แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ. 2555-2559

Strategic plans of Ministry of Transport to support Thai logistic system development

แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ. 2555-2559

ดร. จุฬา สุขมานพ

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นส่วนสนับสนุนในหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับ พ.ศ. 2550-2554 เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระยะต่อไปมีความต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมจึงได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ. 2555 – 2559 ขึ้น โดยหวังว่าแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นกรอบในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในการลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ตามที่ตนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

สรุปร่างแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ. 2555 – 2559

Ÿ เป้าประสงค์หลัก

“มีระบบโลจิสติกส์การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

Ÿ กลยุทธ์หลัก

กลยุทธ์หลักที่ 1 พัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ในประเทศให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการทั้งเครือข่ายภายในและการเชื่อมต่อไปสู่ต่างประเทศ

เป็นการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงกับประตูการค้าที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการขยายการขนส่งสินค้าในอนาคต โดยพิจารณาประตูการค้าหลักที่สำคัญสามารถตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายให้เกิดการเชื่อมโยงหลายรูปแบบโดยการสร้างจุดเชื่อมต่อการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งบริเวณชายแดน และศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งที่ครบวงจร รวมถึงสามารถขนส่งไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งในด้านการให้บริการให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)

มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1.1 พัฒนาประสิทธิภาพของประตูการขนส่ง

1.2 พัฒนาโครงข่ายการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประตูการขนส่งต่างๆ

1.3 เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนส่งไทยที่จะให้บริการระหว่างประตูการขนส่งภายในประเทศและการให้บริการต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

KPIs: 1. มีจำนวนผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศในเส้นทางที่พัฒนาเพิ่มขึ้น

2. ระยะเวลา (Time) ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากจุดต้นทาง – ปลายทางลดลง

3. ระยะเวลาที่ใช้บริการ (Service time) ที่ประตูการค้าหลักลดลง

4. ปริมาณสินค้าผ่านประตูการค้าหลักเพิ่มขึ้น

Ÿ กลยุทธ์หลักที่ 2 สนับสนุนการใช้การขนส่งทางรถไฟและทางน้ำเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน
การขนส่งของประเทศ

เป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางรถไฟและทางน้ำเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางน้ำและทางรถไฟ ซึ่งมีการใช้พลังงานต่อหน่วยต่ำกว่าและช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  โดยการวางแผนพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางรถไฟและทางน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพจากจุดต้นทางไปยังปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงจากการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังท่าเรือภายในและต่างประเทศ  ปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติที่เป็นปัญหาและอุปสรรคด้านการขนส่งทางรถไฟและทางน้ำ รวมถึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดการระบบการขนส่ง

มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

2.1 พัฒนาโครงข่ายและจุดรวบรวมและกระจายสินค้าทางรถไฟและทางน้ำ

2.2 พัฒนากฎระเบียบและมาตรการเพื่อลดต้นทุนการขนส่งทางน้ำและทางรถไฟ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการขนส่งทางรถไฟ

2.3 ส่งเสริมการใช้ระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อลดข้อจำกัดของการขนส่งทางน้ำและทางรถไฟ

KPIs: 1. สัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางน้ำเพิ่มขึ้น

ทางรถไฟ: กรณีการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ จาก ICD ลาดกระบัง ไปท่าเรือแหลมฉบังให้สัดส่วนของการขนส่งทางรถไฟต่อการขนส่งทางถนน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ที่ระดับ 30:70 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นที่ระดับ 50:50 ภายในปี พ.ศ. 2559

ทางน้ำ: สัดส่วนปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางลำน้ำและทางชายฝั่งเปรียบเทียบกับปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศทั้งหมดจากเดิมร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นร้อยละ 19 ในปี พ.ศ. 2559

2. ต้นทุนการขนส่งสินค้าเฉลี่ยไม่เกิน 1.75 บาท-ตัน/กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2559

Ÿ กลยุทธ์หลักที่ 3 พัฒนาประตูการขนส่งด้านทะเลอันดามันเพื่อเหนี่ยวนำการพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้ และรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศจีน – อาเซียน และอาเซียน – อินเดีย

การมีท่าเรือนำเข้าและส่งออกสินค้าจะส่งผลต่อในระยะยาวต่อความเจริญเติบโตของพื้นที่ การพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามันให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญของประเทศอีกแห่งหนึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นอกจากการพัฒนาท่าเรือแล้ว จะมีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือกับเส้นทางการขนส่งหลักของประเทศและของภูมิภาค

มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

3.1 พัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราและระบบขนส่งเชื่อมโยง

3.2 พัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือฝั่งอ่าวไทยด้วยการขนส่งทางรถไฟ

KPIs: 1. เริ่มการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ในปี พ.ศ. 2557

2. เริ่มก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือฝั่งอันดามันกับเส้นทางการขนส่งหลักของประเทศ ในปี พ.ศ. 2559

กระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นในร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากหน่วยราชการและภาคเอกชนหลายแห่ง ในขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกระทรวงคมนาคมในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์อยู่ในระหว่างการปรับปรุงร่างให้เป็นไปตามความเห็นของที่ประชุมส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถนำมาเผยแพร่ได้ในเดือนภายในกุมภาพันธ์ 2556

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ. 2555-2559”

Leave a Reply