ภาษาลูกค้า

Need to know 2 p 40-43

Customer language

ภาษาลูกค้า

สุวัฒน์ จรรยาพูน

อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เข้าใกล้ AEC ทุกขณะ การเตรียมความพร้อมของธุรกิจ และบุคลากรก็ยิ่งเข้มข้น ในส่วนของภาคการศึกษาอย่างผมก็มักจะได้รับคำถามจากนักศึกษาว่าสมควรปรับปรุงตนเองในด้านใดบ้าง เพื่อรองรับ AEC ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการมาหลายปี พบว่าบุคลากรของไทยมีดีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการใฝ่รู้ มารยาท อดทน ขยัน เป็นต้น แต่ติดปัญหาอยู่ด้านเดียวที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบก็คือ ความสามารถด้านภาษา เพราะคนไทยใช้ภาษาไทยอย่างเดียว จะโดดเด่นด้านภาษาที่สองมีน้อยมาก แม้แต่ภาษาอังกฤษที่ร่ำเรียนกันในสถานศึกษามาไม่ต่ำกว่าคนละ 10 ปี ก็ไม่สามารถใช้งานได้ทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน

เพื่อนผมที่จบนิติศาสตร์ หลายคนก้าวหน้าในอาชีพการงาน เป็นทนายความก็เยอะ เป็นอัยการก็มาก แต่ผมเห็นข้อแตกต่างก็คือ เพื่อนที่เก่งภาษา และมุ่งมั่นไปศึกษาต่อต่างประเทศ มักจะโดเด่นกว่าคนอื่น ทั้งตำแหน่ง และฐานะทางการเงิน เป็นเพราะนักกฎหมายบ้านเราจะหามือดีที่ทำด้านกฎหมายระหว่างประเทศมีน้อย โดยเฉพาะในยุคที่การค้าระหว่างประเทศกำลังเฟื่องฟู

ภาษาจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของคนไทยในการสร้างความได้เปรียบของประเทศ แต่หลายท่านอาจมีข้อสงสัยในใจอยู่บ้าง เช่น เมื่อเดินทางไปยุโรป หลายประเทศก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย อิตาลี เสปน ไปญี่ปุ่นก็มีแต่ภาษาญี่ปุ่น ไปเมืองจีนก็มีแต่ภาษาจีน ประเทศเหล่านั้นยังสามารถมีอำนาจทางเศรษฐกิจ ข้อด้อยด้านภาษาของไทยจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ แต่เราต้องไม่ลืมว่าแต่ละประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกนั้นมีฐานความรู้มากมาย มีประวัติยาวนาน และเดินทางไปทั่วโลก นอกจากนั้นองค์ความรู้ต่างๆ ของโลกมีการนำเสนอด้วยภาษาของโลกซึ่งก็คือภาษาอังกฤษ เป็นหลัก และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ตามมา ส่วนองค์ความรู้ที่เป็นภาษาอื่น ก็มักจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนเสมอ ภาษาอังกฤษจึงเป็นแหล่งพื้นฐานของความรู้ทั่วโลก

เมื่อลองกลับมามองที่โอกาสด้านความรู้ การแปลเป็นภาษาจีนก็ย่อมจะได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ด้วยความเป็นมหาอำนาจด้านประชากรของโลก และการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ย่อมจะได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน เพราะความเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ความรู้ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยก็จะได้รับเป็นลำดับท้ายๆ เพราะจำกัดด้านจำนวนประชากร และฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ท่เป็นภาษาไทยจึงล่าช้า และไม่ทันสมัย การเก็บเกี่ยวด้านองค์ความรู้ใหม่ของโลกจึงยากที่จะใช้ภาษาไทย

ผมเคยฟังเรื่องประเทศสิงคโปร์ ที่มีภาษาราชการเป็นภาษาอังกฤษ และมีภาษาที่สองเป็นจีน ในยุคแรกเน้นด้านภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ทันมหาอำนาจฝั่งตะวันตก ในยุคปัจจุบันเน้นภาษาจีนมากขึ้นด้วยเพราะเป็นแหล่งของลูกค้าหลักของโลก ทำให้สิงคโปร์แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็มีพื้นที่ใหญ่ในเวทีโลก ต่างกับประเทศไทยที่พื้นที่ในเวทีโลกไม่กว้างมากนัก และกลับหดแคบลงไปด้วยสถานการณ์การเมืองในประเทศเสียอีก

ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาหลักของโลก เป็นแหล่งความรู้ที่อุดมสมบูรณ์ คนไทยจึงละเลยและก้าวข้ามไม่ได้ ต้องยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นสาระสำคัญ ส่วนภาษาที่สองก็จำเป็นอย่างมาก แต่ก็จะได้รับคำถามว่าเลือกภาษาอะไรดี เคยไปฟังอาจารย์วิทยาก็ได้คำตอบว่าให้เลือก “ภาษาลูกค้า” ครับ เพราะหัวใจสำคัญในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม คือ การสื่อสาร และการสื่อสารที่เข้าใจง่าย และชัดเจนที่สุดก็คือการสื่อสารด้วยภาษาเดียวกับลูกค้า เพื่อนอัยการของผมมีลูกค้าเป็นคนไทย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ แต่เพื่อนอัยการผมได้ไปประจำที่จังหวัดทางเหนือหลายปี และทางอีสานหลายปี ผลก็คือเพื่อนผมพูดเหนือ และอีสานคล่องเลยครับ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด เพื่อนทนายของผมย้ายไปอยู่พัทยา มีลูกความเป็นชาวต่างชาติมากมาย ก็เจรจาภาษาอังกฤษคล่อง ทั้ง ๆ ที่สมัยมัธยมก็สอบตกภาษาอังกฤษ พนักงานขายอาหารตามฟาสฟูดส์ก็พูดภาษาไทยได้คล่องทั้ง ๆ ที่เพิ่งมาทำงานไม่นาน

ในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทย ก็ใช้งานล่ามภาษาเมียนม่าร์ กัมพูชา และตะวันออกกลาง อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนเรียกได้ว่าลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยต่างชาติใช้ภาษาอังกฤษได้มีจำนวนน้อยกว่าลูกค้าในแถบอาเซียน และตะวันออกกลาง ร้านค้าในซอยนานา ถนนสุขุมวิท มีหลายร้านที่มีแต่ภาษาอาหรับ ไม่มีแม้แต่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย นั่งรถผ่านตัวเมืองพัทยาก็เห็นภาษารัสเชียจนชินตา ก็ไม่น่าแปลกที่ย่านเยาวราชจะมีแต่ภาษาจีน

ผมเคยไปเวียดนาม พ่อค้าชาวเวียดนามในตลาดก็ทักผมเป็นภาษาไทย แวะไปที่เซี่ยงไฮ้ก็ยังได้ยินพ่อค้าพยายามคุยภาษาไทยกับลูกค้า เคยไปดูงานที่ไต้หวันก็เห็นมีร้านค้าเขียนภาษาไทยอยู่บ่อย ๆ ช่วงนี้ ตม.ที่ญี่ปุ่นก็ทักทายผมเป็นภาษาไทย เมื่อได้ฟังภาษาไทยในต่างแดนแล้วก็รู้สึกเป็นกันเอง และสบายใจมากขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับลูกค้าที่ชอบจะเจรจาทางการค้าในภาษาที่ตนถนัด เพราะมีความมั่นใจ และสบายใจที่จะดำเนินธุรกิจด้วย

การเข้าสู่ AEC คนไทยจะไม่ได้เปรียบเลยหากยังไม่เปิดใจให้กว้างเพื่อฝึกฝนภาษาประเทศในแถบอาเซียน แม้ว่าจะมีโอกาสที่ดีด้านชัยภูมิทำเลที่ตั้งก็ตาม เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราในแถบนี้เตรียมทักษะพื้นฐานด้านภาษามามากกว่า 10 ปี จำได้ว่าสมัยผมเรียนปริญญาโท ก็มีเพื่อนนักศักษามาจากประเทศกัมพูชา และลาว เข้ามาเรียนด้วยกันในภาคภาษาไทย โดยที่เพื่อนผมเหล่านี้มีภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสในเกณฑ์ที่ดีกว่าคนไทยอยู่มากเรียกได้ว่าอ่านตำราภาษาอังกฤษได้คล่องเลยทีเดียว และเพื่อนบ้านเราก็เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เรื่องความพร้อมด้านภาษาไทยจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ซึ่งแตกต่างจากค่านิยมของนักศึกษาไทยที่ไม่ให้ความสนใจในภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเลย แม้ว่าเพื่อนบ้านเรานั้นจะเป็นลูกค้าชั้นดี และมีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อมากมาย ตัวอย่างเช่น ลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในบ้านเรา อันดับต้น ๆ ก็เป็นผู้ป่วยที่มาจาก ประเทศเพื่อนบ้านเราในอาเซียน ซึ่งล่ามที่ใช้แปลภาษากลับไม่มีคนไทยเลย ต้องใช้ล่ามจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น บริษัทของเพื่อนผมต้องการไปเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้าน พบปัญหาที่สำคัญก็คือ อยากได้วิศวกรชาวไทยที่พูดภาษาในประเทศนั้นได้ ประกาศรับสมัครเท่าไรก็ไม่มี สุดท้ายต้องยอมใช้วิศวกรของประเทศเพื่อนบ้านแต่พูดภาษาไทยได้ ซึ่งใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็มีผู้มาสมัครให้เลือกหลายคน

จำได้ว่าเคยพานักธุรกิจชาวเมียนมาร์มาดูกิจการด้านคลังสินค้าในประเทศไทย ทำธุรกิจด้านเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เทียบได้กับ SB หรือ INDEX ในบ้านเรา เจ้าของเขาสามารถพูดอังกฤษ จีน และไทย ได้คล่อง และยังพาล่ามที่เป็นแพทย์ชาวเมียนม่าร์ ที่ทำงานแถวชายแดนในแถบแม่สาย พูดไทยได้ชัดเจนเหมือนคนไทย อาชีพหลักเป็นแพทย์ในคลีนิคของตนเอง อาชีพรองเป็นนายหน้าพาผู้ป่วยข้ามมารักษาในโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทย และยังมีอาชีพเสริมรับเป็นล่ามให้ผู้ป่วย และนักธุรกิจชาวเมียนมาร์ที่ต้องการมาติดต่อกับคนไทย ซึ่งการใช้ล่ามที่เป็นคนชาติเดียวกันย่อมสร้างความมั่นใจมากกว่า คงจะคล้าย ๆ กับความมั่นคงด้านการฑูตเลยทีเดียว แต่เมื่อหันกลับไปทางนักธุรกิจฝั่งไทยก็ไม่มีล่ามอยู่ข้างตัวที่เป็นคนไทย ต้องใช้ล่ามชาวเมียนม่าร์อยู่ดี ความเข้าใจตรงกันถึงจิตใจจึงยาก ที่ผ่านมาในคดีเกาะเต่า เราก็ไม่ได้ใช้ล่ามคนไทยที่พูดภาษาเมียนม่าร์ไม่ได้ ทำให้เกิดความแคลงใจเพราะล่ามที่เราใช้กลับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ถูกกันกับจำเลยชาวเมียนม่าร์ หากเราสามารถหาคนไทยที่พูดภาษาเมียนม่าร์ได้ความชัดเจนก็น่าจะเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่เพื่อนบ้านเห็นว่าเป็นลูกค้า ภาษาไทยจึงมักจะถูกเลือกเป็นภาษาที่สองของนักศึกษาประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนม่าร์ นอกจากนี้การข้ามพรมแดนเพื่อมาขุดทองในประเทศไทยก็ได้รับความนิยมจากเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน จำได้ว่าโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของบ้านเรา เมื่อย้ายฐานการผลิตไปเมียนม่าร์ก็เลือกคนไทยไปควบคุมและวางระบบในระดับบริหารเพียง 2-3 คนเท่านั้น ส่วนระดับหัวหน้างานที่เหลือก็เลือกใช้พนักงานเดิมที่เคยเป็นแรงงานข้ามชาติมาก่อน ทำให้เกิดการทำงานที่คล่องตัวขึ้น

เพื่อนผมที่ไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โรงงานของประเทศเมียนม่าร์บอกว่า คนไทยก็น่าจะมาขุดทองในประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่ยากนัก เพราะโอกาสมีอยู่มากมาย ทุกกระบวนการสามารถนำแนวคิดการปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลผลิตได้มากมาย สามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ไม่ยาก ไม่แตกต่างจากยุคที่คนจีนรุ่นอากงอาม่า ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาทำอาชีพค้าขายในประเทศไทย จนสามารถกุมเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง คนไทยก็สามารถข้ามพรมแดนออกเก็บเกี่ยวโอกาสจากเพื่อนบ้านได้เช่นกัน แต่ต้องกล้าที่จะใช้ภาษาลูกค้านะครับ

ภาษาอังกฤษจึงยังคงความสำคัญในการเก็บเกี่ยว และติดตามความรู้ระดับโลก เพื่อให้เราคงได้เปรียบเชิงวิชาการ แต่ภาษาของลูกค้า เป็นภาษาที่สองที่เราจำเป็นต้องเลือกใช้เพื่อการสร้างความมั่งคั่ง และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคู่ค้า คนไทยจึงต้องเร่ง “ปรับทัศนคติ” ด้านภาษาของลูกค้า เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ก่อนที่จะเป็นเพียงทางผ่านของภูมิภาคที่รับได้แค่เศษเงินที่ร่วงหล่นตามทางนะครับ

******************************************************

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply