Thailand Readiness Against Container Weight Verification Rules

TNSC’s Talk

Thailand Readiness Against Container Weight Verification Rules

ความพร้อมของประเทศไทยในการปฏิบัติตาม

มาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า Container Weight Verification Rules

จิรารัตน์ รัตนคุปต์

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นี้จะเป็นวันที่เริ่มการบังคับใช้มาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า Container Weight Verification Rules ของ IMO ที่กำหนดให้ผู้ส่งออก ณ ประเทศต้นทาง ต้องทำการชั่งและรับรองน้ำหนักตู้สินค้าทุกตู้ วัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือทางทะเล หากผู้ส่งออกฝ่าฝืนมิได้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว สายเดินเรือจะปฏิเสธไม่รับโหลดตู้สินค้านั้นขึ้นบนเรือ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายหลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้กับผู้นำเข้าปลายทาง ค่าใช้จ่ายที่ตู้สินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือ เป็นต้น

ในประเทศไทยหลังจากที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติตามมาตรการ Container Weight Verification Rules ล่าสุดก็ได้ข้อสรุปแนวทางออกมาในรูปของประกาศกรมเจ้าท่า เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน โดยประกาศดังกล่าวเป็นการเขียนล้อมาจาก Guideline ของ IMO เพื่อให้ไม่ขัดกับหลักปฏิบัติของสากล ซึ่งหลักการของการปฏิบัติตามมาตรการ Container Weight Verification Rules มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ ดังนี้

1)       ผู้ที่ทำหน้าที่รับรองน้ำหนักตู้สินค้าคือผู้ส่งออก ซึ่งก็คือผู้ที่มีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสาร Bill of Lading (B/L) หรือ Sea waybill ซึ่งนั่นหมายถึงอาจจะเป็นเจ้าของสินค้าที่แท้จริงหรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) จะต้องทำการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าด้วยวิธีการที่ 1 คือการชั่งทั้งตู้ หรือวิธีการที่ 2 คือการคำนวณน้ำหนักสินค้าภายในตู้ รวมกับน้ำหนักสิ่งอื่นๆ ภายในตู้ รวมกับน้ำหนักตู้เปล่า เพื่อให้ได้เป็นน้ำหนัก Verified Gross Mass (VGM)

2)       การได้มาซึ่งน้ำหนัก VGM ที่ผู้ส่งออกจะนำมาแจ้งให้กับสายเดินเรือตามวิธีการที่ 1 และวิธีการที่ 2 นั้น จะต้องเป็นน้ำหนักที่ได้มาจากเครื่องชั่งที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยเครื่องชั่งที่ทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศไทยทุกเครื่องจะมีการรับรองดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น ผู้ส่งออกสามารถหาซื้อเครื่องชั่งเพื่อนำมาไว้ที่โรงงานของตนเอง หรืออาจไปใช้บริการจากผู้ให้บริการรับชั่งสินค้าและตู้สินค้าก็ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับวิธีการที่ 2 ที่ใช้การคำนวณน้ำหนักของสินค้าเข้าไว้ด้วยกัน หากสินค้าที่มีหีบห่อและระบุน้ำหนักอย่างชัดเจนถาวร ผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องชั่งซ้ำใหม่ สามารถคำนวณรวมน้ำหนักโดยยึดน้ำหนักนั้นได้เลย

3)       น้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์เปล่า (Tare Weight) ที่ผู้ส่งออกสามารถนำมาใช้ในการคำนวณรวมกับน้ำหนักสินค้าและน้ำหนักอุปกรณ์อื่นภายในตู้ ในวิธีที่ 2 ตามมาตรการนั้น สามารถดูได้จากข้างตู้คอนเทนเนอร์ที่จะระบุน้ำหนักไว้อย่างชัดเจน ผู้ส่งออกสามารถนำน้ำหนักดังกล่าวมารวมกับน้ำหนักสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายในตู้ เพื่อให้ได้เป็นน้ำหนัก VGM แจ้งกับสายเดินเรือต่อไป

4)       การแจ้งน้ำหนัก VGM ให้กับสายเดินเรือจะต้องแจ้ง ผ่านทางวิธีการที่แต่ละสายเดินเรือกำหนด เช่น ระบบ Booking Online, เอกสาร Shipping Instruction (S/I), ทางอีเมล์ เป็นต้น สำหรับระยะเวลาในการแจ้งจะต้องยึดตามเวลา Closing Time เป็นหลัก โดยผู้ส่งออกจะต้องแจ้งน้ำหนัก VGM ให้กับสายเดินเรือก่อน Closing Time เพื่อให้สายเดินเรือสามารถนำน้ำหนักดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนระวางเรือ (Stowage Plan) ได้ทัน สำหรับการแก้ไขน้ำหนัก VGM จะทำได้เฉพาะกรณีที่มีความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นน้ำหนัก VGM ที่จะแจ้ง จะต้องผ่านการตรวจสอบแล้วจากผู้ส่งออก

5)       กรณีที่เป็นการส่งออกผ่าน Freight Forwarders สำหรับ FCL Shipment เจ้าของสินค้าจะต้องแจ้งน้ำหนักให้กับ Freight Forwarders และ Freight Forwarders ก็จะส่งต่อข้อมูลน้ำหนักดังกล่าวไปยังสายเดินเรือ ในขณะที่หากเป็น LCL Shipment เจ้าของสินค้ารายย่อยแต่ละรายจะต้องแจ้งน้ำหนักสินค้าของตนเองมาให้ Freight Forwarders เพื่อทำการรวมน้ำหนักของทุกเจ้าของ แจ้งไปยังสายเดินเรือต่อไป

6)       ปัจจุบันตู้สินค้าที่ผ่านเข้าไปยังท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องมีการชั่งน้ำหนักที่ Main Gate และ Sub Gate วัตถุประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาอุปกรณ์ขนถ่ายภายในท่าเรือและเพื่อประเมินความเสี่ยงของกรมศุลกากร น้ำหนักดังกล่าวมิได้นำมาเพื่อใช้เป็นน้ำหนัก VGM ดังนั้นผู้ส่งออกควรชั่งและรับรองน้ำหนักให้เรียบร้อยตั้งแต่ก่อนตู้คอนเทนเนอร์จะเข้าไปยังเขตท่าเรือ อย่างไรก็ตามหากน้ำหนัก VGM ที่ผู้ส่งออกแจ้งมีความคลาดเคลื่อนมากเกินกว่าค่ากำหนดที่สายเดินเรือยอมรับได้ (Allowance) สายเดินเรืออาจปฏิเสธไม่ยอมรับตู้สินค้านั้นโหลดขึ้นเรือ หรือทำการเจรจาเพื่อให้ผู้ส่งออกแก้ไขน้ำหนัก VGM ใหม่ แล้วแต่กรณี แต่หากคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ก็จะยึดน้ำหนักที่ผู้ส่งออกแจ้งมาตั้งแต่แรก

ดังนั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงระเบียบ วิธีปฏิบัติตามมาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า Container Weight Verification Rules ก่อนวันที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนขั้นตอน กระบวนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในอนาคต

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply