กรมศุลกากรในปัจจุบันกับเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมทางศุลกากร

Customs Update

Customs Department and its controlling technology

กรมศุลกากรในปัจจุบันกับเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมทางศุลกากร (ตอนที่ 2)

การเสริมสร้างศักยภาพการปราบปรามทางทะเล

ปัจจุบันกรมศุลกากรมีวิสัยทัศน์ คือ ศุลกากรมาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและปกป้องสังคม โดยมีพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมทางศุลกากรเพื่อปกป้องสังคม ผ่านยุทธศาสตร์ที่สำคัญโดยการพัฒนาศักยภาพการควบคุมทางศุลกากรด้วยมาตรฐานสากล เพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ข้างต้น กรมศุลกากรได้กำหนดแผนปฏิบัติการในการป้องกันและปราบปรามสินค้าลักลอบหนีศุลกากรและสินค้าที่เป็นภัยต่อสังคมซึ่งต้องมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งการนำเข้ามาในและส่งออกไปจากราชอาณาจักร โดยในส่วนการปฏิบัติการปราบปรามทางทะเลนั้น กรมศุลกากรได้กำหนดให้ส่วนสืบสวนปราบปราม ๒ สำนักสืบสวนและปราบปราม มีหน้าที่ในการปฏิบัติการปราบปรามสินค้าลักลอบหนีศุลกากรผ่านพรมแดนทางทางทะเลและพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเป็นหน่วยงานหลักของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีบทบาทในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตน่านน้ำราชอาณาจักรไทย และปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคมตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมฯ

ภารกิจในการควบคุมทางศุลกากรเพื่อปกป้องสังคมจะต้องกระทำผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากจะมีช่องทางด้านพรมแดนทางบกและสนามบินนานาชาติแล้ว พรมแดนทางทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็เป็นช่องทางการค้าที่จะต้องจัดหามาตรการควบคุมทางศุลกากรให้ครอบคลุมด้วย สำหรับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรมแดนทางทะเลและพรมแดนทางบกในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบันนั้นมีส่วนสืบสวนปราบปราม ๒ สำนักสืบสวนและปราบปราม เป็นกำลังสำคัญของกรมศุลกากรในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

การปฏิบัติการด้านการควบคุมทางศุลกากรทางทะเลแต่เดิมในช่วง ๒๐ – ๓๐ ปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยกว้างขวางเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมดูแลมิให้มีการลักลอบหนีศุลกากรผ่านพรมแดนทางทะเล ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดก็ตามที่มีอัตราภาษีศุลกากรสูงคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายก็จะเป็นเป้าหมายของขบวนการลักลอบหนีศุลกากร ยกตัวอย่างเช่น ผ้า ผลไม้ บุหรี่ สุรา แร่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น และรวมถึงสินค้าที่เป็นภัยต่อสังคมเช่นยาเสพติดก็อาศัยช่องทางพรมแดนทางทะเลเล็ดลอดเข้ามาในประเทศด้วย แต่ในปัจจุบันสภาพการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สินค้าหลายชนิดไม่มีความคุ้มค่าต่อการเสี่ยงลักลอบหนีศุลกากรอีกต่อไป ทำให้สภาวะการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่หนีภาษีลดน้อยลงเหลือแต่สินค้าจำพวก บุหรี่ สุรา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น แต่ในขณะที่การลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีลดลง ปริมาณการลักลอบส่งออกสินค้าบางอย่าง เช่น ไม้พะยูง ซึ่งมีกฎหมายห้ามส่งออกเพื่อคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ของประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น

ด้วยเหตุที่กล่าวมาไม่ว่าสภาวะการค้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร งานของศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านการควบคุมทางศุลกากรทางทะเลก็ยังคงจำเป็นต่อการบรรลุพันธกิจของกรมศุลกากรเสมอมา ดังนั้น ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการด้านการควบคุมทางศุลกากรทางทะเลด้วยการจัดหาเรือตรวจการณ์ศุลกากรในแต่ละขนาดให้เหมาะสมกับภารกิจ ตั้งแต่ขนาดความยาว ๓๐ ฟุต ๕๐ ฟุต ๖๐ ฟุต ไปจนถึงเรือตรวจการณ์ศุลกากรในขนาดความยาว ๑๐๐ ฟุต ซึ่งในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพโดยการจัดหาเรือตรวจการณ์ศุลกากร ดังนี้

เรือตรวจการณ์ศุลกากรชุดขนาดความยาวเรือ ๘๐ ฟุต จำนวน ๓ ลำ คือ เรือตรวจการณ์ศุลกากร ๘๐๔, ๘๐๕ และ ๘๐๖ ใช้เงินงบประมาณจากโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) จำนวน ๓๔๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อเรือโดยอู่ต่อเรือของไทย คือ อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางเบญจา หลุยเจริญ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ

เรือตรวจการณ์ศุลกากรชุดขนาดความยาวเรือ ๓๐ ฟุต จำนวน ๔ ลำ คือ เรือตรวจการณ์ศุลกากร ๓๗๘, ๓๗๙, ๓๘๐ และ ๓๘๑ ใช้เงินงบประมาณจากโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) จำนวน ๒๓,๔๘๘,๘๐๐ บาท ต่อเรือโดยอู่ต่อเรือของไทย คือ อู่ต่อเรือบริษัท ซีเครสท์ มารีน จำกัด ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางเบญจา หลุยเจริญ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ

นอกจากการเสริมสร้างศักยภาพของเครื่องมือในการปฏิบัติงาน กรมศุลกากรยังมีการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมศุลกากรทางทะเล ทั้งการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมต่อภารกิจ โดยปัจจุบัน ส่วนสืบสวนปราบปราม ๒ สำนักสืบสวนและปราบปราม มีบุคลากรในสังกัด ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน ๒๒๐ คน นอกจากการจัดหากำลังคนให้พร้อม กรมศุลกากรยังพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรโดยมีการอบรมเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานทั้งภายในประเทศผ่านหลักสูตรต่างๆ และการฝึกอบรมต่างประเทศ เช่น การจัดส่งบุคลากรเข้าร่วมการฝึกอบรมประจำปี Hybrid Craft/Ship Search Training ที่ประเทศออสเตรเลีย และ Maritime Security Desktop Exercise ที่ประเทศอินโดนิเซีย โดยการสนับสนุนของ The Australian Customs and Border Protection Service เป็นต้น

นอกจากการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของกรมศุลกากร ส่วนสืบสวนปราบปราม ๒ สำนักสืบสวนและปราบปราม ในฐานะหน่วยงานที่ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามทางทะเลของกรมศุลกากรยังทำงานในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อบูรณาการปัจจัยในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดคือการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางทะเลของประเทศ เช่น การร่วมมือกับกรมสรรพสามิตในการกำกับควบคุมดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของกิจการประมงของไทย หรือการเข้าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการของศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ซึ่งเป็นภารกิจที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหาการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าต้องห้าม อาชญากรรมในเขตน่านน้ำไทย ความปลอดภัยทางทะเล การสนับสนุนคุ้มครองเส้นทางการค้าระหว่างประเทศทางทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการรับมือและบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุในท้องทะเล เป็นต้น

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปของกรมศุลกากร งานด้านการป้องกันและปราบปรามทางทะเลของกรมศุลกากรได้แสดงให้เห็นแล้วว่ากรมศุลกากรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและปกป้องสังคมได้จริง และด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของหน่วยปฏิบัติงานทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เชื่อได้ว่าในอนาคตกรมศุลกากรจะมีศักยภาพในการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่น คุ้มครองสุจริตชนให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่ เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของชาติทางทะเล และพร้อมต่อการรับมือภัยคุกคามทะเลในรูปแบบใหม่อีกด้วย

มาตรการป้องกันและปราบปรามของกรมศุลกากร

ถึงแม้ว่าการทำงานของกรมศุลกากรในปัจจุบันจะต่างจากในอดีตไปมาก จากที่เน้นการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐมาเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า แต่กรมศุลกากรก็มิได้ละเลยหน้าที่ในการปกป้องสังคม โดยได้ มีนโยบายมุ่งเน้นใน การปราบปรามสินค้าลักลอบและหลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัดการลักลอบนำเข้ายาเสพติดรวมทั้งสารตั้งต้น การลักลอบนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการนำผ่านซึ่งอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) การลักลอบนำเข้า-ส่งออกสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ป่าตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ(CITES) การลักลอบนำเข้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการลักลอบนำเข้าพืชผลเกษตรตามฤดูกาลเพื่อปกป้องสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร ไม่เพียงแต่เฉพาะการลักลอบ/หลีกเลี่ยง โดยอาศัยช่องทางทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น แต่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับช่องทางเข้า-ออก ทั่วประเทศ โดยได้มีการดำเนินการเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามของกรมฯ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้

1. กรมศุลกากรได้มีการจัดทำแผนงานป้องกันและปราบปรามสินค้าต่างๆ และมีการประเมินผล เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ เช่น

- แผนงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและสารตั้งต้นซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ความร่วมมือ ประสานและสร้างเครือข่ายด้านการข่าว และร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อสกัดกั้นยาเสพติด สารเคมี และสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด โดยการจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เกิดความรู้ด้านยาเสพติดและสารตั้งต้น สนับสนุนอุปกรณ์ด้านยาเสพติดพร้อมให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานศุลกากรทุกแห่ง ให้หน่วยงานจัดเก็บที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจัดทำ Profile บริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด และประชาสัมพันธ์เชิงรุกและให้แถลงข่าวเมื่อมีการจับกุมเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ระยะเวลาดำเนินการตลอดปีงบประมาณและดำเนินการในทุกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของศุลกากร

- แผนงานป้องกันและปราบปรามพืชเกษตรเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและพืชไร่ ในช่วงที่มีผลผลิตสินค้าเกษตรและพืชไร่ของประเทศเพื่อนบ้านออกสู่ตลาด เนื่องจากราคาผลผลิตภายในประเทศไทยนั้นสูงกว่าผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเหตุจูงใจทำให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าดังกล่าวบริเวณชายแดนซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรไทย กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการสืบสวนและปฏิบัติการด้านการข่าวเกี่ยวกับแหล่งที่มา เส้นทางการลักลอบ สถานที่จัดเก็บ และแหล่งจำหน่ายตามพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ออกตรวจค้นรถยนต์รับจ้าง รถบรรทุก และยานพาหนะอื่น ๆ ตามจุดตรวจศุลกากรในพื้นที่ต่าง ๆ

- แผนงานป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีระยะเวลาดำเนินการตลอดปี โดยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในด้านทรัพย์สินทางปัญญา และรับรู้แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของกรมศุลกากร โดยการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ โปสการ์ด และจัดทำเว็บไซต์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (www.iprcustoms.com) และจัดตั้งศูนย์ประสานงานทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ และตัวอย่างสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญเช่น การจัดการฝึกอบรมร่วมกับภาคเอกชนตัวแทนเจ้าของสิทธิ์เกี่ยวกับการจำแนกสินค้าจริงและปลอม ให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร

- แผนงานป้องกันและปราบปรามปฏิบัติการพิเศษในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีนดำเนินการในช่วงเทศกาลเนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนทั่วไปมีความต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเป็นของฝากของขวัญและเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล ทำให้พ่อค้าฉวยโอกาสนำสินค้าเข้ามาขายโดยผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลผู้ประกอบการโดยสุจริต และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้นกรมศุลกากรได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลักลอบ ทำการสกัดกั้นและจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าด้วยการออกลาดตระเวนตรวจค้นยานพาหนะ ร้านค้า โรงเก็บสินค้าและสถานที่ต้องสงสัยหรือเชื่อได้ว่าจะมีสินค้าลักลอบนำมาเก็บหรือซุกซ่อนอยู่

2. กรมศุลกากรได้นำวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินการสืบสวนและปราบปราม อาทิเช่น

- การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการควบคุมทางศุลกากร เช่น เครื่องเอ็กซ์เรย์, CCTV โดยในปัจจุบันกรมศุลกากรนำระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์มาใช้แทนการเปิดตรวจทางกายภาพ

- การใช้หลักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เพื่อการควบคุมทางศุลกากร

- การดำเนินการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย (Post Clearance Audit)

- การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติการ ด้านการสืบสวนและปราบปรามโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นการสืบหาข่าว วิธีการลักลอบ แหล่งจำหน่ายสินค้า

3. กรมศุลกากรได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลเป้าหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

- กรมการปกครองเพื่อตรวจสอบทะเบียนบัตรประชาชน ที่อยู่ บุคคลในทะเบียนบ้าน

- กรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครอง

- สำนักงาน ปปส.เพื่อตรวจสอบข้อมูลประวัติการกระทำความผิดด้านยาเสพติด

4. กรมศุลกากรได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น

- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปส. โดยร่วมมือปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปราม ด้านการข่าว

- ศุลกากรต่างประเทศโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านศุลกากร

- ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์โดยการร่วมมือจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจสอบสิทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

สิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นมาตรการการป้องกันและปราบปรามเพื่อตรวจสอบ ควบคุมการผ่านเข้า ออกของสินค้าที่ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย และในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการเป็นประตูหน้าด่านของประเทศ เราจะไม่หยุดยั้งในการทำงานเพื่อปกป้องดูแลไม่ให้สิ่งไม่พึงประสงค์ผ่านเข้า-ออกมายังประเทศของเราได้ ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “ศุลกากรมาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและปกป้องสังคม”

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply