บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของไทย

How the government can support Thai logistics industry

บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของไทย

ศรัณย์ บุญญะศิริ

เมื่อฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงมาตรฐานวิชาชีพ และ Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งทำให้คิดต่อไปถึงบทบาท ระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทยในวงการโลจิสติกส์ ว่ามีปัญหา หรือมีประเด็นอะไรหรือไม่ ที่เป็นตัวหน่วงความเจริญ ไม่ให้เราก้าวล้ำหน้าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ตำแหน่งที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ระบอบการปกครอง ของประเทศเราล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้เราทั้งนั้น แต่เรากลับไม่สามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคโลจิสติกส์ของประเทศได้มากนัก

ที่สำคัญ เรา (ในที่นี้หมายรวมถึงทั้งภาครัฐและเอกชน) ไม่รู้ว่าควรจะกำหนดทิศทางการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศอย่างไร ก็เลยกำหนดให้เป็นมันหมดทุกอย่าง ทั้ง Logistics Hub ทั้งศูนย์กลางขนส่งทางบก น้ำ อากาศ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมโน่นนี่เต็มไปหมด รวมไปถึงศูนย์กลางการท่องเที่ยว (ซึ่งต่อให้เอาพระนารายณ์ นาเหลี่ยมมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เห็นจะทำไม่ได้ตามที่วาดฝันกันไว้) เราชอบสนับสนุนบริษัทต่างชาติ บริษัทข้ามชาติ ให้เข้ามาลงทุนในไทย แต่เราไม่ใยดีกับบริษัท SME ของไทยที่พยายามกระเสือกกระสนให้อยู่รอดในประเทศของตัวเอง

เรายังไม่รู้ว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของเราสูงหรือต่ำ แล้วก็ยังไม่รู้ว่ามันควรจะสูงหรือต่ำกว่านี้ เราไม่รู้ว่าระบบรถไฟของเรามันตายสนิทแล้ว เพราะเรายังคงวาดฝันสวยหรูว่าระบบรถไฟ โครงข่ายรถไฟของเราจะพลิกฟื้นกลับมารุ่งโรจน์แบบหน้ามือเป็นหลังฝ่าพระบาทในเวลาอันรวดเร็ว เพียงเพราะมีอภิมหามิตรยอมทุ่มเงินมหาศาลมาช่วยโดยไม่หวังอะไรตอบแทน เราไม่รู้ว่าประสิทธิภาพที่แท้จริงควรจะอยู่ที่จุดไหน เพราะเราชอบลงทุนกับสิ่งที่จับต้องได้ เช่น คลังสินค้า รถบรรทุก ฯลฯ แต่เราไม่ชอบลงทุนกับซอฟแวร์ และไม่ชอบเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เราไม่เสียเปรียบเพื่อนบ้าน ในการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพราะรถบรรทุกของประเทศเพื่อนบ้านเราขนส่งทะลุประเทศเราไปไหนต่อไหนได้สาระพัด แต่รถของเราจะเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านนี่แสนลำบาก เราไม่รู้ว่าความร่วมมือ หรือ Collaboration ในภาคโลจิสติกส์ต้องทำอย่างไร เรารู้แต่ว่าถ้ามีคู่แข่ง ก็ตัดราคาแข่งกับมัน ขอให้ได้งานไว้ก่อน แล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า (บางรายก็ได้ตายสมใจ)

เราไม่รู้ว่าเราควรวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ของเราไปในทิศทางไหน แต่มหาวิทยาลัยของเราแย่งกันเปิดสอนหลักสูตรโลจิสติกส์กันเหมือนงานเทกระจาด ทั้งที่คนจะสอนก็ไม่มี อาจารย์บางท่านวิ่งรอกสอนกัน 4-5 มหาวิทยาลัยก็มี แล้วถ้าคนวางหลักสูตรมันคนเดียวกัน คนสอนมันก็คนเดียวกัน ข้อสอบมันก็เหมือนๆ กัน วิทยานิพนธ์มันก็เหมือนๆ กัน แล้วคนที่จบออกมามันจะมีอะไรที่แตกต่างกัน

ถึงแม้ว่าทั้งหมดข้างต้นจะเป็นจริง แต่เรายังมีความภาคภูมิใจอย่างเต็มเปี่ยม ว่าเรานี่แน่ที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้านเราทั้งหมด… ตื่นเถอะครับ!!!

ปัญหาใหญ่ของภาครัฐและเอกชนไทยส่วนใหญ่ของเราตอนนี้ ส่วนหนึ่งได้แก่การที่เราไม่รู้ว่าบทบาทของตัวเองควรจะเป็นอย่างไร ก็เลยพยายามสวมมันให้หมดทุกๆ บทบาทเลย ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป หน่วยงานวางแผนก็ไปออกแบบรายละเอียด หน่วยงานกำกับดูแลก็ไปก่อสร้าง มหาวิทยาลัยก็มาหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษา ที่ปรึกษาไม่รู้จะทำอะไรก็เลยไปเป็นอาจารย์ ส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชน พอสู้เขาไม่ได้ก็แบมือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว และเมื่อบทบาทมันผิดฝาผิดตัวไปหมด ยิ่งพยายามแก้ปัญหามันก็เลยยิ่งยุ่ง

โดยหลักการธรรมาภิบาล หน่วยงานภาครัฐจะมีบทบาทหลัก 3 ส่วน ได้แก่ การกำหนดนโยบายและวางแผน การนำแผนไปปฏิบัติ และการกำกับดูแล

ในส่วนของการกำหนดนโยบายและวางแผน จะรับบทบาทของการวางยุทธศาสตร์ วางแผนในภาพรวม วางแผนงานในด้านต่างๆ แล้วส่งต่อไปให้ส่วนของภาคปฏิบัตินำไปดำเนินการต่อ ซึ่งจะมีตั้งแต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไปจนถึงการให้บริการ โดยการให้บริการของภาครัฐนี้ ควรเน้นเฉพาะบริการที่ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ (เช่น การให้บริการรถโดยสารในพื้นที่ชนบทห่างไกล) หรือเป็นบริการที่ภาครัฐไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดโดยภาคเอกชนรายเดียวหรือน้อยราย (เช่น การขนส่งทางรถไฟในอดีต) หรือเป็นบริการที่ภาครัฐต้องการสร้างมาตรฐานการให้บริการ (เช่น รถโดยสารประจำทาง) และสำหรับส่วนการกำกับดูแล จะเปรียบเสมือนกรรมการที่เป็นกลาง ในการกำกับการให้บริการให้ได้คุณภาพ กำกับการแข่งขันระหว่างหน่วยงานปฏิบัติของรัฐกับผู้ประกอบการภาคเอกชน และระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วยกัน ให้เกิดความเป็นธรรมและสนองตอบความต้องการของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องสะท้อนถึงนโยบายของภาครัฐ โดยการกำกับดูแลอาจแบ่งตามสาขา เช่น ด้านพลังงาน ด้านโทรคมนาคม หรือด้านการขนส่ง (รูปที่ 1 ด้านซ้าย)

รูปที่ 1 บทบาทของภาครัฐและเอกชน : หลักการและความเป็นจริง

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ทั้งสามส่วนดังกล่าวจะต้องแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง ตามหลักการ Check and Balance และจะต้องทำหน้าที่สนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถให้บริการด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทั้งสามส่วนของภาครัฐจะต้องทำหน้าที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ และมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม กลไกดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเป็นระบบ และมีทิศทางที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ในความเป็นจริงทั้งสามส่วนนี้มันทับซ้อนกันไปมาอย่างอุตลุด (รูปที่ 1 ด้านขวา) และที่ร้ายก็คือหน่วยงานส่วนใหญ่ในแต่ละส่วนจะอยู่ในบริเวณที่ทับซ้อนกัน ในขณะที่ภาคเอกชนหลุดออกมาอยู่ด้านนอก โดยภาคเอกชนที่จะได้รับการดูแลช่วยเหลือจะได้แก่บริษัทขนาดใหญ่และมีเส้นสาย ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีเส้นสายก็จะถูกทิ้งให้เอาตัวรอดกันเอาเอง (แถมถูกไล่ล่าซ้ำเติมโดยสรรพากรอีกต่างหาก!!!) หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยทำตัวเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ (โดยเฉพาะหน่วยงานเจ้าของล้อเหล็กบนรางเหล็ก) ตัวเองไม่สามารถให้บริการที่ดีได้แต่ก็ไม่ยอมปล่อยให้เอกชนเข้ามาทำ ยังยืนหยัดให้บริการที่มีแต่สร้างความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการ หน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยไปก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือบริหารจัดการไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือใช้ผิดประเภทไปเลย เช่น ท่าเรือระนอง หรือ ICD ลาดกระบัง

บทบาทของภาครัฐที่ดีและถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลนั้น แต่ละหน่วยงานควรรู้กรอบที่ชัดเจนของตน ว่าอยู่ส่วนใดในสามส่วนข้างต้น และระมัดระวังการก้าวล่วงเข้าไปในบทบาทที่ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานของตน และที่สำคัญต้องไม่ก้าวล่วงเข้าไปทำในสิ่งที่ตนไม่มีศักยภาพ (แต่ถ้าหน่วยงานบางหน่วยไม่ทราบว่าตัวเองไม่มีศักยภาพก็คงแย่หน่อย) หน่วยงานระดับนโยบายและวางแผน ก็จะต้องมองที่ภาพรวม และรับฟังปัญหาของภาคเอกชน เพื่อที่จะได้วางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ และเป็นธรรมกับทั้งธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทไทย ส่วนหน่วยงานปฏิบัติ ก็ควรให้บริการอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของตัวเอง ไม่ใช่เห็นเอกชนทำแล้วมีกำไรก็ทำแข่ง สุดท้ายหายนะทั้งคู่ และสำหรับส่วนที่สำคัญที่สุด คือหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะต้องยึดบทบาทการสนับสนุนให้เอกชนประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม แต่ต้องไม่เข้าไปช่วยจนเกินขอบเขตของตน เพราะอาจทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน หรืออาจไปสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นอีก

และที่สำคัญ ภาคเอกชนก็ต้องรู้จักช่วยตัวเองด้วย ไม่ใช่ว่าจะแบมือขอรับเงินจากภาครัฐอย่างเดียว การเสพติดนโยบายประชานิยม หรือรัฐอุปถัมป์แบบสุดขั้วทำให้ประเทศกรีซล่มจมมาแล้ว ขออย่าให้เกิดที่เมืองไทย ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง พระสยามเทวาธิราชก็ช่วยไม่ได้ แต่การช่วยตัวเองก็ต้องทำอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วย ไม่ใช่เอะอะก็ติดสินบน ถ้าเราจะเอาอย่างประเทศอื่น ก็ควรเอาอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนร่วมใจกันขจัดการฉ้อราษฎร์ บังหลวง ซึ่งก็ทำให้ประเทศเขาสามารถเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด

You can leave a response, or trackback from your own site.

3 Responses to “บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของไทย”

  1. hector says:

    tieck@tents.unaided” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!…

  2. James says:

    chauffeured@ladle.kittis” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ!…

Leave a Reply