การศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาการบริหารจัดการ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง

Logistics Knowledge

Education for solution and managing administration improvement of inland container depot

การศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาการบริหารจัดการ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง

กฤษดา ใยแจ่ม

เบ็ญจรัตน์ อนันตโชคชัย

ศิริรัตน์ กระฎุมพร

ประธานที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ ดร. กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ

โครงงานนี้เป็นการศึกษาเรื่องการบริหารจัดการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง และเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องในปัจจุบัน โดยศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงปัญหาในการดำเนินงานจากการค้นคว้าข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลปฐมภูมิจากการสอบถามจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้ประกอบการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องทั้ง 5 บริษัท ซึ่งได้แก่ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด 2. บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด 3. บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด 5. บริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด

เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหา และหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ดังนั้น ประโยชน์ที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องได้รับ คือมีแนวทางที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบัน และมีแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แก่ทั้งสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และขีดความสามารถการให้บริการของผู้ให้บริการได้

ที่มาและความสำคัญ

เนื่องจากปัญหาในปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ รวมไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและท่าบริการการขนส่งต่างๆ เท่าที่ควร โดยเฉพาะสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันระหว่างประเทศและต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ จึงส่งผลให้การบริหารจัดการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งระบบการจัดการภายในที่ยุ่งยากและซ้ำซ้อน ทำให้การดำเนินงานล่าช้า ผลที่ตามมาคือผู้ส่งออกของประเทศไม่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีต้นทุนทางด้านการขนส่ง และต้นทุนทางด้านเวลาที่สูงขึ้น

ดังนั้น ทางคณะผู้จัดทำได้มีความสนใจปัจจัยต่างๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถการบริการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง โดยจะมีการใช้ข้อมูลจากบริษัทผู้ประกอบการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง เพื่อที่จะประเมินหาปัญหาและจุดบกพร่องของการบริหารจัดการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขและพัฒนา เพื่อเพิ่มศักภาพการบริหารจัดการและการบริการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศต่อไป

ขอบเขตของการศึกษา

ขอบเขตด้านเนื้อหา – ศึกษาการดำเนินงานและระบบการบริหารจัดการของผู้ประกอบการเอกชน เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาในการดำเนินงาน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ เช่น รายงานผลการทำงานประจำปี ปัญหาในการดำเนินงาน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นต้น เพื่อนำมาพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไข และพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง

- ศึกษาข้อมูลของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องในต่างประเทศ เช่น ทำเลที่ตั้ง ระบบการจัดการ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา

วิธีการศึกษา

1. ศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลทั่วไป กระบวนการดำเนินงาน โครงสร้างองค์กร นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงปัญหาในการดำเนินงานจากการค้นคว้าข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลปฐมภูมิจากการสอบถามจากบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานทั้ง 6 บริษัท รวมถึงพนักงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบริหารสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การรถไฟแห่งประเทศไทย และศุลกากร

2. รวบรวมข้อมูลที่ได้มา เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปัญหาหลัก 3 อันดับแรก

3. นำปัญหาหลัก 3 อันดับแรก มาวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ปัญหา

ผลการศึกษา : วิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง

จากกราฟ แสดงปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ทั้งหมด 5 ปัญหา โดยปัญหาหลักที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ ปัญหาจากการให้บริการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องของการรถไฟแห่งประเทศไทย

1. ปัญหาเรื่องระยะเวลาการให้สัมปทานน้อยเกินไป

ระยะเวลาในสัญญาสัมปทาน 10 ปีนั้น ไม่เอื้อต่อการให้ผู้รับสัมปทานลงทุน ทำให้ผู้รับสัมปทานไม่กล้าลงทุนในเครื่องมือยกขนหรือเครื่องจักรที่มีราคาแพง โดยเฉพาะเครื่องมือที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้ต้องไปจ้างผู้ประกอบการภายนอกมาให้บริการ ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าการที่ลงทุนซื้อเอง รวมถึงทำให้ไม่กล้าซ่อมแซมลานวางตู้ จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพของการบริการของผู้ประกอบการลดลงตามไปด้วย

สาเหตุ

เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจประเภท Logistics Provider นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนสูง ทั้งในเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เครื่องมือต่างๆ ในการดำเนินงาน ซึ่งใช้เวลามากในการคืนทุน หากระยะเวลาในการให้สัมปทานน้อยเกินไป จะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง

ภายใต้สมมติฐานการคำนวณระยะเวลาสัมปทานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้ และสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายบางตัวไม่อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่คาดการณ์ ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถทำกำไรตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีได้ ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยรถหัวลากภายในสถานี โดยจะใช้บริการจากผู้ให้บริการรถหัวลากภายนอก ค่าสัมปทานที่เพิ่มขึ้น หรืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนต่อ TEU สูงมากขึ้นและกาไรลดลงตามลำดับ

