ปรับตัว เร็ว ง่าย ประหยัด : กลยุทธ์หลักของโซ่อุปทาน

สุวัฒน์ จรรยาพูน
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา องค์กรที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงก็มักจะเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันกับสภาวะการณ์ของโลกใบนี้ ประวัติศาสตร์ก็มักจะซ้ำรอยเดิม แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไป แนวคิดของการจัดการโซ่อุปทานก็เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง เมื่อเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกัน ซึ่งเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายก็ทราบดีว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าแต่นำมาเล่า และเรียบเรียงในรูปแบบใหม่ส่งผลให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น
ปราชญ์ชั้นนำของโลกในอดีต ก็มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย อาทิเช่น อริสโตเติล ก็เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา ไมเคิล แองเจโล ก็เป็นทั้งปฏิมากร นักกวี และสถาปนิก กาลิเลโอก็เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ ซึ่งความรู้ที่หลายหลายช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงทางความคิดได้อย่างดี แต่ในยุคหลังมนุษยชาติเริ่มเข้าสู่ “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ซึ่งใช้ได้ดีมาหลายยุคสมัย แต่เมื่อโลกปรับเปลี่ยน ความรู้เดี่ยวๆ เริ่มส่งสัญญาณของปัญหา การรวบรวมองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญหลายอย่างมาร่วมมือกันจึงมีความจำเป็นมากขึ้น การจัดการโซ่อุปทานก็กลายเป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกเลือกใช้เพื่อบูรณาการความรู้ เชื่อมโยงหน่วยงานและบุคลากรให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถใช้งานได้หลายหลากเหมือนปราชญ์ในอดีต
หากขาดการเชื่อมโยง หรือโซ่อุปทานก็จะพบกับความล่าช้า ความยุ่งยาก และต้นทุนสูง แถวบ้านผมเมื่อไม่กี่วันมานี้รู้สึกว่าจราจรหนาแน่นมากๆ สาเหตุของปัญหาก็คือ ฝาท่อบนถนนชำรุด … ต้องเรียกว่าหายไป หรือตกท่อไปมากกว่า ทำให้ผิวจราจรหายไปหนึ่งช่องทาง รถจึงติดสะสมเพราะมีคอขวดข้างหน้า สิ่งที่พบในการแก้ปัญหานี้ก็คือ หลังจากเกิดอุบัติเหตุไปสัก 1-2 ราย ก็มีไม้รวกผูกผ้าแดงปักไว้ในท่อ และ มียางรถยนต์วางขวางไว้หน้าท่อราว 1 เมตร คาดว่าชาวบ้านแถวนั้นทำขึ้นเอง เพื่อให้รถข้างหลังทราบว่ามีท่อชำรุด ซึ่งผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐก็น่าจะทราบดี เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็ใช้เวลานานหลายวันกว่าจะปิดท่อได้ ปล่อยให้ผู้ใช้ถนนเผชิญชะตากรรมเอาเอง
นอกจากนี้ฝาท่อบนทางเดินเท้าที่ชำรุด (มีไม้ปักไว้เช่นกัน) ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ตรวจรับงานที่มาปรับปรุงและซ่อมบำรุงเปลี่ยนผิวทางเดินเท้า เป็นเพราะว่าฝาท่อนั้นเป็นถนนคนละเส้นกับที่ได้รับงบประมาณ ทั้งๆ ที่เห็นตำตา ท่อนั้นอยู่ห่างจากผิวทางเท้าที่เปลี่ยนใหม่ไม่เกิน 3 ก้าว (เป็นความผิดของฝาท่อนั้นเองที่อยู่ในเขตของถนนอีกสายหนึ่ง) ที่สำคัญคือทางเท้าที่ได้รับงบประมาณนั้นฝาท่อผมไม่เห็นมีอันไหนชำรุด กลับได้รับการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ฝาท่อนอกงบประมาณเอาฝาเก่าที่ยังดีอยู่เปลี่ยนให้ก็ยังได้ แต่ไม่มีใครทำ และไม่มีใครสนใจ… (ใจร้ายมาก)

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมองด้วยมุมมองง่ายๆ อย่างที่เคยทำไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเป็นเพราะว่าปัญหามีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ผู้นำหลายประเทศที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แสดงถึงประสบการณ์อย่างโชกโชนในการบริหารบ้านเมือง ทุกวันนี้เราก็ได้ยินข่าวมาว่าประชาชนของเขาแสดงความไม่พอใจ ทำการรวมตัวลุกขึ้นต่อต้านเพื่อล้มล้างบ่อยมากขึ้น หากแก้ปัญหาด้วยการนำทหารเข้าสังหารประชาชน ปิดกั้นสื่อ ก็จะกลายเป็น คนเลว เป็นเผด็จการ ให้ชาวโลกประนาม เหมือนบางประเทศที่เป็นข่าวอยู่
แผ่นดินไหวที่บางประเทศ การนำคนไทยกลับจากประเทศที่ไม่สงบ การเดินทางข้ามพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านของคนบางกลุ่ม ก็กระทบกระเทือนถึงกระทรวงการต่างประเทศของเรา ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยดำเนินการในรูปแบบอย่างนี้มานับครั้งไม่ถ้วน
นอกจากนี้เรื่อง วิกฤติการณ์น้ำมันปาล์ม ที่ไปห้างคราใดมักจะได้ยินลูกค้ายืนทะเลาะกับพนักงานอยู่เสมอ (โดยเฉพาะที่หลังจากรัฐประกาศซื้อได้ไม่จำกัด แต่ห้างยังจำกัดอยู่) คนที่มีอำนาจก็ไม่ได้ยิน แต่ผมคนเดินห้างก็หมดความสนุก เกิดความเครียดขึ้นมาแทน เมื่อเกิดวิกฤติใหม่ๆ ฟังข่าวสารจากโทรทัศน์ก็พบว่าอังคารหน้าจะประชุมและสรุปผลได้ว่าจะทำอย่างไร (งง ครับ เรื่องเป็นข่าววันนี้ แสดงว่ามีเหตุมาสักระยะแล้วก่อนหน้า แต่ต้องรอวันอังคาร ไม่มีวาระเร่งด่วนหรือครับ)
หลังจากนั้นผมก็ได้ยินมาตรการต่างๆ อยู่นิดหน่อย เช่น ฝาสีฟ้า ฝาสีชมพู นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ชอบอยู่ประโยคที่ว่า เดือนมีนาคมก็จะมีผลปาล์มเก็บเกี่ยวได้ พูดง่ายๆ ว่าใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว ให้ประชาชนรอหน่อย การปล่อยให้ธรรมชาติแก้ปัญหานี้ให้ ผมก็เลยนึกถึงประวัติศาสตร์สมัยเสียกรุงครั้งที่สองครับ จำได้ว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพหงสาวดีมาประชิดล้อมเมือง ก็มีอำมาตย์บางกลุ่มทูลว่าไม่ต้องเกรงกลัวอะไร เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ข้าศึกก็จะยกทัพกลับไปเอง ปัญหาน้ำมันปาล์มจึงมารุมเร้ากระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมยกทัพกลับไปง่าๆ ล่าสุดผมได้ข่าวให้ตำรวจออกจับแม่ค้าขายปลีกน้ำมันปาล์มเกินราคา (ซื้อจากห้าง 47 บาท นำมาขาย 49-55 บาท ถูกจับปรับเป็นแสนบาท เหมือนหาแพะจากมดปลวก ไม่กล้าไปหาจากราชสีห์) นอกจากที่ ที่เรียงคิวกันเข้ามาอย่าง น้ำตาล กะทิ มะนาว ก็มีวี่แววของปัญหาตามมาอยู่เช่นกัน จนได้ยินว่าเข้าสู่ยุค “ข้าวยาก หมากแพง” อย่างแท้จริง
ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายอย่างที่เป็นอยู่ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากความล่าช้า ความยุ่งยากของขั้นตอน (ที่สร้างขึ้นเอง) และที่สำคัญจากความลำพองใจในความสำเร็จของอดีต บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยต้า ก็เคยสะดุดเพราะความมั่นใจ และภูมิใจอย่างมากของระบบที่ตนเองพัฒนาขึ้น จนผู้บริหารต้องออกข่าวมาคำนับขอโทษลูกค้าอย่างจริงใจ ความสำเร็จในอดีตจึงเหมือนกำแพงที่ปิดกั้นมุมมองในอนาคต ยิ่งมีความสำเร็จมากเท่าใด (หรือคิดไปเองว่าประสบความสำเร็จมาก) กำแพงก็สูงขึ้นมากเท่านั้น
จะเห็นได้ว่ามุมมองของโซ่อุปทาน จะอยู่ตรงข้ามกับความเคยชินในอดีต องค์กรต้องมีสติรู้ตนเอง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ที่เคยรู้ว่า “เร็ว” ไม่นานก็จะมี “เร็วกว่า” ที่ว่า “ง่าย” อีกสักพักก็พบ “ง่ายกว่า” ที่ว่า “ถูก” ก็มี “ถูกกว่า” Steve Jobs แห่ง Apple ก็เขย่าวงการคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่จนผู้ครองแชมป์เดิมต้องมองค้อน ด้วยสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า จึงไม่แปลกใจที่ iPhone จะขายดี
องค์กรที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งจะมาจากการที่องค์กรนั้นสามารถปรับตัว และพัฒนาได้ทันท่วงที ซึ่งหลายธุรกิจมักจะบอกว่า “เปลี่ยนไม่ได้หรอก ยากมากๆ” แต่ในความเป็นจริงหากเราลองทบทวนดีๆ จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่ตลอดเวลา และองค์กรก็มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพียงแต่มันเปลี่ยนแปลงไปแบบช้าๆ จนเราไม่รู้สึกตัว ส่วนการเปลี่ยนที่มักจะถูกต่อต้านจะเป็นการเปลี่ยนแบบฉับพลัน ซึ่งยากที่จะทำใจยอมรับได้ (จึงง่ายที่จะปฏิเสธ)
บริษัทญี่ปุ่นได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ และนำมาใช้ประโยชน์ในทางบวก ซึ่งเรารู้จักกันดีในนามของ Kaizen ซึ่งนำมาปลูกฝังลงในจิตใจของพนักงานทุกคน ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการเปลี่ยน จึงสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างดี ส่งผลให้เกิดการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญจะทำให้ยอมรับ กล้าเผชิญ และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
โรงงาน SMEs ที่ผมเคยเข้าไป คำแนะนำที่ต้องการ (แต่ทำยาก) ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะรู้สถานภาพของงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้เร็ว เพราะเมื่อสั่งผลิตแล้ว ก็ได้แต่รอจนสินค้าใกล้เสร็จ จึงจะทราบว่าผลิตได้ครบตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งหรือไม่ ถ้าไม่จะต้องเร่งอย่างไร และเมื่อมีการเร่งงาน ก็จะไปกระทบงานอื่นๆ ที่กำลังผลิต พนักงานก็มักทำแต่งานที่ถูกเร่ง จนลืมงานปกติไป สุดท้ายก็จะพบว่า งานที่ไม่ด่วนในอดีต ถูกเลื่อนออกไป จนกลายเป็นงานเร่งในที่สุด ช่วงเวลาที่ใช้ในการผลิตของแต่ละงาน (Lead Time) ก็เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว (จากงานแทรก) จึงมีงานค้างอยู่เต็มโรงงาน พนักงานขายก็ยังใช้ระยะเวลาในการผลิตเดิมๆ สัญญากับลูกค้าว่าจะส่งมอบสินค้าให้ จึงไม่แปลกใจเลยที่ทุกคนในโรงงานรู้สึกว่า “ทำไมเรามีแต่งานด่วนทั้งนั้น”
การทราบข้อมูลของสถานะปัจจุบันจึงเป็นเรื่องสำคัญช่วยให้สามารถตัดสินใจและเจรจากับลูกค้าได้ดีขึ้น จึงได้พยายามลองเก็บข้อมูล แต่ผลที่ย้อนกลับมาก็คือ “บันทึกยาก” และ “เสียเวลา” ด้วยเป็นเพราะเมื่อมีการเก็บข้อมูลจากฝ่ายผลิต ก็มีผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการข้อมูลมากขึ้นฝ่ายขายก็อยากได้ข้อมูลแบบหนึ่ง ฝ่ายจัดส่งก็อยากได้เพิ่มอีกหน่อย คลังสินค้าก็อยากได้อีกนิด บัณชีก็ขอเพิ่มอีกเล็กน้อย ไปๆ มาๆ กลายเป็นพนักงานผลิตต้องจดข้อมูลต่างๆ เยอะมาก จึงทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง ข้อมูลที่ได้กลับมาจึงไม่น่าเชื่อถือ ปัญหาเดิมๆ ก็กลับคืนมาหลอกหลอนกันใหม่

การคิดรูปแบบการบันทึกข้อมูลจึงต้อง คิดจากมุมมองของผู้จดบันทึกว่าทำอย่างไรจึงจะ “ง่าย” และตอบสนองต่อผู้นำไปใช้ได้ “เร็ว” เจ้าของลงทุนแบบ “ประหยัด” ทุกวันนี้โรงงานก็เริ่มนำ รหัสแท่ง (Barcode) เข้ามาช่วยบันทึกข้อมูล ตอบโจทย์ของแผนกต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลอย่างละนิด อย่างละหน่อย (แต่รวมแล้วเยอะมากๆ) ได้ พนักงานก็ดูสนุกกับการยิงบาร์โค้ด (ไม่รู้ว่าจะเบื่อเมื่อใด) เพราะทำงานได้เร็ว ไม่ต้องจดบันทึกมากมาย ยิงปิ๊ดเดียว ได้ข้อมูลครบถ้วน เจ้าของก็ดูชอบใจด้วยอุปกรณ์ การเชื่อมสัญญาณ โปรแกรมต่างๆ มีเกลื่อนตามท้องตลาดและราคาไม่แพง ปัญหางานด่วนก็ค่อยๆ เริ่มคลี่คลาย (เปิดเผยปัญหาใหม่ เหมือนทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง ให้แก้กันต่อไป)
ผมฟังรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ชอบคำพูดของแขกรับเชิญที่ว่า การบริหารหรือการตัดสินใจผิดพลาด ไม่ใช่เพราะเราไม่เก่ง หรือเป็นเรื่องน่าอาย เนื่องด้วยเราไม่สามารถทำนายอนาคตได้แม่นยำ แต่การที่เกิดวิกฤติแล้วไม่แก้ไข หรือหาทางออกไม่ได้ จึงจะเป็นเรื่องควรละอายอย่างยิ่ง ดังนั้นธุรกิจจึงควรที่จะทำลายกำแพงความสำเร็จในอดีตที่มาบดบังความสามารถในการปรับตัวขององค์กร และในการปรับตัวนี้จำเป็นที่จะต้องคิดอย่างระมัดระวัง ครบถ้วนทุกด้าน เพราะปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญก็คือต้องคิดได้ “เร็ว” ซึ่งมาจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ก็ต้อง “เร็ว” การนำไปปฏิบัติใช้ก็ต้อง “ง่าย” การลงทุนก็ต้อง “ประหยัด” จึงจะนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงครับ

You can leave a response, or trackback from your own site.

One Response to “ปรับตัว เร็ว ง่าย ประหยัด : กลยุทธ์หลักของโซ่อุปทาน”

Leave a Reply