เส้นทางเชื่อมต่อ ไทย-เมียนมาร์ บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

Need to Know 1

Thailand-Myanmar road connectivity on EWEC

เส้นทางเชื่อมต่อ ไทย-เมียนมาร์ บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมและคณะ อันประกอบด้วยผู้บริหารเทศบาลนครพิษณุโลก นักธุรกิจ และนักวิชาการ รวมทั้งสิ้น 33 คน ได้เดินทางสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ทางถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก นำคณะเดินทางโดย พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธ์ นอกจากนี้คณะเดินทางยังได้รับความกรุณาจากคุณประจวบ สุภิณี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจสู่สากล (อดีตอัครราชฑูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ไทยประจำเมียนมาร์) เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของเมียนมาร์เพื่อให้คณะเดินทางได้เข้าพบและได้ร่วมเดินทางกับคณะในครั้งนี้ด้วย

คณะเดินทางสำรวจเมืองต่างๆ ของประเทศเมียนมาร์ ดังนี้ เมืองเมาะลำไย กรุงย่างกุ้ง และกรุงเนย์ปิดอว์ โดยเดินทางระหว่างวันที่ 16-19 มีนาคม 2557 โดยเป็นการเดินทางโดยรถบนเส้นทางเมียวดี-กอกาเร๊ธ-เมาะลำไย-เนย์ปิดอว์-ย่างกุ้ง และเดินทางกลับจากย่างกุ้งมายังกรุงเทพฯ โดยทางเครื่องบิน รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 4 วัน

การเดินทางครั้งนี้เริ่มจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เวลาประมาณ 07.00 น. ผ่านพิธีการตรวจคนเข้า-ออกเมืองของด่านแม่สอด ของไทย และด่านเมียวดี โดยคณะเดินทางใช้เวลาในการตรวจเอกสาร ณ ด่านแม่สอดไม่นาน แต่ใช้เวลา ณ ด่านแม่สอด ค่อนข้างนาน (ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ถึงจะดำเนินการเสร็จสิ้นทั้ง 33 คน) ทั้งๆ ที่ด่านเมียวดีได้นำระบบเทคโนโยลีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์) เข้ามาใช้แล้ว ดังนั้น คณะฯ สามารถเดินทางออกจากด่านเมียวดีได้ประมาณ 9 โมงเศษๆ เมื่อเริ่มเดินทางผมเริ่มเข้าใจคุณประจวบ สุภิณี ที่ขอให้ทีมงานถ่ายสำเนาหน้าหนังสือเดินทาง (Passport) ของทุกคนจำนวน 3 ชุดไปด้วย เพราะเมื่อเราออกจากด่านพรมแดนเพียง 2 กิโลเมตร คณะเราเจอกับด่านบนเส้นทางที่ขอให้เราตัวแทนของคณะเราลงไปแจ้งรายชื่อและจำนวนที่เดินทางพร้อมให้สำเนาหนังสือเดินทางด้วย ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้สำเนาหนังสือเดินทางตามด่านบนเส้นทางด้วยทั้งๆ ที่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านพรมแดนเมียวดีแล้ว และด่านลักษณะนี้ยังมีอีกหนึ่งแห่งบริเวณเมืองกอกาเร็ธ และในช่วงที่ต้องลงไปดำเนินการรายงาน ณ ด่านบนเส้นทางนั้น ผมได้พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ในประเด็นต่างๆ แต่ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาไทยก็ยังสื่อสารได้ไม่มากนัก และที่สำคัญเมื่อเราสอบถามอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่เคยปฏิบัติอยู่ (ใช้ล่ามมาช่วยสื่อสาร) ทางเจ้าหน้าที่จะขอสอบถามจากหัวหน้าก่อน โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามหรือขออนุญาตก่อนที่จะให้คำตอบหรืออนุญาตให้คณะเราดำเนินการ (นอกจากนี้ผมทราบจากคุณประจวบ สุภิณี ว่าได้ส่งหนังสือขอนำคณะเดินทางบนเส้นทางนี้มาล่วงหน้าแล้ว)

ที่นี้มาถึงจุดสำคัญหรือจุดวิกฤติของเส้นทางนี้ นั่นคือช่วงเมียวดี-กอกาเร็ธ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 30-35 ไมล์ (ประมาณ 50-60 กม.) เป็นช่วงที่เปิดการจราจรสลับวันกัน (นั่นคือวันนี้เปิดจากเมียวดีไปกอกาเร็ธ วันพรุ่งนี้ให้รถเดินทางจากกอกาเร็ธมายังเมียวดี โดยไม่อนุญาตให้รถวิ่งสวนทางกัน) ในวันที่เดินทาง (วันที่ 16 มีนาคม 2557) เป็นวันที่อนุญาตให้เดินรถเฉพาะจากกอกาเร็ธมายังเมียวดี แต่คณะเราได้รับอนุญาตให้เดินทางสวนทางกับรถคันอื่นๆ มีเพียงรถตู้ 4 คัน ของคณะเราเท่านั้นที่เดินรถสวนทาง สภาพเส้นทางจากเมียวดี-กอกาเร็ธ แคบมากและมีความลาดชัน รวมทั้งคดเคี้ยว แต่ระหว่างเส้นทางมีปริมาณรถวิ่งสวนทางมาตลอดทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสาร รถบรรทุกสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ระหว่างทางพบรถบรรทุกสินค้าเครื่องดื่มพลังงานจากไทยจอดอยู่ 2 คัน น่าจะเกิดปัญหาเครื่องยนต์หรือเทคนิคบางประการทำให้ไม่สามารถเดินรถต่อได้ ต้องรออีก 1 วัน ที่เส้นทางเปิดสำหรับการเดินทางจากเมียวดีไปกอกาเร็ธ จึงจะเดินทางต่อได้

แต่ถึงแม้ว่าไม่มีรถวิ่งสวนทางกันแต่หากรถคันใดคันหนึ่งเกิดปัญหาเครื่องยนต์ต้องจอดบนเส้นทางก็จะส่งผลกระทบถึงรถคันอื่นๆ ด้วย ผมสังเกตเห็นธุรกิจล้างรถเกิดขึ้นบนเส้นทางนี้ โดยเกิดขึ้นอย่างมาก เป็นการเดินท่อน้ำออกมารอบนพื้นที่ว่างหน้าที่ดินหรือร้านค้าของตนเอง และมีคนมาล้างรถให้พร้อมฉีดน้ำเข้าบริเวณล้อทุกเส้นของรถรวมถึงเปิดกระโปรงหน้ารถฉีดน้ำด้วย อัตราค่าบริการคันละ 500 จั๊ด (ประมาณเกือบ 20 บาท) คณะเดินทางใช้เวลาเกือบ 6 ชั่วโมง ถึงจะผ่านช่วงวันเวย์(50-60 กม.)ได้ และเมื่อมาถึงกอกาเร็ธ ก่อนเข้าตัวเมืองต้องส่งสำเนาหน้าหนังสือเดินทาง (Passport) ให้กับด่านบนเส้นทางด้วย เราทานอาหารกลางวันมื้อแรกบนแผ่นดินเมียนมาร์เวลาเกือบบ่ายสามโมง

การเดินทางของวันแรกนี้สิ้นสุดที่เมืองเมาะลำไย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง (ระยะทางประมาณ 120-130 กม.) สภาพเส้นทางการเดินทางช่วงนี้ดีกว่าช่วงแรกมาก รถสามารถเดินทางสวนทางกันได้ ก่อนเข้าเมืองเมาะลำไยได้ผ่านแม่น้ำสาละวิน โดยมีสะพานโครงสร้างเหล็กเป็นตัวเชื่อมแผ่นดินสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน บรรยากาศเลียบแม่น้ำสาละวินในเมืองเมาะลำไยจะคล้ายๆ บางปู สมุทรปราการ มีนกนางนวลเป็นจำนวนมากบินไปมาเพื่อรอนักท่องเที่ยวให้อาหาร

จากการพบปะคณะกรรมการหอการค้าเมืองเมาะลำไย ทำให้ทราบว่าเส้นทางเมียวดี-กอกาเร็ธ กำลังดำเนินการก่อสร้างเส้นทางใหม่อยู่ โดยเป็นเส้นทางขนาด 2 เลน รถสามารถวิ่งสวนกันได้ (เป็นเส้นทางทางรัฐบาลให้เกิดสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง) และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 นอกจากนี้ สินค้าส่วนใหญ่ที่บริโภค/อุปโภค ณ เมืองเมาะลำไย ส่วนใหญ่มากจากประเทศไทย โดยใช้เส้นทางแม่สอด-กอกาเร็ธ-เมาะลำไย มีบางส่วนไปใช้เส้นทางทะเลจากระนอง-เกาะสอง-เมาะลำไย อุตสาหกรรมที่หอการค้าเมืองเมาะลำไยอยากให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนคือ อุตสาหกรรมยางพารา นอกจากนั้นสินค้าวัสดุก่อสร้างยังเป็นที่ต้องการของพื้นที่เมืองเมาะลำไย เนื่องจากการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผมได้มีโอกาสเดินสำรวจตลาดและได้พูดคุยกับเจ้าของร้านขายส่งรองเท้าแฟชั่น ทราบว่าสินค้าในร้านเกินครึ่งมาจากประเทศไทย โดยเจ้าของร้านจะเดินทางเข้าไปเลือกสินค้า ณ ตลาดสำเพ็ง ตลาดประตูน้ำ หรือใบหยก ทุกเดือน และมีบริการขนส่งสินค้าในรูปแบบกระสอบจากกรุงเทพมายังเมาะลำไย อัตราค่าบริการรวมประมาณ 800-1,500 บาทต่อกระสอบ ขึ้นอยู่กับขนาดของกระสอบ ใช้เวลาในการขนส่งประมาณ 1 สัปดาห์

เส้นทางการเดินทางจากเมืองเมาะลำไยไปยังเนย์ปิดอว์ ระยะทางประมาณ 500 กม.) โดยเมื่อออกจากเมืองเมาะลำไยต้องใช้สะพานข้ามแม่น้ำสาลวินอีกแห่ง (เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวถึง 3 กม.) สภาพเส้นทางจากเมืองเมาะลำไยถึงเมืองหงสา (Bago) เป็นถนนระยะทางประมาณ 200 กม.ขนาด 2 เลนที่พร้อมใช้งาน โดยต้องข้ามแม่น้ำสะโตง เมื่อถึงเมืองหงสาก็จะเข้าสู่เส้นทางขนาดอย่างน้อย 4 เลน สภาพเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นทางด่วนระหว่างย่างกุ้ง-เนย์ปิดอว์-มัณฑะเลย์ (ระยะทางจากหงสา-เนย์ปิดอว์ประมาณ 300 กม.) ใช้เวลาในการเดินทางจากเมืองเมาะลำไยถึงกรุงเนย์ปิดอว์ประมาณ 6 ชั่วโมงกว่า

จากการเข้าพบอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาร์ ได้รับทราบถึงการให้ความสำคัญกับด่านพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์ นอกจากด่านพรมแดนแม่สาย และด่านพรมแดนแม่สอดแล้ว รัฐบาลเมียนมาร์ ยังให้ความสำคัญกับด่านพรมแดนพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และด่านพรมแดนสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยได้สอบถามทางคณะฯ ว่า ทางรัฐบาลไทยจะเปิดด่านพรมแดนสิงขรให้เป็นด่านถาวรเมื่อไหร่ เพราะทางรัฐบาลเมียนมาร์ได้เปิดด่านตรงข้ามสิงขรเป็นด่านถาวรแล้ว นอกจากนั้นยังได้ย้ำว่าเส้นทางใหม่ระหว่างเมียวดี-กอกาเร็ธ จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 อุตสาหกรรมที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนได้แก่ การก่อสร้าง เทคโนโลยีสารสนเทศ ยางพารา เป็นต้น

นอกจากนั้นได้เยี่ยมชมสภาพกรุงเนย์ปิดอว์ พบว่ามีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้อย่างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า โดยเฉพาะถนนในกรุงเนย์ปิดอว์มีความกว้างอย่างน้อย 4 เลน แต่หน้าอาคารรัฐสภาและทำเนียบประธานาธิบดีถนนมีความกว้าง 20 เลน (โดยไม่มีเกาะกลางบนนถนนเส้นนี้) ในขณะที่สภาพการค้ายังไม่คึกคักเท่าที่ควร การค้ายังใช้กรุงย่างกุ้งเป็นหลักอยู่

คณะเดินทางจากกรุงเนย์ปิดอว์มายังกรุงย่างกุ้ง บนเส้นทางด่วนระยะทางประมาณ 400 กม. ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ระหว่างทางมีจุดพักรถขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนหลักไมล์ที่ 115 (ประมาณครึ่งทางระหว่างกรุงย่างกุ้งและกรุงเนย์ปิดอว์) ในพื้นที่จุดพักรถมีบริการอาหาร สถานีบริการน้ำมัน ห้องน้ำ และอินเตอร์เน็ตฟรี

จากการประชุมร่วมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมาร์ (Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry: UMFCCI) ทราบว่าทางภาคธุรกิจเอกชนกำลังผลักดันการขนส่งสินค้าข้ามแดนด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ณ ชายแดน โดยทาง UMFCCI กำลังผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาร์เห็นชอบกับการขนส่งข้ามแดนด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งพิกัดน้ำหนักบรรทุก และการตรวจสินค้า ณ ด่านพรมแดนโดยไม่เปิดตู้ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับด่านพรมแดนที่เกิดขึ้นใหม่ 2 แห่ง (ด่านพรมแดนพุน้ำร้อน และด่านพรมแดนสิงขร)

คณะฯ ยังได้มีโอกาสเข้าพบท่านเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง (คุณพิษณุ สุวรรณะชฎ) โดยท่านได้ให้แนวคิดและข้อมูลที่เกี่ยวกับเมียนมาร์ที่น่าสนใจ อาทิเช่น นักลงทุนไทย อย่าช้าที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างไทย-เมียนมาร์ในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่พึ่งเส้นทางแม่สอด-เมาะลำไย-ย่างกุ้ง เท่านั้น แต่ต่อไปจะใช้เส้นทางพุน้ำร้อน-ทวาย เส้นทางสิงขร-มะริด ขึ้นอยู่ว่าสินค้าที่จะเคลื่อนย้ายมีปลายทางที่ไหน และแรงงานในอนาคตอาจจะมีความเป็นไปได้ที่แรงงานไทยจะมาใช้แรงงานในแผ่นดินเมียนมาร์ (ไม่ใช่แรงงานเมียนมาร์เข้ามาทำงานในแผ่นดินไทยเท่านั้น)

ผมกล้าที่จะกล่าวว่าเมียนมาร์มีศักยภาพและเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ และกำลังเป็นประเทศเป้าหมายของหลายๆ ประเทศในการเข้ามาลงทุน แต่โอกาสดังกล่าวนั้นมีสำหรับผู้ที่มีความพร้อมเท่านั้น และความพร้อมที่ผมกล่าวถึงได้แก่ ภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมาร์) กฏหมาย (ทั้งกฏหมายการลงทุนและกฏหมายบริษัท) ความมุ่งมั่น เครือข่ายหรือคู่ค้าทางธุรกิจ เป็นต้น

โอกาสสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยนั้น ยังคงเป็นความท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเตรียมความพร้อมในการรองรับโอกาสดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ส่งออก หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และทุกหน่วยงานตลอดโซ่อุปทาน

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

มหาวิทยาลัยนเรศวร

boonsubp@nu.ac.th และ boonsub.pa@gmail.com

You can leave a response, or trackback from your own site.

12 Responses to “เส้นทางเชื่อมต่อ ไทย-เมียนมาร์ บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก”

  1. craig says:

    buffaloes@congolese.dilys” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî!!…

  2. larry says:

    scald@dodington.guru” rel=”nofollow”>.…

    ñýíêñ çà èíôó!…

  3. Tony says:

    inventing@buck.isolated” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî!!…

  4. Andy says:

    arguments@masts.panaceas” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!…

  5. douglas says:

    lancret@thousands.incessant” rel=”nofollow”>.…

    thank you!…

  6. paul says:

    fistoularis@sx.twentieth” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðþ!…

  7. Donnie says:

    precariously@poignancy.donna” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî çà èíôó!…

  8. Cameron says:

    surgeon@writing.swap” rel=”nofollow”>.…

    hello!…

  9. Austin says:

    satisfied@exclusion.gargantuan” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!…

  10. travis says:

    furtively@jurists.ologies” rel=”nofollow”>.…

    tnx….

  11. เส้นทางเชื่อมต่อ ไทย-เมียนมาร์ บนแนวระเบียภsays:

    Ladonna Schiesher…

    I found a great……

  12. เส้นทางเชื่อมต่อ ไทย-เมียนมาร์ บนแนวระเบียภsays:

    Anonymous Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply