การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยลดต้นทุนได้จริงหรือ

Logistics Knowledge

Can coastal transport really help save costs?

การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยลดต้นทุนได้จริงหรือ

ลภัสรดา กฤตบดีพงศ์

บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันกันสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้า ทรัพยากรที่ลดน้อยลง ทำให้แต่ละองค์กรต้องพยายามในการหาวิธีการจัดการ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในกระบวนการผลิตและการให้บริการ เพื่อให้อยู่รอดในตลาดการแข่งขัน หนึ่งในเรื่องที่หลายองค์กรให้ความสนใจคือเรื่องของการขนส่ง การขนส่งในบางธุรกิจเป็นต้นทุนหลักที่หลายองค์กรต้องพยายามลดลง ทั้งการใช้Outsource การใช้รถขนส่งโดยก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนหมวดการขนส่งเป็นการขนส่งทางน้ำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสามารถขนส่งได้จำนวนมากและต้นทุนต่ำ แต่การขนส่งทางน้ำใช่จะมีแต่ข้อดีเท่านั้น ยังมีข้อเสียหรือปัจจัยทางลบที่องค์กรต้องพิจารณา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบก่อนเลือกดำเนินการ

การขนส่งทางน้ำเท่ากับต้นทุนที่ลดลงจริงหรือ

ในปัจจุบันการขนส่งทางนั้บว่าเป็นรูปแบบการขนส่งที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งประเภทอื่น ซึ่งการที่ต้นทุนต่ำกว่านั้น ก็เพราะการขนส่งแต่ละครั้งจะสามารถขนได้จำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับการขนส่งด้วยวิธีอื่นในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น

“การขนส่งเบียร์ 1 กล่องน้ำหนัก 15 กก.ต่อกล่อง จากกรุงเทพฯ ไปส่งที่จังหวัดชลบุรี โดยทางรถบรรทุกค่าขนส่งราคากล่องละ 10.60 บาท ในขณะที่การขนส่งทางเรือ 1 ลำ บรรทุกเบียร์ได้ 100,000 กล่อง ค่าขนส่งกล่องละ 2.25บาท และไปจ้างรถกระจายต่ออีก 4.5 บาท ต่อกล่อง รวมเป็น 6.75 บาท ต่อกล่อง ต้นทุนการขนส่งลดลงถึง 36%”

จากตัวอย่างที่ยกมานั้นเห็นได้ว่าต้นทุนค่าขนส่งนั้นลดลงกว่า 30% ทำให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ หันมาให้ความสนใจในการขนส่งทางน้ำมากขึ้น นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้วการขนส่งทางน้ำยังมีข้อดีหลายประการ ดังนี้

1. การขนส่งแต่ละครั้งได้ปริมาณมาก เนื่องจากการขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่ต้องการให้ต้นทุนต่ำ ดังนั้น เรือที่ใช้ในการขนถ่ายเป็นเรือขนาดใหญ่ประมาณ 1,000-2,000 ตัน ภายในประเทศ และ 2,000-30,000 ตัน ระหว่างประเทศ การดำเนินการขนถ่ายสินค้าคราวเดียวจะได้สินค้าจำนวนมาก

2. มีความปลอดภัย เนื่องจากการขนส่งทางน้ำจะใช้ความเร็วต่ำ อัตราการเกิดอุบัติเหตุจึงค่อนข้างน้อย และการจราจรทางน้ำก็น้อย ไม่เหมือนการจราจรทางบกที่มีปริมาณรถมาก

จากข้อดีของการขนส่งทางน้ำ ทำให้ปัจจุบันปริมาณการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยมีประมาณ 120 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 15-16 ล้านตัน ข้าว 9-10 ล้านตัน ปุ๋ยและวัสดุก่อสร้าง 14-16 ล้านตัน แม้การขนส่งทางน้ำจะมีข้อดีในเรื่องของต้นทุนและปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวมากกว่าการขนส่งประเภทอื่น แต่การขนส่งทางน้ำก็มีข้อเสียหรือข้อด้อยที่ผู้ผลิตต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

ข้อเสียของการขนส่งทางน้ำที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา

1. ความล่าช้าของการขนส่ง เนื่องจากการขนส่งทางน้ำมีปริมาณสินค้าต่อเที่ยวมาก ทำให้อัตราวิ่งของเรือขนส่งต่ำมาก ระยะเวลาในการขนส่งจึงนาน เช่น การขนส่งเบียร์จากกรุงเทพฯ ไปชลบุรี โดยทางรถใช้เวลา 5 ชม. ในขณะที่การขนส่งทางเรือใช้เวลา 3 วัน เป็นต้น ความล่าช้านี้อาจส่งผลต่อ Inventory Turn จากตัวอย่าง สินค้าที่ส่งจากกรุงเทพฯ ไปชลบุรีใช้เวลา 5 ชม. เมื่อสินค้าถูกส่งไปถึงมือลูกค้า การดำเนินการเรื่องใบเสร็จและการจ่ายเงินจะทำได้เลยในวันเดียวกันที่ส่งสินค้าออกจากบริษัทฯ แต่การขนส่งทางน้ำใช้เวลา 3-4 วัน กว่าสินค้าจะส่งถึงมือลูกค้าและทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินช้าไปอีก 3-4 วัน อาจส่งผลต่อเงินสดหมุนเวียนและการลงทุนเพิ่มในกิจกรรมอื่น

2. ต้องจัดหาสถานที่เก็บที่ปลายทาง เนื่องจากสินค้าที่ขนส่งทางเรือจะต้องมีปริมาณมาก แต่การรับสินค้าของลูกค้าแต่ละรายไม่เหมือนกัน และเราไม่สามารถบังคับให้ลูกค้ารับสินค้าในวันที่เราต้องการ นอกจากเราจะมีการจัด promotion ให้รับภายในช่วงเวลา ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่ายและส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจ เพราะสินค้าไม่ได้ส่งเพียงพื้นที่เดียว หากลูกค้าภูมิภาคอื่นไม่ได้รับการจัด promotion เหมือนกัน ดังนั้น สินค้าที่จัดส่งไม่หมดจะต้องมีพื้นที่จัดเก็บรอการกระจาย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนถือครองสินค้าคงคลังที่จะต้องสูงมากขึ้น การเก็บสินค้าหลายแห่ง ทำให้ปริมาณสินค้าที่ต้องเก็บเยอะมาก ไม่เหมือนการเก็บที่เดียวและอาศัยการกระจายอย่างรวดเร็วถึงลูกค้า ดังนั้น การขนส่งทางน้ำจึงเหมาะกับการเคลื่อนย้ายมากกว่าการจัดส่ง

3. ประเภทสินค้าที่ขนส่งทางน้ำค่อนข้างจำกัด เนื่องจากระยะเวลาการจัดส่งค่อนข้างนาน ทำให้ประเภทสินค้าที่ใช้การขนส่งทางน้ำได้นั้น ไม่ได้หลากหลายเท่าการขนส่งทางบก สินค้าที่มีการเปลี่ยนสภาพรวดเร็วไม่สามารถใช้การขนส่งทางนี้ได้ จะต้องมีมาตรการอื่นเสริมเข้ามาซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องคำนึงถึง เช่นสินค้าเกษตร ผัก-ผลไม้ เป็นสินค้าที่มีความชื้นในตัวค่อนข้างสูง ทำให้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย จะต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันในสภาพที่อัดอยู่ในเรือและถูกผ้าใบคลุม การระบายอากาศไม่ดี เกิดการเน่าเสียไม่สามารถขายได้ เปรียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกที่ใช้เวลาไม่เกิน 1 วันไม่ว่าจะเดินทางมาจากใต้สุดหรือเหนือสุดของประเทศก็ตาม ดังนั้นสินค้าที่จะใช้การขนส่งทางน้ำจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของตัวสินค้าอย่างรอบคอบ

