AEC ความท้าทายผู้ประกอบการไทย

Trade Issue

AEC, a challenge for Thai logistics service provider

AEC ความท้าทายผู้ประกอบการไทย

เร่งยกระดับ สร้างมาตรฐาน-เตรียมพร้อมแข่งขัน

ผู้ประกอบการตื่นตัวรับมือ AEC ชี้เป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ช่วยขยายตลาดและฐานลูกค้าในประเทศ-แตกไลน์การลงทุนธุรกิจไปยังประเทศในอาเซียน ส่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน แนะผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์-เสริมคุณภาพสินค้าและบริการ แบบ “รู้เขา รู้เรา”

จับตาย่างก้าวสู่การเปิดเสรีการค้าและบริการ AEC ผู้ประกอบการไทยเริ่มตื่นตัวเตรียมความพร้อมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชี้ผู้ประกอบการในประเทศมีโอกาสและศักยภาพเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสมรภูมิเศรษฐกิจ และหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน

คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ไทยจำเป็นจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการและต้นทุนในการดำเนินงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ถูกต้องแม่นยำ มีคุณภาพระดับมืออาชีพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความพร้อมได้ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การพัฒนาทักษะพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยด้วยการให้องค์ความรู้ ให้สามารถยกระดับมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพ

ขณะนี้กรมขนส่งทางบก ได้นำผู้ประกอบการไทยจัดทริปเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการจัดการในเรื่องการขนส่งทางบกให้มีมาตรฐานระดับเดียวกัน และเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งหมด โดยจะเป็นพันธมิตรร่วมกับประเทศอาเซียนในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน-เกิดประโยชน์ร่วมกัน มีการจัดการประชุมร่วมกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ โดยมีการประชุมปีละ 4 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลให้การขนส่งทางบกเป็นหัวใจสำคัญด้วย และยังทำให้เกิดการไหลเวียนทั้งเศรษฐกิจ การเงิน แรงงาน สินค้า และวัตถุดิบ ซึ่งมองว่าการเปิดเสรีในครั้งนี้จะต้องมีผลกระทบมาสู่ผู้ประกอบการไทย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการในประเทศอาเซียนสามารถขนสินค้าเข้ามาในไทยได้ 2.ผู้ใช้บริการของไทยก็จะข้ามไปขนส่งต่างประเทศแทนที่จะใช้ของไทยเอง 3.ผู้ประกอบการต่างชาติจะเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเพื่อแข่งกับเรา และ 4.บุคลากรอาเซียนด้านขนส่งโลจิสติกส์จะเข้ามาประกอบอาชีพในไทย

แต่อย่างไรก็ดีในผลกระทบนั้นก็ย่อมจะมีโอกาสเช่นกัน โดยก็มองว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเปิดเสรี AEC คือ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องพยายามขยายช่องทางธุรกิจเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการทำอย่างไรให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาใช้บริการของผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจการขนส่งทางบกนั้น การเปิดเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการจากอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทยได้ถึง 70% ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องมาทำการบ้านว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะรุกเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

คุณวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ยังมีอุปสรรคในด้านช่องทางการจำหน่าย และช่องทางกระจายสินค้า ดังนั้น รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนรวมผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีมากถึง 1.1 ล้านล้านบาท แยกเป็นการค้าชายแดนมากถึง 9.18 แสนล้านบาท

ส่วนอุปสรรคการค้าผ่านแดนยังคงมีอยู่โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ควรจะต้องได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล อาทิ ด้านพิธีการศุลกากร โครงข่ายถนน มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปของการจำกัดโควตา รวมไปถึงปัญหาเรื่องแหล่งกำหนดของสินค้าซึ่งรัฐบาลจะต้องศึกษาและเจรจากับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน หากลดอุปสรรคเหล่านี้จะทำให้ไทยสามารถค้าขายผ่านชายแดนได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาทแน่นอน เพราะเร็วๆ นี้บริเวณชายแดนไทยที่มีทั้งหมด 34 แห่ง จะเปิดเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเปิดอยู่ที่ 18 แห่ง

คุณนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าและบริการอาเซียนจะเป็นโอกาสที่สำคัญ ที่จะช่วยส่งให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายช่องทางในการดำเนินธุรกิจ มีลูกค้า-ตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปิด AEC ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรับมือ-ปรับกลยุทธ์เสริมจุดแกร่งและสร้างแต้มต่อทางการแข่งขัน

“ในการดำเนินธุรกิจสำคัญที่สุดคือการรู้เขา รู้เรา รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง พยายามแก้ไขในข้อบกพร่องของตนเอง และต้องศึกษาลูกค้า-รู้จักลูกค้าและรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพ-บริการ ให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุด นอกจากปรับกลยุทธ์ตั้งรับคู่แข่งที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศแล้ว ยังต้องมองโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกด้วย” คุณนพพร กล่าวย้ำ

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือการไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเองและพยายามทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เรียนรู้และศึกษาตลาด รู้ความต้องการของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เชื่อว่าผู้ที่พัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่งคือผู้ที่จะสามารถก้าวผ่านการแข่งขันที่ท้าทายนี้ได้อย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ยังย่ำอยู่กับที่และไม่รู้จักพัฒนาตนเอง สุดท้ายก็จะล้มหายตายจากไปในที่สุด

ผู้ส่งออกถ้าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ได้เห็นโลกกว้าง ได้เห็นการแข่งขันในระดับภูมิภาค ก็จะมีความตื่นตัวรับมืออยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กนั้น ยังน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่เคยเข้าไปแข่งขันในเวทีการค้าระดับประเทศ และมีข้อมูลทางการตลาด ข้อมูลลูกค้าที่ยังไม่มากพอ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายยังเน้นเรื่องการขายมากกว่าการตลาด ที่นับเป็นการให้ความสำคัญที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่มองเรื่องการตลาด เรื่องความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เสมือนเป็นประตูสู่อาเซียน การคมนาคมไปยังประเทศอื่นในอาเซียนสะดวก และเหมาะสำหรับการติดต่อไปยังจีน อินเดีย และญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญ นำโดยอุตสาหรรมประกอบชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม บริการส่งออกสินค้า ศูนย์กลางการค้า จัดหาวัตถุดิบ การท่องเที่ยว และจากรายงานของ Global Competitiveness Report ระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการขนส่ง กระจายสินค้าไปยังประชากรในกลุ่มอาเซียนที่มีมากกว่า 600 ล้านคนหรือ 10% ของประชากรโลก

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply