ดุลการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มปริมาณตู้สินค้าสำหรับการส่งออก

Trade balance and trend in export cargo volume

ดุลการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มปริมาณตู้สินค้าสำหรับการส่งออก

คงฤทธิ์ จันทริก

สภาผู้ส่งออกฯ (สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย)

ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยจำนวนมากไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าข้อมูลจากสรุปผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรก 2555 โดย Japanese Chamber of Commerce Bangkok (JCCB) ได้ระบุถึงปัจจัยต่างๆ ได้เริ่มกลับมาเป็นบวก สภาพธุรกิจโดยรวมเริ่มกลับขึ้นมาอยู่ในทิศทางที่ดีมากขึ้น และจะดีต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง 2555 โดยไม่พบว่ามีนักลงทุนรายใดตั้งใจย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ที่แท้จริงจะพบว่าอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวในภาพรวมประมาณ 82% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2555 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุนจะมีทิศทางที่ดีกว่าอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ หลายกิจการมีการปรับลดขนาดของธุรกิจลงอย่างถาวร โดยขนาดธุรกิจในภาพรวมอาจลดลงเหลือ 90.2% จากช่วงก่อนเกิดอุทกภัย

การฟื้นฟูกิจการให้สามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ที่จำเป็น รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางรายการเข้ามาจำหน่ายชดเชยรายการสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วงต้นปี 2555 มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่มูลค่าการส่งออกกลับไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้จึงทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าในช่วง 6 เดือนแรกสูงถึง 10,340.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการขาดดุลการค้าสูงสุด นับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออก มูลค่าการนำเข้า และดุลการค้าของประเทศไทย ระหว่างปี 2550-2555

    หน่วย ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี  มูลค่าการส่งออก มูลค่าการนำเข้า ดุลการค้า
2550 153,864.96 139,958.90   13,906.07
2551 177,775.20 179,223.26 - 1,448.06
2552 152,426.53 133,703.74 18,722.79
2553        195,306.69        182,927.12 12,379.57
2554        222,579.16        228,779.74 - 6,200.58
2555 (ม.ค.-มิ.ย.)        112,264.63        122,604.94 -  10,340.31

ที่มา:  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ทั้งนี้ เมื่อมองต่อไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิกฤติหนี้ในสหภาพยุโรป ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ จาก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ามีโอกาสถึงกว่า 80% ที่จะกลายเป็นชนวนปัญหาให้ลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจรอบสอง ในประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี และจะทำให้กำลังซื้อของยุโรปยิ่งลดลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งรายการสินค้าสินค้าที่ได้รับผลกระทบจะไม่ใช่แค่เพียงสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยุโรปโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงรายการสินค้าหรือชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ เพื่อนำไปผลิตหรือประกอบแล้วจึงส่งเข้าไปยังสหภาพยุโรปอีกด้วย

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีการฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้าจาก Hamburger Crisis เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มส่งผลไปยังประเทศต่างๆ ในแถบลาตินอเมริกา อย่างเช่น ประเทศอาร์เจนตินา ที่เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจติดลบ และประเทศบราซิลที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง เพราะการใช้งานที่ลดลงของภาคอุตสาหกรรม

จากทิศทางเศรษฐกิจข้างต้น ทำให้ตัวเลขดัชนีการส่งออก (Export Performance Index: EPI) ซึ่งจัดทำโดยสภาผู้ส่งออกฯ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยในภาพรวมมีการเติบโตเพียง 5.9% ในปี 2555 ในขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปติดลบที่ 2.2% โดยมีรายละเอียดในแต่ละไตรมาสและรายตลาดดังต่อไปนี้

ตารางแสดงดัชนีการส่งออก คาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2555 รายไตรมาส

ไตรมาส ภาพรวม ตลาดอาเซียน ตลาดยุโรป ตลาดสหรัฐฯ ตลาดญี่ปุ่น
ไตรมาส 1/2555 -3.9% 9.2% -16.9% 2.1% -7.0%
ไตรมาส 2/2555 0.0% 7.2% -7.5% 4.6% -1.4%
ไตรมาส 3/2555 -2.7% 0.6% -13.5% 1.4% -3.0%
ไตรมาส 4/2555 30.2% 24.9% 29.3% 24.7% 23.3%
ภาพรวมปี 2555 5.9% 10.5% -2.2% 8.2% 3.0%

 

TEU

รูปแสดงปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาเข้า และปริมาณนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่า

การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ทำให้สัดส่วนการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาในประเทศไทยลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง เพราะสายเรือสามารถนำตู้บรรจุสินค้าขาเข้า (Import Loaded) มาใช้หมุนเวียนสำหรับการส่งออกได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าตู้สินค้าเพื่อใช้ในการส่งออกจะลดลง อย่างไรก็ตาม ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาเข้า ที่สามารถนำมาใช้งานได้ จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ประกอบด้วย ผู้นำเข้าได้ทำการเปิดตู้สินค้าและนำสินค้าออกจากตู้ ตู้สินค้าเปล่าได้ถูกนำมาส่งคืนที่ลานวางตู้สินค้า และตู้สินค้าเปล่าได้ทำความสะอาดและซ่อมแซมตู้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานแล้ว

ซึ่งในปัจจุบัน ผู้นำเข้ามีแนวโน้มในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการจัดเก็บสินค้ามากขึ้นเมื่อคลังสินค้ายังไม่พร้อมรับ หรืออาจเกิดจากผู้นำเข้ายังไม่พร้อมทำพิธีการศุลกากรขาเข้า ทำให้สายเรือไม่สามารถนำตู้มาใช้ได้ตามกำหนด หรือบ่อยครั้งที่พบว่าตู้สินค้ามีการชำรุดหรือสกปรก ทำให้ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมตู้ เพื่อให้สามารถพร้อมสำหรับการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกได้อีกครั้ง จากประสบการณ์ที่พบจึงอาจกล่าวได้ว่าอัตราการหมุนเวียนของตู้สินค้าขาเข้าเพื่อใช้ในการส่งออกอาจจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยที่เติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นสัญญาณที่ทำให้สายเรือต่างๆ รับรู้ถึงสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการส่งออกไทย ที่จะชะลอตัวไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จึงอาจทำให้สายเรือมีการวางแผนนำตู้เปล่าเข้ามาจัดเก็บไว้เพื่อรองรับการส่งออกน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าปริมาณตู้สินค้าสำหรับการส่งออกอาจอยู่ในภาวะตึงตัวในไม่ช้า และหากการส่งออกมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้สายเรือไม่สามารถนำเข้าตู้เปล่าเพื่อบรรจุสินค้าได้ทันเวลา ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยเสียประโยชน์ เพราะการซื้อขายสินค้ามีการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบและบทปรับสำหรับการส่งมอบช้าไว้อย่างชัดเจน หากไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดอาจหมายถึงการขายสินค้าขาดทุนได้ในทันที

นอกจากนี้ การขาดแคลนตู้สินค้าที่อาจเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเร่งนำเข้าตู้เปล่าซึ่งมีต้นทุนส่วนเพิ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับหลัก Demand-Supply ที่ไม่สมดุล จะส่งผลให้ราคาค่าระวางเรือมีการปรับขึ้นได้ในช่วงสั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มสำหรับผู้ส่งออกได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทสายเรือและผู้ส่งออก สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยผู้ส่งออกสามารถทำสัญญา Service Contract กับสายเรือโดยตรง และมีการแจ้งปริมาณตู้สินค้าที่ต้องการใช้สำหรับการส่งออกให้สายเรือทราบล่วงหน้าว่าต้องการตู้สินค้าเท่าไร เมื่อไร เพื่อให้สายเรือสามารถจัดหาตู้สินค้ารองรับความต้องการ ซึ่งในปัจจุบัน สายเรือจำนวนมากยินดีที่จะทำสัญญา Service Contract กับเจ้าของสินค้ารายย่อยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ธุรกิจ SMEs ที่มีการส่งออกแบบเต็มตู้ (Full Container Load: FCL) มีช่องทางในการบริหารจัดการระวางขนส่งให้มีความแน่นอน และสามารถกำหนดค่าระวางขนส่งสินค้าตลอดทั้งปีเพื่อลดความผันผวนของต้นทุนค่าขนส่งได้ดีมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถควบคุมต้นทุนในภาพรวมของการส่งออก และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ดียิ่งขึ้น.

You can leave a response, or trackback from your own site.

6 Responses to “ดุลการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มปริมาณตู้สินค้าสำหรับการส่งออก”

  1. Gerard says:

    arty@maier.scarify” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðþ….

  2. Ernest says:

    mediating@owes.canister” rel=”nofollow”>.…

    thank you!!…

  3. Danny says:

    saddles@reversibility.sashayed” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ çà èíôó!!…

  4. luther says:

    sisk@haystacks.stator” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!…

  5. ดุลการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มปริมาณตู says:

    Elite Proxy…

    I found a great……

Leave a Reply