การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน :โอกาสหรือกับดักของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย

การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน :
โอกาสหรือกับดักของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย �
รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และการจัดการ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ในตอนแรก ผมคิดว่าจะเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ขอรับการรับรองมาตรฐาน ISO เวอร์ชั่น 2008 เพื่อรองรับการเปิดเสรี AEC ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังวุ่นๆอยู่กับการเข้าไปช่วยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในการช่วยเพาะบ่มและให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการโลจิสติกส์เพื่อขอรับมาตรฐาน ISO 9001ซึ่งเป็นการให้บริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ขอโฆษณาสักนิดนะครับ ว่าโครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ “ย่างก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยสู่มาตรฐาน ISO” ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนาด SME โดยได้มอบหมายให้ ผมและคณะทำงานเป็นผู้ดำเนินการโครงการฯดังกล่าวเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีทั้งโอกาสทางธุรกิจและมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยโครงการนี้จะได้เชิญชวนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเข้าร่วมโครงการเพื่อเพาะบ่มและขอการรับรองมาตรฐาน ISO เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO นั้น ผลการศึกษาแนวโน้มทางธุรกิจ หลังการเปิดเสรี AEC แล้ว ผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้า-ส่งออก ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นชาตินิยม มักจะเอาประเด็นเรื่อง TQM เข้ามาเป็นเงื่อนไขเพื่อกีดกันทางการค้า โดยจะอ้างว่า บริษัทของตนได้รับมาตรฐาน ISO ดังนั้นต้องซื้อวัตถุดิบจากผู้จัดส่งสินค้าหรือซัพพลายเออร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO ขยายผลไปถึงขนาดที่ว่าผู้ให้บริการขนส่ง คลังสินค้า ตัวแทนออกของ หรือตัวแทนผู้รับจัดการสินค้า ควรจะได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO ด้วย ถ้าเป็นอย่างผลการศึกษาที่ผมทำวิจัยไว้นั้น ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงครับ เพราะผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 85- ร้อยละ 90ไม่มีระบบมาตรฐาน ISO เมื่อไม่มีระบบมาตรฐานดังกล่าว ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขในการประมูลงาน การกดราคาค่าบริการหรือการต่อสัญญาจ้าง ซึ่งภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง จะทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้น
แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจกะทันหันครับ เนื่องจากกองบรรณาธิการวารสาร Freightmax ได้อีเมลแจ้งผมว่าอยากให้ผมช่วยเขียนเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งจะเปิดให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ในอีกสองปีข้างหน้าและในปี 2015 ก็จะเปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในภาคบริการนั้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีบริการหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ถือว่าค่อนข้างจะอันตรายครับ แต่เมื่อประเทศเราในฐานะรัฐภาคีในกลุ่มอาเซียน จะไม่ปฏิบัติตามพันธะ ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร ไม่เคารพกฎกติกา ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ ผมคิดว่าเราควรจะเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของเราให้ดีครับ เนื่องจากขณะนี้เท่าที่ ผมทำวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะมีความตื่นตัวต่อการเปิดเสรี AEC มากที่สุด รองลงมาคือผู้ประกอบการขนาดกลาง ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้น บอกผมว่าเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรและพวกเขาต้องเตรียมตัวอะไร
ในบทนี้ ผมนำเสนอโอกาสในการทำธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ซึ่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากประเทศคู่แข่งในอาเซียนหรือคู่แข่งจากต่างชาติที่เข้ามาสวมรอยมีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศเราจำนวนมาก ผมมั่นใจและเชื่อมั่นครับว่าการแข่งขันรุนแรงถึงกับเลือดสาดครับ เพราะเคยไปสัมมนาที่ปักกิ่งและได้คุยกับมาดามฉีซึ่งมีเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายใหญ่ของจีน ผมจำชื่อจริงไม่ได้นะครับ เค้าบอกว่าในเมืองจีนสมัยก่อนมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์จำนวนหลายร้อยรายเนื่องจากยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่ 5 ปีต่อมาเมืองจีนตอนนี้มีผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลายหมื่นรายกระจัดกระจายตามมณฑลหลักๆ ของเมืองจีน ซึ่งก็เติบโตและขยายตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตแบบร้อนแรงของจีนครับ

2. โอกาสของการเข้ามาลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย

 2.1 โอกาสในการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย
 ระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการให้บริการของธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ Asset Based LSP ซึ่งจะเน้นกิจกรรมที่ยังต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการให้บริการโดยเฉพาะในกิจกรรมพื้นฐาน เช่น การขนส่ง การจัดเก็บและบริหารคลังสินค้า บริการด้านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการมักมีลักษณะเป็นครั้งเป็นคราวไปหรือสัญญาระยะสั้นหรือประเภทปีต่อปี ส่วนการให้บริการโลจิสติกส์แบบ Third Party Logistics Provider (3PL) โดยผู้ประกอบการไทยเองนั้นมีไม่กี่รายที่สามารถมีศักยภาพเพียงพอที่จะให้บริการโลจิสติกส์แบบ 3PL ในขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่จะสามารถให้บริการแบบ 3PL ได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากความพยายามในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ แนวโน้มและโอกาสที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย สรุปได้เป็นดังนี้
 1)  ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยมีความเปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ติดทะเลทั้งทางด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทั้งประเทศพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และจีน
 2) สภาพของเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอินโดจีนที่เน้นการส่งออก (Export-oriented country) จึงมีมูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นมากเป็นลำดับ ซึ่งแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้มีความเจริญเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบันพบว่ามีปริมาณการค้าระหว่างประเทศไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของหลายประเทศในแถบนี้รวมทั้งประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าในภูมิภาคอินโดจีน
 3) การเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สนามบินหนองงูเห่า) ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ด้วยขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 55 ล้านคนต่อปี และรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 1.6 ล้านตันต่อปี
 4)  ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ของ BOI มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมอยู่เดิมประเภท 7.7 กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย (international distribution center) เปลี่ยนมาเป็นกิจการบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร (logistics services provider) กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องกระจายสินค้าไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ และต้องให้บริการอย่างครบวงจร โดยอย่างน้อยจะต้องมีบริการขนส่ง จัดส่ง เก็บรักษา บรรจุ เป็นต้น  ผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร จะได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีทุกเขตที่ตั้ง และหากตั้งเป็นศูนย์โลจิสติกส์จะต้องมีที่ดินไม่น้อยกว่า 300 ไร่, ต้องมีระบบโทรคมนาคมหลักแบบความ เร็วสูง จะได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีทุกเขต
 5) ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินประมาณเกี่ยวกับโครงการเร่งด่วนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งตามรายงานการศึกษาโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโครงการต่างๆ ดังนี้
 -  การพัฒนาท่าเรือลึกปากบารา จ. สตูล
 -  การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง
 -  การพัฒนาท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จ. เชียงราย
 -  โครงการการก่อสร้างถนนเข้าท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2
 -  แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่ความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
 -  โครงการก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องระยะที่ 2 ที่ลาดกระบัง
 -  โครงการให้บริการขนส่งโดยเรือ Roll on – Roll off
 -  โครงการให้บริการขนส่งรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง
 -  โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และก่อสร้างทางคู่ Chord Lines ที่สถานีชุมทางฉะเทรา สถานีชุมทางแก่งคอย และสถานีชุมทางบ้านภาชี
 -  โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้มีการถ่ายเทการขนส่งระบบราง
 -  โครงการศึกษาเลือกที่ตั้งสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคเหนือ
 -  โครงการก่อสร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำที่ จ. พระนครศรีอยุธยา และจ. อ่างทอง เพื่อการประหยัดพลังงาน
 -  โครงการปรับปรุงถนนเชื่อมท่าเรือ
 -  โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่สถานี อ.ท่าเรือ ถึงสถานีหนองวิวัฒน์และสถานี   ชุมทางภาชี
 2.2 ปัญหาอุปสรรคในการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย
 นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการนำเสนอประเด็นปัญหาอุปสรรคทั้งในด้านการให้บริการด้านโลจิสติกส์และการใช้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทย โดยแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยโดย สศช. และจากเอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของไทย” ได้ระบุปัญหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเอาไว้อย่างชัดเจน โดยสรุปประเด็นปัญหาระบบโลจิสติกส์ของไทยใน 5 ด้าน ดังนี้
    2.2.1 ปัญหาด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทางด้านโลจิสติกส์ เช่น
    -  กฎหมายเกี่ยวกับน้ำหนักบรรทุกและความสูงของรถบรรทุก
   -  กฎหมายและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร หรือระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า – ส่งออก ยังไม่รองรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
   -  ไม่มีองค์กรกลางที่รับผิดชอบด้านโลจิสติกส์
    -  ไม่มีกฎหมายกำกับ และส่งเสริมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider)
    -  กฎหมายเฉพาะด้านการขนส่งที่ล้าสมัย และไม่ได้อิงกับกฎหมายหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ
    2.2.2 ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
    -  สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) มีไม่เพียงพอ และไม่รองรับการเชื่อมต่อการขนส่งกับสถานที่รวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาคต่างๆ
    -  การขนส่งสินค้ารถไฟยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการปรับปรุงการบริการ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ได้อย่างเต็มที่
    -  ช่องทางผ่านเข้า – ออกท่าเรือแหลมฉบังมีความแออัด ไม่สอดคล้องกับปริมาณสินค้าที่มาใช้บริการ และการขยายตัวในอนาคต
    - ถนนทางผ่านเข้า – ออกศูนย์กระจายสินค้าที่ลาดกระบังมีสภาพชำรุด การจราจรติดขัด ทำให้สินค้าการขนส่งสินค้าล่าช้าหรืออาจเกิดความเสียหายจากการขนส่ง
    2.2.3 ปัญหาด้านระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์
    -  ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ เพื่อที่จะสามารถพัฒนาหรือนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปฏิบัติงาน
    - ไม่มีหน่วยงานกลางรับผิดชอบการพัฒนาโลจิสติกส์ระดับชาติ โดยให้สอดคล้องทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมไปถึงความสอดคล้องในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและเอกชน
    - ขาดการวางโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี (IT infrastructures and Network) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน
    2.2.4 ปัญหาด้านบุคลกากรและองค์ความรู้ทางโลจิสติกส์
    -  ผู้ประกอบการขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และการนำเทคโนโลยีมาใช้กับโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์
    -  ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในด้านการจัดการโลจิสติกส์ ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในระดับผู้บริหาร และระดับปฏิบัติการ
    - ขาดข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมถึงข้อมูลของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน วิเคราะห์และปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ให้มีความเหมาะสม
    - การขาดความรู้ในการจัดการเชิงกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับการแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่
    2.2.5 ปัญหาด้านการพัฒนาของผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์
      รายละเอียดของปัญหาด้านการพัฒนาของผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์นั้น สามารถเรียงลำดับตามสำคัญของปัญหาจากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้
    -  ขาดกฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการดำเนินกิจการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
    -  ขาดการส่งเสริมทางด้านสิทธิพิเศษเพื่อช่วยเหลือและจูงใจในการส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น
    -  ขาดความรู้ ความชำนาญ รวมถึงทักษะที่จำเป็นในการดำเนินงาน
    -  ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกัน ประกอบกับธนาคารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่ดีพอ จึงเป็นอุปสรรคต่อการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนา
    -  ซอฟท์แวร์เฉพาะด้านที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจมีราคาสูงมาก และมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการการใช้งานของผู้ประกอบการ
    -  สิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ ของภาครัฐไม่สนับสนุนการทำธุรกิจ
    -  ขาดการนำไปปฏิบัติที่ดีและการกำหนดดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานในการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ให้บริการโลจิสติกส์
    -  ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย ขาดเครือข่ายในการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ส่งผลให้มีเครือข่ายการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่แคบกว่าผู้ประกอบการจากต่างประเทศ
    -  ลูกค้าขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่เห็นประโยชน์ในการใช้บริการด้านโลจิสติกส์จากผู้ให้บริการเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
    -  ภาครัฐขาดการกำหนดมาตรฐานในการพัฒนาส่งเสริมระดับการให้บริการด้านโลจิสติกส์

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน :โอกาสหรือกับดักของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย”

Leave a Reply