ศูนย์กลาง

Need to Know 2

ASEAN Hub

ศูนย์กลาง

สุวัฒน์ จรรยาพูน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ได้ยินบ่อยๆ ว่า “ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” ผมเองก็เชื่อเช่นนั้นมานาน มองแผนที่ยังไงก็เห็นว่าเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งความเป็นศูนย์กลางนี้จะทำให้เราสามารถช่วงชิง และเก็บเกี่ยวโอกาสได้มากมาย แต่เมื่อผมมีโอกาสเดินทางไปคุนหมิง ประเทศจีน ตามเส้นทาง R3A ที่ผ่าน ไทย-ลาว-จีน เมื่อถึงคุนหมิง ตามท่าเรือ และท่ารถ มีแผนที่ที่ผมมองเห็นในมุมใหม่ ดูแปลกตา เพราะผมเคยเห็นแต่ประเทศไทยในแนวตั้งเหนือจดใต้ แต่ที่คุนหมิงเขียนแนวตะแคง แล้วยังมานำเสนอว่าจีนตอนใต้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็ได้ ซึ่งดูตามแผนที่ก็พอที่จะอยู่ตรงกลางได้เหมือนกันหากเป็นอาเซียนบวกเสฉวน ว่าแล้วทางเจ้าหน้าที่ของจีนก็โชว์ศักยภาพของความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางให้เสร็จสรรพ

หลังจากนั้นไม่นาน ผมมีโอกาสไปบรรยายที่จังหวัดสกลนคร ได้คุยกับผู้ประกอบการของภาคอีสาน เขามีเกร็ดประวัติศาสตร์มาเล่าว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บอกว่า จะย้ายเมืองหลวงมาที่ภาคอีสานเพราะเป็นศูนย์กลางของประเทศ แล้วก็มาถามผมว่าดูแล้วภาคอีสานจะเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร เขาก็ชี้แผนที่ให้ดูบนผนังโรงแรมว่าหากเรารวมเอาทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม เข้ามาด้วยแล้วภาคอีสานจะเป็นศูนย์กลางได้พอดี บอกว่าเป็นมุมมองของท่านผู้นำยุคนั้นที่อยากรวมผืนดินที่เสียไปสมัยล่าอนานิคมของชาวตะวันตกจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่จอมพลสฤษดิ์ก็เร่งพัฒนาภาคอีสานอย่างเต็มที่ จุดตรงกลางในแผนที่ก็ถูกวาดใหม่ในหัวผมอีกครั้งด้วยมุมมองอื่นที่แปลกไป

ศูนย์กลางจึงดูจะขยับได้เมื่อเราเปลี่ยนมุมมอง หรือขยายอนาเขต จึงไม่แปลกใจที่จะได้ยินว่าประเทศเมียนม่าร์เองก็ต้องการจะเป็นศูนย์กลาง และนำเสนอข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าด้วยอนาเขตทิศตะวันตกติดอินเดีย ทิศเหนือติดจีน ดังนั้นศูนย์กลางของอาเซียนย่อมขยับได้ตามเหตุผลที่มารองรับ ไม่ว่าจะเป็น จีนตอนใต้ เมียนม่าร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ซึ่งก็คงไม่แตกต่างกันมากนักหากมองในบริบทของโลก ความเป็นศูนย์กลางในสายตาผู้อื่นจึงเป็นสาระสำคัญมากกว่า ผมก็หายสงสัยไปอีกข้อที่ว่า ทำไม “บ้านกลางกรุง” หรือ “บ้านกลางเมือง” จึงมีอยู่ทั่วๆ ในกรุงเทพมหานคร เพราะเขามองในแผนที่ของเขา แล้วเขาก็ว่านี่แหล่ะกลางแท้ๆ

ศูนย์กลางจึงไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อของคนๆ เดียว ที่นึกและจินตนาการเอาเอง จำได้ว่าชาวจีนในสมัยโบราณเรียกชื่อประเทศของเขาว่า “จงกั๋ว” หรือ “ตงก๊ก” และอินเดียเองก็เรียกตนเองว่า “มัธยมประเทศ” มีความนัยหมายถึงประเทศศูนย์กลางที่เจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อโลกเปิดกว้างความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของจีนและอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนไป เป็นบริบทว่าจะทำอย่างไรให้โลกเห็นว่าจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลาง ซึ่งช่วงนี้ทั่วโลกยอมรับถึงเทคโนโลยีของอินเดีย และพลังด้านเศรษฐกิจของจีน

ความเป็นศูนย์กลางจึงต้องให้ “คนอื่น” เป็นคนบอก และยกย่อง อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ฝรั่งเศสก็เป็นศูนย์กลางด้านแฟชั่น ศูนย์การด้านการเงินของโลก ก็มีการจัดอันดับปรับเปลี่ยนกันบ่อยๆ ที่เคยเป็นกันก็เช่น นิวยอร์ค สวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์

“ศูนย์กลางทางการแพทย์” หรือ “Medical Hub” ก็ดูว่ากำลังช่วงชิงกันต่างคนต่างนำเสนอเพื่อให้ชาวโลกตัดสิน ที่เห็นส่งตัวแทนมาช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ก็มี สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปินส์ อินเดีย และอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ดูแล้วภาคเอกชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ภาครัฐเป็นผู้ตามอย่างช้าๆ และบ่อยครั้งก็มักจะทำให้สะดุดล้มลง ซึ่งผมมักจะได้ยินเอกชนบ่นอย่างน้อยใจอยู่บ่อยๆ ว่ายุทธศาสตร์นี้เอกชนเดินได้ รัฐไม่ต้องสนับสนุนก็ได้ แต่ขออย่างเดียวอย่ามีกฎระเบียบใดๆ ที่มาปัดแข้งปัดขา ก็พอ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายศูนย์กลางที่เราจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น “ครัวโลก” “การท่องเที่ยว” “การผลิตรถยนต์” แต่ศูนย์กลางเหล่านี้ใช้ความได้เปรียบเรื่องสถานที่เป็นเรื่องรอง หรือเป็นเพียงส่วนสนับสนุนเท่านั้น ศูนย์กลางที่พยายามช่วงชิงกันภายในภูมิภาคก็คือ “Logistics Hub” การช่วงชิงเพื่อให้ชาวโลกรับรู้จึ่งไม่ใช่เพียงแค่กมีระบวนการคิด การเขียนนโยบาย และป่าวประกาศเท่านั้น ยังต้องมีกระบวนการปฏิบัติซ้ำไปมาจนผู้คนเกิดความมั่นใจ

ความเป็นโลจิสติกส์ ฮับ ของไทยก็จะเน้นกันที่ทางถนน ที่ดูเหมือเราจะพยายามลุยกันจนหมดถนนลูกรัง ส่วนทางอื่นๆ ก็ดูจะเห็นว่ากำลังเงื้อง่าราคาแพงอยู่ ด้านทางราง แผนบนกระดาษก็ดูจะพร้อม ไม่ว่าจะเป็น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วปานกลาง รถไฟความเร็วสูง ด้านทางอากาศ ก็รีรอกับการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ด้านทางน้ำแหลมฉบังเฟสต่อไปก็อยู่ในขั้นตอนคิด

ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมดูงานด้านโลจิสติกส์แห่งหนึ่ง ช่วงถามตอบ มีคนถามถึงความจำเป็นในการขยายโครงการ ได้คำตอบว่า ไม่จำเป็น ความสามารถในปัจจุบันก็ไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ที่ต้องทำเพราะนโยายการเมือง แล้วก็ยกตัวอย่างจังหวัดทางภาคเหนือที่ว่าสร้างมาแล้วก็ใช้งานได้แค่ปีละ 6 เดือน ซึ่งดูเหมือนว่าผู้กำหนดนโยบายเห็นอย่างหนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานกลับเห็นอีกอย่าง และเป็นมุมมองที่ชี้นำให้เห็นถึง ภาพการคอรัปชั่นกับนักการเมือง และเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝง

ภาพนี้ทำให้ผมเห็นถึงความไม่มีทีมเวิร์คของฝ่ายกำหนดนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติงาน ถ้าหากมองภาพที่กว้างขึ้นก็จะพบการทำงานที่ไม่สอดประสานกันของแต่ละหน่วยงาน ที่ชาวบ้านคุ้นชินมานานและปัจจุบันก็ยังเห็นอยู่ก็คือ งานซ่อมบำรุงทางเท้า ผิวจราจร วางท่อประปา ระบบสายไฟใต้ดิน และอื่น ๆ ไม่เคยมาพร้อม ๆ กัน ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างมีแผนงาน ต่างคนต่างมีงบประมาณ  และต่างคนต่างคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะร่วมมือกันในทุก ๆ เรื่อง จึงจะเห็นเพียงการร่วมมือกันในระยะสั้น จบโครงการก็เลิกรากันไปทำงานตามแบบอย่างเดิม ที่ผมทราบก็เช่น การทำ One Stop Service ลงทะเบียนแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมือง ที่ดึงเอาหลายหน่วยงานจากต่างกระทรวงเข้ามาทำงานร่วมกัน แต่พอหมดโครงการก็กลับไปทำเหมือนเดิม แต่ยังโชคดีที่การบูรณาการให้ร่วมมือกันภายในหน่วยงานยังคงอยู่ เช่น การทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ ต่อทะเบียนรถ และเร็ว ๆ นี้การทำบัตรหลายชนิดก็มีศูนย์ให้บริการในห้างด้วยนับว่าเป็นก้าวย่างที่ประชาชนรอคอย

การทำงานส่วนใหญ่ยังคงแสดงให้เห็นถึงภาพของต่างคนต่างเก่ง และคิดว่าอีกฝ่ายด้อยกว่า และที่สำคัญไม่เชื่อผู้นำทีม เปรียบได้กับวงออเคสตร้า ที่นักดนตรีเก่ง ๆ ทุกคน ต่างโชว์ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่เชื่อวาทยากรที่ควบคุมวงอยู่ เพลงที่ออกมาก็เลยฟังไม่ได้ ดังนั้นหากภาครัฐยังต่างคนต่างเล่น และต่างคิดในมุมมองของตนเองก็ยากที่จะเป็นศูนย์กลาง

ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าในการขยายโครงการใด ๆ ก็ตามต้องมาพร้อมกับกระบวนการดำเนินงาน เช่น หากขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ก็จำเป็นต้องเห็นแผนการตลาดที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน ไม่มีทางที่จะซื้อเครื่องจักรเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริหารจะยอมให้ขายได้เท่าเดิม และไม่มีนโยบายทางการตลาดใดๆ เข้ามาสนับสนุน ซึ่งถ้ามองในมุมของฝ่ายผลิตย่อมไม่ชอบการเพิ่มกำลังการผลิต จำได้ว่าสมัยสนามบินสุวรรณภูมิสร้างใหม่ๆ ก็บอกว่าออกแบบมารองรับนักท่องเที่ยวได้หลายสิบปี แต่พอเปิดใช้ไม่นานก็ได้ยินเสียงบ่นว่าเริ่มหนาแน่นจนต้องขยายออกไปที่ดอนเมือง

ต่อมาน่าจะเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติงานบ้านเราที่ยังคุ้นชินกับการคิดไปเองว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีแล้ว โดยไม่มองภาพรวม ทำเพียงแค่ตามหน้าที่ คล้าย ๆ กับนิทานหมาใต้กุฏิที่เจ้าอาวาสใช้เด็กวัดลงไปดูเพราะสงสัยว่ามีเสียงหมาร้อง เด็กวัดคนที่ 1 วิ่งไปดูแล้วก็ตอบว่า ที่มีเสียงร้องเพราะมีหมามาออกลูกใต้กุฏิ เจ้าอาวาสก็ถามต่อว่ามีลูกหมากี่ตัว เด็กวัดก็ต้องวิ่งไปดูอีกรอบ และคงคิดในใจว่าทำไมเจ้าอาวาสไม่ถามแต่แรก กลับมาก็บอกว่ามี 6ตัว เจ้าอาวาสถามต่อว่ามีสีอะไรบ้าง เด็กวัดก็ต้องวิ่งกลับไปดูอีกรอบ ได้ความว่า ดำ 2 น้ำตาล 4 เจ้าอาวาสถามต่อว่าตัวเมียกี่ตัวตัวผู้กี่ตัว … ทุกครั้งที่ถามก็ต้องวิ่งกลับไปดูใหม่ จนเด็กวัดคนที่ 1 ต่อว่าเจ้าอาวาสว่าถามเยอะไป วิ่งหลายรอบแล้วเหนื่อยมาก เจ้าอาวาสจึงบอกให้ไปตามเด็กวัดคนที่ 2 มา แล้วบอกใช้ให้ไปดูสิว่ามีเสียงอะไรใต้กุฏิ เด็กวัดคนที่ 2 หายไปสักครู่ก็กลับมาตอบว่ามีหมามาออกลูกใต้กุฏิ เจ้าอาวาสถามต่อ ก็ตอบได้ทุกคำถามโดยไม่ต้องกลับไปดู แถมเด็กวัดคนที่ 2 ยังบอกว่าได้หาข้าวหาน้ำ หาผ้าห่มให้แม่หมาเรียบร้อย หากเจ้าอาวาสจะให้ทำเป็นประจำจะได้แจ้งเด็กวันคนอื่น ๆ ช่วยกันดูแล ความมใส่ใจและเข้าใจในเนื้องานของเด็กวัดทั้งสองคนจึงแตกต่างกัน แนวคิดของเด็กวัดคนที่ 2 นี้เรียกว่า “การคิดในมุมมองของลูกค้า”

ความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทยจึงไม่ใช่แค่นโยบายภาครัฐจากกระทรวงคมนาคมเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องทำงานอย่างสอดประสานกันเป็นทีมในจังหวะที่ลงตัวของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ที่ต้องทำตามหน้าที่แบบคิดจากใจลูกค้า ไม่ใช่คิดไปเอง หรือไม่คิดทำเพียงแค่ตามสั่งเท่านั้น ประเทศไทยจึงจะเป็นศูนย์การที่มีศักยภาพ สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความเป็นศูนย์กลางได้อย่างเต็มที่ หากละเลยก็คงเป็นได้แค่เพียงทางผ่านที่ถูกสูบเอาทรัพยากรไปจนหมด

******************************************************

สุวัฒน์ จรรยาพูน

อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการโลจิสติกส์และวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล

suwat.ja@spu.ac.th

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply