เส้นทางโลจิสติกส์ภาคเหนือล่าง (ไทย) -ลาว-เวียดนาม-หนานหนิง(จีน)

Need to know 1

Logistics route in the lower North connecting

Thailand, Laos, Vietnam and Nanning, China

เส้นทางโลจิสติกส์ภาคเหนือล่าง (ไทย) -ลาว-เวียดนาม-หนานหนิง(จีน)

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากฉบับที่ผ่านมาได้นำเสนอเรื่องโลจิสติกส์ไทย-หนานหนิงไว้ โดยได้นำเสนอโครงการวิจัยเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภาคเหนือล่างไปสู่หนานหนิง ประเทศจีน เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ-วช.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย-สกว. นักวิจัยนำโดยวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 19 ถึง 27 มกราคม 2558

เป็นเส้นทางออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เข้าประเทศลาวที่ด่านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี ใช้เส้นทางปากลาย-หลวงพระบาง บริเวณแขวงไชยะบุรีใช้เส้นทางแยกไปแขวงเชียงขวาง สู่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ออกจากประเทศลาวที่ด่านซำเหนือ เข้าสู่ประเทศเวียดนามที่ด่านนาแม้ว มุ่งหน้าไปกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม จากนั้นมุ่งหน้าไปยังเมืองลังเซิน เพื่อออกจากประเทศเวียดนามที่ด่านลังเซิน เข้าสู่ประเทศจีนที่ด่านผิงเสียง จุดหมายปลายทางที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (เทียบเท่ามณฑล)

สภาพเส้นทางจาก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ไปยังด่านภูดู่ เป็นถนนยางมะตอยขนาด 2 ช่องจราจร ผ่านเขื่อนสิริกิต์ บางช่วงถนนเกิดความเสียหาย เส้นทางมีความลาดชันบ้างผ่านภูเขา เมื่อเข้าสู่ประเทศลาวเส้นทางถนนจากด่านผาแก้วไปยังเมืองปากลายเป็นถนนยางมะตอยขนาด 2 ช่องจราจรที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเป็นสภาพถนนที่ได้มาตรฐาน สภาพของถนนจากเมืองปากลายไปยังแขวงไชยะบุรีเป็นถนนยางมะตอยขนาด 2 ช่องจราจร เส้นทางช่วงนี้ค่อนข้างเป็นพื้นที่ราบ จากแขวงไชยะบุรีไปยังแขวงเชียงขวาง ช่วงแยกจากแขวงไชยะบุรีเป็นถนนที่เพิ่งก่อสร้างช่วงนี้ใหม่เส้นทางอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีเส้นทางผ่านภูเขา(ภูเคียงฟ้า)ที่เส้นทางค่อนข้างลาดชันมาก และสภาพถนนก่อนถึงแขวงเชียงขวางค่อนข้างเสียหายจากการใช้งานทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับรถ เช่นเดียวกับถนนจากแขวงเชียงขวางไปยังเมืองซำเหนือ แขวงหัวพันที่มีสภาพถนนชำรุดค่อนข้างมากอีกทั้งเส้นทางมีความลาดชันมากเนื่องจากผ่านภูเขา เส้นทางถนนในประเทศลาวช่วงสุดท้ายจากเมืองซำเหนือไปยังด่านพรมแดนซำเหนือเป็นเส้นทางลาดชันและถนนค่อนข้างชำรุดมาก

จากประเทศลาวทีมนักวิจัยได้เดินทางข้ามพรมแดนนาแม้วไปยังประเทศเวียดนาม ต้องพบกับถนนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางตลอดอีกทั้งสภาพเส้นทางเป็นภูเขาที่มีความคดเคี้ยวและลาดชัน การก่อสร้างปรับปรุงถนนนั้นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร (การเดินทางช่วงนี้ค่อนข้างอันตรายเนื่องจากถนนอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงและไม่ได้สร้างทางเบี่ยงสำหรับการใช้เส้นทางไว้ ทำให้การเดินทางบนเส้นทางนี้ต้องใช้ร่วมกับเครื่องจักรกลและรถบรรทุกที่ใช้สำหรับก่อสร้าง บางช่วงต้องจอดรอเครื่องจักรกลที่กำลังทำงาน เช่นขนย้ายดิน บดอัดพื้นผิวของชั้นรองพื้นทาง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้คณะนักวิจัยได้เผชิญกับปัญหายางรถแตกระหว่างทาง ทำให้ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนรถเพื่อให้นำรถคันที่ยางแตกไปเปลี่ยนยาง วันนี้นักวิจัยได้ทานอาหารค่ำเวลาประมาณสามทุ่ม) และหลังจากนั้นเข้าสู่เส้นทางที่เป็นทางด่วนซึ่งเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรเพื่อมุ่งหน้าไปกรุงฮานอย จากกรุงฮานอยมุ่งหน้าไปยังเมืองลังเซินเพื่อข้ามด่านพรมแดนลังเซินของประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศจีนที่ด่านผิงเสียง และใช้เส้นทางด่วนจากเมืองผิงเสียงไปยังนครหนานหนิง ซึ่งสภาพถนนระหว่างเมืองผิงเสียงสู่นครหนานหนิงเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ได้มาตรฐานสามารถรองรับการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้

จากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น จะพบว่านักวิจัยต้องผ่านด่านพรมแดนของ 4 ประเทศ (ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศจีน) ได้แก่ พรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว เป็น ด่านภูดู่และด่านผาแก้ว พรมแดนระหว่างประเทศลาวและประเทศเวียดนาม เป็น ด่านซำเหนือและด่านนาแม้ว รวมทั้งด่านพรมแดนระหว่างประเทศเวียดนามและประเทศจีน เป็น ด่านลังเซินและด่านผิงเสียง โดยด่านผาแก้วของประเทศลาว ณ วันที่นักวิจัยเดินทางยังเป็นเพียงด่านพรมแดนเดียวที่รัฐบาลลาวยังไม่ประกาศเป็นด่านพรมแดนสากล (แต่ได้เปิดเป็นด่านพรมแดนสากลแล้ว ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 โดยรองนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว เป็นประธานในพิธีเปิด)

ตลอดเส้นทางการเดินทางสำรวจครั้งนี้ บริเวณเมืองปากลายกำลังก่อสร้างข้ามแม่น้ำโขง หากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่ไปถึงเวียงจันทน์(เมืองหลวงของประเทศลาว)อีกเส้นทางหนึ่ง จะทำให้เพิ่มโครงข่ายเส้นทางโลจิสติกส์ทางถนนภายในประเทศลาวขึ้นอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นทั้งเส้นทางขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญของประเทศลาว จะทำให้การเดินทางเส้นทางนี้มีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะระยะเวลาการในการเดินทางที่สั้นลง แต่ที่นักวิจัยไม่พบระหว่างการเดินทางในพื้นที่ประเทศลาวคือศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังสินค้าสำหรับรวบรวมสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้นเส้นทางปากลาย-ไชยะบุรี ยังสามารถต่อไปยังหลวงพระบาง และเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างสะดวกมากเส้นทางหนึ่งเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆทางถนน เนื่องจากความลาดชันของเส้นทางนี้ไม่มากนัก มีรถบัสโดยสารปรับอากาศให้บริการระหว่างแขวงหลวงพระบางกับ จ.เลย จ.น่าน และ จ.เชียงใหม่ โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส) และผู้ประกอบการของหลวงพระบาง ร่วมกันให้บริการ ซึ่งเส้นทางเลย-หลวงพระบาง รถบัสโดยสารปรับอากาศพักระหว่างทางเพื่อให้ผู้โดยสารพักทานอาหารกลางวันที่บ้านน้ำปุย โดยรถบัสโดยสารปรับอากาศจะออกจากจุดต้นทาง(แขวงหลวงพระบางและจังหวัดเลย)ช่วงเช้าและถึงจุดหมายปลายทาง(จังหวัดเลยและแขวงหลวงพระบาง)ช่วงเย็น และอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดให้บริการเส้นทางหลวงพระบาง-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก โดยใช้เส้นทางผ่านด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ และด่านผาแก้ว ปากลาย (กรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ให้ข้อมูลว่า สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้สำรวจเส้นทางนี้แล้วและแจ้งว่าเป็นเส้นทางถนนที่สะดวกกว่าเส้นทางอื่น)

ในปัจจุบันด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เป็นด่านพรมแดนในการส่งออกวัสดุก่อสร้างสำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี จากข้อมูลที่ได้จากฝ่ายบริหารโครงการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรีทราบว่า วัสดุก่อสร้างจะถูกจัดส่งผ่าน 2 ด่านพรมแดน (ด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ และด่านท่าลี่ จ.อุตรดิตถ์) โดยเฉพาะปริมาณปูนซิเมนต์ผงจัดส่งผ่านแต่ละด่านประมาณ 3,000-7,000 ตันต่อเดือน แต่ขี้เถ้าลอย (Fly Ash) (สำหรับเป็นส่วนผสมหนึ่งของคอนกรีต) จะถูกจัดส่งผ่านด่านภูดู่เพียงด่านเดียวเท่านั้น โครงการก่อสร้างนี้เพิ่งดำเนินการไปได้ประมาณร้อยละ 30-40 เท่านั้น ดังนั้นยังคงเหลือปริมาณวัสดุก่อสร้างที่ต้องการอีกมากในระยะเวลา 4-5 ปีจากปัจจุบัน

แขวงเชียงขวางและแขวงหัวพันของประเทศลาว เป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศเวียดนาม วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าจากประเทศเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นปูนซิเมนต์ เหล็กเส้นก่อสร้าง สุขภัณฑ์ กระเบื้องเซรามิก เป็นต้น แต่สินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมคบเคี้ยว เป็นต้น ยังเป็นสินค้าจากประเทศไทยที่เป็นที่นิยมของคนในพื้นที่ 2 แขวงนี้มากกว่าสินค้าจากประเทศเวียดนาม นักวิจัยพบสินค้าอุปโภคและบริโภคจากประเทศไทยวางขายตามร้านค้าต่างๆในพื้นที่ดังกล่าวทุกร้านขายของชำ จากการสอบถามทราบว่าสินค้าดังกล่าวถูกส่งมาจากเวียงจันทน์ ไชยะบุรี และหลวงพระบาง นอกจากนั้นยังได้รับทราบข้อมูลว่าเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน จะเปิดท่าอากาศยานในเมืองซำเหนือภายในกลางปี 2558

ตลอดการเดินทางจากด่านภูดู่ ประเทศไทยจนถึงด่านนาแม้ว ประเทศเวียดนาม คณะนักวิจัยพบกับรถบัสโดยสารและรถบรรทุกสินค้าเดินทางบนเส้นทางนี้แม้ว่าเส้นทางจะไม่สะดวกสบายมากนัก รถบัสโดยสารจะมีทั้งรถบัสนั่งโดยสารปรับอากาศ และรถบัสนอน(2 ชั้น)โดยสารปรับอากาศ ขึ้นอยู่กับระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง รถบรรทุกสินค้านั้นพบรถบรรทุกสินค้าประเภท 10 ล้อสามารถใช้เส้นทางในการขนส่งสินค้าทั้งขาไปและขากลับ แต่รถขนาด 6 ล้อและรถกระบะ 4 ล้อ จะใช้เส้นทางนี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่เส้นทางช่วงนี้ค่อนข้างแคบ คดเคี้ยวและลาดชันมาก แต่ผู้ประกอบการทั้งให้บริการผู้โดยสารและสินค้ายังสามารถใช้เส้นทางนี้ได้

เมื่อคณะนักวิจัยได้พบกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ชาวเวียดนามในกรุงฮานอย ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางใหม่ยังไม่เป็นที่นิยมในการใช้เส้นทางนี้สำหรับขนส่งสินค้า แต่หากเส้นทางได้รับการก่อสร้างปรับปรุงแล้วเสร็จพร้อมสำหรับการขนส่งสินค้า น่าจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีศักยภาพเนื่องจากประเทศเวียดนามมีโรงงานผลิตปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่มีการส่งออกผ่านด่านนี้เพื่อไปจัดจำหน่ายยังแขวงหัวพันและพื้นที่ใกล้เคียง และยังนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเกษตรจากประเทศลาว

สำหรับพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีนนั้น มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ บริเวณด่านพรมแดนผิงเสียงได้สร้างเขตปลอดภาษีเพื่อรองรับสินค้านำเข้าและส่งออก นอกจากนั้นในเขตเมืองผิงเสียง(ห่างจากชายแดนประมาณ 10 กว่ากิโลเมตรมีศูนย์โลจิสติกส์ผิงเสียงเพื่อให้บริการทั้งคลังสินค้า และลานตู้คอนเทนเนอร์ ในตัวเมืองหนานหนิงมีศูนย์โลจิสติกส์คลังทัณฑ์บน (Nanning Bonded Logistics Center) รวมทั้งตลาดกลางสินค้าทางการเกษตร (Hi Green) เพื่อรองรับสินค้าผักและผลไม้จากต่างมณฑลในประเทศจีน ประเทศในยุโรป และประเทศในกลุ่มอาเซียน คณะนักวิจัยได้พบสินค้าผลไม้ไทยในตลาดแห่งนี้ด้วย

อีกหนึ่งความพร้อมด้านโลจิสติกส์ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกว่างซีคือเมืองฝางเฉินให้มีความพร้อมในการรองรับสินค้าที่จะส่งออกและนำเข้าทางการขนส่งทางทะเล พื้นที่นี้มีท่าเรือที่พร้อมให้บริการถึง 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือฝางเฉิน ท่าเรือซินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่ พื้นที่บริเวณท่าเรือมีการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมโดยมีเส้นทางรถไฟเข้าถึงในเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือด้วย จากการสอบถามทราบว่าท่าเรือฝางเฉินเป็นท่าเรือที่รองรับสินค้าที่มาจากและไปยังพื้นที่มณฑลยูนนาน

จากการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางนี้ พบว่าอุปสรรคของเส้นทางนี้มีพอสมควรทั้งถนนที่แคบ คดเคี้ยว และมีความชัน ทำให้การใช้เส้นทางขนส่งนี้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดเส้นทางไม่มีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเป็นประเด็นที่น่าจะทำให้ประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์(ทั้งเวลา ต้นทุน และความน่าเชื่อถือ)ยังไม่ได้มาตรฐานสากล แต่ประเด็นนี้ส่งผลต่อโอกาสในการลงทุนสร้างศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าบนเส้นทางนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณด่านพรมแดนทั้งไทย ลาว และเวียดนาม (ไม่รวมด่านพรมแดนลังเซิน ประเทศเวียดนาม และด่านพรมแดนผิงเสียง ประเทศจีน) ยังไม่มีความพร้อม ทั้งร้านอาหาร ที่พัก สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

เส้นทางนี้ถือได้ว่าเป็นเส้นทางใหม่ ดังนั้นเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะดำเนินธุรกิจทั้งด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้า และด้านการท่องเที่ยว เพราะหากเส้นทางนี้ได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางทางเลือกที่มีการเคลื่อนย้ายทั้งคนและสินค้าระหว่างประเทศ ขึ้นอยู่กับต้นทางของแหล่งผลิต (Supply Side) และตลาดของผู้ต้องการใช้ (Demand Side) น่าจะเป็นโอกาสสำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานบางส่วน

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply