ้นกว่า 14,463 ตารางกิโลเมตร โดยปัจจุบันรัฐบาลลาวได้ชะลอการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับแร่เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งให้ทำการตรวจสอบและทบทวนผลการดำเนินงานของใบอนุญาตเก่าที่ออกไปแล้วทั้งหมด แต่สำหรับแร่อุตสาหกรรมบางชนิดอาจได้รับการพิจารณาอนุญาตเป็นพิเศษ โดยในทางปฏิบัติรัฐบาลลาวไม่ได้ระงับลงทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ผ่านมายังมีการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเหมืองแร่ที่เกี่ยวกับการผลิตพลังงาน เช่น เหมืองแร่ถ่านหิน เป็นต้น เพราะลาวยังต้องผลิตพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป แต่มีข้อพึงระวังเกี่ยวกับแร่พลังงาน เช่น ถ่านหินที่กำหนดห้ามส่งออกแม้ว่าจะผ่านการปรุงแต่งแล้วก็ตาม

ประเทศพม่า อีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุบางชนิด การเปิดทำเหมืองยังมีไม่มาก และรัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนซึ่งรวมถึงธุรกิจเหมืองแร่ด้วยกฏระเบียบการอนุญาตไม่ยุ่งยากนัก การต่อต้านของชุมชนมีไม่มาก ที่สำคัญคือภูมิประเทศติดกับประเทศไทย มีโครงการตัดถนนเชื่อมโยงกับไทยหลายโครงการเอื้อต่อการคมนาคมขนส่งในอนาคต ซึ่งความได้เปรียบอีกประการหนึ่งของการดำเนินอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพม่าก็คือ การมีบุคลากรด้านเทคนิคเหมืองแร่จำนวนมากพอสมควร และอัตราค่าจ้างค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศไทย การสื่อสารภาษาอังกฤษใช้ได้ดีพอสมควร และมีแรงงานจำนวนไม่น้อยเคยมาทำงานในไทยและพูดไทยได้ดี

อีกประเทศที่น่าสนใจคือ ประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีแร่ธาตุหลายชนิด การสำรวจและการพัฒนายังมีไม่มากนักแต่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ทำให้ปัญหาการต่อต้านจากชุมชนมีน้อย ส่วนโครงการพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งมีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างการยกร่างและเตรียมประกาศกฏหมายแร่ใหม่ และมีอัตราเฟ้อสูง ทั้งนี้ การเข้าไปทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศเวียดนาม ควรมีบุคคลท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยติดต่อประสานงาน และควรมีการตรวจสอบกฏระเบียบและแนวปฏิบัติขณะนั้นๆ ให้ชัดเจน

ประเทศกัมพูชา ซึ่งทำเลที่ตั้งภูมิประเทศอยู่ติดกับประเทศไทยสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก หากแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับมีศักยภาพทางแร่พอสมควร ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศกัมพูชามีโอกาสเติบโต หากยังต้องมีการลงทุนสำรวจและพัฒนาอีกพอสมควร มีความต้องการบุคลากรด้านเทคนิคและแรงงานฝีมือค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สิ่งที่พึงระวังคือ ทัศนคติชาวกัมพูชาที่มีต่อชาวไทย การเข้าไปลงทุนจึงควรมีผู้ร่วมลงทุนท้องถิ่นเพื่อช่วยในการประสานงาน อีกทั้งการตั้งงบประมาณอาจจะต้องเผื่อไว้รองรับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในเขตแหล่งแร่ยังไม่ดีพอ บางบริเวณอาจจะยังมีอันตรายเกี่ยวกับระเบิด

ประเทสมาเลเซีย ที่พ่วงดีกรีประเทศที่ส่งออกแร่ดีบุกเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมไปถึงรายได้มหาศาลจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งในเวลานี้มาเลเซียได้เปิดรับการลงทุนเป็นอย่างมาก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาพัฒนาประเทศเนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศว่ามาเลเซียจะต้องก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563 นั่นเอง

ภาพรวมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทย

กลับมาดูศักยภาพของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไปมาก ความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นขณะที่วัตถุดิบในประเทศลดน้อยลง โดยเฉพาะด้านแร่ธาตุ โดยพบว่าแร่ธาตุบางชนิดโดยธรรมชาติแล้วในประเทศไทยไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ทั้งยังพบว่าการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยมีข้อจำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการอนุญาตที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีกระบวนการหลายขั้นตอน ตลอดจนการต่อต้านจากภาคส่วนต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีศักยภาพ สามารถขยายโอกาสไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ในประเทศอาเซียนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ

หากพิจารณาจากโอกาสและความท้าทายจากภาพรวมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาเซียน จะพบว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานต่อเนื่องจากแร่ของประเทศไทยมีค่อนข้างมาก โดยโอกาสในการดำเนินอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยสามารภแบ่งได้เป็นอย่างน้อย 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 การเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ในต่างประเทศ รูปแบบที่ 2 การเข้าไปจัดหาวัตถุดิบแร่มาเพื่อเพิ่มมูลค่าในประเทศ รูปแบบที่ 3 การซื้อมาขายไป ( Trader)

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผลผลิตแร่ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง จำนวนเหมืองเปิดการ/ประทานบัตร มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ความต้องการใช้แร่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแร่ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ แต่เนื่องจากประเทศไทยค่อนข้างเปิดเสรีการค้าและการลงทุนด้านแร่อยู่แล้ว ประกอบกับประเทศไทยเองก็มีศักยภาพแร่ค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน ดังนั้น แม้จะต้องยกเลิก Reservation List ต้องปฏิบัติตามหลักการ NT/MFN/SMBD ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากนัก เนื่องจากการขออนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยสามารถทำได้ค่อนข้างยากมาก เนื่องจากกกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น และภาคประชาชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่มากขึ้น ดังนั้น การเปิดประชาคมเศณษฐกิจอาเซียนจึงน่าจะทำให้มีการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่ามาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนด้านแร่จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอาจมีการฟ้องร้องให้มีการลดหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าว ประเทศที่ฟ้องร้องอาจไม่ใช่ประเทศในอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV มีโอกาสถูกฟ้องต่ำในขณะที่อินโดนีเซียมีโอกาสถูกฟ้องสูง

สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอนาคต เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะขยายตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยพึงระวังคือปัจจัยเสี่ยงด้านลบซึ่งควรเป้าระวัง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยนโยบายและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ

การขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศอาเซียน คือ การมีผู้ร่วมทุนท้องถิ่นที่ดี เพื่อช่วยในการติดต่อประสานงาน ความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการและนักลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินลงทุนที่เพียงพอ การยึดถือกฏระเบียบของประเทศนั้นๆ เป็นกรอบโดยเคร่งครัด รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการของประเทศ ที่จะให้การสนับสนุนและช่วยประสานงานกับหน่วยงานราชการของประเทศนั้นๆ ที่จะผลักดันให้การลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาเซียนมีโอกาสและการเติบโตที่ดีในอนาคตต่อไป

ที่มา: วารสารเหมืองแร่ บทความโดย ภอญญาภรณ์ ชาติการุณ

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “มองอุตสาหกรรมเมืองแร่ กับ AEC”

  1. มองอุตสาหกรรมเมืองแร่ กับ AEC | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freight Max says:

    Buy Cheap Private Proxies…

    I found a great……

  2. มองอุตสาหกรรมเมืองแร่ กับ AEC | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freight Max says:

    Buy Fast Private Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply