การศึกษาปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 7 ที่เลี้ยวเข้าท่าเรือแหลมฉบัง

Logistics Knowledge

Study on traffic of Highway No. 7 connecting to Laem Chabang Port

การศึกษาปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 7 ที่เลี้ยวเข้าท่าเรือแหลมฉบัง

นิปุน ปวรางกูร

ศิร์ณัฐ ตั้งเจริญบำรุงสุข

อริย์ธัช พินิจอุดม

ประธานที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ ดร. กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ สินค้าส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าและส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ ก่อให้เกิดการตั้งโรงงาน คลังสินค้า  ศูนย์กระจายสินค้ามากมาย ชุมชนโดยรอบเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามจำนวนประชากรที่อพยพมาจากภูมิภาคต่างๆเพื่อมาหางานทำ

ปัญหาที่ตามมา คือ ผลกระทบของท่าเรือแหลมฉบังที่มีต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางน้ำ อากาศ และเสียง ปัญหาการขนส่งทางถนน ได้แก่ปัญหาการจราจร ปัญหาสภาพพื้นผิวถนน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาพื้นฐานที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเรา

ผลกระทบทางตรง เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาความล่าช้าในการเดินทางและการขนส่ง ปัญหาอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงปัญหาสินค้าเสียหายระหว่างขนส่ง

ผลกระทบทางอ้อม เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย พนักงานและเจ้าหน้าที่บริษัท องค์กร หน่วยงานต่างๆในบริเวณเขตท่าเรือ ปัญหาค่าภาระท่าเรือที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนนที่ล่าช้า อันจะส่งผลต่อปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกที่กระทำผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในแต่ละปี

ปัญหาการจราจร คือ หนึ่งในปัญหาหลักของท่าเรือแหลมฉบัง เกิดจากปริมาณถนนไม่พอเพียงเมื่อเทียบกับปริมาณรถ ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยให้ความสำคัญและต้องการจะทำการศึกษาค้นคว้าถึงความรุนแรง ว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าที่ใช้เส้นทางดังกล่าวมากน้อยเพียงไรโดยกลุ่มผู้วิจัยเลือกทำการศึกษาเฉพาะถนนมอเตอร์เวย์ฝั่งขาเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งแต่บริเวณแยก บริษัท เคอร์รี่โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดถึง สะพานยกระดับบริเวณสถานีน้ำมัน ปตท. เป็นแหล่งข้อมูลในการประเมินสภาพปัญหา

จุดมุ่งหมายในการวิจัย เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์) วิ่งตรงเข้าท่าเรือตั้งแต่บริเวณแยก บริษัท เคอร์รี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดถึง สะพานยกระดับบริเวณสถานีน้ำมัน ปตท. ว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าที่ใช้เส้นทางดังกล่าวมากน้อยเพียงไร

โดยศึกษาอยู่บนสมมติฐานที่ว่า หากสามารถเพิ่มช่องทางจราจร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสภาพการจราจรดังกล่าวได้ แล้วการสร้างช่องทางจราจรเพิ่มกี่ช่องจราจร ที่ทำให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นต่ำที่สุด โดยคิดจากต้นทุน 2 ประเภทคือ ต้นทุนค่าเสียโอกาสรถบรรทุก ซึ่งถ้าสร้างช่องทางเพิ่มจะทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลง และต้นทุนการสร้างช่องทางจราจร ซึ่งหากเพิ่มช่องทางจราจร จะส่งผลให้ต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น

ขอบเขตของงานวิจัยขอบเขตด้านเนื้อหาเพื่อวิเคราะห์หาต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่เกิดจากการจราจรติดขัดในสถานการณ์ที่ผู้วิจัยกำหนด และประเมินแนวทางการแก้ไขการเพิ่มช่องทางการจราจรว่าส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกอย่างไร มีต้นทุนการก่อสร้างถนนเท่าใด และมีต้นทุนรวมเท่าใดด้านขอบเขตด้านประชากรพนักงานขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์) วิ่งตรงเข้าท่าเรือฝั่งขาเข้าท่าเรือ ตั้งแต่บริเวณแยก บริษัท เคอร์รี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดถึง สะพานยกระดับบริเวณสถานีน้ำมัน ปตท. เป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าและขอบเขตด้านพื้นที่ถนนเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ที่วิ่งตรงเข้าท่าเรือตั้งแต่บริเวณแยกบริษัทเคอร์รี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึง สะพานยกระดับบริเวณสถานีน้ำมัน ปตท.

วิธีดำเนินการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือใช้แบบสอบถาม ซึ่งกลุ่มประชากรตัวอย่างประกอบไปด้วยพนักงานขับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) วิ่งตรงเข้าท่าเรือแหลมฉบังเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้า จำนวน 100 คน และพนักงานเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงการวิจัยได้ดำเนินการศึกษาโดยอาศัยข้อมูลจาก 2 แหล่ง คือการใช้แบบสอบถามกับพนักงานขับรถที่ใช้เส้นทางเป้าหมาย (บริเวณตั้งแต่แยกบริษัท เคอร์รี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จนถึง สะพานยกระดับหน้าสถานีน้ำมัน ปตท.

โดยทำการสอบถามข้อมูลจากพนักงานขับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 7 เป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าโดยทำการเก็บข้อมูลเวลาในช่วงเวลาที่กำหนดคือช่วงเช้า (06.00 น. – 10.00 น.) และช่วงเย็น (16.00 น. – 20.00 น.)และข้อมูลโครงการการก่อสร้างถนนจากกรมทางหลวง การศึกษานี้เป็นการศึกษาสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์) ที่ตรงเข้าท่าเรือแหลมฉบัง บริเวณตั้งแต่แยกบริษัท เคอร์รี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จนถึง สะพานยกระดับหน้าสถานีน้ำมัน ปตท.

การที่จำนวนช่องทางการจราจรไม่เพียงพอเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการสะสมปริมาณรถเกินความจุของเส้นทาง ทำให้รถติดยาวหลายกิโลเมตรวนช่วงเช้าและช่วงเย็น (รูปภาพประกอบทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์) ที่ตรงเข้าท่าเรือในการเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถาม จำนวน100 ชุด ซึ่งใช้ระยะเวลาในการแจกและรวบรวมแบบสอบถามเป็นเวลาประมาณ4 สัปดาห์ และทำการสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics Analysis) คือวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแจกแจงความถี่ (Frequency) แสดงค่าร้อยละ (Percentage) หาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) เพื่ออธิบายลักษณะการกระจายตัวของข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบและหาข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา

ผลการรวบรวมข้อมูล ทำให้ทราบว่าช่วงเวลาเช้ารถติดเฉลี่ยน้อยสุดอยู่ที่ 51 นาที และสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 48 นาที ทำให้ช่วงเช้ารถติดเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 36 นาที ส่วนในช่วงเย็นนั้นรถติดเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 10 นาที และสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 24 นาที ส่งผลให้ช่วงเย็นรถติดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 9 นาทีและรถบรรทุก 1 คันมีต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อชั่วโมงต่อคัน ในส่วนของต้นทุนค่าสร้างถนนนั้นอยู่ที่ 1,453,400 บาท ต่อช่องทางจราจรต่อกิโลเมตร

ในส่วนของจำนวนเที่ยวรถนั้น ทางคณะผู้จัดทำคำนวณจากจำนวนตู้คอนเทรนเนอร์ขาออก ในช่วงเวลา 1 ปี โดยเริ่มจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ได้จำนวนตู้คอนเทรนเนอร์ 2,857,207 TEU นำมาหารสอง จะได้เท่ากับ 1,428,603 TEU เมื่อนำมาหาเป็นจำนวนเที่ยวต่อชั่วโมงแล้ว จะได้ มีรถบรรทุกใช้เส้นทางดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 139 เที่ยวต่อชั่วโมง โดยใช้จำนวนเที่ยวดังกล่าวในการอ้างอิงจำนวนรถบรรทุกต่อชั่วโมง

เมื่อทำการวิคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมทำให้สร้างแผนภูมิ ได้ดังนี้

แผนภูมิแสดง การสรุปผลวิเคราะห์เปรียบเทียบจำนวนเงินสูญเสียที่ลดลงเมื่อมีการสร้างช่องทางการจราจรเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ

จากแผนภูมิข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผลของการเพิ่มช่องอีก 4 ช่องทางจราจร จากเดิมที่มี 2 ช่องทางจราจรเป็น6ช่องทางการจราจร ทำให้ต้นทุนรวมลดลงมากที่สุด คือ 179,116.69บาทต่อวัน

ดังนั้น คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่าควรมีการขยายถนนจากฝั่งละ 2 ช่องทางการจราจรในปัจจุบันเป็นฝั่งละ 6ช่องทางการจราจร เพื่อรองรับปริมาณรถบรรทุกสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ในอนาคต รวมไปถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ เพราะท่าเรือแหลมฉบังจะกลายเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและขนถ่ายสินค้าของภูมิภาค

ข้อจำกัดสำหรับงานวิจัยนี้

  • ต้นทุนค่าใช้จ่ายรถบรรทุกในงานวิจัยนี้เป็นการอ้างอิงมาจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรถบรรทุกรายหนึ่ง  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการรถบรรทุกเพียงรายเดียวที่เป็นกรณีตัวอย่าง กลุ่มผู้วิจัยได้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาประยุกต์และคำนวณ ดังนั้นค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของผู้ประกอบการรถบรรทุกแต่ละรายอาจแตกต่างไปจากนี้
  • ได้ทําการศึกษาเฉพาะทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์) เฉพาะฝั่งขาเข้าท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น
  • ไม่ได้ทําการศึกษาทุกปัจจัยที่มีผลกระทบทําให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัด
  • ระยะเวลาที่การจราจรติดขัดรวบรวมมาจากแบบสอบถามที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมรถบรรทุกทุกคัน
  • จำนวนเที่ยวรถบรรทุกเฉลี่ยในแต่ละวันคำนวณมาจากปริมาณตู้สินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังในรอบ 1 ปี จึงไม่ใช่จำนวนรถจริง
You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “การศึกษาปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 7 ที่เลี้ยวเข้าท่าเรือแหลมฉบัง”

  1. การศึกษาปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 7 ที่๠says:

    Proxies For Seo…

    I found a great……

Leave a Reply