ปรับทัศนคติ

Need to Know 2

Attitude Adjustment

ปรับทัศนคติ

สุวัฒน์ จรรยาพูน

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองนะครับ เป็นเรื่องของการจัดการโซ่อุปทานล้วนๆ จะได้ไม่มีหนังสือมาเชิญผมไปปรับทัศนคติ เนื่องจากช่วงนี้บังเอิญผมมีกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงงานด้านโลจิสติกส์ให้กับธุรกิจต่างๆ พบว่ามีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องขอเชิญมา “ปรับทัศนคติ” เพราะหลายฝ่ายน่าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน และอาจถูกคำหวานๆ ที่สวยหรูเข้ามาปิดกั้นแก่นแท้ที่อยู่ภายใน

เริ่มจาก ธีมของกิจกรรมนี้อยากให้ทำเรื่อง “การลดต้นทุน” ฟังดูแล้วเหมือนจะดีนะครับ แต่การหมกมุ่นเรื่อง “ลดต้นทุน” อาจจะทำให้เสียงานใหญ่ ผมเคยอยู่โรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีกิจกรรมลดต้นทุนอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องมีปรัชญาการลดต้นทุนว่า “กิจกรรมการลดต้นทุนต้องทำให้คุณภาพเท่าเดิม หรือดีกว่าเดิม” เท่านั้น หากแนวคิดนั้นส่งผลต่อคุณภาพที่แย่ลง แม้ว่าจะลดต้นทุนได้มากก็จะไม่นำมาปฏิบัติ เนื่องจากพนักงานทุกคนทราบดีว่า หัวใจหลักของการผลิตสินค้าให้ลูกค้าก็คือ “คุณภาพ” ส่วนต้นทุนที่ประหยัดได้นั้นเป็นเพียงผลพลอยได้

เป้าหมายของการลดต้นทุน คือ ต้องการให้พนักงานทุกคนตระหนักในงานที่ทำ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนที่ลดได้แม้เพียงน้อยนิดก็ยังได้รับรางวัล จำได้ว่าผมเคยลดต้นทุนได้น้อยที่สุดน่าจะเป็น 0.005 บาท/คัน เป็นการลดปริมาณการใช้กระดาษกาวปิดรูน๊อตป้องกันเกลียวเสียในระหว่างการผลิต และจะถูกแกะออกในกระบวนการถัดไป ซึ่งกระดาษกาวนี้ไม่ส่งผลลบต่อคุณภาพของรถยนต์แน่นอน ที่สำคัญมันก็จะถูกแกะออกจากรถด้วย ในการปรับปรุงนี้ก็สามารถทำได้ทันที

ส่วนเรื่องที่ผมลดต้นทุนได้มากที่สุดน่าจะเท่ากับ 25 บาท/คัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงสายไฟในห้องเครื่องยนต์ จากต้องใช้สายไฟสองเส้นมาต่อกัน เปลี่ยนเป็นใช้สายไฟเส้นเดียว ซึ่งทำให้สามารถประหยัดตัวต่อสายไฟได้ การเปลี่ยนวัสดุที่ใช้งานนี้ ผมต้องส่งเอกสารไปให้ทีมวิศวกรที่ญี่ปุ่นพิจารณา ซึ่งกว่าจะตอบกลับมาก็ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน มีเหตุผลของการใช้สายไฟสองเส้น คือ ในกระบวนการผลิตของญี่ปุ่นใช้เวลาไม่ถึงนาทีต่อคัน จึงต้องแบ่งงานเป็นส่วน ๆ สายไฟนี้เส้นหนึ่งประกอบมาจากแผนกประกอบเครื่องยนต์ ส่วนอีกเส้นประกอบที่แผนกวางเครื่อง แล้วจึงนำสายไฟทั้งสองเส้นนี้เสียบเข้าด้วยกัน จึงจำเป็นต้องมีข้อต่อของสายไฟทั้งสอง และทางทีมวิศวกรของญี่ปุ่นก็เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนให้เหลือสายไฟเส้นยาวเส้นเดียว สำหรับกระบวนการผลิตที่ประเทศไทย โดยไม่ต้องมีข้อต่อ จากคำตอบทำให้ผมเห็นถึงความจริงจังที่จะไปสืบค้นหาสาเหตุของปัญหา และการพิจารณาถึงผลกระทบต่อคุณภาพในตัวสินค้า

กิจกรรมลดต้นทุนของผมที่เคยนำเสนอ ก็จะมีทั้งเรื่องของการลดเวลาในการทำงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น หากผมลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานคนหนึ่งลงช่วยให้เวลาทำงานลดลงจาก 5 นาที เหลือ 4 นาที ส่งผลให้พนักงานคนนั้นมีเวลาว่างมากขึ้น แต่พนักงานคนอื่นก็ยังคงใช้เวลาทำงาน 5 นาที เท่าเดิม ดังนั้นผลผลิตของโรงงานก็จะได้เท่าเดิม แต่ในการคำนวณต้นทุนจะได้ว่า พนักงานคนนั้นจะประหยัดเวลาได้ 1 นาที วันหนึ่งทำงาน 8 ชั่วโมง ก็ประหยัดได้ 96 นาที ค่าแรงขั้นต่ำคือ 300 บาท/วัน จะประหยัดต้นทุนค่าแรงได้ 60 บาท/วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจ่ายให้พนักงานคนนี้เหลือ 240 บาท นะครับ เพราะเวลาที่ประหยัดได้บริษัทก็ต้องมอบหมายงานอื่นให้พนักงานดูแล เช่น กิจกรรม 5ส กิจกรรมข้อเสนอแนะ กิจกรรมการควบคุมด้วยสายตา นั่นหมายถึงการลดเวลาของพนักงานหนึ่งคนยังไม่ได้ช่วยให้เวลาทั้งระบบการผลิตลดลง แต่ก็เป็นการจุดประการให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน การลดต้นทุนแบบนี้ตัวเลขทางบัญชีจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะต้นทุนค่าแรงไม่ลดลง การจ่ายค่าแรงก็ยังคงเดิม จำนวนผลผลิตก็ยังคงได้เท่าเดิม การเน้นที่ตัวเลขทางบัญชีจึงอาจทำให้เป้าหมายของกิจกรรมการลดต้นทุนผิดเพี้ยนไปได้

กิจกรรมลดต้นทุน จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้พนักงานเกิดการคิด และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับองค์กร ส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา สนุกสนาน และกระตือรือล้น ผู้บริหารไม่เคยสนใจวางเป้าหมายในรูปจำนวนเงินที่ต้องลดต้นทุนให้ได้เลย สนใจเพียงแต่ว่า ในแต่ละเดือนมีกิจกรรมการลดต้นทุนกี่เรื่อง เรื่องละเท่าใด มีกิจกรรมไหนบ้างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผนกอื่นได้ ดังนั้นมุมมองด้าน “การลดต้นทุน” ต้องเปลี่ยนจากการสนใจในจำนวนเงินที่ลดได้ เป็นความสามารถในการทำให้บุคลากรตระหนัก และสนใจที่จะมองหาต้นทุนที่ไม่จำเป็น ที่เป็นความสูญเปล่า และกำจัดออกไปจากระบบ จึงจะได้การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารจึงต้องไม่หลงกับคำหวานจนมองไม่เห็นเนื้อแท้ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า “ต้องลงทุนจึงจะขายสินค้าได้” แต่ถ้าลดต้นทุนอย่างไม่เข้าใจจนไม่เหลืออะไร สินค้าก็ขายไม่ได้ ธุรกิจก็จบนะครับ

ทัศนคติคำหวานต่อมาเห็นจะเป็น คำว่า “โดยสมบูรณ์” แปลง่ายๆ ว่า “ดีที่สุด” บอกได้เลยว่าคำนี้เป็นยาพิษชัดๆ เนื่องจากธุรกิจที่อยู่รอดได้ต้องพริ้วไหวให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าลูกค้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจจึงต้องตามลูกค้าให้ทัน และหากทำได้ต้องนำหน้าแล้วจูงให้ลูกค้าไปตามทิศทางที่เรากำหนด สตีฟ จอบส์ แห่งแอปเปิ้ล เคยบอกว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของลูกค้าที่ต้องรับรู้ว่าเขาต้องการอะไร” เพราะบางครั้งลูกค้าก็บอกไม่ได้ว่าเขาต้องการอะไร จึงเป็นหน้าที่ของกิจการที่จะต้องเดาใจลูกค้า และคิดแทนลูกค้า ด้วยการคิดในมุมมองของลูกค้า

ธุรกิจมักจะติดกับดักด้วยการคิดแทนลูกค้า ผ่านการมองในความคิดของตนเอง  ผลก็คือจะทำให้ธุรกิจมีความคิดที่ตีบตัน คับแคบ ตัวอย่างเช่น หากเราผลิตสินค้าและมีของเสียเกิดขึ้น กิจการส่วนมากจะผลักภาระต้นทุนของเสียให้ลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการ เพราะลูกค้าจ่ายเงินเพื่อซื้อของดี ส่วนของเสียเป็นความผิดพลาดของบริษัทเองที่ลูกค้าไม่สมควรรับผิดชอบ

การคิดผ่านมุมมองของบริษัท จึงเป็นกรอบที่ปิดกั้นความเสรี และด้วยข้อจำกัดของกิจการทำให้เกิดรูปแบบความคิดที่ว่า “วิธีนี้ดีที่สุดแล้ว” หรือ “นี่แหล่ะคือความสมบูรณ์แบบ” และเมื่อแนวความคิดนี้ถูกปลูกฝังเข้าเป็นวัฒนธรรมองค์กร ผมก็บอกได้เลยว่าบริษํทนั้นให้ “นับถอยหลัง” รอวันปิดกิจการได้เลย เพราะความสมบูรณ์ คือ ความหยุดนิ่ง ให้ความรู้สึกว่าไม่ต้องพัฒนา สามารถดำรงชีอยู่ได้อย่างพอเพียง คงคล้ายๆ กับความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเราที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” พลังผลักดันให้ก้าวหน้าจึงถดถอย

ธุรกิจที่อยู่รอด และปรับตัวได้เสมอ จะต้องมุ่งสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์วิทยา (ครูใหญ่ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของผม) เสนอคำที่กระตุ้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องว่า “ธุรกิจทำเพียงแค่ ดี เร็ว และประหยัด ไม่ได้ ต้องทำให้ ดีกว่า เร็วกว่า และประหยัดกว่า”

ดังนั้นถ้าใครนำเสนอ “ความสมบูรณ์” หรือ “ดีที่สุด” หรืออะไรประมาณนี้ ก็อย่าไปเชื่อนะครับ ความสำเร็จไม่สามารถทำได้ในเวลาสั้นๆ อย่าเพิ่งตัดพ้อต่อว่าโชคชะตา หรือคิดว่าเพราะกิจการเขาใหญ่กว่าจึงมีโอกาสมากกว่า เพราะมันจะทำให้เราท้อและถดถอย ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจที่ใหญ่ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วก็ใหญ่เลย เขาก็ต้องใช้ระยะเวลาฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย และหากใครคิดต่างจากนี้ก็ต้องขอเชิญมา “ปรับทัศนคติ” กันหน่อยนะครับ

************************************************************

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply