ภาพรวมธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย (Thailand Overall Logistics Service)

Logistics’s viewpoint

Thailand Overall Logistics Service

ภาพรวมธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์

คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Taweesak99@hotmail.com

1. บทนำ

บทความนี้ ผมจะเล่าสรุปประเด็นที่เกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย โดยต้องขอขอบพระคุณสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยบูรพาที่สนับสนุนทุนวิจัยให้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ โดยผมจะวิเคราะห์ขอบเขตของธุรกิจโลจิสติกส์ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ผมต้องขอเรียนว่าแต่ละสำนักหรือสถาบันจะแตกต่างกันออกไป แต่ผมขออ้างอิงของหน่วยงานระหว่างประเทศแล้วกันนะครับ เพราะเวลาที่เราต้องเปิดเสรีหรือต้องไปเจรจาการค้า เราจะได้พูดคุยภาษาเดียวกันกับนานาอารยประเทศน่ะครับ นอกจากนี้ ผมจะเล่าให้ฟังถึงลักษณะโครงสร้างธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย ว่ามีโครงสร้างของธุรกิจอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญมากเลยครับ เพราะหลายประเทศที่มีโครงสร้างของธุรกิจแบบหลวมๆ จะขาดเอกภาพและความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ รวมตัวกันยาก ขาดความสามัคคีและสุดท้ายจะโดนต่างชาติหรือผมมักจะเรียกเพราะๆ ว่าเป็นผู้บุกรุกจากภายนอกเจาะเข้ามาเหมือนหลายๆ ธุรกิจในบ้านเรา

อีกทั้งผมจะสรุปภาพรวมเกี่ยวกับขนาดธุรกิจของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยจะมีขนาดกลางและขนาดย่อมโดยครอบคลุมกิจกรรมโลจิสติกส์ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะหนักไปทางขนาดย่อมซึ่งค่อนข้างจะมีปัญหาและข้อจำกัดในการที่จะเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนค่อนข้างมาก แต่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถือว่าเป็นเส้นเลือดฝอยที่สำคัญที่จะสนับสนุนกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ในกรณีที่เส้นเลือดฝอยเหล่านี้แตกเล็กๆ น้อยๆ คงไม่กระทบมาก แต่ถ้าเส้นเลือดฝอยเหล่านี้ไปแตกในจุดที่สำคัญ อาทิ กิจกรรมการนำเข้า-ส่งออก การกระจายสินค้า เป็นต้น ระบบเศรษฐกิจอาจจะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้นะครับ

ถ้ามีพื้นที่กระดาษเหลือ ผมจะทำการวิเคราะห์สถานภาพของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทยว่าขณะนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง รวมทั้งวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือที่เรียกสั้นๆ ว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศว่าควรจะเป็นเท่าไร เพราะตัวเลขจากหลายสำนักจะไม่เท่าหรือแตกต่างกันและมีฐานการคิดคำนวณมาจากอะไร และสุดท้ายของการเล่าเรื่องในครั้งนี้จะได้ประเมินนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของหน่วยงานของภาครัฐรวมทั้งประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ และจะได้ประเมินกลยุทธ์การให้บริการและการแข่งขันในธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการจากต่างประเทศและระบุโอกาสและปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ของไทย เพื่อลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์และระบบเศรษฐกิจของไทย

2. ขอบเขตและโครงสร้างธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย

ทุกวันนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีความตื่นตัวด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมพบว่า ภาครัฐจะมุ่งเน้นในเรื่องการเร่งรัดพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่น รถไฟ ท่าเรือ ถนน  ศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังสินค้า เป็นต้น รวมทั้งด้านการเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างรูปแบบ (Mode) และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ที่เป็นภาคเอกชนนั้น จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งต่างก็เป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใด ที่ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศไทยที่เป็นระบบและชัดเจน การศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งขอบเขตการให้บริการของธุรกิจโลจิสติกส์บริการโลจิสติกส์ของไทยในปัจจุบันออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่

1.  การขนส่งสินค้า (Freight Transportation and Forwarding) ซึ่งครอบคลุมงานทาง      โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทั้งภายในและส่งออกนอกประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางทะเล และทางอากาศ

.2.  การจัดเก็บสินค้า ดูแล และบริหารคลังสินค้าและการให้บริการติดสลากสินค้าหรือบริการด้านบรรจุภัณฑ์ (Warehousing/ Inventory Management and Packing) รวมทั้งการกระจายสินค้า

3.  การให้บริการด้านพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานโลจิสติกส์ (Non-Asset Based Logistics Services) ครอบคลุมงานพิธีการศุลกากร งานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า

4.  การให้บริการงานโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเสริม เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและงานที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ (Information and Communication Technology/ Consulting)

5.  การให้บริการพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ เป็นการให้บริการเกี่ยวกับการจัดส่งทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สําหรับผู้ให้บริการงานโลจิสติกส์อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.  ผู้ให้บริการรับเหมาช่วง (Subcontractor) เป็นรูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิมโดยการตัด ช่วงงาน มีการแบ่งงานที่ไม่ซับซ้อนให้กับผู้ให้บริการภายนอกรับเหมาไปจัดการ ซึ่งอาจเป็นงานที่ เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในลักษณะที่ไม่ต้องใช้แรงงาน ทักษะ หรือเทคโนโลยีมากนัก หรือเป็นงานที่ ใช้ความเสี่ยงที่สูง ซึ่งจะเป็นการประหยัดกว่าหากให้ผู้ให้บริการภายนอกรับงานไป

2. ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Provider) เป็นลักษณะของการให้บริการจัดการงานในส่วน ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์โดยงานที่ให้บริการจะเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์เป็นกระบวนการ ซึ่งลักษณะงานมี ความซับซ้อนกว่า Subcontract ต้องใช้ทักษะความชํานาญเฉพาะด้านและเทคโนโลยีแต่การมอบหมาย งาน ยังมีลักษณะไม่เป็นเชิงบูรณาการ โดยผู้ว่าจ้าง (User) อาจใช้ผู้ให้บริการ (Provider) หลายราย โดย ผู้ว่าจ้างยังคงเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการ เพื่อให้งานซึ่งมอบหมายให้กับ Logistics Provider แต่ละ รายมีการเชื่อมโยงกัน

3. ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบเบ็ดเสร็จ (Third Party Logistics Provider: 3PL) เป็นผู้ให้บริการ งานที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ซึ่งการให้บริการต้องอาศัยทักษะและเครือข่ายธุรกิจในระดับโลก (Global Network) โดยมีเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยี และการลงทุน ลักษณะงานที่ให้บริการจะมีขอบเขตความ รับผิดชอบกว้างขวาง โดยเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง (User) กับลูกค้าหรือคู่ค้า และมีความเชื่อมโยงเป็น บูรณาการ โดยผู้ใช้บริการจะเป็น Real User ค่อนข้างแท้จริง ผู้ให้บริการลักษณะนี้ต้องมีการลงทุนที่สูง โดยเฉพาะต้องมีเครือข่ายในระดับโลก

4. ผู้ให้บริการบริหารจัดการและประสานงาน (Fourth Party Logistics Provider: 4PL) เป็นผู้ ให้บริการโลจิสติกส์ในระดับที่มีการบูรณาการสูงมาก เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ ควบคุมผู้ให้บริการ 3PL ในแต่ละรายให้สามารถเชื่อมโยงการทํางาน คือทําหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้รับบริการในการควบคุม และกํากับ 3PL ให้ปฏิบัติไปตามข้อตกลง ซึ่งได้มีสัญญาไว้กับ User

ปัจจุบันนี้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่ง เริ่มมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านประกอบการโลจิสติกส์ของประเทศไทยไปบ้างแล้ว  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และการจัดการ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มบริษัท V-Serve Group ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยไว้

3. ขนาดของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทย

ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยที่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีประมาณ 300 บริษัท แต่ได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนและรายละเอียดด้านการให้บริการมีเพียง 215 บริษัท พบว่าบริษัทที่มีขนาดทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 20 ล้านบาท มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 โดยที่บริษัทที่มีทุนทะเบียนเพียง 1 – 5 ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้กลุ่มบริษัท 215 บริษัทดังกล่าวนั้น เป็นบริษัทของคนไทย 150 ราย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 5 ล้านบาท สูงถึงร้อยละ 71 และมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาท เพียงร้อยละ 6 ในขณะที่กลุ่มบริษัท 215 บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทของต่างชาติ จำนวน 65 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 5 ล้านบาท ประมาณร้อยละ 35 และมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาท ร้อยละ 16

ในภาพรวมจะพบว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทย จะเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทยประมาณร้อยละ 70 แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 5 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติแม้ว่ามีจำนวนน้อยกว่า แต่มีทุนจดทะเบียนรวมมากกว่าผู้ประกอบการของประเทศไทย โดยทุนจดทะเบียนรวมของบริษัทที่ประกอบการในอุตสาหกรรมประเภทนี้มีทั้งสิ้น 7,586 ล้านบาท โดยเป็นของผู้ประกอบการต่างชาติร้อยละ 52.6 หรือ คิดเป็นทุนทะเบียนประมาณ 3,996 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทของคนไทยมีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 3,593 ล้านบาท

3.1 ลักษณะการให้บริการด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย แบ่งตามลักษณะงานโลจิสติกส์เป็น 4  กลุ่ม คือ

3.1.1 การขนส่งสินค้า มีผู้ให้บริการ 134 ราย แบ่งเป็นผู้ให้บริการการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ให้บริการขนส่งทางถนน ทะเล และอากาศ จำนวน 51 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งทางถนน และอากาศ จำนวน 2 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งทางถนน และทะเล จำนวน 6 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเล และอากาศ จำนวน 33 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งเฉพาะทางถนน จำนวน 23 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งเฉพาะทางทะเล จำนวน 10 ราย
  • ผู้ให้บริการขนส่งเฉพาะทางอากาศ จำนวน 9 ราย

3.1.2 การจัดเก็บสินค้า และบริหารคลังสินค้าและการให้บริการติดสลากสินค้าหรือบริการด้านบรรจุภัณฑ์ มีผู้ให้บริการ 62 ราย แบ่งเป็นผู้ให้บริการต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ให้บริการด้านจัดเก็บ การบริหารสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้าและการติดฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ในคลังสินค้า จำนวน 27 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านจัดเก็บ การบริหารสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้า จำนวน 26 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านการติดฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ จำนวน 9 ราย

3.1.3 การให้บริการด้านพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานโลจิสติกส์ มีผู้ให้บริการ 87 ราย แบ่งเป็น     ผู้ให้บริการต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และการนำเข้า-ส่งออกสินค้า จำนวน 43 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านพิธีการศุลกากร จำนวน 20 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้า จำนวน 24 ราย

3.1.4 การให้บริการงานโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเสริม มีผู้ให้บริการ 13 ราย แบ่งเป็นผู้ให้บริการต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและที่ปรึกษาโลจิสติกส์ จำนวน 2 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 1 ราย
  • ผู้ให้บริการด้านที่ปรึกษาโลจิสติกส์ จำนวน 10 ราย

บริษัทที่สามารถให้บริการงานด้านโลจิสติกส์ครบทั้ง 4 ด้าน มีเพียง 6 ราย หรือคิดเป็น    ร้อยละ 2.79 ให้บริการด้านโลจิสติกส์ 3 ด้าน มี 40 ราย ให้บริการด้านโลจิสติกส์ 2 ด้าน มี 51 ราย และให้บริการด้านโลจิสติกส์เพียงด้านเดียวมี 118 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 54.88 โดยที่ผู้ประกอบการของประเทศไทยขาดแคลนผู้ให้บริการในกลุ่มที่ 4 คือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและที่ปรึกษาโลจิสติกส์ เนื่องจากมีการลงทุนสูงและต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการไทยส่วนมากจะสามารถให้บริการในกลุ่มที่ 1 และ 3 คือ งานด้านการขนส่งสินค้า งานพิธีการศุลกากร และงานด้านการนำเข้า-ส่งออก

You can leave a response, or trackback from your own site.

2 Responses to “ภาพรวมธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย (Thailand Overall Logistics Service)”

  1. ภาพรวมธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย (Thailand Overall Logistics Service) | Espec says:

    Sslprivateproxy.com…

    I found a great……

  2. ภาพรวมธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย (Thailand Overall Logistics Service) | Espec says:

    Cheap Usa Proxies…

    I found a great……

Leave a Reply