Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC

Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC

ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ

วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมนำเรื่องระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย มานำเสนออีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในวันที่ 22-26 มิถุนายน 2559 จะมีการประชุมนานาชาติครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง “เปิดประตูสู่มรดกโลก เพื่อการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน” (The 2nd LIMEC International Conference – World Heritage gateway for  Tourism ,Trade and Investment) โดยจะจัดขึ้น ณ จังหวัดสุโขทัย หลังจากที่ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ในประเด็น “ภูดู่ ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส” (The 1st LIMEC International Conference – Phudoo the Gateway of Companionship and Opportunities) ณ จังหวัดอุตรดิตถ์

ตามที่ได้นำเสนอในฉบับที่ผ่านๆมา ว่าภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ได้นำผลงานวิจัยของวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับการทุนสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยได้เสนอระเบียงเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ คือ ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) มาขับเคลื่อนในการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การศึกษา และโลจิสติกส์ ระหว่างประเทศขึ้น และการประชุมในปีที่ผ่านมา (The 1st LIMEC International Conference) สรุปประเด็นจากการประชุมคร่าวๆ ดังนี้

-          ตัวแทนจาก 3 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัฐมนตรีคมนาคมรัฐกะเหรี่ยง รัฐมนตรีการคลังรัฐมอญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รองเจ้าแขวงไชยะบูลี และผู้แทนเจ้าแขวงหลวงพระบาง ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงในระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) และพร้อมให้การสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้เป็นหนึ่งในเส้นทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

-          ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนการเคลื่อนย้ายระหว่างสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ (Flow along LIMEC) โดยการเริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายคน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มของการเคลื่อนย้ายหลายๆสิ่งตามมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน การลงทุน และข้อมูลสารสนเทศ

-          ด้านการศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสามประเทศ มีความเห็นร่วมกันในการผลักดันให้การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจนี้ เริ่มจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาในทุกระดับของทั้งสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และพัฒนาให้เกิดความร่วมมือกันในด้านหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้านการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษาและนักเรียนระหว่างกัน นอกจากนั้นมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย

-          ด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ที่ประชุมได้ยกประเด็นสิ่งอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดนไทย-ลาว (ด่านพรมแดนภูดู่-ด่านพรมแดนพูดู่) และด่านพรมแดนไทย-เมียนมาร์ (ด่านพรมแดนแม่สอด-ด่านพรมแดนเมียวดี) โดยเสนอให้มีการตรวจตราสินค้าจุดเดียว และเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาคเอกชนสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและเกิดการค้าระหว่างกัน นอกจากนั้นยังมีความเห็นร่วมกันในการกำหนดตัวแทนภาคเอกชนแต่ละประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและประสานงานต่างๆในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้ออกมาเป็นโครงการต่างๆร่วมกัน

-          ด้านสุขภาพ ที่ประชุมให้ความเสนอความร่วมมือระหว่างสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสาธารณสุขโดยให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เป็นแกนหลัก และเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนช้อมูลสารสนเทศด้านสาธารณสุขระหว่างกัน นอกจากนี้ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการผลักดันการแพทย์ควบคู่ไปกับธรรมชาติ (อาทิเช่นรีสอร์ท สปา เป็นต้น) การส่งเสริมการแพทย์ทางเลือก (อาทิเช่น การแพทย์แผนโบราณ การนวด เป็นต้น) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์โดยใช้วัสดุท้องถิ่นของแต่ละประเทศ

-          ด้านการท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนในที่ประชุมเห็นร่วมกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงศาสนา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวด้านการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม การท่องเที่ยวเชิงชายฝั่งทะเล ซึ่งศักยภาพของสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้มีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ที่ประชุมลงความเห็นร่วมกันในผลักดันการอำนวยความสะดวกผ่านแดน การส่งเสริมการลงทุนด้านท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และการสร้างผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย

-          ด้านโลจิสติกส์ ได้มีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ (Hard Infrastructure) อาทิเช่น อาคาร ถนน สะพาน ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น และ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกระบวนการ (Soft Infrastructure) อาทิเช่น ระบบเอกสาร พิธีการศุลกากร กฎระเบียบข้อบังคับ พิธีการตรวจคนเข้าเมือง กรอบความร่วมมือต่างๆ เป็นต้น โดยต้องสร้างความสมดุลในการพัฒนาระหว่างโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ (Hard Infrastructure) และ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกระบวนการ (Soft Infrastructure) นอกจากนั้นที่ประชุมยังเสนอการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยงสามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสประจำทาง เครื่องบิน เพื่อทำให้เกิดความสะดวกสำหรับประชาชนทั้งสามประเทศ

-          ที่สำคัญภาคเอกชนทั้งสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประเทศไทย สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงไชยะบูลี สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมาร์ และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญ สหภาพเมียนมาร์ ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ภายใต้“ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย” โดยมีเป้าหมายและทิศทางการทำงานอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน  จำนวน  4  ประการ ได้แก่ 1. แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน 2. จัดประชุมย่อยระหว่างภาคเอกชนในแต่ละประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน 3. ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการ และ 4. ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้เกิดการยอมรับและเกิดโครงการต่างๆร่วมกันในอนาคต

การประชุมนานาชาติครั้งที่ 2 นี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ดังเช่นปีที่ผ่านมา และปีนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 (จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.ตาก จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุโขทัย) ได้เชิญผู้แทนภาคเอกชนจากประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา (เดิมในปีที่ผ่านมา เชิญเฉพาะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เท่านั้น) การประชุมในครั้งที่ 2 นี้ยังให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นดังเช่นการประชุมครั้งที่ 1 นั่นคือ ด้านการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า/การลงทุน ด้านสุขภาพ และด้านโลจิสติกส์ และจะขยายพื้นที่ตลาดในกลุ่ม LIMEC ไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนามเพิ่มเติมด้วย

โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ได้เดินทางไปเรียนเชิญผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนจาก สปป.ลาว (แขวงไชยะบุลี แขวงหลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์) สหภาพเมียนมาร์ (รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง และกรุงย่างกุ้ง) รวมถึงผู้นำภาคเอกชนจากเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งได้รับการตอบรับเข้าร่วมประชุมนานาชาติครั้งที่ 2 นี้ เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้มีความเติบโตไปด้วยกัน

ที่สำคัญของการขับเคลื่อนบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ได้เห็นชอบให้จัดโครงการอบรม “The 1st Startup LIMEC Business” ขึ้นเป็นรุ่นแรก โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินการจัดโครงการอบรมดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน 2559 ณ จ.พิษณุโลก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก สปป.ลาว สหภาพเมียนมาร์ กัมพูชา และไทย(กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1) ทำให้เกิดเครือข่ายการค้า การลงทุน ระหว่างกัน จากการเข้าอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมได้จัดทำแผนธุรกิจสำหรับโครงการที่จะร่วมกันถึง 7 โครงการ อาทิเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ธุรกิจผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ธุรกิจ ธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นต้น

การขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนบนระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang Indochina Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) ทำให้เกิดความร่วมมือกันขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับคำกล่าวของประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 (นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์) ที่ว่าการค้าการขายบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ต้องมาจากความร่วมมือกัน ไม่ใช่การแก่งแย่งกัน (Cooperation, not Competition) และในปีนี้ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ได้มอบแนวทางการทำงานร่วมกันว่า เราจะเติบโตไปด้วยกัน (We grow together)

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply