“ปัจจัยการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยประยุกต์ใช้เทคนิค AHP”

“ปัจจัยการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยประยุกต์ใช้เทคนิค AHP”
อรรถพล เรืองกฤษ1, ศ.ดร.กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ1
Logistics Management Program, Graduate School,
Chulalongkorn University, Thailand

การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้นกว่าในอดีต แต่มาตรการกีดกันทางการค้ามิได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังมีการพัฒนามาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนจากการใช้มาตรการกีดกันโดยใช้ภาษีเป็นการกีดกันที่มิใช่ภาษี เช่นการกำหนดมาตรฐานสินค้า ตลอดจนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงาน เป็นต้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดของเสียในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการบริโภคนั่นก็คือ “บรรจุภัณฑ์”
โดยประมาณร้อยละ 30 ของขยะพบว่าเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บรรจุภัณฑ์จึงถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด “ปัญหาขยะล้นเมือง” เนื่องจากยากต่อการทำลาย และในขั้นตอนการทำลายจะทำให้เกิดมลภาวะได้ และจากสถาบันยุทธศาสตร์การค้าพบว่าในปี 2550 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากบราซิล ด้วยเหตุนี้เองอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงมีความสำคัญกับการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับครัวเรือนกว่าแสนครอบครัว
ดังนั้นการพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออก จึงเป็นแรงเสริมหนึ่งที่จะพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาปัจจัยที่เป็นแรงผลักดัน และแรงส่งเสริมให้องค์กรนำแนวทางการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศ รวมถึงงานวิจัยนี้ได้สรุปให้เห็นถึงแนวทางปรับปรุงบรรจุภัณฑ์น้ำตาลให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ขั้นตอนการวิจัยเริ่มต้นด้วยการวิจัยเชิงเอกสาร เพื่อหาข้อมูลพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์น้ำตาล และข้อมูลด้านการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ด้านคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ เกณฑ์ด้านการออกแบบ และท้ายสุดคือเกณฑ์ด้านความร่วมมือระหว่างองค์กร จากนั้นได้ทำการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจาก 3 กลุ่มได้แก่ (1) กลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำตาล (2) กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล (3) กลุ่มผู้ค้าปลีกน้ำตาล แล้วนำข้อมูลมาสังเคราะห์โดยใช้เทคนิค AHP (Analytical Hierarchy Process) และ การวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาค่าเฉลี่ย และทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้านขนาดขององค์กรกับปัจจัยผลักดัน/ส่งเสริมต่างๆ ก่อนที่จะสรุปผลการวิจัยทั้งหมด
ผลการศึกษา
วัตถุประสงค์แรกของงานวิจัยนี้คือต้องการศึกษาปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันทั้งภายในและภายนอก ในการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์น้ำตาลให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ผลการวิจัยสามารถแบ่งปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันทั้งปัจจัยภายในองค์กร และภายนอกองค์กรออกเป็น 3 ระดับคือ
(1) ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันระดับมากที่สุด ก็คือองค์กรมีความต้องการที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
(2) ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันระดับมาก
a. คู่ค้าดำเนินกิจกรรม Green Supply Chain จึงส่งผลให้องค์กรปรับตัวตาม
b. ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
c. องค์กรมีนโยบายให้เป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
d. ส่งเสริมนโยบายให้มีการสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐ
e. กฏ ระเบียบ และข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ
(3) ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันระดับปานกลาง
a. การดำเนินกิจกรรม Green Supply Chain เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
b. นโยบาย สร้างความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า เพื่อลดปัญหาด้านการกีดกันทางการค้า
c. โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐบาล
d. องค์กรมีเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14001
e. บุคลากรในองค์กรมีศักยภาพในการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม
f. องค์กรมีเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงวัสดุ บรรจุภัณฑ์
g. การเรียกร้องจากสังคม สื่อ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ
ดังนั้นถ้าจะต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวให้เกิดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจะต้องได้รับแรงผลักดันต่างๆอย่างต่อเนื่องและ แรงผลักดันจะส่งผลมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับระดับของแรงผลักดันดังกล่าวที่ได้สรุปไว้ข้างต้น

วัตถุประสงค์ข้อที่สองก็คือต้องการศึกษาแนวทางการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยอาศัยเทคนิคกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (AHP: Analytical Hierarchy Process) ผลการวิจัยพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำปัจจัยด้านต่างๆไปปรับปรุงบรรจุภัณฑ์น้ำตาลขนาดบรรจุ 1 กิโลกรัมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ถึง 0.64 หรือ ร้อยละ64 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลำดับความสำคัญพบว่า
ปัจจัยอันดับแรกที่ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญ ก็คือราคาวัตถุดิบที่นำในกระบวนการผลิต พบว่าต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์น้ำตาลในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.63 ของราคาต้นทุนสินค้า ดังนั้นการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงบรรจุภัณฑ์น้ำตาลให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ราคาบรรจุภัณฑ์นั้นต้องไม่สูงกว่าร้อยละ 3 ทางกลุ่มผู้ผลิตจึงจะสามารถยอมรับได้เพราะว่าน้ำตาลเป็นสินค้าที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาสูง อีกทั้งเป็นสินค้าควบคุมจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ที่จะไม่สามารถขึ้นราคาตามกลไกของตลาดได้ แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรด้วย
นอกจากปัจจัยต้นทุนดังกล่าวแล้ว คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำตาลมีอายุการเก็บรักษาค่อนข้างจะยาวนาน กอรปกับการขนส่งและการเก็บรักษาจะต้องเผชิญต่อแรงกระแทกและความชื้น ดังนั้นถ้าบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถทนต่อแรงกระแทก และการซึมผ่านของอากาศรวมทั้งความชื้นได้ จะส่งผลให้ถุงเกิดการฉีกขาด หรือน้ำตาลมีการจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวจะมีผลต่อรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
แต่อย่างไรก็ตามการใช้วัตถุดิบทางเลือกก็ยังเป็นประเด็นที่ทางกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญอยู่ในลำดับที่สาม แต่ทว่าบรรจุภัณฑ์ทางเลือกจะต้องมีราคาหรือคุณภาพด้านการใช้งานที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อการรักษาต้นทุนการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งน้ำตาลเป็นสินค้าที่ทางกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการที่จะควบคุมราคา ดังนั้นถ้าต้นทุน การผลิตสูงขึ้นจะทำให้ผลกำไรลดลง
ปัจจัยลำดับต่อมาที่ทางกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญรองลงมานั้นก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตซึ่งปัจจัยนี้ทางกลุ่มผู้ผลิตมีความเห็นว่าการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบหรือแม้กระทั่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่อาจมีผลต่อกระบวนการผลิต ทั้งด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ขั้นตอนการผลิตที่มีเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั้งวิธีการผลิตที่เปลี่ยนไป จึงส่งผลต่อราคาต้นทุนของบรรจุภัณฑ์
แต่งานวิจัยนี้ยังได้ชี้ให้เห็นว่าทางผู้ผลิตยังตระหนักถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการให้คะแนนความสำคัญในการลงทุนเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นอันดับที่สี่ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่จะมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นการลงทุนเพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องหาความคุ้มค่าทางการลงทุนด้วย
วิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ยังเป็นวิธีการที่สามารถปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องใช้วัตถุดิบทางเลือกหากเพียงแต่ออกแบบให้สามารถ Reused หรือ Refilled ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นแนวความคิดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตดังตัวอย่างเช่น ทางผู้ผลิตน้ำตาลออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถบรรจุน้ำตาลได้หลายครั้ง และติดตั้งเครื่องจ่ายน้ำตาลตามจุดต่างๆ เช่น Hypermarket และ Supermarket เมื่อผู้บริโภคต้องการเพียงแต่นำบรรจุภัณฑ์นั้นไปเติมที่จุดจ่ายน้ำตาล
วิธีการนี้อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคบ้าง แต่ถ้ามองนำมุมของผู้ผลิตแล้ว จะเป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์หน่วยย่อย ซึ่งเป็นผลดีทางด้านลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ และต้นทุนเรื่องค่าขนส่งได้ เนื่องจากการขนส่งอาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นการขนส่งขนาด 1,000 kg จึงสามารถประหยัดถุงบรรจุภัณฑ์ขนาด 1 kg ได้ถึง 1,000 ถุง ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรจุภัณฑ์ของสหประชาชาติที่ว่า “นอกจากเรื่องคุณภาพของบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังมีเรื่องของค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา จึงเป็นผลให้ปัจจัยในการผลักดันให้มีการใช้เครื่องมือ และเครื่องทุ่นแรงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นระบบการขนส่งหน่วยใหญ่ (Unit Load System) และการจัดจำหน่ายแบบช่วยตัวเอง (Self Sercive) เริ่มเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมสูงขึ้น นอกจากนั้นการที่ประชากรมีความรู้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะส่งผลให้สินค้าที่จำหน่ายต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับความสะดวกในการใช้สอยและความสวยงาม”
ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อราคาเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน แต่ในปัจจุบัน การลงทุนดังกล่าวอาจยังไม่คุมค่าที่จะลงทุน ทางผู้วิจัยจึงเสนอเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ในอนาคต
ลำดับถัดไปการออกแบบใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco- design) ได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น ดังที่จะเห็นจาการจัดการการประกวด, การออกแบบที่ให้นิสิต/ นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นการปลูกจิตสำนึกต่อเยาวชน และบุคคลในสังคมให้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างเช่น การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์น้ำตาลซึ่งต่างออกไปจากเดิมจึงเป็นประเด็นที่ทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลหันมาสนใจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้แล้ว การมีข้อตกลงเรื่องแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่ง ความร่วมมือระหว่างองค์กรทีจะลดปริมาณของเสียระหว่างผลิตมีความสำคัญรองลงมา เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตก็มีนโยบายที่จะลดปริมาณของเสียระหว่างผลิตอยู่แล้วเพียงแต่จะต้องเพิ่มข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการตกลงกับคู่ค้าว่าการทำธุรกิจต้องได้รับมาตรฐานอุสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เพื่อที่จะให้ทุกส่วนมีจิตสำนึกที่จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการกดดันให้ผู้ที่ไม่มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งการใช้กลยุทธ์ในการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ จากการอ่านบทความด้านกลยุทธ์การจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพบว่ากลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ส่งมอบ เนื่องจากผู้ส่งมอบสามารถกระทำได้โดยเพียงแค่เปลี่ยนแปลงส่วนผสมของสินค้าและบริการเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามระดับสูงสุดที่มีผลต่อกลยุทธ์ด้านความร่วมมือซึ่งได้แก่ความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งมอบในประเด็นพฤติกรรมของผู้ส่งมอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากผู้ซื้อ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยนี้ที่บ่งชี้ว่าปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันที่อยู่ในระดับสูงคือ องค์กรต้องการที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และตระหนักถึงแรงกดดันจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
และจากผลการวิจัยยังพบว่า การออกแบบเพื่อลดจำนวนหมึกพิมพ์ หรือแม้กระทั่งการนำสีพื้นฐานน้ำมาใช้นั้นไม่เป็นที่ถูกใจกับกลุ่มตัวอย่างมากนัก เนื่องจากการลดจำนวนหมึกพิมพ์ทำให้ความน่าดึงดูดใจในตัวสินค้าลดลง และการใช้สีพื้นฐานน้ำมาใช้นั้นอาจส่งผลต่อการเก็บรักษาสินค้า
และเพื่อให้แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทางผู้วิจัยจึงได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการวิจัยข้อสุดท้ายก็คือ ต้องการศึกษาว่าปัจจัยที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและสนับสนุน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ทางภาคอุตสาหกรรมต้องการการสนับสนุนด้านการวิจัยในการนำวัตถุทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยงานวิจัยจะต้องทำให้สามารถใช้ได้จริงในระบบอุตสาหกรรม และคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ตรงกับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์น้ำตาล นอกจากนี้แล้วยังเป็นการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียน และลดการพึ่งพาการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ อีกทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานการใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมดจะเป็นการส่งเสริมให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาดีและยังเป็นการช่วยเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ยังไม่มีประสิทธิภาพพอทางภาคเอกชนก็ขอการสนับสนุนด้านการลดภาษีด้านการนำเข้าวัตถุดิบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศจากภาครัฐ เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากการสนับสนุนการวิจัยและวัตถุดิบดังกล่าวแล้ว ยังต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้ผู้ผลิตพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิตได้เอง โดยที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับขีดความสามารถที่ตนมี ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ความคู่กันไปกับการศึกษาในห้องปฏิบัติการ
นอกจากนโยบายด้านการสนับสนุนแล้วจากการวิเคราะห์ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยของที่ย่อยสลายยากสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรงโดยที่ไม่ผ่านการย่อยสลายเบื้องต้นก่อน ดังตัวอย่างของต่างประเทศ
ตัวอย่างมาตรการและกฏระเบียบต่างๆเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ในประชาคมโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นการลดปริมาณขยะเป็นสำคัญดังเช่น
- ในสหภาพยุโรปได้ออก European Parliament and Council Directive 94/62/EC of December 1994 on Packaging and Packaging Waste มีผลทำให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปจะต้องออกกฎหมายภายในประเทศของตนให้สอดคล้องกัน ซึ่งยังส่งผลต่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ส่งมาขายจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกที่เข้ามาขายในตลาดยุโรปด้วย ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว
- ประเทศเยอรมันก็มี The Ordinance on the Avoidance of Packaging Waste มีผลบังคับใช้กับสินค้าที่วางจำหน่ายในเยอรมัน
- ประเทศฝรั่งเศสได้มีการออกข้อบังคับที่เรียกว่า Packaging Ordinance (decree No.32-977)
- ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์คได้กฏหมายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม The Environment Protection Act 1990, The Packaging Covenant 1991 และ Packaging Decree 1997 ตามลำดับ
ซึ่งจากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการพัฒนากฏหมายเพื่อให้มีการจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือตัวบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะส่งผลด้านบวกต่อประเทศไทยดังนี้
- ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงโดยผ่านกลยุทธ์ทางการตลาด และเป็นหนทางหนึ่งในการที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดภายในประเทศ
- ประโยชน์ด้านการค้า จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าที่มีฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมีความได้เปรียบในเชิงการค้าในตลาดที่นิยมบริโภคสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว และการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการมีเหตุผลอันสมควรที่จะอ้างการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่จะป้องกันตัวเอง ในกรณีที่ประเทศคู่ค้าจะนำเรื่องฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า
ส่วนระดับความต้องการระดับปานกลางที่จะได้จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น การกีดกันการส่งออกสำหรับผู้ผลิตที่ไม่ได้จัดทำระบบคุณภาพ และการให้ความสำคัญต่อ Carbon credit จากงานวิจัยพบว่าจะมีผลต่อองค์กรที่มีทุนจดทะเบียนขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งความต้องการสองสิ่งนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับองค์กรที่มีขนาดเล็ก แต่ก็ต้องกระทำควบคู่กันไป นอกจากนี้ความต้องการในด้านการสนับสนุนมาตรการลดภาษีส่งออก สำหรับผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั้งการสนับสนุนให้ธุรกิจ บรรจุภัณฑ์ให้ความสำคัญในการจัดทำระบบคุณภาพ สามารถใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดที่ให้ความสำคัญ
ผลที่ได้รับจากการวิจัยในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล รวมถึงผู้ที่สนใจในเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมทราบถึงแนวทางและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่ผู้อ่านสนใจ นอกจากนี้ยังทราบว่าปัจจัยใดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรธุรกิจ ในด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

You can leave a response, or trackback from your own site.

10 Responses to ““ปัจจัยการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยประยุกต์ใช้เทคนิค AHP””

  1. gerard says:

    doggedly@seaton.interact” rel=”nofollow”>.…

    сэнкс за инфу….

  2. Phillip says:

    crickets@uneasiness.vagrant” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ….

  3. orlando says:

    reverberations@irene.ave” rel=”nofollow”>.…

    good info!!…

  4. Byron says:

    frescoed@worries.anthony” rel=”nofollow”>.…

    ñïàñèáî çà èíôó!!…

  5. Tony says:

    urged@bric.pong” rel=”nofollow”>.…

    good!!…

  6. herman says:

    geographically@palindromes.finnish” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðåí!!…

  7. “ปัจจัยการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดภsays:

    Buy Fast Private Proxies…

    I found a great……

  8. “ปัจจัยการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดภsays:

    Buy Cheap Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply