การเชื่อมโยง

Need to know 2

การเชื่อมโยง

สุวัฒน์ จรรยาพูน

อาจารย์สาขาวิชาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ไปได้ยินการสัมภาษณ์ “เต๋อ ฉันทวิทย์” พระเอกร้อยล้าน และผู้เขียนบทภาพยนต์พันล้าน ถึงเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จ นอกจากทุ่มเท ตั้งใจแล้วยังได้ยินมาอีก 1 คำ ก็คือ ต้องรู้จัก “เชื่อมโยง” เรื่องราวที่หลากหลายและแตกต่างกัน ให้สอดคล้องไหลลื่น ถ้าความต่อเนื่องนี้ไม่ราบเรียบ หนังก็ดูไม่สนุก เกิดความสงสัยและขัดแย้งในใจของผู้ชม ที่สำคัญผมว่าละครทีวีของบ้านเราหลายๆ เรื่องลืมความเชื่อมโยงและความเป็นเหตุเป็นผลนี้ไป โดยคิดกันไปเองว่าผู้ชมไม่ว่าอะไร และเรตติ้งก็ยังเปรี้ยงป้าง แต่ผมเชื่อว่าผู้บริโภคจะชื่นชอบมากกว่านี้หากผู้ผลิตสนใจการเชื่อมโยงเรื่องราวให้ไหลลื่น

ซึ่งก็เทียบได้กับการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่า “โซ่อุปทาน” การเชื่อมโยงนี้หากทำได้ดีการทำงานก็มีประสิทธิภาพ และถ้าเกิดความไม่ต่อเนื่องขึ้นก็จะมีปัญหาในการทำงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะลุกลามไปถึงกระบวนการอื่นๆ ได้ ส่งผลให้คู่ค้ารู้สึกไม่สนุกกับการร่วมทำธุรกิจกับเรา

ก่อนที่จะร้อยเรื่องราวเพื่อเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกันนั้นนักธุรกิจเราต้องเข้าใจลูกค้าก่อน ว่าลูกค้าคือใคร ต้องการอะไร ซึ่งอาจารย์ผมมักบอกเสมอว่าให้ “คิดแบบลูกค้า” ก็จะได้คำตอบ ในรายละเอียดส่วนนี้มักจะถูกมองข้ามไปในการดำเนินธุรกิจ หรือการแก้ปัญหาของธุรกิจ โดยเรามักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า เนื่องจากปัญหาเฉพาะหน้ามีมากมายแก้ไม่ไหวต้องเลือกแก้ทีละประเด็น (บริษัทญี่ปุ่นเสนอให้ทำ “ไคเซ็น” หรือ “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” เพื่อลดปัญหาเฉพาะหน้าลง)

น่าจะโชคดีที่นักธุรกิจมีสัญชาตญาณในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่บ้างแล้ว กระบวนการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จึงมาถูกทาง แต่หากสัญชาตญาณนี้ถูกบดบัง หรือหลงประเด็น ความเสียหายของธุรกิจก็อาจจะรุนแรงได้ การฝึกคิดแบบลูกค้าอยู่เสมอจึงเป็นการ “เตือนสติ” และ “ฝึกให้ทบทวน” เพื่อให้วิธีการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการดำเนินการมีความเหมาะสมที่สุด ในช่วงเวลานั้น และต้องไม่ลืมว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยน ความเหมาะสมก็จะเปลี่ยน วิธีการดำเนินการจึงไม่ควรหยุดนิ่ง จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา โดยสิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ “งิธีการคิดแบบลูกค้า”

เมื่อเข้าใจลูกค้าแล้วส่วนต่อมาก็คือ “การเข้าใจในทุกขั้นตอน” ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จึงจะสามารถจัดการความเชื่อมโยงนี้ให้เกิดความไหลลื่นอย่างต่องเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ส่วนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ และความรู้ น่าเสียดายที่หลักสูตรการศึกษาในยุคปัจจุบันฝึกให้เราคิดเฉพาะส่วนก่อนองค์รวม ที่สำคัญยังมุ่งเน้นให้คิดลึกขึ้นเรื่อยๆ จนละเลยภาพใหญ่ (ทั้งๆ ที่จิตรกรที่ยิ่งใหญ่ในยุคก่อนก็คือวิศวกร และสถาปนิก) เห็นได้ชัดจากภาควิชาของแต่ละคณะ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จนอาจมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเพียงด้านเดียว ตามภาษิตสอนใจ ของท่านพระยาศรีสุนทรโวหารที่ว่า

“อันความรู้              รู้กระจ่าง                                เพียงอย่างเดียว

แต่ให้เชี่ยว               ชาญเถิด                 คงเกิดผล

อาจจะชัก                                เชิดชู                       ฟูสกนธ์

ถึงคนจน                  พงศ์ไพร่                  คงได้ดี”

ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นเป็นสิ่งสมควร แต่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องรวมทั้งหมด เพื่อที่จะดึงความเชี่ยวชาญนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลักสูตรการศึกษาจึงต้องไม่ลืมในส่วนของการร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนด้วย

หลังจากทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด เทคนิคการเชื่อมโยง ร้อยเรื่องราวจึงตามมาเพื่อสร้างความสอดคล้องและความเป็นหนึ่งเดียว การเชื่อมโยงนี้มีหลายรูปแบบให้เลือก ก็เหมือนการเชื่อมประโยคแหละครับ หากใครเป็น “ผู้รวยคำ” ผู้นั้นก็ย่อมสร้างสรรค์ประโยคได้หลากหลายและไพเราะ แต่ถ้ามีคำน้อย เรื่องราวที่สร้างขึ้นก็ไม่สนุกและน่าเบื่อ บางครั้งก็เกิดการสะดุดไม่ไหลลื่น

ในโรงงานคัดแยกขนาดผลส้ม จะพบว่ามีเครื่องคัดแยกผลส้มที่แตกต่างกันไปมีทั้งแบบเครื่องคัดขนาดแบบชุดตะแกรงหมุน ที่เจาะขนาดต่างๆ เรียงจากเล็กไปใหญ่ ซึ่งส้มผลใหญ่ก็จะลงช่องเล็กไม่ได้ถูกส่งไปช่องถัดไป แต่ผมชอบเครื่องที่คิดจากนักศึกษามากกว่า เพราะเป็นรางยาวมีช่องตรงกลาง ช่องนั้นมีขนาดแคบไปหากว้าง ส้มผลเล็กจะหล่นก่อน ส่วนส้มผลใหญ่จะหล่นสุดท้าย ใช้ประโยชน์จากแรงดึงดูดของโลกได้ ผมพอหาภาพตัวอย่างได้ตามนี้ครับ

การเชื่อมโยงของเครื่องคัดแยกก็มีข้อดีเสียแตกต่างกัน และก็จะมีรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมชมเกือบทุกปี และก็มีเรื่องราวใหม่ๆ ให้ติดตามอยู่เสมอ ก็คือ โรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้า จากเดิมที่ผมเคยไปเยี่ยมชม มีรอบเวลาการผลิตประมาณ 3.5 นาทีต่อคัน ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 1 นาทีต่อคัน การเชื่อมโยงของกระบวนการถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยใช้หลักการที่ว่าต้องไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ในกระบวนการหนึ่งที่พนักงานต้องก้มลงเพื่อทำงาน ได้รับการเพิ่มเทคนิคเล็กน้อยด้วยลูกเบี้ยว มีหลักง่ายๆ ว่า เมื่อรถเคลื่อนไปในตำแหน่งที่ต้องก้ม ลูกเบี้ยวจะถูกสะกิดหมุนให้รถยกสูงขึ้น โดยไม่ต้องใช้ไฮโดรลิก ผมแนบรูปลูกเบี้ยวในรถยนต์มาใช้ประกอบเพื่อความเข้าใจครับ

ลูกเบี้ยวช่วยยกรถให้สูงขึ้น โดยไม่ใช้พลังงานเพิ่มเติม ทำให้พนักงานทำงานได้สะดวกไม่ปวดเมื่อย ส่งผลให้ทำงานได้เร็วขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่พบเห็นและอยากเล่าให้ฟังก็คือ ในการส่งล้อรถเข้าสายพานการผลิตเพื่อประกอบ เดิมพนักงานจะขับรถไฟฟ้าที่บรรทุกยางมาจอดรถมาเทียบกับจุดส่ง แล้วพนักงานก็จะลงจากรถยกที่กั้นยางขึ้น (ที่กั้นนี้มีเพื่อไม่ให้ยางหล่นขณะขนส่ง) แล้วผลักล้อที่บรรทุกมา 3 แถว แถวละ 4 เส้น เข้าไปในชั้นวางของสายการผลิต

หลังจากไปเยี่ยมชมที่ผ่านมาก็เห็นว่าวิธีการได้เปลี่ยนไป คือ พนักงานขับรถมาเทียบที่จุดส่ง โดยมีแท่งเหล็กที่สะกิดให้ที่กั้นยางยกขึ้นเมื่อเข้าเทียบ เข้าใจว่าเพิ่มความเอียงขึ้นเล็กน้อยในรถที่ใช้บรรทุกยาง เมื่อเทียบรถเรียบร้อย เหล็กกั้นยางก็ถูกยกขึ้นจนสุด ขยับรถแบบกระตุกเล็กน้อย ยางทั้ง 3 แถว ก็ไหลเข้าชั้นวางอย่างเรียบร้อย เมื่อวิ่งรถออก เหล็กกั้นก็ตกลงมาที่เดิม กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญพลังงานก็ไม่สูญเสียเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรก็มีรูปแบบคล้ายกัน เพียงแต่ต้องอาศัยข้อตกลงที่ชัดเจน ในการเข้าชมกระบวนการทำงานของโรงพยาบาลที่ประเทศญี่ปุ่น การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรที่ผมชอบมากก็คือ ในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง เขาได้ทำการจ้างบริษัทอื่นเข้ามาบริหารจัดการให้ โดยใช้พื้นที่ของโรงพยาบาล และสินทรัพย์ทั้งหมดรวมถึงสินค้า จะยังไม่ใช่ของโรงพยาบาลตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเบิกจ่ายให้กับคนไข้ การตรวจสอบและเบิกจ่ายก็ใช้หลักการของระบบ “คัมบัง” ของโตโยต้า ซึ่งทำให้เข้าใจ และตกลงร่วมกันทำงานได้ง่ายขึ้น เหมือนกับโตโยต้าทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์

การเชื่อมโยงจำเป็นต้องเข้าใจภาพรวม เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเชื่อมโยงนี้หากขาดซึ่งประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ ก็ยากที่จะทำให้เรื่องราวของธุรกิจมีความสนุกสนาน จนได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าและซัพพลายเออร์

************************************************************

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply