โซ่อุปทานเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ

 

Kunming-Bkk Supply Chain Route 

โซ่อุปทานเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

                ผมเดินทางนำคณะผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ” ผู้นำโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม” เพื่อศึกษาสำรวจเส้นทาง R3E ไทย-ลาว-จีนตอนใต้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการเดินทางที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 วัน 5 คืน เนื่องจากเป็นการเดินทางทางถนนจากเชียงรายถึงคุนหมิง จากนั้นถึงจะกลับโดยเครื่องบินจากคุนหมิงมายังกรุงเทพ

เส้นทางจากเชียงรายไปจีนตอนใต้ที่คณะเราเดินทางไปคือการผ่านประเทศลาว แต่ยังมีเส้นทางอีก 2 เส้นทางคือ R3W (เส้นทางผ่านพม่าที่ด่านแม่สาย เชียงตุง เมืองลา เข้าประเทศจีนที่ต้าล่อ ผ่านเมืองไฮ ไปสิบสองบันนา และคุนหมิง) และเส้นทางทางน้ำ (แม่น้ำโขง) จากท่าเรือเชียงรุ้ง ถึงท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย โดยระยะทางทั้งสามเส้นทางใกล้เคียงกันประมาณ 900 กว่ากิโลเมตร  

เส้นทางเชียงราย-คุนหมิง 

 

ผมได้เดินทางไปก่อนคณะ 1 วัน เพื่อพบเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย และนักธุรกิจชาวพม่า ณ ท่าชี้เหล็ก พม่า ได้ข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณบันฑิต ตะเอ้กา หัวหน้าฝ่ายพรมแดน ด่านศุลกากรแม่สาย มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2553 ประเทศไทย ได้ดุลการค้า 12,619.18 ล้านบาท จากด่านพรมแดน 3 แห่ง ของจังหวัดเชียงราย โดยด่านพรมแดนแม่สายมีมูลค่าส่งออกมากที่สุดในขณะที่ด่านพรมแดนเชียงของมีมูลค่านำเข้าสูงที่สุด ดังแสดงในตาราง

ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2553

ด่านพรมแดน  นำเข้า  ส่งออก  รวม  ดุลการค้า 
ด่านแม่สาย 153.36 6,724.19 6,877.56 +6,570.82
ด่านเชียงแสน 1,057.39 5,630.20 6,687.59 +4,572.81
ด่านเชียงของ 1,731.28 3,206.83 4,938.11 +1,475.55
รวม  2,942.04 15,561.22 18,503.26 +12,619.18

ที่มา: ด่านศุลกากรแม่สาย ด่านศุลกากรเชียงแสน และด่านศุลกากรเชียงของ (โดยคุณบัณฑิต ตะเอ้กา)

มูลค่าการค้าระหว่างไทยและพม่าประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท (ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าประมาณร้อยละ 4 ถึง 5 ของมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ) แต่ในมูลค่าการค้าระหว่างไทยและพม่ากว่าร้อยละ 60 เป็นสินค้าก๊าซ (จัดส่งทางท่อ)

จากข้อมูลที่ได้จากคุณบัณฑิต ตะเอ้กา สร้างความอยากรู้ว่าที่ผ่านมาในแต่ละด่านพรมแดนมีการนำเข้า-ส่งออกเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ผมสืบค้นจากเว็บไวต์ของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2553 ได้ข้อมูลตามแผนภาพและตาราง พบว่าด่านเชียงแสนมีมูลค่าการส่งออกสูงมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2552 แต่ในปี พ.ศ.2553 มูลค่าการส่งออกผ่านด่านแม่สายสูงกว่าอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าของด่านเชียงของมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมากกว่าด่านอื่นๆ ของ จ.เชียงรายใน พ.ศ.2553 ส่วนมูลค่าการนำเข้าด่านแม่สายมีแนวโน้มลดลงและด่านเชียงแสนกลับมีแนวโน้มที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่าทางจีนเริ่มให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3E มากขึ้น ดังนั้นหากสะพานข้ามแม่น้ำโขง ณ เชียงของแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้ใช้มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของด่านเชียงของจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ (ปัจจุบันสะพานยังไม่แล้วเสร็จ การขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงใช้ทางเรือแพขนานยนต์ การขนส่งผู้โดยสารใช้เรือหางยาว)

การเคลื่อนย้ายสินค้าของเส้นทางต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโซ่อุปทาน(Changes in Supply Chain) อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ดำเนินการกิจกรรม ลักษณะผู้ดำเนินการกิจกรรม ประเภทกิจกรรม ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม รูปแบบการตรวจติดตามกิจกรรม ระบบข้อมูลสารสนเทศของกิจกรรม และระบบเงินทุนของกิจกรรม

การขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงใช้ทางเรือแพขนานยนต์ 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่ได้พบ ณ ด่านศุลกากรแม่สาย ที่ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจากคุณบัณฑิต ตะเอ้กา นั่นคือ สติ๊กเกอร์ติดรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ที่เข้าออกด่านแม่สาย ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารรถผ่านเข้า-ออกด่านแม่สายในลักษณะประจำ สติ๊กเกอร์ดังกล่าวจะมีแถบบาร์โค้ดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของด่านแม่สายตรวจผ่านด้วยการใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด วิธีการปฏิบัติงานนี้ส่งผลให้การตรวจรถเข้า-ออกที่มีปริมาณมากสามารถดำเนินการได้อย่างเร็วขึ้น (ปริมาณรถที่ผ่านเข้า-ออกด่านแม่สายไม่แออัดอย่างเช่นที่ผ่านมา) สามารถใช้ข้อมูลจากการปฏิบัติงานอ่านบาร์โค้ดเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณการเข้าและออกของรถในแต่ละช่วงเวลา (การดำเนินงานนี้เป็นสิ่งที่ด่านศุลกากรแม่สายคิดและทำขึ้นมาเอง) การจัดการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกลักษณะกิจกรรม

สติ๊กเกอร์ผ่านเข้า-ออกด่านแม่สายสำหรับรถจักรยานยนต์(สีทอง-น้ำตาล)

 

สติ๊กเกอร์ผ่านเข้า-ออกด่านแม่สายสำหรับรถยนต์(สีน้ำเงิน-น้ำตาล)

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจยานพาหนะผ่านเข้า-ออก

การเคลื่อนไหลของสินค้าจากจีนตอนใต้มายังประเทศไทย(ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภายในประเทศไทยหรือผ่านประเทศไทยสู่ประเทศอื่น)เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงให้ครอบคลุมตลอดโครงสร้างของการไหลในแต่ละสินค้า รวมทั้งต้องสร้างมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องให้พร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ โซ่อุปทานเส้นทางนี้เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน(แต่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับการสร้างมาตรการรองรับ) สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรอย่างยิ่งคือการเข้าใจโซ่อุปทานปัจจุบัน (As Is) ของผลิตภัณฑ์หรือของอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อที่จะวางแผนในการรองรับโซ่อุปทานที่จะเป็นในอนาคตอันใกล้ (To Be) และที่สำคัญต้องเชื่อในพลังของโซ่อุปทานที่เกิดจากการประสานกำลังกันตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain Synergy)

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “โซ่อุปทานเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ”

  1. โซ่อุปทานเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magaz says:

    Proxies…

    I found a great……

  2. โซ่อุปทานเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Magaz says:

    Buy Shared Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply