แนวคิดในการสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park)

Logistics Viewpoint

Setting up Logistics Park helps to enhance Thai competition in a sustainable way

แนวคิดในการสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park)

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์  เทพพิทักษ์

ศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และการจัดการ มหาวิทยาลัยบูรพา

E-mail : taweesak99@hotmail.com

บทนำ

ช่วงนี้เพิ่งเปิดเทอมได้ไม่นาน งานการยังไม่ค่อยเยอะครับ เลยมีเวลานำเสนอบทความซึ่งผมได้เคยศึกษาไว้โดยผมก็พยายามหาเวลาเขียนบทความสรุปผลการศึกษาที่ผมเคยทำ เพราะผมคิดว่าความรู้ทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมนุษยชาติ สิ่งที่รู้หรือค้นพบส่วนใหญ่ก็มีอยู่แล้ว เมื่อพบก็เผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น สอนหนังสือ เขียนตำรา บทความหรือบรรยายตามที่ต่างๆ ในวันนี้ผมได้เคยทำโครงการวิจัยโครงการหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือโลจิสติกส์พาร์คหรือจะเรียกชื่ออะไรก็แล้วแต่นะครับ

โดยหน่วยงานที่ให้ดำเนินการต้องการให้ผมศึกษาเพื่อสำรวจลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจในการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือโลจิสติกส์พาร์ค เพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของโลกและของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยจะทำการศึกษาอุปสงค์ (Demand Side) ของนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวและอุปทาน (Supply Side) ของผู้ที่เคยให้หรือกำลังให้บริการโลจิสติกส์พาร์คอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและการพัฒนาโลจิสติกส์พาร์คกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

นอกจากนี้ให้ผมทำการศึกษารูปแบบและระบุฟังก์ชั่นหรือกิจกรรมต่างๆ ภายในเขตพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือโลจิสติกส์พาร์คให้สอดคล้องกับสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหน่วยงานและวัตถุประสงค์ของการวางแผนการใช้พื้นที่ดังกล่าวและศึกษาและระบุปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาและการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือโลจิสติกส์พาร์ค โดยเฉพาะประเมินความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือโลจิสติกส์พาร์ค ซึ่งจะประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน รวมทั้งประเมินผลในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อมและด้านสังคม เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เกิดกิจกรรมการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร (One-Stop Services-OSS) มากขึ้นโดยครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ห่วงโซ่ระบบขนส่งและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Transport Chain & Multi-Modal Transport) และกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ต่างๆ เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์บำรุงรักษาและจัดเก็บตู้สินค้า เป็นต้น นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำเหล่านี้ยังดึงดูดนักลงทุนโดยนำเสนอรูปแบบการให้บริการแบบอื่นๆ ซึ่งเน้นที่การเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการของผู้ใช้บริการโดยเสียค่าใช้จ่ายในการให้บริการในราคาที่สามารถแข่งขันได้

โดยรองรับการดำเนินธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ (Industrial Parks) ซึ่งเป็นกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายสินค้าซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งจะจัดพื้นที่ที่มีความพร้อมทั้งด้านระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการโดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักจะเลือกพื้นที่เชิงกลยุทธ์ (Strategic Location) ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ประตูการค้า อาทิ ท่าเรือ สนามบิน สถานีรถไฟ เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับปริมาณการค้าระหว่างประเทศทำให้ได้รับความสะดวก ยืดหยุ่นและรวดเร็วในการขนส่งและความประหยัดทางด้านต้นทุนการผลิตและมีต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งซึ่งจะกระตุ้นให้ การนำเข้า-ส่งออกของประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

แนวโน้มที่สำคัญของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโลจิสติกส์ คือการสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่างๆ ภายในโลจิสติกส์พาร์คหรือสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของตนเองซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างดี จากทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น แนวคิดเบื้องต้นของการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก ภูมิภาคและประเทศไทย ในอนาคต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในเรื่องรูปแบบการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องผลิตเฉพาะภายในโรงงานและผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-In-Time Production) และการกระจายสินค้าที่เน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำ

รวมทั้งรูปแบบการขนส่งที่เปลี่ยนจากการเน้นการขนส่งแบบ Port-To-Port มาเป็นแบบ Door-To-Door หรือแม้แต่ Port-to-Door และหันมาใช้การบรรจุตู้คอนเทนเนอร์มากยิ่งขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้การดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลกจำเป็นต้องมีการตอบสนองและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการอยู่รอด (Survivability) และการเพิ่มขีดความสามารถในเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) ได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ดังนั้นกิจกรรมโลจิสติกส์จะหมายถึงกิจกรรมการเคลื่อนย้าย (Movement) หรือการไหล (Flow) ของสินค้า (Physical) และข้อมูลสารสนเทศ (Information) ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางโดยมีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีระดับคุณภาพในการให้บริการสูงที่สุด ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ในโลจิสติกส์พาร์ค จึงควรจะเกี่ยวข้องและ/หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการไหลหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลสารสนเทศเป็นหลัก โดยการไหลหรือการเคลื่อนย้ายเหล่านั้นควรจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวสินค้าหรือข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขอบเขตของกิจกรรมสำหรับโลจิสติกส์พาร์คหรือสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะประกอบด้วยกิจกรรมต่อไปนี้คือการรับสินค้าสินค้า (Receiving) คัดแยกสินค้า (Sorting) หีบห่อและบรรจุภัณฑ์ (Picking &Packing) จัดเก็บสินค้า (Storage) และการกระจายสินค้า (Distribution) รวมทั้งอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า (Value Pool) อีกด้วย

การศึกษาเบื้องต้นพบว่า กิจการเขตบริการโลจิสติกส์ในต่างประเทศ (Logistics Park) มีการดำเนินในลักษณะเป็นผู้พัฒนาที่ดิน (Land Developer) ในพื้นที่ซึ่งมีการรวบรวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการขนส่ง ขนถ่ายสินค้า เก็บรักษา รวบรวม และกระจายสินค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศแบบครบวงจรไว้ในบริเวณเดียวกัน โดยจัดเตรียมพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์อำนวยความสะดวก บริการส่วนกลาง (Public Facilities and Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อพื้นที่เพื่อประกอบการ ทั้งทำเลที่ตั้งโลจิสติกส์พาร์คส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้โครงข่ายขนส่ง อาทิ ท่าเรือ สนามบิน ถนน และรางรถไฟ

นอกจากนี้ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คคือการเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นๆเข้ามาทำการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ อาทิ คลังสินค้าทั่วไป คลังสินค้าขนาดใหญ่ คลังสินค้าทัณฑ์บน ห้องเย็น สถานีขนส่งสินค้า สถานีบริการซ่อมบำรุงยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ธนาคาร บริษัทประกันภัย อาคารสำนักงาน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการ โลจิสติกส์พาร์คจะจัดให้มีบริการส่วนกลางต่างๆ ได้แก่ ศูนย์บริการศุลกากร ร้านอาหาร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้การทำธุรกิจโลจิสติกส์พาร์คให้ประสบผลสำเร็จจะต้องใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งใช้เครือข่ายความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธุรกิจภายในและต่างประเทศ โดยบางประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป และจีนจะส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในกิจการด้านนี้ 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คหรือสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะให้ประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้พัฒนา (Land Developer) แต่การจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คโดยไม่ได้ทำการศึกษาให้ดี ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงทางธุรกิจและส่งเสียหายอย่างรุนแรงกับผู้พัฒนาเช่นกัน เนื่องจากการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คจะต้องเงินลงทุนสูง ใช้เครือข่ายธุรกิจที่หลากหลาย มีกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าและผลตอบแทนทางการเงินและการลงทุน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ขณะที่ควรจะต้องพิจารณาเรื่องอุปสงค์ (Demand) ของนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวและอุปทาน (Supply Side) ของผู้ที่ให้บริการโลจิสติกส์พาร์คในปัจจุบันเพื่อประเมินรูปแบบและกิจกรรมภายในพื้นที่ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ก่อนการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คควรศึกษารูปแบบและระบุฟังก์ชั่นหรือกิจกรรมต่างๆภายในเขตพื้นที่โลจิสติกส์พาร์คให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและวัตถุประสงค์หลักขององค์กร และระบุปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาและการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์คและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์ค ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ในการตัดสินใจ รวมทั้งช่วยผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนในการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์ค ควรจัดให้มีการประเมินความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโลจิสติกส์พาร์ค โดยจะประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน รวมทั้งประเมินผลในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อมและด้านสังคม เป็นต้น

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “แนวคิดในการสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park)”

  1. แนวคิดในการสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลà says:

    Buying Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply