เส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก NATO (No Action – Talk Only)

เมื่อฉบับก่อนๆ ได้พยายามกระทุ้งผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำอะไรเสียบ้าง เปลี่ยนแปลงเสียบ้าง กับการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานอมตะนิรันดร์กาลของไทยเรา ที่ว่าอมตะนิรันดร์กาลนี่ไมใช่หมายถึงหน่วยงานที่อยู่ยงคงกระพันอย่างเดียว แต่ที่สำคัญคือ ไม่เคยเปลี่ยน (ไปในทางที่ดีขึ้น) เลย เปลี่ยนแปลงในที่นี้หมายถึงการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ไม่ใช่การปรับแบบลูบหน้าปะจมูกอย่างที่เป็นอยู่ การที่รัฐบาลสมัยต่างๆ ได้ชูนโยบายการขนส่งทางราง เพื่อประหยัดพลังงานและต้นทุนโลจิสติกส์นั้น เป็นเพียง NATO และการโฆษณาให้คนไทย ภาคธุรกิจไทยฝันลมๆ แล้งๆ ไปเท่านั้น การขนส่งสินค้าทางรถไฟของประเทศไทยไม่มีวันจะมีประสิทธิภาพไปมากกว่านี้ เพราะจากความพยายามที่ผ่านมา (รวมถึงจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองด้วย) ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า รฟท.ที่เป็นมาอย่างไร ก็จะเป็นต่อไปอย่างนั้น เพราะราชการไทย นักการเมืองไทยก็ทำงานแค่ปัดความเสี่ยงให้พ้นตัว การกระทำใดๆ ที่ต้องอาศัยกึ๋นและความกล้านั้น ไม่มีทางเกิดขึ้น

แล้วภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมของเราจะทำอย่างไร ในเมื่อธุรกิจต้องเดินตลอดเวลา การจะมานั่งรอให้บริการขนส่งสินค้าทางระบบรางของไทยพัฒนามีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นรูปแบบการขนส่งในแนวกระดูกสันหลังของประเทศ น่าจะเป็นเพียงความฝัน ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องพึ่งพารถบรรทุกเป็นหลักต่อไปอีกนาน

แล้วรัฐบาลจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันไปใช้ระบบ CNG แทนการใช้น้ำมัน โดยมีผู้ผูกขาดให้บริการอยู่เพียงรายเดียว ที่ตอนนี้ติดอันดับ 155 ใน Fortune500 ไปเรียบร้อยแล้ว แต่มีใครในภาครัฐเคยพูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานในการขนส่ง หรือการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพบ้าง

จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก ในปี พ.ศ. 2552 มีรถบรรทุกขนาดต่างๆ ที่จดทะเบียนทั้งสิ้นถึง 791,414 คัน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2551 ประมาณร้อยละ 2.5 หากดูที่ปริมาณการขนส่งสินค้า จะพบว่าเป็นการขนส่งทางถนนหรือด้วยรถบรรทุกถึงร้อยละ 83.8 หรือประมาณ 423.7 ล้านตัน เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.2 หรือการขนส่งทางน้ำ (รวมถึงทางลำน้ำในประเทศและชายฝั่งทะเล) ที่มีสัดส่วนการขนส่งเพิ่มขึ้นจากหลายปีก่อน ก็ยังมีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 14

หากมาดูที่การขนส่งสินค้าเข้า-ออกระหว่างประเทศ แน่นอนว่าการขนส่งสินค้าทางเรือย่อมต้องมีสัดส่วนสูงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าของสินค้า ส่วนการขนส่งทางรถบรรทุกนั้น แม้ว่าในปี พ.ศ.2552 จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.4 ในเชิงปริมาณการขนส่งเข้า-ออกประเทศ และมีมูลค่าเพียงร้อยละ 6.4 ในเชิงมูลค่า แต่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ.2550 – 2552 ถึงร้อยละ 38 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 19 ในเชิงมูลค่า ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการค้าเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน และการขยายตัวทางการค้ากับประเทศจีน

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการขนส่งสินค้าทางถนนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงเส้นทางการขนส่งด้วยรถบรรทุก จะพบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างการขนส่งในลักษณะที่เป็น Outbound และ Inbound การขนส่ง Inbound ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งภายในพื้นที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบเข้าสู่ศูนย์กลาง คือแหล่งผลิต เส้นทางจะผสมผสานกันระหว่างทางหลวงท้องถิ่น ทางหลวงชนบท และทางหลวงแผ่นดินสายหลัก โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่มีน้ำหนักหรือปริมาตรสูงเมื่อเทียบกับมูลค่า ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว มักจะได้แก่ผลิตผลทางการเกษตร ที่บรรทุกโดยรถสิบล้อ หรือรถพ่วง การขนส่งประเภทนี้จะใช้พลังงานค่อนข้างสูง ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงข่ายถนน

ส่วนการขนส่งOutbound นั้น จะเป็นการขนส่งที่มีลักษณะกระจายออก โดยอาจมีจุดหมายปลายทางที่ท่าเรือ ด่านการค้าชายแดน หรือศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ เส้นทางส่วนใหญ่จะเกาะอยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายหลักต่างๆ หรือในโครงข่ายทางหลวงสายรองในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เช่น Eastern Seaboard โดยสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนักหรือปริมาตร ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะถูกบรรจุในคอนเทนเนอร์มากขึ้นในอนาคต เนื่องจากสามารถขนถ่ายได้สะดวก ปลอดภัย และประหยัด โดยการขนส่งประเภทนี้จะใช้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงข่ายถนนน้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากจะถูกจำกัดด้วยน้ำหนักและปริมาณสินค้าที่สามารถบรรจุลงในคอนเทนเนอร์ได้

ที่อารัมภบทมายืดยาวนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงทางเลือกในการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศเป็นทางเลือกที่ดีและมีประโยชน์สูง แต่ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล ส่วนการสนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปใช้รถไฟหรือการขนส่งทางน้ำน่าจะค่อนข้างสิ้นหวัง ดังนั้น การกำหนดเส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก หรือ Truck Route จึงน่าจะเป็นทางสายกลางที่สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศไปได้มาก โดย Truck Route จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกบนเส้นทางที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษให้ช่วยประหยัดพลังงานในการขนส่ง สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้สูง และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่ง เนื่องจากเป็นการแยกรถบรรทุกออกจากการจราจรประเภทอื่น โดยหากเลือกรูปแบบที่เหมาะสม ตลอดจนมีการวางแผนควบคู่ไปกับการวางผังเมืองที่ดี จะทำให้เส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกเอื้อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างมหาศาล

รูปแบบของ Truck Route นั้น ครอบคลุมตั้งแต่การใช้มาตรการด้านกฎระเบียบในการควบคุมเส้นทางการเดินรถ จนถึงการใช้โครงสร้างทางกายภาพเป็นตัวกำหนดเส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก ซึ่งในแต่ละรูปแบบก็จะมีชื่อเรียกในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น Designated Truck Route หรือ Truck Way หรือ Truck Lane เป็นต้น

การวางแผนพัฒนา Truck Route นั้น จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นสำคัญใน 2 ส่วน ได้แก่ การพัฒนา Truck Route และการบริหารจัดการ Truck Route โดยประเด็นสำคัญทั้งสองส่วนนั้นมีความสัมพันธ์กัน ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยในขั้นตอนของการพัฒนา Truck Route ในทางทฤษฎีจะสามารถวางรูปแบบการพัฒนาได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การก่อสร้างเส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกโดยเฉพาะ การก่อสร้างช่องทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกบนถนนที่มีอยู่แล้ว จนถึงการควบคุมและจำกัดพื้นที่การจราจรสำหรับรถบรรทุก เป็นต้น โดยการบริหารจัดการ Truck Route ก็จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบที่กำหนด อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ต้นทุนการขนส่งและประสิทธิภาพของกระบวนการโลจิสติกส์ ซึ่งการวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการ Truck Route จะต้องเอื้อให้เกิดการลดต้นทุน
และ/หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยอมรับและการใช้งาน Truck Route ดังกล่าว นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญอีกประการก็คือ สภาพของชุมชนบริเวณที่จะมีการพัฒนาโครงข่าย Truck Route ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ การวางแผนรูปแบบ Truck Route ต้องพิจารณาลักษณะการจัดการเส้นทาง รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของรูปแบบการจัดการแบบต่างๆ โดยรูปแบบหลักที่น่าจะสามารถนำมาปรับปรุงใช้ได้กับประเทศไทยจะประกอบด้วย (1) การกำหนดเส้นทางสำหรับรถบรรทุก (Designated Truck Route) (2) การจัดช่องทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก (Truck Lane) และ (3) เส้นทางเฉพาะสำหรับรถบรรทุก (Truck-only Highway) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) Designated Truck Route
รูปแบบ Truck Route แบบนี้จะเน้นการใช้มาตรการในการควบคุมเส้นทางการขนส่งของรถบรรทุก โดยจะมีการกำหนดเส้นทางเฉพาะบางเส้นทางในโครงข่ายที่จะอนุญาตให้รถบรรทุกใช้ได้ โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการทางด้านผังเมืองเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของชุมชนตามแนวเส้นทางที่ให้รถบรรทุกใช้งาน Designated Truck Route นี้ เป็นรูปแบบที่ต้องการการลงทุนต่ำที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้บนโครงข่ายถนนที่มีอยู่แล้ว และไม่มีการสร้างโครงสร้างทางกายภาพมาควบคุม อย่างไรก็ตาม Truck Route รูปแบบนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อการบังคับใช้มาตรการทางผังเมืองของภาครัฐมีประสิทธิภาพเท่านั้น มิฉะนั้นหากมีการพัฒนาเมืองตามมาในแนว Truck Route นี้ ก็จะทำให้ปริมาณการจราจรประเภทอื่นเกิดขึ้นตามมา เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลที่อาจทำให้การขนส่งโดยรถบรรทุกเกิดการติดขัด และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สูญเสียความเป็น Truck Route สามารถขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพไป

2) Truck Lane
Truck Lane เป็นช่องทางสำหรับรถบรรทุกที่แยกออกมาจากช่องทางจราจรในปัจจุบันและการสัญจรรวมกับพาหนะอื่นๆ โดยรูปแบบ Truck Lane นั้น จะเหมาะสำหรับนำมาใช้ในโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ที่มีการควบคุมการเข้า-ออก (Control of Access) เนื่องจากจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนข้างทาง Truck Lane เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ขนส่งสินค้าในการควบคุมและลดเวลาการขนส่ง โดยแนวทางการจัดการเส้นทางแบบนี้สามารถควบคุมการใช้งานได้ทั้งโดยวิธีเรียกเก็บค่าผ่านทาง อาจจะใช้กฎระเบียบต่างๆ หรืออาจจัดให้มีการเก็บค่าผ่านทางบางช่วงก็ได้

จากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา “Truck Lane Restriction Study” ได้สรุปประสิทธิภาพของการจัดเส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกแบบที่ใช้ Truck Lane ว่า Truck Lane สามารถเพิ่มความเร็วของรถบรรทุก ลดอุบัติเหตุ พาหนะชนิดอื่นๆสามารถเข้ามาใช้ช่องทางพิเศษนี้ได้ รวมทั้งสามารถบังคับผู้ใช้ช่องจราจรสำหรับรถบรรทุกให้ปฏิบัติตามกฎได้ร้อยละ 99 ส่วนการยอมรับจากสาธารณชนจากการสำรวจพบว่า ช่องทางพิเศษได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนทั่วไปและบริษัทขนส่งขนาดใหญ่เห็นด้วยกับการจัดการในรูปแบบนี้

3) Truck-only Highway
เป็นรูปแบบการจัดการให้มีถนนสำหรับรถบรรทุกเท่านั้น (Truck-only Highway) อาจพัฒนาได้ 2 รูปแบบ ได้แก่รูปแบบที่มีการกั้นเขตทางเพื่อไม่ให้ยานพาหนะประเภทอื่นเข้ามาใช้งานได้ มีลักษณะคล้ายทางด่วนสำหรับรถบรรทุก ซึ่งต้องการการลงทุนที่สูงกว่ารูปแบบอื่น นอกจากนี้มีการควบคุมด้วยมาตรการทางกฎ ระเบียบ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการในการตรวจจับและมาตรการควบคุมทางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการพัฒนาชุมชนขึ้นในบริเวณข้างทาง ซึ่งจะกระทบต่อการจราจรประเภทอื่น อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้อาจไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในโครงข่ายทางหลวงทั่วไป เนื่องจากข้อจำกัดด้านความคุ้มค่าในการลงทุน และการบังคับใช้มาตรการด้านผังเมืองยังไม่สามารถทำได้อย่างเกิดประสิทธิผล ดังนั้นการดำเนินการอาจต้องทำในเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งการจัดการด้านผังเมืองจะทำได้ง่ายกว่า เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือบริเวณด่านการค้าชายแดนที่มีการแยกด่านศุลกากรสำหรับรถบรรทุกออกจากบุคคลทั่วไป เป็นต้น (ตัวอย่างเช่น ทางด่วนสำหรับรถบรรทุกที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ของสหรัฐอเมริกากับพื้นที่ของเม็กซิโก ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ USA-Mexico)

ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ในการที่บ้านเราจะนำเอา Truck Route มาประยุกต์ใช้งาน อย่างไรก็ตาม การที่จะนำมาใช้จริงนั้น อาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาคิดให้รอบคอบอีกประเด็นก็คือ เส้นทางที่จะพัฒนาให้เป็น Truck Route ซึ่งก็จะต้องมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามวัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่คาดหวังจากการนำ Truck Route มาใช้ ซึ่งอาจต้องคิดให้นอกกรอบกว่าที่หน่วยงานวางแผนด้านขนส่งของประเทศไทยทำกันอยู่ เพื่อให้การนำ Truck Route มาใช้ ก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เป็นแต่เพียง “โครงการระดมทุนของนักการเมือง” ทั้งนี้ จะได้กล่าวถึงต่อไปในฉบับหน้า

You can leave a response, or trackback from your own site.

8 Responses to “เส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก NATO (No Action – Talk Only)”

  1. Gene says:

    donnell@wouldnt.hurt” rel=”nofollow”>.…

    ñïñ çà èíôó….

  2. Floyd says:

    ordained@taverns.compensatory” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðñòâóþ!…

  3. otis says:

    bunks@giorgio.repetitive” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðåí!…

  4. oscar says:

    monsieur@rain.ambled” rel=”nofollow”>.…

    ñýíêñ çà èíôó!!…

  5. Daryl says:

    toured@tribe.monasteries” rel=”nofollow”>.…

    áëàãîäàðþ!!…

  6. Jim says:

    obscurity@smudged.crashes” rel=”nofollow”>.…

    tnx!…

  7. เส้นทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก NATO (No Action – Talk Only) | Especially of Logistics Supply Chains and Trading Ma says:

    Best Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply