ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน

Interview

Laem Chabang Port aims to be Logistics Hub, connecting Thai economy and ASEAN

ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน

ท่าเรือแหลมฉบัง มุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และโลจิสติกส์ของอาเซียน ปรับบทบาทเน้นกลยุทธ์หลักส่งเสริมขีดความสามารถ พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปูทางเชื่อมต่อขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์-ขนส่งของประเทศ

ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าหลักของประเทศไทย ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีภาระหน้าที่หลักในการให้บริการด้านเรือและสินค้า เป็นผู้ให้บริการขนส่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการโลจิสติกส์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยวิสัยทัศน์ของท่าเรือแหลมฉบัง คือ การมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และโลจิสติกส์ของอาเซียน” ซึ่งจะต่อยอดสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน)

ในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำ ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้แสดงทรรศนะในการบริหารงานว่า จากวิสัยทัศน์ของท่าเรือแหลมฉบังที่มุ่งก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และโลจิสติกส์ของอาเซียน ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังจึงเร่งพัฒนาใน 3 ภารกิจหลักที่สำคัญ คือ ขยายบริการท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำในประเทศ และในอาเซียน การพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กร ให้เกิดศักยภาพและขีดความสามารถให้เกิดสูงสุด และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและยกระดับมาตรฐานในการให้มีความทันสมัย มีธรรมาภิบาลและมีมาตรฐานสากล

ในปี 2558 มีแผนงานโครงการที่รองรับภารกิจข้างต้นที่สำคัญ ในการพัฒนาการจัดการท่าเรือแหลมฉบังทั้งทางด้านบุคลากร การใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่และสินทรัพย์ที่มีการพัฒนาแล้วให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนรอบท่าเรือและสิ่งแวดล้อม โดยแผนงานที่สำคัญเร่งรัดดำเนินการในปี 2558 ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 2. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และ 4. โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง

รุกพัฒนาศักยภาพรับมือ AEC

ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ตลอดจนเป็นท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่มี 1) พื้นที่แนวหลังท่าในระดับ (Primary Port Hinterland Area) ครอบคลุมในพื้นที่ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง และ 2) พื้นที่แนวหลังท่าในระดับรอง (Secondary Port Hinterland Area) ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้คงความเป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย (Main Port) และเป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล และต้องพึ่งพาการขนส่งผ่านประตูการค้าในประเทศที่ติดทะเล ได้แก่ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ตลอดจนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการพัฒนาบางประเภทที่เป็นลักษณะที่เอื้อต่อการเสริมการเติบโตของท่าเรือแหลมฉบัง อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวายในประเทศเมียนมาร์ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลฝั่งอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษเชื่อมโยงภายในประเทศ การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียนทำให้มีปริมาณการไหลเวียนของสินค้าภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาบางประเภทก็เป็นลักษณะที่สร้างอุปสรรคต่อการเติบโตของท่าเรือแหลมฉบัง อาทิ การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมบางประเภท การขยายการลงทุนของท่าเรือแหลมฉบังในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจดึงสินค้าผ่านท่าบางส่วนจากท่าเรือแหลมฉบัง เช่น ท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) ท่าเรือโฮจิมินต์ ท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือดานัง (เวียดนาม) และท่าเรือคลาง ท่าเรือปีนัง และท่าเรือตันจงเปเลปาส (มาเลเซีย) เป็นต้น

เป้าหมายของท่าเรือแหลมฉบังได้กำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในด้านต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์นั้น ท่าเรือแหลมฉบังได้มุ่งให้มีศักยภาพรองรับเรือขนาดใหญ่ (Post Panamax) เนื่องจากปัจจุบันนวัตกรรมในเรื่องขนาดของเรือมีแนวโน้มขยายขนาดขึ้นเพื่อให้สามารถบรรทุกสินค้าได้ในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งทางน้ำ โดยพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้มีความเชื่อมโยง ให้บริการการขนส่งที่มีความต่อเนื่องแบบหลายรูปแบบ (Multimodal) ส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยผลักดันให้การขนส่งทางรถไฟและการขนส่งทางลำน้ำเป็นรูปแบบขนส่งหลัก เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากค่าต้นทุนในการขนส่งนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และดุลการชำระเงินของประเทศ (Balance of Payment) ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาจุดเชื่อมโยงการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายให้มีความสะดวก และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากขึ้น อาทิ เช่น สถานีขนส่งทางลำน้ำ และศูนย์เปลี่ยนถ่าย

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการอำนวยความสะดวกและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค (Facilitation & Regulation) นั้น ได้ผลักดันและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดตั้งเขตปลอดอากร และให้สิทธิพิเศษอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเร่งการปรับปรุงข้อบังคับและกฎระเบียบการต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัด เสริมความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการด้านโลจิสติกส์ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลให้การขนส่งมีขั้นตอนและต้นทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ทลฉ. กทท. จะต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรี สาขาบริการด้านโลจิสติกส์ อาทิ การเข้ามาประกอบกิจการท่าเทียบเรือหรือการร่วมลงทุนเพื่อมาประกอบกิจการท่าเทียบเรือของผู้ให้บริการรายใหญ่จากทั้งในประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียน ในกรณีนี้ อาจไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์แข่งขันของผู้ประกอบการดังกล่าวมากนัก เนื่องจากกิจการดังกล่าวส่วนมาก จะเป็นที่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการข้ามชาติอยู่แล้ว ซึ่งหากมองในแง่ดี ผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี ความชำนาญเฉพาะด้าน และสามารถให้การบริการได้อย่างครบวงจร จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีต่อการเพิ่มศักยภาพ

ผลการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังปี 2557 และเป้าหมายในปี 2558

ผลการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังในปีงบประมาณ 2557 (ต.ค. 56 – ก.ย.57) มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง 6.458 ล้านทีอียู ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีงบประมาณ 2556 (ต.ค. 55 – ก.ย.56) เท่ากับ 5.974 ล้านทีอียู ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 8.10 % ซึ่งมีผลมาจากอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศมีอัตราลดลง แต่ในด้านอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าของประเทศไทยในต่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มของตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นต้น จึงส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังคงเป็นไปตามค่าเป้าหมายที่วางไว้ในจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557

ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 8.10 % นั้น เป็นอัตราเติบโตที่ไม่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของประเทศที่ประมาณ 2% สืบเนื่องมาจากปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังโดยเฉพาะตู้เปล่ามีสัดส่วนเติบโตขึ้นถึง 23 % ในขณะสัดส่วนเติบโตของตู้สินค้าหนักเพียง 5% แสดงให้เห็นว่าท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่ส่งออกตู้สินค้าไปยังต่างประเทศประกอบกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าของไทยในต่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดส่งออกหลัก ทำให้ปริมาณตู้เปล่าไม่เพียงพอจึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อมาบรรจุสินค้าส่งออกเพิ่มมากขึ้น จากผลการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง ในปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือจึงมีอัตราเติบโตที่ 8% จึงมีอัตราการเติบโตไม่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของประเทศที่ 2% ด้วยเหตุผลความไม่สมดุลของสินค้าเขาเข้าและขาออกดังกล่าว

วิเคราะห์เปรียบเทียบศักยภาพของการขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นในเอเชีย

เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการขนส่งของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้ว นับได้ว่าท่าเรือแหลมฉบังมีการดำเนินงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นได้จากตัวชี้วัด (KPI) ต่างๆ เช่น Crane Productivity ที่เฉลี่ยเท่ากับ 31 Boxes/Crane/Hour ซึ่งสูงเทียบเท่าท่าเรือชั้นนำของโลก นอกจากนี้หากวัดที่ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าแล้ว หากไม่นับท่าเรือประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์แล้ว ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าสูงสุดอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ของทวีปเอเชีย (ลำดับที่ 23 ของโลก)

แนวทางการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ภายหลังจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558คาดว่าจะทำให้มีสินค้าจำนวนมากในกลุ่มประชาคมที่จะมีการเคลื่อนย้ายขนส่งภายในภูมิภาค ทั้งการขนถ่ายสินค้าในลักษณะของการขนส่งผ่านแดนและถ่ายลำ (Transit and Transshipment) รวมถึงสินค้าที่จะขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังไปยังภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้น การท่าเรือฯ จึงเตรียมความพร้อมด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีขีดความสามารถในการรองรับการขยายตัวของการขนส่งทางทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบังให้มีเพียงพอ

พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาความแออัดของการจราจรที่จะมีมากขึ้น (Capacity and Congestion Constraints) ท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้เตรียมมาตรการในการแก้ไขปัญหาการจรทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการจราจรภายในท่าเรือ และในส่วนของการขนส่งเชื่อมโยงจากพื้นที่หลังท่าเข้าสู่ท่าเรือ โดยได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น เพื่อจัดทำแผนงานขยายโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

พร้อมกันนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งทางระบบราง ภายใต้โครงการพัฒนาย่านขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) และการขนส่งชายฝั่ง ภายใต้โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A (Coastal Terminal A) ให้มากขึ้น ตอบสนองนโยบายการ shift mode ของการขนส่งของรัฐบาล จากการกระจุกตัวของการขนส่งบนถนน มาสู่การขนส่งระบบราง และทางน้ำ

นอกจากแผนการพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแล้ว ยังมีแนวทางที่จะดำเนินกิจการศูนย์รวมและกระจายสินค้า ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุนของประเทศ รวมถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพด้านการให้บริการ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อรองรับระบบ Logistics ซึ่งจะช่วยให้การบริการทันสมัย รวดเร็ว ลดขั้นตอนงานด้านเอกสารให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ประกอบกับ จากความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนในการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการภายใต้ภาวะที่มีการแข่งขันทางการตลาดรุนแรงในปัจจุบันและที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบัง และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาท่าเรือไปสู่ความเป็นท่าเรือสากลที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแข่งขันกับท่าเรือคู่แข่งในประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้สภาพแวดล้อมของการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

You can leave a response, or trackback from your own site.

5 Responses to “ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน”

  1. chatbot development companies…

    Contract the wonderful social trends currently currently available in addition on sale today!…

  2. ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิà says:

    Private Proxies Usa…

    I found a great……

  3. ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิà says:

    My Proxies…

    I found a great……

  4. ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิà says:

    Proxies For Facebook…

    I found a great……

  5. ท่าเรือแหลมฉบังมุ่งสู่ Logistics HUB เชื่อมโยงเศรษฐกิà says:

    Private Proxies Definition…

    I found a great……

Leave a Reply