“นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่

CEO Vision

“นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่

เร่งยกระดับ-ผลักดันมาตรฐานโลจิสติกส์

“นพพร เทพสิทธา” นั่งประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่ ชูนโยบายเน้นชัดในการช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกและโลจิสติกส์ ตั้งเป้าเรียกร้องภาครัฐแก้ไขปัญหาการส่งออก พร้อมเร่งยกระดับ-ผลักดันมาตรฐานโลจิสติกส์

จากภาวะการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ผนวกกับกระแสการเปิดเสรีทางการค้า AEC ที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามอง พร้อมเตรียมติดอาวุธรับมือการแข่งขันคู่แข่งจากนานาประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ไทย รวมทั้งผู้ส่งออกไทย ที่จะเตรียมตัววางกลยุทธ์รับมือผู้ให้บริการจากต่างชาติที่จะขยายฐานเข้ามาในประเทศไทย และเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ให้บริการไทยจะขยายฐานเปิดให้บริการยังประเทศอาเซียนได้

ในเรื่องนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการและในฐานะ “ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย” คนใหม่ คุณนพพร เทพสิทธา ได้แสดงทรรศนะในเรื่องนี้ว่าจากการที่ประเทศไทยได้วางเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของ AEC ดังนั้น ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ผลิตและผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ของไทย โดยจัดตั้งคณะทำงานมาตรฐานทางด้านโลจิสติกส์ขึ้นมาเพื่อระดมความคิดเห็นผู้จากเชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่างๆ และนำมาจัดตั้งแนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานทางด้านโลจิสติกส์ โดยจะนำ Best Practice องค์กรที่ประสบความสำเร็จมาเป็นโมเดล

ทั้งนี้ คณะทำงานมาตรฐานโลจิสติกส์ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของอุปกรณ์ กระบวนการ บุคลากร และการให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยในเบื้องต้นคณะทำงานฯ จะมีการดำเนินการพิจารณามาตรฐานที่สำคัญต่อผู้ประกอบการส่งออก โดยในเบื้องต้นคณะทำงานฯ จะพิจารณามาตรฐานที่สำคัญต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทย จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานการให้บริการของสายเรือ (Liner) และการสร้างมาตรฐานการให้บริการและความรับผิดของ Freight Forwarder สำหรับการใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, การผลักดันให้มีการจัดทำ Service Contract ตามสัญญามาตรฐาน SERVICECON ที่พัฒนาโดย BIMCO

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเร่งรัดออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับพาเลทพลาสติกหมุนเวียน,การจัดทำมาตรฐานกระบวนการและโครงสร้างต้นทุนการส่งออกของไทย (Export Cost Structure),มาตรฐานกระบวนการทดสอบสินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออก อาทิ บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารเพื่อการส่งออก เป็นต้น,มาตรฐานโลจิสติกส์กับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) โดยการใช้ “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA)” ในวิเคราะห์,การกำหนดมาตรฐาน Key Performance Indicator (KPI) ของโลจิสติกส์ภาคการเกษตร (อ้างอิงตาม Logistics Services Information Center: ซึ่งมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ใน 9 กิจกรรม 3 มิติ คือ ต้นทุน, เวลา และความน่าเชื่อถือ) และมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์

เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยรับมือ AEC

การเตรียมพร้อมรับมือก้าวสู่การเปิดเสรีทางการค้า AEC ในเรื่องนี้ คุณนพพร กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ จะใช้ช่องทางที่เรียกว่า Shippers’ Council หรือสภาผู้ส่งออกฯ ของแต่ละประเทศใน AEC ที่ตอนนี้ยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งเราจะจับมือกับสภาผู้ส่งออกฯ ของอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างมาตรฐาน และนำผู้ส่งออกของไทยและอินโดนีเซียนมาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งในส่วนของ Import และ Export เพื่อทำการค้าร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ร่วมกันดูว่าจะทำอย่างไรให้การทำการค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ-ไม่ติดขัดปัญหา ที่เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นส่วนผลักดันและยกระดับมาตรฐานการส่งออกและโลจิสติกส์

ทั้งนี้ คุณนพพร กล่าวว่า หากมีการจัดทำมาตรฐานโลจิสติกส์ในระดับสากลที่ชัดเจน เชื่อว่าจะช่วยยกระดับและเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้ผู้ให้บริการมีมาตรฐานสามารถสู้คู่แข่งจากนานาประเทศได้ นอกจากนี้ภาครัฐต้องปรับเรื่องแนวทางการทำงานให้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง พร้อมรองรับก่อนก้าวสู่การเปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบ

การเปิด AEC มองว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ยาก นอกจากนี้ ข้อสำคัญคือปัญหาแนวโน้มในอนาคตเทรนด์การค้าจะไปในทาง Modern Trade ซึ่งการขนส่งในอนาคตจะเป็นแบบ Modern Trade ซึ่งเป็นห่วงว่าในที่สุดผู้ประกอบการโชว์ห่วยจะล้มหายตายจากไป หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งปรับตัวหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน นับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญ ที่เป็นตัวเสริมศักยภาพและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันเทียบเท่าผู้ให้บริการต่างชาติ และสำคัญคือการรวมตัวกันเพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของตัวเอง

ด้านคุณไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นเรื่องการสร้างมาตรฐานโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้เทียบเท่าต่างชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาอย่างจริงจัง-เป็นรูปธรรม และมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพราะทุกวันนี้ผู้ส่งออกไทยเริ่มอยู่ยาก ซึ่งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความสำคัญ-ส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกอย่างเร่งด่วน

“สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริม-สนับสนุนคือ ต้องการให้มีความเข้มแข็งของแนวนโยบายที่ต่อเนื่องของภาครัฐ และการมีกฎหมายต้องสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการไทย พร้อมทั้งมีการสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เป็นแนวทางให้โลจิสติกส์ไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน” คุณไพบูลย์ กล่าว

คุณไพบูลย์ กล่าวว่า กฎระเบียบที่ออกมาโดยหน่วยงานภาครัฐ ที่จะออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง รัฐบาลต้องเรียงขีดความจำเป็นเร่งด่วนว่า เรื่องใดควรจะพัฒนาก่อนหลัง ซึ่งรัฐบาลต้องเรียงลำดับความสำคัญว่าจะให้เรื่องใดเป็นตัวนำ จะให้เศรษฐกิจ เรื่องการเมือง หรือสังคม เป็นตัวนำที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของคุณไพบูลย์ มองว่า ควรจะให้ความสำคัญกับทั้งสามด้านเท่ากัน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็งในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

การผลักดันเรื่องมาตรฐานโลจิสติกส์ หากทำได้สำเร็จจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งอย่างแน่นอน นอกจากนี้ รัฐบาลที่เป็นหัวเรือหลักควรจะหันกลับมาให้ความสำคัญเรื่องโลจิสติกส์และเร่งผลักดันเป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะเป็นเกราะกำบัง-เสริมจุดแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการไทยรับมือ AEC ได้เป็นอย่างดี

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to ““นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่”

  1. “นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่ | Esp says:

    Where To Buy Proxies…

    I found a great……

  2. “นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งออกฯ คนใหม่ | Esp says:

    Amazing Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply