นับถอยหลังสู่ AEC -ชี้เวียดนามน่าลงทุน

CEO Vision

Count down to AEC! Vietnam is the most interesting and worth investing!

นับถอยหลังสู่ AEC -ชี้เวียดนามน่าลงทุน

แนะผู้ประกอบการไทยติดอาวุธการแข่งขันบุกอาเซียน

แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรับมือเปิดเสรี AEC เร่งติดอาวุธสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันและอุดช่องโหว่ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสบุกตลาดในอาเซียน ชี้เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุน

นับถอยหลังกับการก้าวสู่การค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วยการรวมตัวกันของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ ไทย พม่า สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth) การค้าและการลงทุนอย่างเสรี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งตื่นตัวติดอาวุธทางการแข่งขัน-เพิ่มขีดความสามารถ และขยายตลาดสู่ประเทศแถบอาเซียน

ทั้งนี้ จากงานสัมมนา AEC Business Consultation จัดโดยสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ส่งออกไทยให้ให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และขยายตลาดสู่ประเทศแถบอาเซียน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเจาะลึกตลาดเวียดนาม โดยได้เชิญวิทยากรมาร่วมบรรยาย ได้แก่ คุณบุษบา บุตรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คุณมาลินี หาญบุญทรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคุณวิทูร ศุภประกฤต ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศ บริษัท โอสถสภา จำกัด

ในเรื่องนี้ คุณวิทูร ศุภประกฤต ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายต่างประเทศ บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้แชร์ประสบการณ์ในฐานะนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจที่เวียดนามเกี่ยวกับตลาด อุปสรรค-โอกาส และช่องทางในการลงทุนในเวียดนามว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มมีปัญหา เกิดภาวะการเก็งกำไรที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเวียดนามกว่า 5 หมื่นราย ต้องล้มหายตายจากไป เพราะผลจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงกว่า 20% ซึ่งเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงปรับฐานทางด้านการเงิน ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนมองว่า ตอนนี้ถ้าไปลงทุนจะได้ของถูก ที่นับเป็นจังหวะที่ดี

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุน สังเกตได้จากส่วนใหญ่นักธุรกิจที่ไปลงทุนจะประสบความสำเร็จ ต่างจากที่ไปลงทุนที่จีน ซึ่งหากไปลงทุน 10 บริษัทจะเจ๊ง 8 บริษัท ส่วนเวียดนามไปลงทุน 10 บริษัท จะประสบความสำเร็จถึง 8 บริษัท ข้อดีของเวียดนามอย่างหนึ่งคือเวียดนามไม่มีการควบคุมราคาผู้บริโภค ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเสรี มีการแข่งขันอย่างเสรี นอกจากนี้เวียดนามยังมีการกระจายสินค้าแบบ Traditional Trade ส่วน Modern Trade มีเพียง 15% เท่านั้น นับว่าเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากรัฐบาลพยายามควบคุมรักษาตลาดไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กเหมือนในไทย ที่โชว์ห่วยไทยกำลังล้มหายตายจาก

สถานการณ์ปัจจุบันเมื่อปีที่แล้วราคาน้ำมัน แก๊ส น้ำประปา ทยอยขึ้นราคา บริษัทที่พึ่งพาเรื่องเงินกู้ปิดตัวลงไปหลายราย แต่ข้อดีของเวียดนามคือไม่มีเรื่องของเช็ค อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มนิ่ง ราคาที่ดินของเวียดนามแพงกว่าที่เมืองไทยมากขณะนี้ราคาที่ดินของเวียดนามสูงมากถึงตารางเมตรละ 1.2 ล้าน ร้านค้าทันสมัยมีมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ใช้จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะคาดว่าจำนวนรถจักรยานยนต์บนท้องถนนกว่า 4 ล้านคัน ในขณะที่ประชากรที่เมืองโฮจิมินท์มีอยู่ 6 ล้านคน แนวโน้มของเวียดนามขณะนี้มีผู้ผลิตมากขึ้น มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับเวียดนาม ซึ่งอะไรที่ไทยทำได้ตอนนี้เวียดนามทำได้เกือบหมดแล้ว แต่คนเวียดนามก็ยังชอบเทรนด์อะไรที่แปลกใหม่-มองหาสินค้าแปลกใหม่ และยังเชื่อมั่นในสินค้า-เชื่อว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ นอกจากนี้เวียดนามยังนิยมอาหารไทยอีกด้วย

สิ่งที่เป็นโอกาสที่ดีคือเวียดนามมีตลาดใหญ่มาก และแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างนี้ แต่เวียดนามก็ยังสามารถโตไปได้เรื่อยๆ และสามารถเข้าไปลงทุนได้ง่าย แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องการเตือนคือหากจะเข้าไปทำธุรกิจต้องขึ้นทะเบียนการค้าไว้ก่อน และในการเจรจาต่อรองไม่ควรใช้ล่ามในการเจรจาเพราะจะทำให้การสื่อสารผิดพลาด พร้อมฝากเตือนักลงทุนอย่าผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงทำให้ความเชื่อมั่นในสินค้าไทยลดลง

อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ผู้บริโภคหันมาให้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น เป็นสินค้าที่ราคาถูกกว่า เพราะฉะนั้น อย่าคิดที่จะขายสินค้าราคาต่ำ เพราะสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำอยู่ยาก หากคิดจะขายควรขายสินค้าเรื่องคุณภาพ สินค้าพรีเมี่ยมมีแนวโน้มที่ดี สินค้าไทยที่มีแบรนด์คุณภาพที่มีความแตกต่างนับว่ามีโอกาสมากในเวียดนาม ซึ่งคุณวิทูร ได้ให้ข้อคิดในการดำเนินธุรกิจ คือ “อย่าชนกับบริษัทใหญ่ ถ้าหนีได้วิ่งถนนซอย ถึงเหมือนกัน” เพราะตอนนี้มีหลากหลายธุรกิจเข้ามาในเวียดนาม และที่สำคัญคือการทำธุรกิจต้องมีความต่อเนื่องอย่าหงุดหงิด แต่เชื่อว่าเมื่อมีการเปิด AEC การค้าจะมีบรรทัดฐานมากขึ้น มีกฎหมายที่ชัดเจน

คุณวิทูร กล่าวว่า คนไทยมีจุดแข็งที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจคือ คนไทยเก่งด้านการบริหารจัดการ เก่งเรื่องการบริการ และคนไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องยิ้มสยาม มองโลกในแง่ดี ยิ้มง่าย ที่เป็นข้อดีที่จะส่งให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังเก่งเรื่องซอฟต์แวร์ และพยายามสร้างแบรนด์ จะทำให้ทำธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ พร้อมกันนี้ ในการเข้าไปทำธุรกิจที่เวียดนาม หากจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเราต้องเข้าไปดูสถานที่จริงว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง และต้องศึกษาวัฒนธรรมของเวียดนามให้ดี และที่สำคัญคือต้องพูดเวียดนามให้ได้ เพราะคนเวียดนามคุยธุรกิจด้วยภาษาเวียดนาม ไม่คุยภาษาอังกฤษ สังเกตได้จากนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้วประสบความสำเร็จล้วนแต่พูดภาษาเวียดนามได้ทั้งสิ้น

สินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะดี ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ,สินค้าประเภทเครื่องดื่มแปลกๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ , ธุรกิจ Modern Trade ยังสามารถโตได้อีกมาก, สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะเวียดนามให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก แม้ว่าจะตั้งราคาสูง ก็ยังสามารถขายได้ และสุดท้ายคือธุรกิจออนไลน์ยังมีทิศทางที่ดีและน่าสนใจ

“การไปทำธุรกิจในเวียดนามในปัจจุบัน ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลก่อน มีการทำการบ้าน มีการวิเคราะห์ข้อมูล มีการทำการวิจัย มีการเลือกสินค้า ต้องศึกษาก่อนว่าตลาดต้องการสินค้าอะไร และต้องรู้ว่าจะไปทำธุรกิจอะไร ศึกษารูปแบบตลาดและรูปแบบการกระจายสินค้า และสุดท้ายที่สำคัญมาก คือเรื่องกฎระเบียบกฎหมาย ถ้าเราสามารถปิดช่องว่าง ปิดส่วนที่จะต้องสูญเสีย มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง เชื่อว่าหนทางที่จะประสบความสำเร็จมีความเป็นไปได้สูงอย่างแน่นอน” คุณวิทูร กล่าว

คุณบุษบา บุตรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จะเข้าไปทำการค้าในเวียดนามให้ประสบผลสำเร็จ ผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อมูลของประเทศเวียดนามในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปทำการค้าไม่ว่าจะในประเทศใด ควรจะต้องทำการศึกษาเรียนรู้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศนั้น เพื่อให้การค้าการลงทุนไปได้โดยสะดวก โดยเรียนรู้ทั้งเรื่องอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้มีความเข้าใจประเทศนั้นๆ อย่างถ่องแท้ สิ่งเหล่านั้นจะบอกอะไรท่านได้หลายอย่าง ที่จะส่งให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

คุณมาลินี หาญบุญทรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงตลาดกรุงโฮจิมินห์ว่า หากต้องการเข้าไปลงทุนที่เวียดนามต้องทำการศึกษาให้ดีว่าต้องการไปลงทุนธุรกิจอะไร ที่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการค้าขายกับเวียดนามคือเรื่องภาษา เวียดนามจะใช้ภาษาพื้นเมืองในการสื่อสาร เพราะนอกจากเรื่องการเจรจาธุรกิจแล้ว เรื่องการจดทะเบียนบริษัทมีเอกสารรายละเอียดมากมายที่เราต้องศึกษาให้ดี ที่ต้องระวัง ที่เป็นภาษาเวียดนาม และหากจะเข้าไปลงทุนให้เข้าไปสำรวจตลาดในพื้นที่ก่อน จะได้เห็นว่าสินค้าของเวียดนามมีอะไรบ้าง ผู้ซื้อคือใคร เพื่อจะได้ทราบว่าเรามีศักยภาพที่จะสู้กับคู่แข่งได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้ดี

คุณมาลินี กล่าวว่า เวียดนามไม่ได้สนใจเรื่อง AEC ไม่ได้ตื่นเต้นมากมายนัก เนื่องจากเวียดนามจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง มีการปรับสภาพสอดรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สนใจเรื่องคุณภาพของสินค้า และเมื่อมีการเปิด AEC อย่างแท้จริง เวียดนามก็จะมีความพร้อมทันที เพราะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นับเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะบุกตลาดต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี การจะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึก-พร้อมเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อลดข้อผิดพลาดและการเสียโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply