ปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี

Logistics Knowledge

LOGISTICS FACTORS AFECTING THE NUMBER OF TOURISTS TRAVELLING TO  UBONRATCHATHANI  PROVINCE

ปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีอิทธิพลต่อ

จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี

สุบรรณ ศรีจันทร์รัตน์

นับได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเจริญก้าวหน้าพัฒนามาเป็นธุรกิจระหว่างชาติที่จะต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการแข่งขันและปรับปรุงบริการด้าน การท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้นเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนและต้องโดดเด่นไปจากคู่แข่งขันเพื่อให้นักท่องเที่ยวสนใจและประทับใจในผลิตภัณฑ์ของตนมากที่สุด (นิคม จารุมณี.2536 : 33)

นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและพยายามปรับผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นที่พักลักษณะการนำเที่ยวประเภทสถานที่ท่องเที่ยวและรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว แต่ละกลุ่มให้ถูกต้องมากที่สุด (นาถฤดี มณีเนตร. 2546 : 58-67) นอกจากการติดตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวแล้วยังต้องศึกษาเกี่ยวกับสิ่งกระตุ้นความต้องการในการท่องเที่ยวคือสิ่งจูงใจต่างๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวหรือช่วงเวลาที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเที่ยวได้สิ่งต่างๆที่ทำให้ความต้องการถูกระงับไปหรือสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกต่อการเดินทางลดน้อยลงเช่นปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมหรือปัจจัยทางจิตวิทยาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจในความต้องการที่จะเดินทางหรือวางรูปแบบที่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวหรือเป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบพฤติกรรมในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวให้มีความแตกต่างกันซึ่งคนเราทุกคนเกิดมาย่อมมีความต้องการไม่เหมือนกัน

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 16,113 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ มีประชากร 1,816,057 คน (ปี 2554) มากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทาง 428 กิโลเมตร คือติดกับแขวงสะหวันนะเขตและแขวงจำปาสัก ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นระยะทาง 361 กิโลเมตร และติดกับจังหวัดเขาพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นระยะทาง 67 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 627 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน

อุบลราชธานีเป็นเมื่อใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายโดยมีแหล่งโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และวัดสำคัญๆ เช่น ภาพเขียนสียุคโบราณที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม วัดป่านานาชาติ วัดหนองป่าพง วัดทุ่งศรีเมือง วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดหนองบัว และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ สามพันโบก น้ำตกสร้อยสวรรค์ และแม่น้ำสองสี ซึ่งเป็นรอยบรรจบของแม่น้ำสายสำคัญสองสาย คือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง เป็นต้น

สถานการณ์ท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2555 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในอัตราร้อยละ 65.25 โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มสูงมากอยู่ที่ร้อยละ 88.24

การที่จังหวัดอุบลราชธานีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี  มีปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ ที่จัดเป็นประตูท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปสู่ประเทศลาว อีกทั้งรัฐบาลลาวได้บริการ Visa on Arrival ตามด่านแขวงชายแดน ซึ่งสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นอย่างมาก ยิ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเข้า-ออกทางด่านชายแดนช่องเม็กเพิ่มขึ้น และยังได้รับปัจจัยส่งเสริม หลายประการ อาทิ การเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำ มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้นการมีเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภายในภูมิภาคเดียวกัน ได้แก่ เส้นทางเลียบโขงเยือนอีสาน อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-มุกดาหาร-นครพนม เส้นทางวัฒนธรรมและหัตถกรรมพื้นบ้านอีสาน อุบลราชธานี-ยโสธร-อำนาจเจริญ

และเส้นทางไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ริมแม่น้ำโขงการส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีวันสำคัญต่างๆ เช่น งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา งานประเพณีไหลเรือไฟ การขยายตัวของจำนวนโรงแรมรีสอร์ท และห้องพักจำนวนบริษัท นำเที่ยวและแพ็คเกจนำเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการสนับสนุนการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีให้เติบโตเพิ่มขึ้น แต่ถึงจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น แต่ในช่วงเวลาต่างๆ ในแต่ละปีก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยที่อาจจะไม่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันที่ผันผวนตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้รายได้ของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน

การศึกษาปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งปัจจัยที่ส่งเสริมและไม่ส่งเสริมให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาช่วยในการวางแผน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและของประเทศไทยให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศต่อไปในอนาคต

การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมเป็น แบบทุติยภูมิ (Secondary Data) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วง 10 ปี (2545-2554) ย้อนหลัง โดยเป็นข้อมูลในแต่ละไตรมาส จำนวน 40 ชุดข้อมูลในแต่ละ ตัวแปร

ข้อมูลปัจจัยตัวแปรต่างๆ ได้แก่ จำนวนเที่ยวบิน, จำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร, จำนวนห้องพัก, ราคาน้ำมันเบนซิน, ราคาน้ำมันดีเซล, อัตราเงินเฟ้อ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), จำนวนงานเทศกาล Event, จำนวนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่จดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่งที่จดทะเบียนใหม่ และทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t เทียบกับในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาสต่อปัจจัยจำนวนทรัพยากรที่มีในจังหวัดอุบลราชธานี คือ จำนวนเที่ยวบิน จำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร และจำนวนห้องพัก

แบบจำลองที่ใช้ในการศึกษา

ในการศึกษาครั้งนี้จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Method) โดยวิเคราะห์

ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี โดยการใช้วิเคราะห์ความถดถอยอย่างง่าย (Simple Regression Analysis)

การหาความสัมพันธ์

แนวทางการศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วยการประมาณค่าและทดสอบด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติเพื่อศึกษาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับจำนวนเที่ยวบิน, จำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร, จำนวนห้องพัก, ราคาน้ำมันเบนซิน, ราคาน้ำมันดีเซล, อัตราเงินเฟ้อ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP), จำนวนงานเทศกาล Event, จำนวนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่จดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่งที่จดทะเบียนใหม่

จากนั้น วิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปีก่อนหน้า (Yt-1) เป็นรายไตรมาสต่อไตรมาส ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในปี t (Yt) ต่อปัจจัยจานวนทรัพยากรที่มีในจังหวัดอุบลราชธานี (Xi) ซึ่ง จากปัจจัยทั้ง 10 ข้อ จะหมายถึง จำนวนเที่ยวบิน (X1) จำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร (X2) และจำนวนห้องพัก (X3) ซึ่งเป็นปัจจัยทรัพยากรที่มีหน้าที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มายังจังหวัดอุบลราชธานีโดยตรง

การวิเคราะห์ข้อมูล

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Method) เป็นการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเพื่อดูความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยสมการถดถอยอย่างง่าย (Simple Regression Analysis) และเป็นการทดสอบสมมุติฐานการวิจัยสมการ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จในการประมวลผล (Microsoft Exel) และนำข้อมูลทุติยภูมิ ตั้งแต่ปี 2545 – 2554 มาวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ R2 , Adjust R2 , T-Statistic และ F-Statistic

จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีด้วยวิธีสมการถดถอย (Simple Regression) ระหว่างตัวแปรอิสระทีละตัวกับตัวแปรตามจนครบทั้ง 10 ตัวแปรสามารถสรุปได้ว่าปัจจัยอิสระที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีมี 2 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนเที่ยวบิน (X1) จำนวนห้องพัก (X3) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)(X7) ตามลำดับ

ดังนั้น สมการถดถอยอย่างง่ายที่ได้คือ

จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี = 146,282.92+418.67 (จำนวนเที่ยวบิน)

จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี = 34,627.42+511.20 (จำนวนห้องพัก)

จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี = -98,493.14+0.41 (ผลิตภัณฑ์มวลรวม

ภายใน ประเทศ (GDP))

ความหมายของค่าสัมประสิทธิ์ความถดถอยเชิงส่วนสามารถอธิบายได้ดังนี้

1. ถ้าจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 1 เที่ยวจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 418 คน

2. ถ้าจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้น 1 ห้องจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 511 คน

3. ถ้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาท จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 0.41 คน หรือ เพิ่มขึ้น 41 คนต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP 100 ล้านบาท

จากนั้น วิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (Yt-1) ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อปัจจัยจานวนทรัพยากรที่มีในจังหวัดอุบลราชธานี (Xi) คือ จำนวนเที่ยวบิน (X1) จำนวนเที่ยวรถโดยสาร (X2) และจำนวนห้องพัก (X3)

อภิปรายผลการวิจัย

สมมุติฐานข้อที่ 1 ตัวแปรอิสระจำนวนเที่ยวบิน (X1) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนเที่ยวบิน (X1) มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 2 ตัวแปรอิสระจำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร (X2) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนเที่ยวรถยนต์โดยสาร (X2) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 3 ตัวแปรอิสระจำนวนห้องพัก (X3) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนห้องพัก (X3) มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 4 ตัวแปรอิสระราคาน้ำมันเบนซิน (X4) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการราคาน้ำมันเบนซิน (X4) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 5 ตัวแปรอิสระราคาน้ำมันดีเซล (X5) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการราคาน้ำมันดีเซล (X5) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้ อที่ 6 ตัวแปรอิสระอัตราเงินเฟ้อ (X6) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการอัตราเงินเฟ้อ (X6) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐำนข้อที่ 7 ตัวแปรอิสระผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) (X7) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) (X7) มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 8 ตัวแปรอิสระจำนวนเทศกาล Event (X8) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนเทศกาล Event (X8) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 9 ตัวแปรอิสระจำนวนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่จดทะเบียนใหม่ (X9) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่จดทะเบียนใหม่ (X9) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 10 ตัวแปรอิสระจำนวนรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง ที่จดทะเบียนใหม่ (X10) มีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y)

ผลการศึกษา จากสมการจำนวนรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง ที่จดทะเบียนใหม่ (X10) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี (Y) ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีด้วยวิธีสมการถดถอย (Simple Regression) ระหว่างตัวแปรอิสระทีละตัวกับตัวแปรตามจนครบทั้ง 10 ตัวแปร สามารถสรุปได้ว่าปัจจัยอิสระที่มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีมี 3 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนเที่ยวบิน (X1) จำนวนห้องพัก (X3) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)(X7) ตามลำดับ

และจากการวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt)เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปีก่อนหน้า (Yt-1) เป็นรายไตรมาสต่อไตรมาส ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในปี t (Yt) ต่อปัจจัยจำนวนทรัพยากรที่มีในจังหวัดอุบลราชธานี (Xi) คือ จำนวนเที่ยวบิน (X1) จำนวนเที่ยวรถโดยสาร (X2) และจำนวนห้องพัก (X3) ได้ผลการวิเคราะห์ดังนี้

สมมุติฐานข้อที่ 11 ตัวแปรอิสระอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อจำนวนเที่ยวบิน (X1) มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1

ผลการศึกษา จากสมการอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อจำนวนเที่ยวบิน (X1) ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1 ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 12 ตัวแปรอิสระอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อจำนวนเที่ยวรถโดยสาร (X2) มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1

ผลการศึกษา จากสมการอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อจำนวนเที่ยวเที่ยวรถโดยสาร (X2) ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1 ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

สมมุติฐานข้อที่ 13 ตัวแปรอิสระอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส(Yt) ต่อจำนวนห้องพัก (X3) มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1

ผลการศึกษา จากสมการอัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาส (Yt) ต่อจำนวนห้องพัก (X3) ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส t (Yt) เทียบกับในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า Yt-1 ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทั้ง 10 ข้อจะพบว่า การเดินทางทางเครื่องบินที่มีความสะดวกสบาย ใช้ระยะเวลาที่รวดเร็วในการเดินทางนั้น มีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีในทิศทางเดียวกัน คือจำนวนสายการบินที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ด้วยเช่นกัน และจากการวิเคราะห์อัตราความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวต่อจำนวนเที่ยวบินว่าส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาสโดยถึงแม้ว่าผลทางการคำนวณตามสมการทางสถิติจะออกมาว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ก็ยังพอจะสามารถอธิบายได้ว่าถ้าลดอัตราความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่อเที่ยวบินลงจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าถ้ามีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะเป็นการลดความหนาแน่นลงของการเดินทาง ก็จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจองตั๋ว เครื่องบินเพื่อเดินทางได้ง่ายขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการ เกิดการตัดสินใจในการมาท่องเที่ยวได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นการสอดคล้องกันของการวิเคราะห์ทั้ง 2 ส่วน โดยข้อมูลในส่วนนี้ ทางสายการบินสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินเพื่อลดความหนาแน่นของผู้โดยสาร เป็นการกระตุ้นให้คนเกิดความต้องการอยากจะท่องเที่ยวและใช้บริการสายการบินต่างๆ

ในส่วนของผู้ประกอบการหรือผู้ที่ต้องการจะประกอบกิจการโรงแรม ห้องพัก ในจังหวัดอุบลราชธานีสามารถนำข้อมูลในการวิจัยนี้ไปพิจารณาเพิ่มจำนวนห้องพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาก

ขึ้น ตามจำนวนห้องพักที่สามารถรองรับได้ เป็นไปตามผลการวิจัยที่แสดงให้ เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น ไปในมีทิศทางเดียวกันกับจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับการวิเคราะห์อัตราความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนห้องพัก ซึ่งถึงแม้จะไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละไตรมาสแต่สมการก็พอจะอธิบายได้เช่นกันว่าถ้าหากจำนวนห้องพักมาก ความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่อห้องพักน้อย มีการแข่งขันกันทั้ง ทางด้านบริการและราคา กลับจะส่งเสริมให้คนตัดสินใจมาท่องเที่ยวได้ง่ายยิ่งขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่จะกลับเข้าสู่ผู้ประกอบการอย่างคุ้มค่าต่อการลงทุนในการเพิ่มจำนวนห้องพัก

ทางด้านภาพรวมของการท่องเที่ยวจะเห็นได้จากผลการวิจัยอีกข้อหนึ่งว่า หากประชากรมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลคนตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในต่างจังหวัดให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจที่ได้ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการก็มีรายได้ดี เป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่มีอยู่มากมาย

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “ปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี”

  1. ปัจจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีอิทธิพลต่อจำภsays:

    Buy Proxies With Bitcoin…

    I found a great……

Leave a Reply