Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ

Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย

ศรัณย์ บุญญะศิริ

 ขณะนี้เรื่องของการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558 กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ไม่ว่าใครก็ต้องพูดถึง คำถามที่มักได้ยิน เช่น ผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจของไทยจะเป็นอย่างไร เราจะต้องปรับตัวอย่างไร เราจะแข่งขันกับผู้ประกอบการชาติอื่นๆ ในอาเซียนอย่างไร เราจะใช้ประโยชน์ของ AEC ในการแข่งขันกับผู้ประกอบการนอกกลุ่ม AEC ได้อย่างไร เราจะสร้างหรือดักมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขนส่งสินค้าหรือกระบวนการโซ่อุปทานที่มาผ่านประเทศไทยได้อย่างไร เราจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรุกตลาดในประเทศกลุ่ม AEC ฯลฯ คำถามเหล่านี้ล้วนอยู่ในใจของผู้ประกอบการธุรกิจทุกคน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของคำถามข้างต้นที่เรามักไม่ค่อยได้สนใจ โดยเฉพาะในวงการโลจิสติกส์ของไทยก็คือ “คน”

คน หรือบุคลากรในภาคโลจิสติกส์ของไทยเป็นต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่ของกิจกรรมโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งรวมถึงปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์สูงกว่าที่ควรจะเป็นด้วย (แม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าแล้วที่ควรจะเป็น มันอยู่ที่จุดไหน) แม้ว่าสภาพัฒน์ฯ จะได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยตั้งแต่ช่วงปี 2550 – 2554 โดยให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน แต่ผ่านมา 5 ปีกว่า การพัฒนาคนในภาคโลจิสติกส์ก็ยังไม่ได้รับการขับเคลื่อนไปเท่าที่ควร แถมนี่ก็ปี 2555 แล้ว ยุทธศาสตร์ในช่วงต่อไปยังไม่ประกาศเลย  

ในอดีตที่ผ่านมา บุคลากรในภาคโลจิสติกส์มักเป็นกลุ่มลูกเมียน้อยในองค์กร เพราะทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารมองว่าเป็นต้นทุนขององค์กร เพราะฉะนั้น เราจะได้ยินเสมอว่า ใครเกียจคร้าน ใครทำผิด ก็มักจะถูกลงโทษให้ไปประจำอยู่คลังสินค้า สุดท้ายคลังสินค้าก็จะกลายเป็นศูนย์รวมของคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีคุณค่าแก่องค์กร และนั่นก็ทำให้แผนกคลังสินค้ากลายเป็นต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรจริงๆ หรือหากกล่าวถึงพนักงานขับรถยกสินค้า หรือ Forklift ก็จะเห็นว่าใครที่ทำหน้าที่ขับรถยกสินค้า ก็จะต้องทำหน้าที่นั้นไปจนกว่าจะเกษียณ หรือออกไปทำงานอย่างอื่น

นั่นก็เพราะองค์กรผู้ประกอบการไม่เคยคิดที่จะสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลัวว่าจะต้องขึ้นค่าแรงให้ แต่ถ้ามาพิจารณาในทางกลับกัน ถ้าเราส่งเสริมให้เขาเหล่านั้นมีมาตรฐานในการประกอบอาชีพพนักงานขับรถยกสินค้า ให้เขามี Career Path ที่จะสามารถก้าวหน้าสูงขึ้นไปในองค์กร มีค่าจ้างที่เหมาะสมกับความสามารถ ก็จะทำให้เขามีความภูมิใจในอาชีพของเขา และเมื่อมีความภูมิใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของเขา ที่จะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลดีก็จะย้อนกลับไปสู่องค์กรในที่สุด

 หรืออีกกรณีหนึ่งได้แก่คนขับรถบรรทุก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราได้ยินคำว่าคนขับรถบรรทุก ทุกคนก็จะนึกถึงแต่นักเลงติดเหล้า ติดยาบ้า ชอบชนแล้วหนี คนขับรถบรรทุกเป็นอาชีพที่สังคมรังเกียจและดูถูกเหยียดหยาม ต่างจากกัปตันเครื่องบิน หรือกัปตันเรือ ที่เป็นอาชีพที่เชิดหน้าชูตาในสังคม ทั้งที่ ไม่ว่าจะเป็นกัปตันหรือคนขับรถบรรทุก ก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสินค้ามูลค่ามากมายเหมือนกัน หากเกิดความผิดพลาด เกิดอุบัติเหตุ หรือคนขับขโมยสินค้า ผลเสียก็จะเกิดแก่องค์กรโดยตรง แต่เนื่องจากเราไม่เคยมองเห็นคุณค่าของอาชีพคนขับรถบรรทุก ก็เลยไม่คิดที่จะทำให้เขาเหล่านั้น มีคุณค่า มีความก้าวหน้าในอาชีพของตน และเมื่อคนเราไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริหาร จากคนในองค์กร หรือแม้แต่คนในสังคม เขาเหล่านั้นก็จะไม่มีความภูมิใจในอาชีพของตน และไม่คิดที่จะพัฒนาศักยภาพของตน คนที่คิดจะก้าวหน้า ก็จะต้องออกจากอาชีพนี้ไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น คนที่ยังเหลืออยู่ในอาชีพนี้ ก็คือคนที่ไม่มีที่ไป หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะไปทำอย่างอื่น หรือมีศักยภาพในเชิงการฉ้อโกงองค์กร

ตัวอย่างข้างต้นเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ต้องไปโทษระบบ โทษกระบวนการ (Process) โทษเทคโนโลยีที่ล้าหลัง มนุษย์เรากันเองนี่แหละ คือสาเหตุที่แท้จริง คือรากเหง้าของปัญหา อันที่จริงการที่ประเทศไทยยังไม่เจริญ และถูกชาติอื่นแซงไปเรื่อยๆ ก็เพราะคนของเราเองทั้งนั้น การที่ประเทศจะเจริญได้ คนในประเทศต้องรู้จักคิด รู้จักแยกแยะชั่วดี ไม่ใช่เห็นแต่ผลประโยชน์ตรงหน้าจนลืมความถูกต้องของการได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้น จะต้องรอให้ประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ (หรือให้ประเทศตกอยู่ในกำมือของเผด็จการทุนนิยมโดยสิ้นเชิง) เสียก่อนหรือ เราจึงจะคิดได้

ย้อนกลับมาเรื่องคนในภาคโลจิสติกส์บ้าง การสร้าง Professionalism ในหมู่คนที่มีอาชีพด้านโลจิสติกส์นั้น ต้องประกอบด้วยแก้ว 3 ประการ ประการแรก คือองค์กรยอมรับ ประการที่สอง คือตัวเองยอมรับ และประการที่สาม คือสังคมยอมรับ

แก้วสามประการข้างต้น เปรียบเสมือนไก่กับไข่ คือบอกไม่ได้ว่าอะไรจะต้องเกิดก่อน แต่ Professionalism ต้องอาศัยการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้มาซึ่งแก้วทั้งสามประการ แก้วประการที่หนึ่ง องค์กรยอมรับ หมายถึงการที่องค์กรเจ้าสังกัดของคนโลจิสติกส์ต้องยอมรับว่าความอยู่รอดของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับบุคลากรด้านโลจิสติกส์ของตนด้วย และการยอมรับก็จะต้องสะท้อนด้วยการสร้างหนทางของความก้าวหน้าให้กับคนเหล่านี้ และต้องตอบแทนการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพของคนเหล่านี้ด้วยการทำให้เขาพออยู่พอกิน (หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ต้อง “อยู่ดีกินดี” ไปเลย)

ประการที่สอง ตัวเองยอมรับ นั่นก็หมายถึงตนเองต้องยอมรับในความมีตัวตนของตนเอง และภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ คนในภาคโลจิสติกส์ต้องตระหนักว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญต่อองค์กร เราคือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้องค์กรดำเนินไปได้ แม้ว่าบุคลากรด้านโลจิสติกส์จะไม่ใช่ฝ่ายผลิต หรือฝ่ายขาย แต่ถ้าไม่มีโลจิสติกส์ ฝ่ายผลิตก็จะไม่มีวัตถุดิบ ลูกค้า ก็จะไม่ได้รับสินค้า กิจการก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

ส่วนประการที่สาม สังคมยอมรับ อาจยากและใช้เวลานาน แต่จะทำให้คนในภาคโลจิสติกส์รู้สึกถึงการมีพื้นที่ให้ยืนในสังคม รู้สึกถึงการยอมรับว่าอาชีพโลจิสติกส์นั้น เป็นอาชีพที่สุจริต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

การมีแก้วครบทั้งสามประการ ทำให้ Professionalism เกิดขึ้นในหมู่คนในภาคโลจิสติกส์ และจะเป็นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาระบบ พัฒนากระบวนการ และพัฒนาเทคโนโลยี ทีนี้แล้วกลไกที่จะทำให้เกิดแก้วสามประการนี้ จะได้แก่อะไรบ้าง กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ มาตรฐานวิชาชีพ การสร้างมาตรฐาน คือการกำหนดเกณฑ์ในการวัด เกณฑ์ในการคัดกรองคนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ ให้อยู่ในองค์กร ให้มาพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน

 มาตรฐานวิชาชีพ ก้าวแรกของการเป็น Professional

ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) กำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสำหรับภาคโลจิสติกส์ ที่สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าที่กำหนดให้การให้บริการโลจิสติกส์เป็น 1 ใน 58 สาขาเร่งรัดการเปิดเสรี ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 แต่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการในแนวทางใหม่ ก็คือการให้ผู้ปฏิบัติจริงในภาคโลจิสติกส์มามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการร่างมาตรฐาน ซึ่งน่าจะทำให้มาตรฐานที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริง สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีกิจกรรมด้านโลจิสติกส์อยู่ในองค์กร

โดยได้มีการจัดหมวดหมู่ของกิจกรรมโลจิสติกส์ออกเป็น 5 หมวด ตามสภาพการปฏิบัติงานจริง ได้แก่ หมวดงานวิเคราะห์และวางแผน หมวดงานจัดซื้อและจัดหา หมวดงานจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง หมวดงานบริการลูกค้า และหมวดงานขนส่ง ซึ่งจะครอบคลุมกิจกรรมหลักต่างๆ ในกระบวนการโลจิสติกส์ทั้งหมด ทั้งนี้ ในแต่ละหมวด จะแบ่งออกเป็นสาขาอาชีพที่หลากหลายที่มี Career Path อยู่ภายในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละขั้นของ Career Path จะประกอบไปด้วยงานย่อยๆ ที่บุคลากรในขั้นนั้นๆ ต้องสามารถทำได้ และความรู้ที่จำเป็นในการทำงาน โดยกรมฯ และสมาคมฯ ได้เริ่มดำเนินการร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้วในสาขาอาชีพงานปฏิบัติการคลังสินค้า งานควบคุมสินค้าคงคลัง งานควบคุมรถยกสินค้าไม่เกิน 10 ตัน งานปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางถนน และงานบริหารการขนส่งทางถนน

อีกทั้งหลังจากยกร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโลจิสติกส์ขึ้นมาแล้ว จะต้องมีการจัดการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้มาตรฐานที่จัดทำขึ้นสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับได้ในวงกว้าง

มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโลจิสติกส์นี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ใช้บังคับผู้ประกอบการให้นำไปปฏิบัติ แต่เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เห็นประโยชน์จากการสร้างให้บุคลากรด้านโลจิสติกส์ในองค์กรมีมาตรฐานที่ค่อนข้างเป็นสากลได้นำไปใช้ ซึ่งจะเห็นว่ามาตรฐานดังกล่าว เป็นเพียงก้าวแรกในการพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ในประเทศกันอย่างจริงจัง และก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย หากผู้ประกอบการไม่นำไปใช้ ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการได้นำเอามาตรฐานฝีมือแรงงานด้านโลจิสติกส์นี้ไปใช้ ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการได้ยอมรับถึงบทบาทที่สำคัญของบุคลากรด้านโลจิสติกส์ในองค์กร ในขณะเดียวกันก็จะทำให้บุคลากรเหล่านั้น เห็นคุณค่าและอนาคตของตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถก้าวหน้าในสาขาอาชีพนั้นๆ ได้ และเมื่อมีการนำมาตรฐานไปใช้อย่างแพร่หลายแล้ว ก็เท่ากับสังคมให้การยอมรับสถานะของบุคลากรในภาคโลจิสติกส์ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีมาตรฐานแล้ว แต่มาตรฐานไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่บอกถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน ซึ่งทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านนี้ด้วย เพราะเป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เลือนหายไปจากคนไทย โดยถูกแทนที่ด้วยความเห็นแก่เงิน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโลจิสติกส์นั้น เป็นเพียงก้าวแรกของการสร้าง Professionalism ในบุคลากรภาคโลจิสติกส์ของไทย หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล กว่าจะก้าวไปถึงจุดที่ศักยภาพของคนเป็นฐานที่หนุนให้สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยลดต่ำลง ให้ประเทศสามารถเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค หรือแม้กระทั่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของ AEC แต่ถ้าเราไม่พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของคนในภาคโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วย ก็ยากที่คนของเราจะเข้าถึงความเป็น Professional ได้

หวังว่าคำพูดที่ว่า “ประเทศไทยมีดีทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือมีคนไทย…” คงไม่เป็นจริงในอนาคตอันใกล้

You can leave a response, or trackback from your own site.

9 Responses to “Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ”

  1. Dwight says:

    ille@burnet.abbreviations” rel=”nofollow”>.…

    good!!…

  2. George says:

    iodine@uninterested.banister” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî çà èíôó!!…

  3. Arturo says:

    upstate@peopled.rakestraw” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî çà èíôó….

  4. oscar says:

    kentfield@leland.centralizing” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ!…

  5. Calvin says:

    collecting@fergusson.darlene” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info!…

  6. Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ | Especiall says:

    Elvia Ohlmacher…

    I found a great……

  7. Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ | Especiall says:

    Private Proxy List…

    I found a great……

  8. Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ | Especiall says:

    Youtube Proxies…

    I found a great……

  9. Professionalism ในภาคโลจิสติกส์ของไทย ศรัณย์ บุญญะศิริ | Especiall says:

    Buy Cheap Proxy…

    I found a great……

Leave a Reply