แนวทางการแก้ปัญหา

  • บริษัทผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าระยะเวลาการให้สัมปทานที่เหมาะสมคือ 15-20 ปี โดยที่ระบบการให้สัมปทานเดิมคือ 10 ปี แบบมีเงื่อนไข คือสามารถเพิ่มระยะเวลาการให้สัมปทานได้ แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนในเรื่องของนโยบายระยะเวลาให้สัมปทานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้ขาดความน่าสนใจในการลงทุน ดังนั้น คณะผู้จัดทำมีความเห็นว่าระยะเวลาการให้สัมปทานที่เหมาะสมควรมากกว่า 10 ปี แต่ไม่ควรเกิน 15 ปี โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้ ระยะเวลาการให้สัมปทานควรมีระยะเวลามากกว่า 10 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้ และยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุน
  • ระยะเวลาการให้สัมปทานไม่ควรจะมากกว่า 15 ปี เพื่อให้มีการแข่งขัน และไม่เป็นการผูกขาดผู้ให้บริการธุรกิจด้าน Logistics Provider แต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขันโดยรวมของธุรกิจ
  • มีปัจจัยภายนอกหลายประการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมได้ และมีความผันผวนมาก ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนและผลประกอบการโดยตรง เช่น ค่าระวางเรือ ค่าเชื้อเพลิง ค่าเช่าสัมปทาน เป็นต้น
  • การแข่งขันที่สูงระหว่างผู้ประกอบการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องด้วยกันเอง และข้อกำหนดขององค์กรภาครัฐส่งผลต่อการกำหนดราคา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาได้อย่างอิสระ

2. ปัญหาสภาพถนนภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องมีความชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อ

ปัญหา

จากการสำรวจสภาพการดำเนินงานจริงของถนนภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง และการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง พบว่าสภาพถนนและการจราจรเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงาน โดยถนนที่มีสภาพชำรุดอยู่บริเวณ ดังต่อไปนี้

1.บริเวณทางเข้าของสถานี 1, 2, 3 (อยู่ในความรับผิดชอบของ Truck Terminal)

2. ถนนบริเวณทางเลี้ยวเข้าและทางกลับรถแต่ละสถานี มีสภาพทรุด และผุพัง

3. ถนนบริเวณหน้าสถานี 4, 5, 6 ไม่ได้รับการซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน จึงทรุดโทรมตามสภาพ คือ สภาพผิวถนนไม่เรียบ และในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพิ่มช่องทาง

4. ถนนจากบริเวณสำนักงานกลางของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องไปจนถึงถนนเจ้าคุณทหารมีสภาพทรุด ผุพัง แต่อยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุงพื้นที่สำหรับจอดรถบริเวณระหว่างกลางถนน ให้กลายเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จากเดิมที่เป็นยางมะตอย

สาเหตุ

เกิดจากขาดการบำรุงรักษาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าถนนภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องไม่ได้รับการบำรุงรักษาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปัจจุบัน

แนวทางการแก้ปัญหา

การรถไฟแห่งประเทศไทยควรมีการตั้งนโยบายในการตรวจสอบและดูแลถนนเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของถนน และหากพิจารณาระหว่างงบประมาณในการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในการซ่อมถนนครั้งใหญ่ทุก 10 ปี และการจัดสรรงบประมาณเพื่อตรวจสภาพและดูแลถนนทุกปีเป็นประจำ จะพบว่างบประมาณในการตรวจสภาพและดูแลถนนทุก 1 ปีใช้งบประมาณน้อยกว่า

3. ปัญหารถหัวลากจอดไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากไม่มีพื้นที่จอดรถเป็นสัดส่วน

ปัญหา

การที่รถหัวลากจอดรอก่อนเข้าสถานี ซึ่งจะจอดบริเวณหน้าทางเข้าแต่ละสถานี รวมถึงรถหัวลากบางคันที่ไม่ได้ต้องการเข้าสถานี จอดไม่เป็นระเบียบบริเวณข้างทาง ทำให้ช่องทางการจราจรจากฝั่งละ 2 ช่องทาง เหลือเพียงฝั่งละ 1 ช่องทาง

ถึงแม้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการปรับปรุงพื้นที่บริเวณข้างสถานี 4 เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเก็บค่าบริการในการจอดรถ แต่ก็ไม่มีผู้ใช้บริการเท่าที่ควร เนื่องมาจากบริเวณโดยรอบสถานีสามารถจอดได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ

สาเหตุ

เกิดจากภายในบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องหรือบริเวณหน้าสถานีแต่ละสถานีไม่มีพื้นที่ให้จอดอย่างเป็นสัดส่วน และประกอบกับสาเหตุดังต่อไปนี้

1. สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องไม่มีที่จอดสำหรับรถหัวลากระหว่างรอเข้าสถานี เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าจานวน 600,000 TEU ต่อปี แต่ปัจจุบันขีดความสามารถอยู่ที่ประมาณ 1,300,000 TEU ต่อปี ซึ่งนับว่าเกินขีดความสามารถการให้บริการถึง 2 เท่า จึงทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าสถานีประกอบการจากการจอดรถหัวลาก

2. ไม่มีป้ายจราจร เช่น ป้ายห้ามจอด บอกอย่างชัดเจน

แนวทางการแก้ปัญหา

การรถไฟแห่งประเทศไทยควรมีการจัดสรรพื้นที่ให้รถหัวลากจอดอย่างเป็นสัดส่วน โดยมีวิธี ดังต่อไปนี้

1. เมื่อการดำเนินงานก่อสร้างพื้นที่จอดรอบริเวณเกาะกลางถนนบริเวณซอยสถานีขนถ่ายสินค้าไปจนถึงถนนเจ้าคุณทหารเสร็จสิ้นแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยควรจะเข้าไปดำเนินการเพื่อจัดระบบแถวคอยสำหรับการรอเข้าสถานีของรถหัวลาก โดยมีระบบการจัดการแถวคอย ดังนี้

ขั้นที่ 1 เมื่อรถหัวลากเข้ามายังพื้นที่สำหรับจอดรอ จะต้องยื่นเอกสารยืนยันการติดต่อกับสถานี

ขั้นที่ 2 เจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะแจ้งข้อมูลรถหัวลากที่เข้ามา ไปยังสถานี เพื่อให้สถานีแจ้งข้อมูลกลับมา ว่ารถหัวลากคันดังกล่าวจะต้องไปหน้าสถานีเป็นลำดับที่เท่าไร ภายในเวลาใด

ขั้นที่ 3 เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ผู้ให้บริการรถหัวลากจะออกจากบริเวณที่จอดรอไปยังบริเวณหน้าสถานี เพื่อมาจอดรอหน้าสถานีและรอดำเนินการจากสถานีในขั้นตอนต่อไป

โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณรถหัวลากที่จอดรอบริเวณหน้าสถานี และกีดขวางการจราจรได้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ประกอบการทุกสถานีและผู้ให้บริการรถหัวลากรวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความล่าช้าบริเวณทางเข้าพื้นที่สำหรับจอดรอ และความผิดพลาดในการจัดแถวคอย

2. มีการตีช่องจอดรถหัวลากบริเวณหน้าสถานีแต่ละสถานี โดยแต่ละสถานีควรมีช่องจอดรถหัวลากไม่เกิน 5 ช่อง เพื่อไม่ให้รถหัวลากจอดเข้าแถวยาวจนกีดขวางทางจราจร

4. ปัญหาจานวนตารวจจราจรไม่เพียงพอ

ปัญหา

พื้นที่บริเวณโดยรอบของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องจะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งจะปฏิบัติการตามพื้นที่การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยตำรวจของการรถไฟที่ประจำการอยู่ที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง มีจำนวนน้อย ทำให้ขาดเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวก และควบคุมกฎจราจรต่างๆ เช่น การให้สัญญาณมือโบกรถในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง การเตือนหรือบังคับล้อรถหัวลากที่จอดในบริเวณที่ห้ามจอด เป็นต้น ผลก็คือ เกิดการจราจรติดขัด รถจอดไม่เป็นระเบียบกีดขวางการจราจร เกิดความล่าช้าในการให้บริการของเจ้าที่หน้าที่ตำรวจจราจร

สาเหตุ

ตำรวจรถไฟมีจำนวนจำกัด และไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและการจัดสรรเจ้าหน้าที่

แนวทางการแก้ปัญหา

ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยควรจะมีการสรรหาจำนวนตารวจจราจรภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัญหาการจราจรส่งผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถการให้บริการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง

แต่ในขณะที่ยังไม่สามารถดำเนินการสรรหาตำรวจรถไฟได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยมีการจ้างบริษัทสำหรับช่วยดูแลการจราจรภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ซึ่งจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของแต่ละสถานี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการจราจรสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย

1. ควรจะมีการปรับค่าสัมปทานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอกชน

2. ควรมีการเร่งการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

3. ควรมีการส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าทางระบบรางมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความแออัดของการขนส่งทางถนน และช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยได้อีกทางหนึ่ง

4. ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยควรให้ความสำคัญต่อการให้ปฏิบัติหน้าที่ของตารวจจราจรภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง เนื่องจากสภาพจราจรจะกระทบต่อปัญหาการขนส่งสินค้าภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง และกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่

ข้อเสนอแนะสำหรับบริษัทเอกชนผู้สัมปทาน

1. ทางบริษัทผู้ประกอบการเอกชนควรมีนโยบายแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหาและสามารถดำเนินงานต่อไปได้ตามปกติ

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “การศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาการบริหารจัดการ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง”

  1. Jay says:

    trusted@pillspot.com” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!!…

Leave a Reply