ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับเงินหยวน

Customs Update

Asean Economic Community and Yuan

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับเงินหยวน

ประเทศจีน เป็นมหาอำนาจทางซีกโลกตะวันออกซึ่งได้พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วจากประเทศที่ยากจนและอดอยากเมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและคาดว่าจะแซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ภายใน 10-15 ปีข้างหน้านี้

จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนค่อนข้างมาก จากข้อมูลสำนักเลขาธิการอาเซียนพบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศค้าขายกับจีนมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่าระหว่างประเทศทั้งหมดที่อาเซียนค้าขายกับประเทศนอกภูมิภาค ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน – จีนนั้น ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 54,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2545 สู่ระดับ 400,100 ล้านดอลลาร์

ในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2  โดยในปีที่แล้วจีนส่งออกสินค้ามายังอาเซียน รวมมูลค่าทั้งหมด 204,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าสินค้าจากอาเซียนอยู่ที่ 195,800 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่าฝ่ายจีนได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียน ส่วนการค้าในครึ่งปีแรกของปี 2557 รวมมูลค่า 210,560 ล้านดอลลาร์ อัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 12.2 ต่อปี ส่วนในด้านการลงทุนนั้น จีนลงทุนในอาเซียนมีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนมากที่สุด 4 อันดับได้แก่ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ขณะที่การลงทุนของอาเซียนในจีนมีมูลค่าเกิน 80,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันจีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนและอาเซียนเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่สุดอันดับ 3 ของจีน รองจากสหภาพยุโรป (อียู) แต่จะแซงขึ้นเป็นอันดับ 2 ภายใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งคาดว่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2558 นอกจากนี้จีนมีแผนที่จะยกระดับการค้ากับอาเซียนโดยผ่านความร่วมมือกันในหลายด้าน รวมถึงระบบศุลกากรและการตรวจสอบคุณภาพ รวมทั้งการจัดส่งกลุ่มผู้ซื้อเดินทางไปซื้อสินค้าการเกษตรจากกลุ่มประเทศในอาเซียนด้วย

หลายปีที่ผ่านมาจีนพยายามผลักดันการใช้เงินหยวนให้เป็นเงินตราสากลระหว่างประเทศ(International Currency) โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย โดยประกาศยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์ในทางบัญชีอย่างสิ้นเชิงโดยเปลี่ยนการชำระสินค้ามาเป็นเงินสกุลรูเบิลและเงินหยวนแทน ขณะเดียวกันธนาคารของจีนได้ร่วมมือกับธนาคารหลายประเทศทั่วโลกในการหักบัญชีโดยใช้เงินสกุลหยวนแทน ล่าสุดเพิ่งลงนามกับธนาคารในอังกฤษและฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมานี้เอง บทบาทของเงินหยวนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน

โดยคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวด้วยอัตราร้อยละ 7.5 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้มูลค่าการค้าขายกับประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้อาเซียนกับจีนอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามกรอบ RCEP ซึ่งเปิดโอกาสและส่งเสริมให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่เงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ

อย่างไรก็ตาม เงินหยวนยังมีความสำคัญไม่มากนักในระบบเศรษฐกิจโลก โดยพบว่าในเดือนมกราคม 2557 การทำธุรกรรมด้วยเงินหยวนมีสัดส่วนทางการตลาดเพียงร้อยละ 1.12 ของปริมาณเงินทั้งหมด แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเงินหยวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีสัดส่วนไม่มากนัก เนื่องจากติดขัดอยู่กับข้อจำกัดหลายประการ เหตุผลสำคัญที่เงินหยวนมีบทบาททางธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศไม่มากนักเนื่องจากจีนยังไม่เปิดเสรีการควบคุมการปริวรรตเงินตราเงินหยวนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเปิดเสรีบัญชีเงินทุน (Capital Account Openness) ทำให้การนำเงินหยวนเข้าและออกนอกประเทศจีนยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการ นอกจากนี้จีนยังมีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยมีการดำเนินนโยบายควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

จีนเป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของอาเซียน นอกจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นซึ่งส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งประโยชน์สำคัญของจีนแล้ว อาเซียนยังเป็นกลุ่มประเทศที่จีนต้องการแสดงบทบาทเป็นผู้นำเพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทุกประเทศใช้กลยุทธ์การผลิตและอาศัยภาคการส่งออกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ประสบร่วมกันคือ ภาวะความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ  ที่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาสินค้าส่งออก จึงเป็นความต้องการร่วมกันที่จะทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้เงินตราสกุลอื่นเพื่อลดความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และจากความต้องการของจีนที่ผลักดันให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นจึงน่าจะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียนดังกล่าว

ภายใต้ความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบภายหลังจากปี 2558 ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจีนจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างการรวมตัวที่แข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ อาเซียนควรเจรจากับจีนให้แสดงความจริงใจในการเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ทั้งการลดข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายเงินหยวนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นการนำร่องในการเพิ่มสภาพคล่องของเงินหยวน การอนุญาตให้บริษัทจีนที่ค้าขายกับประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถค้าขายเป็นเงินหยวนได้ การประกาศอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงระหว่างเงินหยวนกับเงินตระกูลท้องถิ่นของประเทศอาเซียนในอัตราที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างอัตราซื้อกับอัตราขาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้เปลี่ยนมาใช้เงินหยวนมากขึ้น

การพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการความเสี่ยงของค่าเงินหยวนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้ในต้นทุนที่ไม่แพงจนเกินไปนัก ความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีนเอง แม้ว่าการผลักดันการเพิ่มบทบาทเงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาแต่ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีตระกูลเงินทางเลือกเพื่อใช้ประกอบธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับเงินหยวน”

  1. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับเงินหยวน | Especially of Logistics Supply Chains and Tr says:

    Proxies For Seo…

    I found a great……

  2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับเงินหยวน | Especially of Logistics Supply Chains and Tr says:

    Usa Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply