ระบบโซ่อุปทานไทยกับวิกฤติน้ำท่วม

Thai Supply Chain and Flood Crisis
ระบบโซ่อุปทานไทยกับวิกฤติน้ำท่วม
ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมา พวกเราบริโภคข่าวสารด้านวิกฤติน้ำท่วมอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ข่าวสารในประเด็นอื่นๆ ที่สื่อต่างๆ เคยนำเสนอนั้นถูกตัดทอนหรือบางช่วงเวลาไม่มีปรากฏออกมาเลย แต่สิ่งที่ออกมาทางสื่อสารมวลชนต่างๆ กลับเป็นในมุมของความรุนแรงที่เกิดจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำท่วมสูงเท่าไหร่ น้ำจะมีโอกาสท่วมในพื้นที่ไหนบ้าง ระยะเวลาที่น้ำท่วมขังอยู่นานเท่าไหร่แล้ว การเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างไรบ้าง เป็นต้น สิ่งที่สื่อสารมวลชนนำเสนอออกมาเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงด้านความเสียหายเพียงด้านเดียว แต่ผมไม่พบการนำเสนอด้านระบบโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ หรือไม่มีหน่วยงานใดออกมาพูดถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาด้านโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้
วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ต้องบอกว่าระบบโซ่อุปทานได้รับผลกระทบอย่างมาก และระบบโซ่อุปทานเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับ แผนผังโซ่อุปทาน (Supply Chain Map) ที่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใช้ในการดำเนินการขาดออกจากกันอย่างรวดเร็วและกลับมาเชื่อมต่อกันไม่ได้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งระบบอย่างที่เราประสบกันอยู่ อาทิเช่น สินค้าอุปโภคบริโภคขาดตลาด เส้นทางสัญจรไปมาโดยเฉพาะทางถนนใช้งานไม่ได้ สถานที่ทำงานบางแห่งต้องปิดทำการชั่วคราว(ธนาคารพาณิชย์หลายสาขาปิดทำการ สถาบันการศึกษาเลื่อนการเปิดภาคการศึกษา ศูนย์กระจายสินค้าหลายแห่งปิดทำการหรือย้ายไปทำการที่อื่น ห้างสรรพสินค้าปิดทำการ เป็นต้น) ระบบสาธารณูปโภคใช้งานไม่ได้ในหลายพื้นที่ (ไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล น้ำประปาไม่สะอาด เป็นต้น) รวมถึงประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านพักอาศัยของตนเองไปพักชั่วคราว ณ ศูนย์พักพิงต่างๆ หรือพักตามต่างจังหวัด
สิ่งต่างๆ ข้างต้นเป็นปัญหาต่อระบบโซ่อุปทานของไทย สิ่งที่เคยปฏิบัติมาและได้ผลสัมฤทธิ์ในภาวะปกติ เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมขึ้นมา (ปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานเปลี่ยนแปลง) ไม่สามารถส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจได้เหมือนเช่นเคย เสมือนกับโซ่ที่เคยคล้องกันอย่างเป็นระบบและราบรื่น เริ่มมีบางห่วงโซ่ไม่สามารถทนกับสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นได้ก็จะเริ่มเกิดความล้าขึ้น (แต่ก็ยังพอจะทนไว้) แต่ยังคงเป็นสายโซ่อยู่แม้ว่าความแข็งแรงของของห่วงโซ่นั้นจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ตาม และเมื่อวิกฤติการณ์ยังคงไม่สามารถระงับลงได้ในเวลาไม่นานนัก ห่วงโซ่ที่ล้าและอ่อนแรงลงก็จะแตกออกจากสายโซ่ที่คล้องกันไว้ (ดังแสดงในภาพ) กิจกรรมต่างๆ ที่สอดประสานกัน (Connectivity) ก็ไม่สามารถส่งต่อถึงกัน กล่าวได้ว่าโซ่อุปทานขาดสะบั้น (Broken Supply Chain) ประชาชน สินค้า และบริการ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เช่นที่ผ่านมา

จากการขาดสะบั้นของระบบโซ่อุปทานในวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ สามารถอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกิจกรรมของระบบโซ่อุปทาน 5 กิจกรรมจาก SCOR Model – Supply Chain Operations Reference Model (ดังภาพที่แสดง)

ที่มา: http://help.sap.com/saphelp_bw33/helpdata/en/3b/75b648ff774be8e000080009457de6/content.htm
Plan – วางแผน เป็นกิจกรรมแรกของการบริหารระบบโซ่อุปทานที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญและละเอียดรอบคอบในการดำเนินการ หลายองค์กรมีแผนในการดำเนินการที่ใช้อยู่ แต่แผนที่ใช้ในการดำเนินการที่มีเป็นการวางแผนตามภาวะการณ์หรือสิ่งแวดล้อมปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม สภาพสังคม แต่ในสถานะการณ์วิกฤติน้ำท่วมปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดหาทรัพยากร (Sourcing Plan) แผนการผลิต (Making Plan) และแผนการจัดส่งหรือส่งมอบผลิตภัณฑ์ (Delivery Plan)
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและแก้ไขวิกฤติน้ำท่วมโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ (ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย-ศปภ.) ไม่ได้มีการปรับแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ทั้งประชาชนและผลิตภัณฑ์เลย ดังนั้น หากแผนงานที่ใช้อยู่ไม่สอดรับกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิบัติงานก็ดำเนินไปอย่างไม่เกิดประสิทธิผลตามความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป
แผนงานระบบโลจิสติกส์ที่กล่าวถึง ได้แก่ แผนระบบสินค้าคงคลัง แผนการจัดส่งประชาชนและผลิตภัณฑ์ แผนการกระจายสินค้า แผนการบริหารคลังสินค้า แผนกำลังพลด้านโลจิสติกส์ แผนความต้องการใช้อุปกรณ์ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งแผนต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลที่ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน (เราไม่สามารถใช้ข้อมูลเดิมๆ มาเป็นฐานในการวางแผน) ดังนั้น ผู้วางแผนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยากรณ์ความต้องการใหม่ (Updating Forecasted Customer Requirement) พยากรณ์เครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ (Updating Forecasted Machine Requirement) และต้องวางแผนเส้นทางการจัดส่งผลิตภัณฑ์ใหม่
ในส่วนของกิจกรรมวางแผนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเข้ามาดำเนินการ (แต่ที่ดูจากข่าวไม่พบบุคลากรด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานใน ศปภ.) เพราะเป็นการดำเนินงานวางแผนตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำถึงกิจกรรมปลายน้ำ
และหน่วยงานที่สามารถให้ข้อมูลพื้นที่ประสบภัยที่ดีมากหน่วยงานหนึ่งคือ ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้พื้นที่ต่างๆ ละเอียดมาก ควรอย่างยิ่งที่จะให้เข้ามาเป็นทีมวางแผน (แต่ไม่แน่ใจว่าได้เป็นทีมวางแผนหรือไม่)
Source – การจัดหาทรัพยากร เป็นกิจกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แม้ว่าแหล่งทรัพยากรที่เราใช้อยู่จะมีปัญหาน้ำท่วมหรือไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมก็ตาม เนื่องจาก
• ระยะเวลาการส่งมอบมากขึ้นกว่าเดิม
• แหล่งทรัพยากรที่ใช้อยู่ไม่สามารถผลิตและส่งมอบทรัพยากรได้
• พื้นที่การจัดเก็บของเราไม่เพียงพอ เนื่องจากความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วม
• ย้ายการผลิตสินค้าไปยังโรงงานพื้นที่อื่นๆที่ไม่ประสบวิกฤติน้ำท่วม
• ปริมาณความต้องการสินค้าที่เราผลิตขึ้นเปลี่ยนแปลงไป (อาจจะไม่ต้องการในช่วงเวลาวิกฤตินี้)
จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น เป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินการจัดหาทรัพยากรเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานขององค์กรใหม่ จะเป็นการเปลี่ยนปริมาณการจัดส่ง การจัดหาแหล่งทรัพยากรสำรอง การเจรจาต่อรองกับแหล่งทรัพยากรทั้งปัจจุบันและใหม่ (แหล่งทรัพยากรใหม่จะไม่สามารถเจรจาที่เราได้ผลประโยชน์เหมือนหรือใกล้เคียงกับแหล่งทรัพยากรเดิม) ซึ่งการจัดหาทรัพยากรในช่วงวิกฤติเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ด้านการจัดการทั้งองค์กร (Holistic Management) จะดำเนินการเฉพาะส่วนไม่ได้โดยเด็ดขาด และที่สำคัญการจัดหาทรัพยากรในช่วงวิกฤติน้ำท่วมหรือในช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติต้องมีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้
Make – การผลิต/การปฏิบัติการ กำลังการผลิตในช่วงวิกฤติน้ำท่วมลดลงหรือบางโรงงานไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ดังนั้น ความต้องการของผู้บริโภคต้องได้รับการจัดสรรตามกำลังการผลิตที่สามารถดำเนินการหรือที่เดินเครื่องได้อยู่ ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมเช่นนี้ การผลิตสินค้าออกสู่ตลาดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของความต้องการ และนำความต้องการของผู้บริโภคที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญมาวางแผนการผลิตใหม่เพื่อทำให้สินค้าออกสู่ตลาดได้ตามความต้องการมากที่สุดและกระทบกับความต้องการของผู้บริโภคน้อยที่สุด
หน่วยงานของรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำสินค้าที่จำเป็นออกสู่ตลาด นั่นคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย เมื่อพิจารณาจากปัจจัย 4 สินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติน้ำท่วมสองลำดับแรกได้แก่ อาหารและยารักษาโรค เนื่องจากเครื่องนุ่งห่มนั้นประชาชนสามารถนำติดตัวในขณะอพยพได้เป็นส่วนใหญ่ จะมีบางรายที่นำติดตัวมาไม่ทัน แต่ที่สำคัญสินค้าเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าที่มีจัดเก็บไว้ได้ (Inventory) เนื่องจากสามารถเก็บไว้นาน (เว้นแต่สินค้าประเภทแฟชั่น) ในขณะที่สินค้าประเภทที่อยู่อาศัย สามารถใช้สถานที่ราชการเป็นที่พักชั่วคราวได้ และอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านหลังวิกฤติน้ำท่วมก็มีความจำเป็นใช้ตามมาทีหลัง
ดังนั้น สินค้าอาหารและยารักษาโรคทั้งสองประเภทนี้จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างรัดกุมและมีการติดตามอย่างกระชั้นชิด หน่วยงานรัฐต้องออกสำรวจแหล่งผลิตหรือนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ว่าสามารถจัดสรรการผลิตไปยังแหล่งผลิตต่างๆ ได้อย่างไรจึงจะสามารถบรรเทาความคลาดแคลนสินค้าที่จำเป็นนี้ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากแหล่งผลิตทั้งประเทศไม่ใช่ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมทุกพื้นที่
การผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิเช่น เรือ รองเท้าบู้ท เสื้อชูชีพ แผ่นโฟม เป็นต้น ต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าที่หนึ่งขาดแคลน อีกที่หนึ่งเหลือหรือเกินความจำเป็น
หากได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางขึ้นมา จะทำให้สามารถจัดสรรกำลังการผลิตได้อย่างตรงตามความจำเป็น แต่ที่ผ่านมาเหมือนต่างคนต่างทำ
Deliver – การจัดส่ง/ส่งมอบ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อกิจกรรมอื่นๆ ในระบบโซ่อุปทานอย่างมากในช่วงของวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางการขนส่งของประเทศไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นการขนส่งทางถนน ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมเส้นทางถนนจนรถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทำให้กิจกรรมการจัดส่งทั้งประชาชนและสินค้าได้รับผลกระทบตามมาอย่างมาก
ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เส้นทางสายหลักถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางได้ เช่น สายเอเชีย ทางหลวงช่วง อ.วังน้อย จ.อยุธยา สายสุวินทวงศ์ เป็นต้น เมื่อเส้นทางถูกตัดขาดการเชื่อมต่อของสินค้าจากแหล่งวัตถุดิบไปยังแหล่งผลิตและส่งต่อไปยังแหล่งผู้บริโภค ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อได้เช่นเดิม หรือแม้แต่สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑลก็เกิดน้ำท่วมจนไม่สามารถปฏิบัติการได้
เมื่อเส้นทางถูกตัดขาด สินค้าไม่สามารถจัดส่งตามกำหนดเวลาเดิม ส่งผลให้สินค้าในตลาดเริ่มขาดแคลนโดยเฉพาะสินค้าบริโภค (อาทิเช่น อาหารแห้ง น้ำดื่ม ไข่ไก่ เป็นต้น) และทำให้ประชาชนเริ่มวิตกกังวลว่าจะไม่สินค้าเพียงพอจึงเริ่มกักตุนสินค้าที่จำเป็น เราจะพบว่าร้านจำหน่ายสินค้าบางแห่งไม่มีสินค้าในชั้นวางเลย
ปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่จัดการแก้ไขปัญหา คือการสร้างถนนชั่วคราว (Temporary Road) หรือสะพานชั่วคราว (Bearing Bridge) ในช่วงที่น้ำท่วมขังระยะทางไม่ยาวนัก เช่นช่วง อ.วังน้อย โดยการก่อสร้างชั่วคราวชนิดที่ไม่ขวางทางน้ำ จะเป็นการสร้างสะพานชั่วคราวคร่อมทางน้ำ หรือวางท่อให้น้ำผ่านแล้วสร้างทางชั่วคราวด้านบน เพื่อให้เส้นทางไม่ถูกตัดขาด
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือหน่วยงานรัฐต้องรักษาและป้องกันเส้นทางสายหลัก 4 เส้น ของประเทศไทยไม่ให้ขาด นั่นคือ สายพหลโยธิน (ที่เชื่อมต่อไปยังภาคเหนือ) สายมิตรภาพ (ที่เชื่อมต่อไปยังภาคอีสาน) สายสุขุมวิท (ที่เชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก) และสายเพชรเกษม (ที่เชื่อมต่อไปยังภาคใต้) และหากเกิดน้ำท่วมเส้นทางต้องเร่งดำเนินการสร้างถนนชั่วคราวและสะพานชั่วคราวขึ้นมาโดยด่วนเพื่อไม่ทำให้การเชื่อมต่อของกิจกรรมโซ่อุปทานขาดสะบั้นไป
Return – การส่งคืน กิจกรรมนี้ดูเหมือนไม่สำคัญในช่วงวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่เป็นกิจกรรมที่หากนำมาใช้อย่างถูกที่ถูกเวลาจะเป็นประโยชน์และช่วยกิจกรรมอื่นๆ ข้างต้นได้อย่างมาก แต่ไม่ได้รับการนำมาใช้เท่าที่ควรหรือไม่ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนี้
จากที่กล่าวข้างต้นแหล่งทรัพยากรและแหล่งผลิตต้องถูกโยกย้ายตามสถานการณ์ของวิกฤติน้ำท่วม ดังนั้น การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและสินค้าก็ถูกเคลื่อนย้ายด้วย ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากการขนส่งเที่ยวกลับมาเป็นการขนส่งสินค้าที่จำเป็นก็จะเป็นการเพิ่มกำลังการขนส่งสินค้าได้มากทีเดียว (หากสามารถวางแผนเที่ยวกลับได้อย่างเป็นระบบและมีศูนย์กลางของข้อมูลในการวางแผนเที่ยวกลับจะเป็นการเพิ่มกำลังการขนส่งได้มากขึ้น)
วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ประเทศสูญเสียทั้งทรัพยากรและโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ทุกภาคส่วนในประเทศควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการทั้งเชิงรุกและเชิงรับกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ และแนวทางที่ผมขอเสนอในส่วนของระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีก
1. การสร้างเส้นทางขนส่งรูปแบบอื่นให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น มากกว่าการฝากการขนส่งของประเทศไว้กับรูปแบบการขนส่งทางถนนเป็นหลักเพียงรูปแบบเดียว เส้นทางภาคเหนือและภาคอีสานควรพัฒนาการขนส่งทางรถไฟให้มีความพร้อมในการให้บริการ และเส้นทางภาคใต้ควรที่จะพัฒนารูปแบบการขนส่งทางน้ำหรือเรือชายฝั่งให้มีความชัดเจนมากกว่าปัจจุบันนี้
2. ต้องนำการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน (Supply Chain Risk Management) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมโดยรวมของประเทศ และต้องสร้างแผนการจัดการความเสี่ยงในภาสะการณ์ต่างๆขึ้นมาพร้อมกับการฝึกปฏิบัติเพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง
3. ต้องทบทวนแผนการจัดการน้ำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความผิดพลาดในประเด็นใดบ้าง และนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาสร้างแผนปฏิบัติการที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ (ไม่ควรมีแผนรับมือเพียงแผนเดียว)
4. ต้องนำเครื่องมือประมาณการ *Forecasting Tools) ที่มีความแม่ยำมาใช้ เพื่อให้การประมาณการไม่ต่ำกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากเกินไป (Underestimation)
5. ควรนำบุคลากรด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมวางแผนรองรับและเตรียมการรับมือกับวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น
6. ต้องบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ (Information) ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อนำข้อมูลสารสนเทศนั้นมาวางแผนได้อย่างถูกต้อง
7. ต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology; IT) มาใช้ในการบริหารจัดการ
อย่าให้วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้หายไปตามระดับน้ำที่ลดลงไปเลยครับ เพราะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดวิกฤติทางธรรมชาติขึ้นมาอีก บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงมหาศาลนะครับ

You can leave a response, or trackback from your own site.

4 Responses to “ระบบโซ่อุปทานไทยกับวิกฤติน้ำท่วม”

  1. christopher says:

    pivotal@attraction.perch” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ çà èíôó!!…

  2. ron says:

    irrigating@trimble.panes” rel=”nofollow”>.…

    good….

  3. andrew says:

    solo@describes.autumnal” rel=”nofollow”>.…

    tnx for info….

  4. Alfredo says:

    sleeping@iodinate.wounding” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî çà èíôó!!…

Leave a Reply