การจัดการเมือง ลูเซิร์น (สวิตเซอร์แลนด์) และเมืองดีชง (ฝรั่งเศส)

Need to know 1

Urban Management of Lucerne (Switzerland) and Dijon (France)

การจัดการเมือง ลูเซิร์น (สวิตเซอร์แลนด์) และเมืองดีชง (ฝรั่งเศส)

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ช่วงวันที่ 16-24 มีนาคม 2556 ผมได้เดินทางไปดูงานประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศฝรั่งเศส กับคณะของเทศบาลนครพิษณุโลก นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (ดร.ปรีชา เรืองจันทร์) และนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก (นายบุญทรง แทนธานี) เพื่อศึกษาดูงานการจัดการเมืองลูเซิร์น (Lucerne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมืองดีชง ประเทศฝรั่งเศส เป็นการเดินทางภายในยุโรปด้วยรถบัส ทำให้ได้เห็นสภาพเส้นทางการขนส่งทางถนนระหว่าง 2 ประเทศ (สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส) รวมถึงด่านชายแดนระหว่าง 2 ประเทศนี้ ซึ่งชายแดนสองประเทศนี้มีด่านตรวจเพียงด่านเดียว (ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีด่านตรวจ 2 แห่ง)

การเดินทางไปดูงานในครั้งนี้นอกจากสองเมืองที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ผมยังได้มีโอกาสพักที่เมืองบวน (Beaune) ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างเส้นทางการเดินทาง แต่การพักเมืองบวนเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเห็นพื้นที่ (หรือจุดพัก) รถบรรทุกสินค้า ซึ่งมีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับพนักงานขับรถดังกล่าวที่ค่อนข้างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า ศูนย์บริการด้านรถบรรทุก อาคารคลังสินค้า เป็นต้น

การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยรถบัสภายในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส) ทำให้ได้พบเห็นพฤติกรรมของพนักงานรถบัส ที่มีระเบียบวินัยในการปฏิบัติงาน โดยจะมีการหยุดพักรถตามจุดต่างๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นสถานีบริการน้ำมันตามเส้นทาง) เมื่อขับรถตามระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด และจะไม่ยอมออกรถหากเวลาพักยังไม่ถึงตามที่กฏหมายกำหนด และการควบคุมพฤติกรรมของพนักงานขับรถจะใช้บัตรประจำตัวพนักงานขับรถซึ่งมีการฝังชิปไว้ที่บัตร โดยบัตรนี้จะถูกเสียบไว้กับเครื่องบันทึกที่ติดตั้งไว้บริเวณหน้ารถ(แผงควบคุมหน้ารถ) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสุ่มตรวจรถดังกล่าว ก็จะนำบัตรนี้ไปเสียบกับเครื่องอ่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะทำให้รับทราบพฤติกรรมของพนักงานขับรถ

เมืองลูเซิร์น(Lucerne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ภาพ สภาพเมืองลูเซิร์นและถนนในเมือง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ภาพ บรรยากาศการประชุมกับตัวแทนเมืองลูเซิร์น ประเด็น
“การบริหารผังเมืองและการท่องเที่ยวเมืองลูเซิร์น”
  • พื้นที่ 13.3 ตารางกิโลเมตร และประชากร 78,000 กว่าคน (เทศบาลนครพิษณุโลกมีพื้นที่ 10.8 ตารางกิโลเมตร และประชากร 84,000 กว่าคน)
  • เมืองลูเซิร์นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว โดยมีจุดขายของเมือง 3 ด้าน คือ เมือง ทะเลสาป และภูเขา (The City, The Lake, The Mountain)
  • ลักษณะของเมืองผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมทันสมัยกับสถาปัตยกรรมสมัยเก่า (Modern Architecture VS Medieval City)
  • งานด้านการท่องเที่ยวของเมืองลูเซิร์น ให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาดูแลและบริหาร
  • เมืองลูเซิร์น ยังได้รับการจัดอันดับจากสถาบันต่างๆ อาทิเช่น

1. ได้รับอันดับหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม First Rank of Environment Performance Index of Yale University

2. ได้รับอันดับหนึ่งด้านการท่องเที่ยว First Rank in Booz Allen Hamilton on Sustainable Tourism

เมืองบวน (Beaune) ประเทศฝรั่งเศส

ภาพ สถานีรถบบรทุกสินค้า (จุดพักรถบรรทุก) เมืองบวน (Beaune) ประเทศฝรั่งเศส

- เป็นเมืองที่ห่างจากชายแดน สวิตเซอร์แลนด์-ฝรั่งเศส ประมาณ 250 กิโลเมตร

- พืชเศรษฐกิจของเมืองบวน คือองุ่นสำหรับผลิตไวน์

- เป็นศูนย์กลางบริการด้านอุตสาหกรรมไวน์ ทั้งอุปกรณ์การปลูกองุ่น และเครื่องจักรในการผลิตไวน์

- เมืองบวนยังเป็นจุดพักรถบรรทุกสินค้า เพื่อให้พนักงานขับรถพักผ่อนและเพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ

เมืองดีฌง(Dijon) ประเทศฝรั่งเศส

ภาพ สภาพเมืองและรถขนส่งสาธารณะระบบรางเมืองดีฌง(Dijon) ประเทศฝรั่งเศส

ภาพ บรรยากาศการประชุมกับผู้บริหารเทศบาลเมืองดีฌง ประเด็น “การพัฒนาเมืองและระบบคมนาคมภายในเขตเมืองดีฌง”

- พื้นที่ 40.4 ตารางกิโลเมตร และประชากร 244,000 กว่าคน (เทศบาลนครพิษณุโลกมีพื้นที่ 10.8 ตารางกิโลเมตร และประชากร 84,000 กว่าคน)

- เมืองดีฌง มีแผนในการขอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO

- การเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งนี้ ให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาดูแลและบริหาร และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับประชามติเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่

- เมืองดีฌงได้วางหลักการ 4 ด้าน เพื่อพัฒนาเมือง ดังนี้

1. เมืองที่เดินทางคล่องตัวและสะดวก

2. ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

3. ไม่มีมลภาวะ

4. เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ

- อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ Darcy Square ให้เป็นถนนคนเดิน โดยประชาชนให้ความเห็นชอบในการดำเนินงาน

- มีรถขนส่งสาธารณะระบบราง (Tram) เข้ามาใช้ในเขตเมืองจำนวน 2 เส้นทาง โดยมีความยาวรวมทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร โดยเส้นทางของรถรางจะผ่านย่านการค้า ศูนย์ราชการ มหาวิทยาลัย และสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมือง

สภาพเส้นทางถนนระหว่าง ลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์ – ปารีส ฝรั่งเศส

- เป็นถนนทางด่วนพิเศษ ที่มีค่าใช้เส้นทาง (เก็บจากอุปกรณ์ RFID โดยไม่มีด่านเก็บค่าผ่านทาง)

- เป็นถนนขนาดขั้นต่ำ 4 เลน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นถนนขนาด 6 เลน บางช่วงมีถึง 8 เลน

- สภาพการจราจรระหว่างลูเซิร์น – ปารีส คล่องตัว จะมีเฉพาะช่วงเขตเมืองจะมีการชะลอตัวของรถบ้าง แต่เมื่อเข้าเขตกรุงปารีส สภาพการจราจรค่อนข้างติดขัด

- พื้นที่บริเวณชายแดน สวิตเซอร์แลนด์ – ฝรั่งเศส มีด่านชายแดนเพียงจุดเดียว (ทั้งๆที่สวิตเซอร์แลนด์ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป)

มาตรฐานเส้นทางถนนของประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่ายุโรป(สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส)เลย แต่การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาและสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply