โลจิสติกส์ไทย-หนานหนิง

Need to Know 1

Thailand Logistics -Nanning

โลจิสติกส์ไทย-หนานหนิง

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อพูดถึงเส้นทางโลจิสติกส์ทางถนนระหว่างไทย-จีน ส่วนใหญ่จะนึกถึงเส้นทาง R3 คุนหมิง-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการเคลื่อนย้ายทั้งคนและสินค้าผ่านแขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาวเข้าสู่เมืองสิบสองบันนา และคุนหมิง ประเทศจีน และปัจจุบันสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ณ อ.เชียงของ จ.เชียงรายได้เปิดใช้งาน ทำให้มีความสะดวกและเกิดประสิทธิภาพทั้งด้านเวลาและต้นทุนที่ดีกว่าในอดีต (ในอดีตรถบรรทุกสินค้าต้องรอขึ้นเรือยนต์ข้ามแม่น้ำโขง)

แต่เส้นทางโลจิสติกส์ทางถนนระหว่างไทย-จีน ไม่ได้มีเฉพาะเส้นทาง R3 เท่านั้น อีกทั้งมณฑลของประเทศจีนที่มีศักยภาพในการทำการค้ากับประเทศไทยไม่ใช่มีเพียงมณฑลยูนนานเท่านั้น ยังมีมณฑลอื่นอีกที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในการทำการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน หนึ่งในนั้นคือเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) โดยมีนครหนานหนิง (Nanning) เป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นประตูอาเซียนของประเทศจีน (China Gate of ASEAN) กิจกรรมระหว่างจีนและอาเซียนที่ถูกจัดขึ้น ณ นครหนานหนิง อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 คือมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China ASEAN Expo – CAEXPO) เป็นมหกรรมแสดงสินค้าที่น่าสนใจระหว่างประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก

ประเทศจีนได้สร้างรูปแบบการร่วมมือระหว่างประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน ในมหกรรม CAEXPO ว่า 1+10>11 นั่นหมายว่าการร่วมมือกันระหว่างประเทศจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนจะครอบคลุมตลาดมากกว่า 11 ประเทศที่ร่วมมือกัน และยังสามารถสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น แต่การเป็น China Gate of ASEAN ยังเป็นอุปสรรคสำหรับนักธุรกิจอาเซียนอยู่ เนื่องจากนักธุรกิจจีนในนครหนานหนิง หรือในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยังใช้ภาษาจีนแมนดารินในการสื่อสารอยู่เป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนน้อยมากที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร (หากเป็นมณฑลอื่นในประเทศจีน ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร ผมอาจจะไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญอะไร แต่การที่ประกาศให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น China Gate of ASEAN ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารจึงควรเป็นภาษาสากล)

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่แรกของประเทศจีนที่ติดกับกลุ่มประเทศอาเซียนทางทะเล (เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ณ เมืองฝังเฉิน ได้มาเยือนจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แจ้งว่าปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ให้บริการระหว่างท่าเรือฝังเฉินกับท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการเดินเรือทะเลที่ไม่ได้แวะท่าเรือระหว่างเส้นทาง ทำให้ระยะเวลาในการเดินเรือสั้นลงกว่าเดิม เนื่องจากเดิมการเดินเรือจากท่าเรือฝังเฉินต้องแวะที่ท่าเรือกวางโจวก่อนจะเดินเรือมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง) นอกจากนั้นเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจะมีประชากรที่เป็นชนเผ่าจ้วงมากที่สุดในเขตปกครองนี้ ภาษาของชนเผ่าจ้วงมีความคล้ายกับภาษาไทยมาก มหาวิทยาลัยในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเปิดการเรียนการสอนภาษาไทยหลายแห่ง (ตามการสอบถามอาจารย์ที่สอนภาษาไทยในนครหนานหนิง ทราบว่ามีนักศึกษา/นักเรียน เรียนภาษาไทยปีละกว่า 5,000 คน)

รัฐบาลกว่างซีได้สร้างพื้นที่ในนครหนานหนิงเป็นเขตอาเซียนบวก (ASEAN+ Zone) ขึ้น โดยภายในพื้นที่ประกอบด้วยศูนย์ธุรกิจของแต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยมีศูนย์ธุรกิจไทย-จีนประจำนครหนานหนิงขึ้นภายในเขตนี้เช่นกัน ศูนย์ฯนี้บริหารงานโดย นายเซี๊ยะหมิงเฉียง โดยเป็นองค์กรที่เชื่อมนักธุรกิจระหว่างไทยและจีน เพื่อให้เกิดการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ทั้งการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ กิจกรรมนำนักธุรกิจจีนเยือนประเทศไทย กิจกรรมประสานงานเพื่อต่อยอดการค้า เป็นต้น มหกรรม CAEXPO ก็ถูกจัดขึ้นบริเวณโซนนี้เช่นกัน ส่งผลให้พื้นที่โซนนี้ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม โรงแรมขนาดใหญ่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามนครหนานหนิงยังคงรักษาสภาพเมืองให้น่าอยู่ตามหลักการนครสีเขียว (Green City) แทบจะทุกพื้นที่ของนครหนานหนิงจะพบต้นไม้ แม้กระทั่งบนสะพานข้ามแม่น้ำ หรือทางเดินเท้าทั่วทั้งนครหนานหนิง (ผมมีโอกาสไปเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ท่องเที่ยว ณ นครหนานหนิง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา พบว่าในเขตนครหนานหนิงยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และจะมีสวนสาธารณะขนาดย่อมๆ กระจายตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อประชากรได้ใช้เป็นพื้นที่สันทนาการและออกกำลังกาย นอกจากนั้นรถจักรยานยนต์ในนครหนานหนิง (ในประเทศจีนก็ว่าได้) จะใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้มลภาวะทางอากาศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ)

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีระบบขนส่งมวลชนภายในนครหนานหนิง ณ ปัจจุบันยังเป็นรถโดยสารประจำทาง และรถแท็กซี่อยู่ แต่ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าภายในนครหนานหนิงกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่และคาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณปี 2559 ในส่วนของระบบขนส่งระหว่างเมืองนั้น นอกจากจะมีระบบขนส่งมวลชนโดยรถโดยสารประจำทาง และรถไฟแล้ว ปัจจุบันได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าระหว่างหนานหนิง-กุ้ยหลิน ในปี 2557 ผมได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเส้นทางนี้ ความเร็วสูงสุดที่รถไฟฟ้าขบวณนี้วิ่งอยู่ประมาณ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเร็วเฉลี่ยน่าจะประมาณ 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นการให้บริการที่จอดตามสถานีค่อนข้างมาก และเส้นทางที่ใช้ผ่านเขตเมืองอีกด้วย สถานีรถไฟฟ้ายังคงใช้ร่วมกับสถานีรถไฟเดิม ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกยังต้องได้รับการพัฒนามากขึ้นกว่าปัจจุบัน

เส้นทางโลจิสติกส์ทางถนนที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีหลายเส้นทาง ได้แก่ R8 R9 R12 โดยเส้นทางทั้งสามต้องเดินทางผ่านประเทศลาว ประเทศเวียดนาม เข้าสู่จีน เส้นทาง R8 เป็นเส้นทางที่ออกจากประเทศไทยโดยผ่านจังหวัดหนองคายหรือจังหวัดบึงกาฬ เส้นทาง R9 (เป็นเส้นทางที่อยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East West Economic Corridor) ออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนมุกดาหาร ในขณะที่เส้นทาง R12 จะผ่านออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนนครพนม ทั้งสามเส้นทางข้างต้นต้องข้ามแม่น้ำโขงและทั้งสามด่านพรมแดนมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นที่เรียบร้อย (เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว 3 สะพานแรก ก่อนที่จะเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เมื่อปลายปี 2556) เส้นทาง R9 เป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมากที่สุด ในขณะที่เส้นทาง R12 กำลังได้รับการพัฒนาและผลักดันให้มีการขนส่งสินค้ามากขึ้น หลังจากที่เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ณ จังหวัดนครพนมเมื่อปลายปี 2555

ความท้าทายของทั้งสามเส้นทาง เป็นการขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านถึง 4 ประเทศ (ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศจีน) แต่ละประเทศมีกฎระเบียบในการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน ทั้งด้านการจราจร ด้านพิกัดน้ำหนักบรรทุก ด้านภาษา ด้านพิธีการศุลกากร เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น การขับขี่ยานพาหนะบนเส้นทางถนนจะมีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ขับชิดเลนด้านซ้าย (พวงมาลัยของยานพาหนะอยู่ด้านขวา) ในขณะที่ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศจีนขับชิดเลนด้านขวา (พวงมาลัยของยานพาหนะอยู่ด้านซ้าย) การสื่อสารภาษาแต่ละประเทศก็เป็นปัญหากับพนักงานขับรถได้ เป็นต้น

การขนส่งสินค้าผ่านทั้งสามเส้นทางจะต้องผ่านนครฮานอย (เมืองหลวงของเวียดนาม) และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางฮานอย-หลังเซิน ออกจากประเทศเวียดนามที่ด่านพรมแดนหลังเซิน เข้าสู่ประเทศจีนที่ด่านพรมแดนผิงเสียง (ด่านพรมแดนผิงเสียง หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า ด่านอยู๋ยี่กวน) อีกด่านพรมหนึ่งระหว่างประเทศเวียดนามและประเทศจีนบนเส้นทางนี้เป็น ด่านพรมแดนม่องก๋าย (ประเทศเวียดนาม) และด่านพรมแดนตงซิน (ประเทศจีน) ซึ่งใช้เส้นทางฮานอยผ่านอ่าวฮาลอง (เส้นทางนี้จะนิยมสำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือไฮฟองของประเทศเวียดนาม หรือท่าเรือของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เช่น ท่าเรือฝังเฉิน เป็นต้น) เมื่อเข้าประเทศจีน ณ ด่านผิงเสียงแล้ว เส้นทางที่ใช้เป็นถนนที่ได้มาตรฐาน เกือบตลอดเส้นทางมีขนาด 4 ช่องจราจร

รัฐบาลกว่างซีเรียกถนนเส้นนี้ว่า ถนนจีน-อาเซียน (China ASEAN road) ระหว่างเส้นทางนี้จะผ่านนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ตั้งอยู่เมืองฉงจั่ว (เมืองฉงจั่วได้ลงนามความร่วมมือระหว่างเมืองกับเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา) โดยมีบริษัท น้ำตาลมิตรผลของไทย ได้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนี้ (อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และมีกำลังการผลิตสูงมากของประเทศจีน) เส้นทางนี้ยังผ่านทางเข้าท่าอากาศยานนานชาติหนานหนิงก่อนจะเข้าสู่นครหนานหนิงอีกด้วย (อาคารท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิงแห่งใหม่เพิ่งเปิดใช้ปลายเดือนกันยายน 2557 แทนอาคารหลังเก่าที่มีขนาดเล็กไปแล้ว)

หนึ่งในรูปแบบการปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ทางถนนระหว่างไทย-หนานหนิง ที่ถูกนำมาใช้แล้ว โดยบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายหนึ่ง เป็นการนำเอารูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) มาปรับใช้กับการขนส่งสินค้าทางถนน นั่นคือ นำระบบตู้คอนเทนเนอร์ (Containerization) มาใช้ในการขนส่งสินค้า โดยการนำสินค้าบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์โดยรถบรรทุกภายในประเทศเมื่อถึงด่านพรมแดนของแต่ละประเทศ เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ไปยังรถบรรทุกของประเทศนั้น (ยกเว้นพื้นที่ประเทศเวียดนามและประเทศลาว รถบรรทุกของทั้งสองประเทศสามารถใช้เดินรถบนเส้นทางระหว่างประเทศกันได้) จะทำให้การเปลี่ยนสินค้าทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเคลื่อนย้ายเพียงการยกตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายสินค้าจำนวนมาก

อีกทั้งการจัดทำเอกสารต่างๆ ก็ออกมาในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ (คล้ายกับการขนส่งทางทะเล) ด้วยรูปแบบนี้สิ่งอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดน ต้องมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านเครื่องมือ/อุปกรณ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการจัดการ เพื่อให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนมีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ (บริเวณด่านพรมแดนผิงเสียง ประเทศจีน มีความพร้อมในการรองรับสินค้าข้ามแดน บนเส้นทางนี้ จากการพัฒนาพื้นที่ด่านพรมแดนให้เป็นเขตปลอดอากร (Free Zone) และมีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเอ็กเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ (X-Ray) เครนในการยกตู้คอนเทนเนอร์ คลังสินค้า เป็นต้น

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ทางถนนแล้ว เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างหนานหนิง-ฮานอย ยังเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ ความสนใจการขนส่งสินค้าทางรางของสองประเทศนี้อยู่ที่ขนาดความกว้างของรางรถไฟไม่เท่ากัน รางรถไฟของประเทศจีนกว้าง 1.435 เมตร แต่รางรถไฟของประเทศเวียดนามกว้าง 1.00 เมตร แต่รถไฟของทั้งสองประเทศสามารถเดินรถได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถไฟ การแก้ปัญหาความกว้างของรางรถไฟใช้การเพิ่มรางขึ้นมาอีก 1 ราง นั่นคือรางรถไฟจากชายแดนจีน-เวียดนามถึงหนานหนิงเพิ่มรางด้านในเพื่อให้เกิดความกว้างขนาด 1 เมตรขึ้นมา ในขณะที่รางรถไฟจากชายแดนเวียดนาม-จีนถึงฮานอยเพิ่มรางด้านนอกเพื่อให้เกิดความกว้างขนาด 1.435 เมตรขึ้นมา ดังนั้น รางรถไฟของเส้นทางหนานหนิง-ฮานอย จะมีจำนวน 3 ราง

จากเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมต่อไทย-หนานหนิง ที่กล่าวถึงทั้ง R8 R9 และ R12 นั้น ยังมีอีกหนึ่งเส้นทางที่อยู่การศึกษาเปรียบเทียบ เป็นเส้นทางที่ออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เข้าประเทศลาว ผ่านประเทศเวียดนาม ไปเชื่อมต่อกับทั้งสามเส้นทางที่ฮานอยเข้าสู่หนานหนิง (ผมและทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กำลังดำเนินการศึกษาภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ-วช.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย-สกว.)

อย่างไรก็ตามความได้เปรียบและศักยภาพของแต่ละเส้นทางนั้น นอกจากพิจารณาลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก กฎระเบียบ แรงงาน เทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ต้องนำปัจจัยแหล่งของผลิตภัณฑ์ (Supply) และที่ตั้งของตลาด (Demand) มาพิจารณาด้วย เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีการกระจายตัวออกสู่จังหวัดต่างๆ มากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด อีกทั้งผลิตภัณฑ์/บริการบางประเภทมีความพร้อมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มากกว่า หรือจะกล่าวได้ว่าต้องพิจารณาโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์/บริการนั่นเอง

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “โลจิสติกส์ไทย-หนานหนิง”

  1. โลจิสติกส์ไทย-หนานหนิง | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magazine Freight Max says:

    Dedicated Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply