อู่ตะเภา ดีเดย์ พ.ค. 59 นี้ เปิดเทอร์มินอลใหม่

Tips

D-day May 2016, U-Tapao new terminal opened to support aviation potential.

อู่ตะเภา ดีเดย์ พ.ค. 59 นี้ เปิดเทอร์มินอลใหม่

รองรับศักยภาพการบิน และร้านค้ามากขึ้น

“สนามบินอู่ตะเภา” จังหวัดระยอง เป็นสนามบินนานาชาติ ถูกใช้เป็นสนามบินสำรองของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง นอกจากนี้ยังเป็นสนามบินเพื่อความมั่นคงของชาติ เป็นที่ตั้งของ9 ฝูงบินกองทัพเรือ และเป็นที่ฝึกเครื่องบินแอร์บัส 380 ของการบินไทย

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดึงดูดใจเที่ยวบิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้ขยายถนนสุขุมวิทช่วงพัทยา-สัตหีบจาก2 เลนเป็น 4 เลน ซึ่งจะขยายไปจนถึงหน้าทางเข้าสนามบินอู่ตะเภาและมาบตาพุด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้

รวมทั้งการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด ที่จะขยายมาลงที่บริเวณสนามบิน ส่วนในปี 2560 กรมทางหลวงจะขยายถนนภายในสนามบินตั้งแต่บริเวณประตูทางเข้าจนถึงอาคารผู้โดยสารจาก 2 เลนเป็น 4 เลน

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็มีโครงการขยายเส้นทางเดินรถรางมาตรฐาน จากสถานีพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มายังหน้าทางเข้าสนามบินอู่ตะเภาเพิ่มอีก 1 สถานี ระยะทาง 6 กิโลเมตร สามารถขนส่งผู้โดยสารจากพัทยามายังสนามบินได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเบื้องต้น

สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ มูลค่าราว 300 ล้านบาท โดยใช้งบฯของกองทัพเรือจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 3-5 ล้านคนต่อปี คาดว่าภายใน 3 ปีนี้ผู้โดยสารจะยังไม่ถึง 3 ล้านคน อีกทั้งได้ขยายลานจอดเพิ่ม สามารถจอดเครื่องบินโบอิ้ง 737 หรือ 380 ได้ 3 เครื่อง และแอร์บัส 320 ได้ 6 เครื่อง และมีโครงการสร้างสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่มอีก 2 สะพาน

พลเรือตรีวรพลกล่าวอีกว่า สายการบินที่สนใจมาเปิดเส้นทางบินเพิ่มที่อู่ตะเภาในขณะนี้ เช่น การบินไทย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยสมายล์ รวมทั้งสายการบินต่างประเทศจากจีน ฮ่องกง ที่สนใจเปิดเส้นทางเที่ยวบินประจำ ซึ่งตอนนี้สลอตการบินของสนามบินอู่ตะเภาใช้สูงสุดวันละ 15 เที่ยวบิน โดยสามารถรับได้ชั่วโมงละ 15 เที่ยวบิน หรือวันละ 300-400 เที่ยวบิน จึงยังเหลือสลอตการบินสำหรับการพาณิชย์อีกจำนวนมาก

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในเดือนเมษายนนี้จะออก TOR เปิดประมูลพื้นที่ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลเดือนพฤษภาคม เบื้องต้นจะแยกสัญญาระหว่างการประมูลดิวตี้ฟรี กับสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์และบริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็นดิวตี้ฟรีและจุดรับมอบสินค้า

“ดิวตี้ฟรีคงได้แค่เจ้าเดียว เพราะตัวอาคารไม่ใหญ่มาก แต่จะมีจุดรับมอบสินค้ากลางที่ไม่จำเป็นต้องมาเปิดร้านขายในแอร์พอร์ตก็ได้ ใครก็สามารถเข้ามาใช้ได้ เรามีแนวคิดจะไม่ตัดสิทธิ์การประมูลพื้นที่จุดรับมอบสินค้าของผู้ประกอบการที่ประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีได้ แต่ก็ต้องเปิดให้รายอื่นเข้ามาใช้ได้ด้วย เพื่อไม่ให้มีการผูกขาด”

การท่าฯอู่ตะเภาจะเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินเอง เนื่องจากมีประสบการณ์การบริหารท่าอากาศยานนานาชาติและท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดที่เป็นเชิงพาณิชย์มากว่า 20 ปี โดยจะเน้นกลยุทธ์ 3 เซฟ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและผู้โดยสาร ได้แก่ 1.เซฟไทม์ ประหยัดเวลาผู้เดินทาง 2.เซฟคอสต์ เพราะกองทัพเรือเป็นผู้บริหารจัดการและลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก 3.เซฟแอนด์ซีเคียว สนามบินมีความปลอดภัยเพราะอยู่ในพื้นที่ทหาร

นอกจากนั้นยังได้จัดสรรพื้นที่ในสนามบินไว้สำหรับ 3 กิจการ คือ คาร์โก้ ศูนย์ซ่อม และศูนย์ฝึก โดยได้เตรียมพื้นที่สำหรับศูนย์ซ่อมไว้ 500-800 ไร่ ส่วนพื้นที่สำหรับแอร์คาร์โก้ขนาดใหญ่ 500 ไร่ จะอยู่ติดกับโซนศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อให้ขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างศูนย์ฝึกช่างเกี่ยวกับกิจการขนส่งทางอากาศ ซึ่งได้หารือกับผู้ประกอบการไฟลต์ซิมูเลเตอร์และสถาบันการบินพลเรือนแล้ว

“ที่ผ่านมาผู้โดยสารส่วนใหญ่ของอู่ตะเภาเป็นชาร์เตอร์ไฟลต์ สัดส่วนผู้โดยสารในและต่างประเทศ 50 : 50 โดยในปี 2557 มีผู้โดยสาร 150,000 คน ปี 2558 จำนวน 170,000 คน แต่หลังจากปรับมาให้บริการเชิงพาณิชย์และมีเที่ยวบินประจำแล้ว ทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย 5 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ 450,000 คน และประเมินว่าปี 2559 จะมีผู้โดยสาร 800,000 คน มีรายได้120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว

ที่มา:  www.prachachat.net

ภาพประกอบจาก www.airasia.com และ www.google.co.th

You can leave a response, or trackback from your own site.

Leave a Reply