4. เส้นทางเดินเรือไม่สามารถเข้าถึงทุกส่วนของพื้นที่ แม้การเดินทางคมนาคมทางน้ำจะเป็นเส้นทางที่มีมานานมาก แต่ลำน้ำที่ใช้สัญจรนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ และลำน้ำไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากเหมือนพื้นดิน ไม่สามารถปลูกพืชผักที่เป็นสินค้าหลักของประเทศไทยได้ ดังนั้นเส้นทางเดินเรือจึงค่อนข้างจำกัด โดยในประเทศไทยจะขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำ ลำคลองที่มีอยู่แล้ว เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำท่าจีน เป็นต้น และบางแห่งความลึกไม่พอไม่สามารถใช้ในการขนส่งได้ ดังนั้น การขนส่งทางน้ำส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้ในขั้นตอนเดียว ต้องอาศัยการขนส่งทางบกเพิ่มเติม

5. ท่าเทียบเรือมีจำกัด นอกจากเส้นทางเดินเรือจะไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว ท่าเทียบเรือก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด แม้ว่าภาครัฐจะมีท่าเทียบเรือตามจังหวัดใหญ่ เช่น สงขลา ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี แต่โดยส่วนใหญ่เป็นท่าเรือที่ใช้ในการขนถ่าย Container เป็นหลัก ทำให้ภาคเอกชนต้องพยายามสร้างท่าเรือส่วนตัว แต่ขั้นตอนการขอนุญาตก็ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน รวมถึงพื้นที่ที่จะทำท่าเทียบเรือต้องเป็นริมลำน้ำใหญ่ ที่รถต้องเข้าถึง ซึ่งราคาที่ดินก็ค่อนข้างแพง

6. หน่วยงานราชการ เนื่องจากการขนส่งทางน้ำนั้นเป็นหมวดการขนส่งที่เพิ่งได้รับความนิยม หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอาจมีข้อกำหนดหรือกฏเกณฑ์ที่จะมีออกมาเรื่อยๆ บางเรื่องไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่เหมือนการขนส่งทางบกที่มีกฏกระทรวงและระเบียบปฏิบัติที่ออกมานานแล้ว ผู้ประกอบการสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างละเอียด นอกจากนี้การที่ยังไม่มีกฎระเบียบต่างๆ มากนัก บางครั้งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการขนส่งทางน้ำได้ หรือบางครั้งหน่วยงานราชการก็ออกคำสั่งหยุดการขึ้นลงสินค้าตามท่าเรือต่างๆ ทำให้สินค้าบางรายการไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น คำสั่งหยุดการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือสมุทรสาคร สินค้าหลายรายการต้องไปขึ้นที่ท่าเรืออยุธยา  ซึ่งพนักงานขับเรือไม่มีความถนัดและน้ำเชี่ยว อาจทำให้เรือเกิดความเสียหายต่อสินค้าและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

7. การขนส่งทางน้ำต้องอาศัยสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากต้องอาศัยระดับน้ำในการลากจูงเรือ ซึ่งจะต้องรอช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง บางฤดูกาลจะขึ้นลง 2 ครั้ง แต่บางฤดูกาลน้ำขึ้นลงครั้งเดียว ช่วงที่น้ำน้อยเรือจะต้องจอดและต้องหาสถานที่จอดให้มั่นใจว่าเรือจะไม่นั่งแท่นเอียงสินค้าเสียหาย และปลอดภัยจากแก๊งแมวน้ำ (โจรทางเรือ) เพื่อไม่ให้สินค้าสูญหาย

8. ชุมชนแวดล้อมตลอดแนวลำน้ำ เนื่องจากการขนส่งทางเรืออาศัยลำน้ำ ซึ่งมีชุมชนหลากหลายที่ยังใช้แม่น้ำในการดำรงชีวิต เช่น การปลูกบ้านอยู่ริมน้ำ เมื่อเรือลากจูงผ่านมาทำให้เกิดเสียงดังรบกวน หรือการปลูกผักบุ้งริมน้ำ แล้วเรือเกิดไปเฉี่ยวชน เกิดข้อร้องเรียนกับบริษัทเจ้าของสินค้า เกิดเป็นข้อพิพาทกับชุมชน ยิ่งเหตุเกิดบริเวณใกล้ที่ตั้งของบริษัทมากเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดปัญหากับชุมชนได้มากเท่านั้น เช่น ชุมชนมหาชัยที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านการขนถ่ายถ่านหินที่ปากอ่าวสมุทรสาคร และแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น

ผู้จัดการแผนกโลจิสติกส์ของบริษัทผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางน้ำรายหนึ่ง ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้บริการขนส่งทางน้ำ ดังนี้

การขนส่งทางน้ำนั้นทำให้ต้นทุนของสินค้าลดลงจริง โดยบริษัทเลือกใช้การขนส่งวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยแต่ละครั้งจะมีการขนส่งเข้ามาจำนวนมากเพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ การขนย้ายต้องใช้เรือลากจูงและเรือขนถ่ายจำนวนมากเช่นกัน และการรับสินค้าต้องทำด้วยความรวดเร็ว ให้เรือสามารถกลับไปรับสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง การเลือกการขนส่งทางน้ำที่บริษัทเลือกใช้นั้น ก็มาจากวัตถุดิบของบริษัท เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ขนส่งมาทางเรือเดินทะเล และต้องมีการขนถ่ายบริเวณชายฝั่งทะเล

ดังนั้น จึงต้องนำเรือขนาดเล็กไปรับขนถ่าย จึงเป็นที่มาของการขนถ่ายวัตถุดิบทางเรือมาถึงบริเวณโรงงาน เดิมใช้การเช่าท่าเรือและขนใส่รถบรรทุกวิ่งเข้าโรงงาน ซึ่งต่อมาจึงขออนุญาตสร้างท่าเรือของบริษัทฯเอง” ส่วนปัญหาที่พบในการใช้บริการการขนส่งทางน้ำ ทางผู้จัดการท่านนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขนส่งทางน้ำ แน่นอนคือเรื่องเวลาที่ใช้ เพราะต้องรอปริมาณน้ำ บางช่วงต้องหยุดรอบางช่วงจึงลากต่อได้ หากสินค้าที่เปลี่ยนสภาพง่ายไม่เหมาะต่อการขนส่งทางนี้ และประเด็นที่อาจเกิดจากการใช้การขนส่งทางน้ำคือชุมชนริมแม่น้ำ ที่การลากเรือจะกระทบต่อพวกเขา และอาจเกิดปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงตามมาได้ รวมถึงการสูญหายระหว่างทางและการหาสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบที่รับเข้าด้วย”

จะเห็นได้ว่าการขนส่งทางน้ำนั้นเป็นการขนส่งที่ต้นทุนต่ำและสามารถขนถ่ายได้แต่ละครั้งด้วยจำนวนที่มากก็จริง แต่ก็มีประเด็นที่ผู้ใช้บริการต้องคำนึงถึงหลายประเด็นด้วยกัน โดยประเด็นใหญ่ๆ คือเรื่องของเวลาที่ใช้ในการเดินทางของเรือที่ล่าช้าและไม่แน่นอน อาจเกิดปัญหากับสินค้าที่เปลี่ยนสภาพง่าย สินค้าที่ขนส่งทางน้ำได้จึงค่อนข้างจำกัด ประเด็นเรื่องของปริมาณในการขนส่งแต่ละเที่ยวซึ่งมากกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุกกว่า 100เท่า หากเกิดความเสียหายกับสินค้าก็จะเกิดในปริมาณที่มากกว่านั่นเอง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาท่าเรือที่จะขนถ่ายและเรือที่ใช้ว่าสามารถเทียบท่าได้หรือไม่อีกด้วย ดังนั้น ผู้ต้องการใช้บริการขนส่งทางน้ำจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะตามมาจากการขนส่ง เกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่มากกว่าต้นทุนที่ลดลงจากค่าขนส่งที่ได้

เอกสารอ้างอิง

1. คลังปัญญาไทย “การขนส่งทางน้ำ” ออนไลน์  http://www.panyathai.or.th

2. ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล “การขนส่งสินค้าทางน้ำและทะเลในประเทศไทย” Transport Journal 11-17มิถุนายน 2550

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยลดต้นทุนได้จริงหรือ”

  1. การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยลดต้นทุนได้จรภsays:

    Buy Best Private Proxies…

    I found a great……

  2. การขนส่งทางน้ำในประเทศไทยลดต้นทุนได้จรภsays:

    Paid Private Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply